22 พ.ค. 2021 เวลา 23:20 • ประวัติศาสตร์
กุหลาบเชโรกี: ตำนานอันแสนเศร้าของดอกไม้ประจำรัฐจอร์เจียของสหรัฐอเมริกา
รู้หรือไม่ว่าไม่ได้มีแต่ประเทศไทยที่มีดอกไม้ประจำจังหวัด ชาติฝรั่งมังค่าอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีดอกไม้ประจำรัฐเช่นเดียวกัน แต่วันนี้จะมาเล่าถึงประวัติดอกไม้ประจำรัฐจอร์เจียเพราะมีที่มาที่น่าสนใจและแสนเศร้ามากเพราะเกี่ยวพันกับชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าเชโรกีที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ
กุหลาบเชโรกี (Cherokee rose หรือ Rosa laevigata)
เป็นดอกไม้ที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐจอร์เจียของสหรัฐ ฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1916 สาเหตุที่ถูกเลือกเพราะเป็นพืชท้องถิ่นที่เติบโตตามธรรมชาติในรัฐนี้ สาเหตุที่กุหลาบชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า กุหลาบเชโรกี เป็นเพราะชาวพื้นเมืองอเมริกันเผ่าเชโรกีนี้เป็นผู้ทำให้กุหลาบพันธุ์นี้แพร่หลาย
กุหลาบนี้ยังเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าของชนเผ่าเชโรกีในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ The Trail of Tears หรือ เส้นทางสายน้ำตา ช่างทศวรรษที่ 1930 ที่รัฐบาลอเมริกันบังคับให้ชนเผ่าพื้นเมืองโยกย้ายออกจากผืนแผ่นดินอันเป็นบ้านของพวกเขามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เพื่อให้ผู้ตั้งถิ่นฐานที่เป็นคนผิวขาวมาใช้ที่ดินของชนพื้นเมืองปลูกฝ้ายและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงมาขุดทองด้วย ซึ่งชนเผ่าเชโรกีที่ถูกบังคับให้อพยพมีจำนวนราว 16,000-20,000 คน เป็นหนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันเผ่าต่าง ๆ ที่ต้องโยกย้ายไปยังพื้นที่ที่กำหนดให้เป็น ‘อาณาเขตของคนอินเดียน’ ที่อยู่ฝั่งตะวันตกโดยการเดินเท้าแบบไม่ให้หยุดพักเป็นระยะทางไกลเป็นพันไมล์ตามเส้นทางที่โหดร้ายทารุณ จนทำให้ชนเผ่าเชโรกีล้มป่วยจากโรคระบาดและความอดอยาก แค่เฉพาะชาวเชโรกีที่เสียชีวิตไปมีราว 4,000-5,000 คนแล้ว
ในปัจจุบัน กุหลาบชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามเส้นทางหลายสายที่ชาวพื้นเมืองอเมริกันถูกบังคับให้เดินเท้าอพยพไปอยู่ยัง ‘อาณาเขตของคนอินเดียน’ จึงมีส่วนที่เป็นตำนานเล่าว่าทุก ๆ จุดที่น้ำตาของชาวเชโรกีร่วงหล่นบนเส้นทางสายน้ำตา Trail of Tears นี้จะมีต้นกุหลาบเชโรกีเกิดขึ้นมา
ภาพวาดชื่อว่า Cherokee Trail of Tears วาดโดย Robert Lindneux วาดเมื่อปี 1942 แสดงการเดินทางที่ถูกบังคับของชนเผ่าเชโรกีในปี 1838 เพื่อไปยังเขตดินแดนที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นที่อาศัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐโอคลาโฮมา Photo: New Georgia Encyclopedia
ตำนานของกุหลาบเชโรกี
เรื่องเล่าที่เศร้าสลดเกี่ยวกับกุหลาบชนิดนี้ในรายละเอียดมีอยู่ว่า เส้นทางที่อพยพไปนั้นมีระยะทางไกลและเต็มไปด้วยภยันตราย จึงทำให้ผู้คนล้มตายไปตลอดเส้นทาง จิตใจของชาวเชโรกีหนักอึ้งและเต็มไปด้วยความเศร้า น้ำตาของพวกเขาได้หยาดหยดลงผสมกับฝุ่นโคลนไปตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิงที่ร้องไห้อย่างหนักเพราะเสียใจที่ไม่สามารถช่วยให้ลูก ๆ ของพวกนางมีชีวิตรอดในการเดินทางอันหฤโหดนี้ได้
บรรดาผู้เฒ่าของชนเผ่ารู้ว่าความอยู่รอดของเด็ก ๆ นั้นขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของเหล่าผู้หญิงของเผ่า ดังนั้นในตอนเย็นวันหนึ่งเหล่าผู้เฒ่าได้ยืนรอบ ๆ กองไฟที่กำลังมอดลงและเรียกหาเทพ กัล วี ลา ดี เอ ฮี ที่อยู่บนสรวงสวรรค์และบอกแก่เทพว่าชนชาวเชโรกีกำลังร้องไห้ทุกข์ทรมานอยู่และกลัวว่าเด็ก ๆ จะไม่มีใครรอดชีวิตเพื่อสร้างชนชาติเชโรกีขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง
เทพ กัล วี ลา ดี เอ ฮี จึงบอกกับบรรดาผู้เฒ่าว่า “เพื่อให้เห็นว่าข้าเป็นห่วงพวกเจ้าขนาดไหน ข้าจะส่งสัญญาณหนึ่งแก่พวกเจ้า ในยามเช้าจงบอกเหล่าผู้หญิงว่าให้มองกลับหลังไปตลอดทางที่เดิน ณ ตรงที่น้ำตาของพวกนางได้หลั่งรินลงไปนั้นข้าจะทำให้ต้นไม้ชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมา ต้นไม้นี้จะมีเจ็ดใบให้สำหรับเผ่าทั้งเจ็ดของเชโรกี ท่ามกลางต้นนี้จะมีดอกกุหลาบสีขาวละเอียดที่มีห้ากลีบ และตรงกลางดอกที่บานจะมีกองทองคำเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวเชโรกีได้รำลึกถึงความโลภของพวกคนขาวที่อยากได้ทองคำที่พบในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเชโรกี ต้นไม้นี้จะแข็งแกร่งทนทานเต็มไปด้วยหนามอยู่รอบ ๆ ลำต้น มันจะทนทานต่อไม่ว่าสิ่งใดที่พยายามจะมาทำลายมัน” นี่คือคำบอกเล่าของเทพเพื่อทำให้พวกผู้หญิงในเผ่ายังคงความเข้มแข็งไว้เพื่อที่จะได้คอยดูแลเด็ก ๆ
เช้าวันต่อมา บรรดาผู้เฒ่าจึงแจ้งแก่เหล่าผู้หญิงให้มองหันหลังไปดูตามทางที่เดินมา ซึ่งมีต้นไม้เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วและปกคลุมเส้นทางที่พวกเขาพากันเดินมา ในระหว่างที่เหล่าผู้หญิงหันไปมองก็มีดอกไม้งอกออกมาและค่อย ๆ บาน ดอกไม้สีขาวบานสะพรั่งเป็นจำนวนมากจนสุดลูกหูลูกตา พวกนางจึงรู้สึกลืมความโศกเศร้าไป และเริ่มรู้สึกแข็งแรงและสวยงามเฉกดังเช่นต้นไม้นั้น และเมื่อต้นไม้ปกป้องดอกที่กำลังบานของมัน เหล่าผู้หญิงก็รู้ว่าพวกนางจะต้องมีความเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการปกป้องลูก ๆ ผู้ซึ่งวันหนึ่งจะเริ่มต้นสร้างชาติใหม่ในดินแดนฝั่งตะวันตก
กุหลาบเชโรกี Photo: Pikist.com
ส่งท้าย
จากตำนานที่เล่าขานกันมานี้ เกสรดอกสีทองกลายเป็นสัญลักษณ์ของทองคำที่คนผิวขาวฉกฉวยไปจากชนเผ่าเชโรกี ส่วนดอกกุหลาบเชโรกีกลายเป็นสัญลักษณ์ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่ชาวเชโรกีประสบจากเส้นทางสายน้ำตาหรือ Trail of Tears ซึ่งชาวเชโรกีเรียกมันว่า nu na hi du na tlo hi lu i หรือที่แปลว่า ‘เส้นทางที่พวกเขาได้ร่ำไห้’
ในบทความต่อ ๆ ไป จะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ทำให้เกิด Trail of Tears อย่างละเอียด ซึ่งจริง ๆ แล้วตั้งใจจะเขียนเรื่องเหตุการณ์นี้ตั้งแต่แรก แต่เรื่องนี้เศร้ามากจนเขียนไปหยุดไป เลยมาเขียนเล่าในส่วนดอกไม้ที่โยงกับเหตุการณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับเผ่าเชโรกีก่อน
การเดินทางอันยาวไกลและยากลำบากของชาวพื้นเมืองอเมริกันตามทางที่เรียกว่า เส้นทางสายน้ำตา Photo: Pinterest

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา