21 พ.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 24] แนะนำภาพรวมของภาษาโปรตุเกส
An overview of Portuguese language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 4 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ภาษาโปรตุเกส" ภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ ประวัติความเป็นมา ตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาโปรตุเกส รวมถึงตัวอย่างความใกล้เคียงกันระหว่างภาษาโปรตุเกสกับภาษาสเปน
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
Falas português? ประโยคคำถามภาษาโปรตุเกส แปลว่า “คุณพูดภาษาโปรตุเกสไหม?” ซึ่งประโยคในภาษาโปรตุเกสบางครั้งสามารถละประธานของประโยคได้ อย่างในกรณีละคำว่า Tu ที่แปลว่า “คุณ” [ที่มาของภาพ: Instituto Camões]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Todas As Ruas Do Amor" เพลงแนวดนตรีพื้นบ้านภาษาโปรตุเกส โดยวง Flor-de-Lis ศิลปินตัวแทนประเทศโปรตุเกสที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2009 ที่กรุงมอสโก รัสเซีย
ภาษาโปรตุเกส (ชื่อในภาษาอังกฤษ: Portuguese / ชื่อในภาษาโปรตุเกส: Português “ปูร์ตูเก็ช” หรือ Língua Portuguesa “ลิงเกวอะ ปูร์ตูเกสะ”) เป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages) ร่วมกับภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี และภาษาโรมาเนีย
ภาษาโปรตุเกสวิวัฒนาการมาจากภาษาละตินสามัญที่สามัญชนชาวโรมันใช้กันจนกลายมาเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 5 ของโลก (ประมาณ 232 ล้านคน) และเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มภาษาโรมานซ์ในปัจจุบัน แต่ถ้ารวมผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาที่สอง จะมีจำนวนประชากรผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสราว 258 ล้านคน
ความเป็นมาของภาษาในดินแดนโปรตุเกสมักจะได้รับอิทธิพลไปตามผู้ยึดครองหรืออาณาจักรบนดินแดนโปรตุเกสในแต่ละยุคสมัย ดังต่อไปนี้
- ก่อนที่โรมันจะรุกรานคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและโปรตุเกส) ผู้คนในดินแดนประเทศโปรตุเกสในปัจจุบันเคยใช้ภาษาลูซีตาเนีย (Lusitanian language) ในกลุ่มภาษาเคลต์เป็นภาษาแม่มาก่อน และสาบสูญไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2
- ภาษาสามัญชนชาวโรมันค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ผ่านชาวโรมันที่เข้ามายึดครองดินแดนแห่งนี้ในฐานะจังหวัดลูซีตาเนีย (Lūsītānia) เป็นช่วงเวลามากกว่า 400 ปี (27 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ.410)
แผนที่คาบสมุทรไอบีเรีย (ดินแดนประเทศสเปนและโปรตุเกสในปัจจุบัน) แสดงการพิชิตดินแดนของโรมันในปีต่าง ๆ (แสดงเป็นสีแต่ละสี) ในช่วงปีที่ 220 - 19 ก่อนคริสตกาล และชื่อจังหวัดต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียของโรมัน รวมถึงจังหวัดลูซีตาเนียที่อยู่ทางตะวันตก [Credit แผนที่ : User 'HansenBCN' @ wikipedia.org]
- ชาวมัวร์ กลุ่มชนมุสลิมจากทางเหนือของทวีปแอฟริกาได้เข้ายึดครองคาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ.711 ส่งผลให้ภาษาอาหรับเคยถูกใช้ในตอนกลางและตอนใต้ของโปรตุเกส จนถึงปี ค.ศ.1429 เมื่ออาณาจักรโปรตุเกสรบจนยึดฐานที่มั่นสุดท้ายของชาวมัวร์ในพื้นที่ประเทศโปรตุเกสปัจจุบันได้สำเร็จ ภาษาโปรตุเกสในปัจจุบันจึงยังมีร่องรอยอิทธิพลภาษาอาหรับในคำศัพท์หลายคำ (เช่นเดียวกับภาษาสเปน)
แผนที่ทางภาษาศาสตร์แสดงวิวัฒนาการทางภาษาศาสตร์ของประชากรที่ใช้ภาษาต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย ในปี ค.ศ.1000-1300 ได้แก่ ภาษากาลิเซีย-โปรตุเกส (สีฟ้า) ภาษาสเปนสำเนียงเลออน (สีเขียว) ภาษาสเปนเก่า (สีเหลือง) ภาษาบาสก์ (สีแดงเข้ม) ภาษาอารากอน (สีชมพู) ภาษากาตาลัน (สีส้ม) และภาษาอาหรับ (สีเทา) [Credit แผนที่ : User ' Alexandre Vigo' @ wikipedia.org]
- เกิดภาษากาลิเซีย-โปรตุเกส (Galician-Portuguese / Galego-português) ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในดินแดนที่ปัจจุบันแคว้นกาลิเซีย (บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน) และตอนเหนือของโปรตุเกส ก่อนจะเริ่มแยกออกเป็นภาษากาลิเซียและภาษาโปรตุเกสออกจากกัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 จึงอาจเรียกได้ว่าแม้ภาษาสเปน-ภาษาโปรตุเกสจะดูใกล้เคียงกัน แต่ถ้าพิจารณาภาษากาลิเซียร่วมด้วยแล้ว ภาษาโปรตุเกสจะใกล้ชิดกับภาษากาลิเซียมากกว่า
- ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภาษาโปรตุเกสเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ได้รับอิทธิพลเล็กน้อยจากภาษาสเปนและภาษาฝรั่งเศส
ประวัติความเป็นมาของภาษาโปรตุเกสนอกจากจะมีเรื่องของอิทธิพลจากภาษาอื่นตามประวัติศาสตร์โปรตุเกสแต่ละช่วง ยังมีเรื่องของงานวรรณกรรมด้วย โดยงานวรรณกรรมที่เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสชิ้นเก่าที่สุดมาจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 หลังจากนั้น โปรตุเกสมีงานวรรณกรรมสำคัญชิ้นอื่น ๆ อย่างเช่น
- “อุช ลูซีเออเดิช” (Os Lusíadas) มหากาพย์ที่ลุยช์ วัช ดือ กามอยช์ (Luís Vaz de Camões) กวีชาวโปรตุเกสเขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพื่อเฉลิมฉลองที่โปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือไปอินเดีย ซึ่งโปรตุเกสถือว่ากามอยช์เป็นกวีคนสำคัญที่สุดของประเทศ (คล้าย ๆ กับที่ประเทศไทยยกย่องสุนทรภู่เป็นกวีคนสำคัญ)
ภาพวาดแสดงเนื้อหาในมหากาพย์ "อุช ลูซีเออเดิช" ส่วนที่ 4 ที่กล่าวถึงกองเรือสำรวจโปรตุเกส กำลังออกจากกรุงลิสบอนมุ่งหน้าออกมหาสมุทรเพื่อไปยังอินเดีย [Credit ภาพ : User 'Igordeloyola' @ Wikipedia.org]
- งานวรรณกรรมของชูเสะ เซอเรอมากุ (José Saramago) นักเขียนชาวโปรตุเกสที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ.1998 ซึ่งนักเขียนคนนี้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ วิจารณ์สถาบันหรือองค์กรขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นศาสนจักรคาทอลิก สหภาพยุโรป หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ภาษาโปรตุเกสไม่ได้ใช้แต่ในประเทศโปรตุเกสเท่านั้น แต่ยังใช้กันตามประเทศอื่น ๆ ในหลายทวีปทั่วโลกด้วย เริ่มตั้งแต่สมัยการค้นพบของโปรตุเกส (เรียกว่า Os Descobrimento “อุช ดึชกูบรีเม็งตุ” ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า The Discoveries) ซึ่งเป็นยุคทองของการหาเส้นทางการค้าและอาณานิคม ตั้งสถานีการค้าของโปรตุเกสในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ ชาติบนปลายคาบสมุทรแห่งนี้จึงได้ผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลก มีอิทธิพลอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16
ภาพถ่ายแสดงรูปสลักรูปบุคคลสำคัญต่อสมัยการค้นพบของโปรตุเกส (นักสำรวจ สมาชิกราชวงศ์ผู้อุปถัมภ์การออกสำรวจ นักทำแผนที่ นักเขียน ศิลปิน กวี ผู้เผยแผ่ศาสนา) บนฝั่งตะวันตกของอนุสาวรีย์ Padrão dos Descobrimentos (อนุสาวรีย์แห่งการค้นพบ) ที่กรุงลิสบอน [Credit ภาพ : User 'Walrasiad' @ Wikipedia.org]
"Cantino planisphere" แผนที่โลกที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1502 โดยอาศัยข้อมูลจากการออกเรือสำรวจของโปรตุเกส แผนที่ฉบับนี้ถูกเก็บรักษาที่อิตาลีในปัจจุบัน
ภาษาโปรตุเกสได้กลายเป็นภาษากลางในทางราชการและการค้า ระหว่างโปรตุเกสกับบรรดาดินแดนอาณานิคมหรือสถานีการค้าต่างทวีป และมีปัจจัยเสริมจากชาวโปรตุเกสที่มาตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่น ส่วนหนึ่งได้เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกหรือแต่งงานกับคนท้องถิ่น อย่างเช่นกรณีของสยาม เคยใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการทูตกับชาติตะวันตก เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ติดต่อกับสยาม เกิดชุมชนชาวโปรตุเกสบริเวณเมืองหลวงตั้งแต่สมัยอยุธยา จนกระทั่งภาษาอังกฤษเข้ามาแทนที่ในสมัยรัชกาลที่ 4
โบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกศูนย์กลางของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ย่านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี [ภาพถ่ายโดย "หนุ่มมาเก๊า"]
แม้กระทั่งในปัจจุบัน โปรตุเกสจะไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจแล้ว แต่ดินแดนหลายแห่งที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลจักรวรรดิโปรตุเกสสมัยก่อนยังคงใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการอยู่ เช่น
- หมู่เกาะมาเดรา (Madeira) กับหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) ในการปกครองของโปรตุเกส อยู่ห่างออกไปจากชายฝั่งทวีปยุโรป
แผนที่แสดงตำแหน่งหมู่เกาะมาเดราและหมู่เกาะอะโซร์ส ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากชายฝั่งประเทศโปรตุเกส [Credit แผนที่ : Geographic Guide - Travel]
- ประเทศบราซิล ซึ่งจำนวนประชากรที่พูดภาษาโปรตุเกสในบราซิลมากถึงราว 190 ล้านคน กล่าวได้ว่าสาเหตุที่ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 6 ของโลก เพราะประชากรชาวบราซิลส่วนใหญ่ใช้ภาษานี้
- กลุ่มประเทศหมู่เกาะนอกชายฝั่งทวีปแอฟริกาอย่างประเทศกาบูเวร์ดี (Cabo Verde) ประเทศเซาตูเมและปรินซีปี (São Tomé & Príncipe)
- ประเทศที่ตั้งบนแผ่นดินชายฝั่งในทวีปแอฟริกาอย่าง ประเทศกีเนบีเซา (Guinea-Bissau) ประเทศโมซัมบิก (Mozambique) และประเทศแองโกลา (Angola)
- มาเก๊า และประเทศติมอร์-เลสเต ในทวีปเอเชีย
แผนที่โลกแสดงประเทศและดินแดนต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ [Credit แผนที่ : User 'Sting & Ogre' @ Wikipedia.org]
ประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ 9 ประเทศยังได้รวมกลุ่มเป็นสมาคมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เป็น “กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส” (CPLP / Comunidade dos Países de Língua Portuguesa)
แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันระหว่างภาษาโปรตุเกสที่ใช้ในประเทศโปรตุเกส (European Portuguese / Português europeu “ปูร์ตูเก็ช เอวรูเปว”) กับภาษาโปรตุเกสที่ใช้ในดินแดนอื่นบ้าง อย่างเรื่องคำศัพท์ การออกเสียง หรือไวยากรณ์บางส่วน แต่คนในกลุ่มประเทศและดินแดนที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Lusophone World / Mundo Lusófono) ก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาโปรตุเกสที่เด่นชัด ได้แก่
1) ประโยคบอกเล่าในภาษาโปรตุเกสมักมีโครงสร้างเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) คล้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
2) มักใส่คำ Não หน้าคำกริยาในประโยคปฏิเสธ
3) คำนามในภาษาโปรตุเกสมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender / Gênero gramatical) คือ เพศชาย (มักลงท้ายด้วย o) เพศหญิง (มักลงท้ายด้วย a)
4) คำนำหน้านาม (Article / Artigo) จะเปลี่ยนแปลงไปตามเพศทางไวยากรณ์ของคำนาม ประกอบด้วยแบบชี้เฉพาะ (คล้าย “The” ในภาษาอังกฤษ) และแบบไม่ชี้เฉพาะ (คล้าย “A” กับ “An” ในภาษาอังกฤษ)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective / Adjetivo) ผันตามเพศทางไวยากรณ์ของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาโปรตุเกส จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ลงท้ายด้วย -ar, -er และ -ir
นอกจากนั้น การที่ภาษาโปรตุเกสอยู่ร่วมกลุ่มภาษาโรมานซ์กับภาษาสเปน มีไวยากรณ์ที่สืบทอดจากภาษาละตินสามัญ และทั้งภาษาโปรตุเกสกับภาษาสเปนได้รับอิทธิพลทางคำศัพท์จากภาษาละตินสามัญและภาษาอาหรับเหมือนกัน ทำให้ภาษาโปรตุเกสใกล้ชิดกับภาษาสเปนมาก ในแง่โครงสร้างประโยค ไวยากรณ์และคำศัพท์ จนคนใช้ภาษาโปรตุเกสสามารถเข้าใจภาษาสเปนได้ โดยเฉพาะภาษาเขียน
แต่การออกเสียงภาษาจะแตกต่างกัน ทำให้คนใช้ภาษาโปรตุเกสกับคนใช้ภาษาสเปนเข้าใจภาษาพูดของอีกฝั่งได้บ้าง โดยภาษาโปรตุเกสจะออกเสียงยากกว่า ขณะที่ภาษาสเปนจะออกเสียงตามรูปพยัญชนะและสระโดยตรงไปเลย
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาโปรตุเกส" ภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ เข้าใจและเห็นภาพว่าลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาโปรตุเกส และความใกล้เคียงกันระหว่างภาษาโปรตุเกสกับภาษาสเปน
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- Western Europe : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2013.
- Manuela Cook. Complete Portuguese. London, UK: Hodder Education; 2010.
โฆษณา