23 พ.ค. 2021 เวลา 15:10 • ศิลปะ & ออกแบบ
กรุงเทพเมืองเทพสร้าง เมื่อเมืองและประชาชนไม่อยู่ในโจทย์ของผู้มีอำนาจ (2)
ในหนังสารคดีเรื่องHuman scaleได้กล่าวไว้สั้นๆแต่เรียบง่ายว่าการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับเมืองคือการลงทุนกับผู้คน นี่เป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อยแต่มีประสิทธิภาพ ภาพที่ชัดที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเมืองโคเปเฮเก้นในปี1962เทียบกับปัจจุบัน จากถนนที่เต็มไปด้วยรถรากับทางทางสุดแสนคับแคบ สู่เมืองที่มีเอื้อต่อ"ผู้คน"มากกว่าเมืองที่เอื้อ"รถยนต์" (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3fCnfgt )
ภาพจาก https://globaldesigningcities.org/
แต่เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย การพัฒนาเมืองของเรากำลังผิดที่ผิดทาง เหมือนขึ้นสะพานไปสู่ความหายนะแบบที่ไม่มีวันหวนกลับในทุกๆสเกล ไม่ว่าจะเป็นในด้านผังเมืองที่จุดมุ่งหมายของเราคือการเพิ่มศักยภาพให้รถยนต์วิ่งจากชานเมืองมาสู่ใจกลางเมืองให้ได้รวดเร็วที่สุด ในด้านพื้นที่สาธารณะที่เรากำลังตัดขาดผู้คนออกจากเมือง อาคารสูงน้อยใหญ่ผุดขึ้นมากมายโดยไม่ได้มีเมืองและประชาชนอยู่ในโจทย์ เราเห็นภาพการสร้างคุณภาพพื้นที่สาธารณะแบบไร้บริบทได้มากมายทั่วกรุงเทพ ภาพเยาวราชที่กำลังเต็มไปด้วยรถยนต์ห้อตะบึงอยู่เต็มท้องถนน ผู้มีอำนาจกวาดคนมายืนอัดเบียดเสียดกันที่ริมทาง แผนพัฒนาที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจของคนเดินถนนถูกปล่อยออกมามากมาย พื้นที่ชีวิตอย่างป้อมมหากาฬถูกรื้อแล้วถมทับด้วยดอกไม้สีสันสดใส หรือแม้กระทั่งในสเกลที่เล็กที่สุดอย่างในระดับอาคาร เราก็เลือกตัดขาดผู้คนออกจากเมืองไปทีละน้อย สถาปนิกต่างออกแบบพื้นที่สีเขียวให้ครบกำหนดOSR(Open space area ratio)แบบขอไปที สุดท้ายแล้วเราต้องการเมืองอย่างนี้จริงๆหรือ? หลายท่านอาจจะบอกว่าแผนพัฒนาเมืองของเราจะไปอิงกับของฝรั่งมังค่าไม่ได้ จะให้ปั่นจักรยานในเมืองที่ร้อนๆได้อย่างไร โดยในอีก3บทความต่อจากนี้ผมจะค่อยๆเล่าถึงความซับซ้อนในการพัฒนาเมืองตั้งแต่สเกลอาคารไปจนถึงสเกลผังเมือง เพราะผมเชื่อว่าทุกๆการพัฒนานั้นล้วนต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันทุกองคาพยพ
ภาพจาก https://www.prachachat.net/
โดยในหนังสือชื่อ เมืองมีชีวิต (Life Between Building) ที่เขียนโดย ญาน เกห์ล สถาปนิกนักออกแบบเมืองชาวเดนมาร์กได้แบ่งกิจกรรมบนพื้นที่สาธารณะออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1 กิจกรรมจำเป็นเช่นการเดินบนท้องถนน รอรถประจำทาง ไปเรียน ไปทำงาน ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ กิจกรรมเหล่านี้ไม่ว่าสภาพแวดล้อมในเมืองของคุณจะแย่แค่ไหนมันก็ต้องเกิดขึ้น เพราะมันจำเป็น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นทั่วทุกมุมของโลก
2 กิจกรรมทางเลือก เช่นการยืนสูดอากาศในวันที่อากาศดีก่อนเข้าทำงาน นั่งเล่นบนม้านั่งข้างทางหรือแม้กระทั่งแวะถ่ายรูปดอกไม้สวยๆข้างทางเพื่อส่งให้เพื่อน กิจกรรมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมในเมืองมันเอื้ออำนวย พื้นที่สาธารณะถึงจะเกิดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้น คุณจะถึงบางอ้อทันทีเมื่อนึกถึงภาพสวนสาธารณะในกรุงเทพบางแห่งที่ร้างและไร้ผู้คน นั่นแหละครับ พื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเลือก
3 ประเภทสุดท้ายคือกิจกรรมทางสังคมเช่นเด็กที่กำลังเล่นร่วมกัน ผู้คนจับกลุ่มพูดคุย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีเงื่อนไขการเกิดยากเย็นเสียเหลือเกิน เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกิจกรรมจำเป็นและกิจกรรมทางเลือกดำเนินอยู่ในที่เดียวกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เราคงไม่สามารถเห็นผู้คนจับกลุ่มจิบกาแฟคุยกันก่อนเข้าทำงานในยามเช้าตรู่หากพื้นที่ในบริเวณนั้นเป็นเพียงทางเท้าแคบ ๆ และขรุขร
ดังนั้นลองตั้งคำถามกับตัวเองดูนะครับว่าคุณต้องการพื้นสาธารณะที่อุดมไปด้วยกิจกรรมประเภทไหน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้เลยว่าสถาปนิกและนักวางผังเมืองนั้นมีส่วนสำคัญในการจัดการเรื่องพวกนี้ให้มันเกิดขึ้นและเป็นไปได้ด้วยดี โดยที่หน้าที่เหล่านี้มิใช่เพียงแค่ออกแบบพื้นที่สาธารณะให้น่าใช้หรือออกแบบทางเท้าที่น่าเดินนะครับ มันรวมไปถึงอาคารที่เหล่าสถาปนิกออกแบบด้วย
เช่นการออกแบบร้านกาแฟร้านหนึ่งในตึกแถวหนึ่งคูหาและประชิดกับทางเท้า สถาปนิกมีทางเลือกสองทางคือเลือกวางเคาเตอร์และตู้เค้กไว้ที่นอกสุดหรือเลือกนำโต๊ะสำหรับนั่งทานไว้นอกสุด แน่นอนว่าหากต้องการยอดขายที่ดีการเลือกวางเคาเตอร์และตู้เค้กไว้นอกสุดอาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องเนื่องจากลูกค้าจะสามารถมองเห็นสินค้าได้ตั้งแต่ระยะไกลและรวมถึงการแสดงสินค้าอันน่ารับประทานให้เห็นอีกด้วย แต่อาจไม่ถูกที่สุดสำหรับการออกแบบเพื่อให้เป็นประโยชน์กับเมือง
ในหนังสือเมืองมีชีวิตกล่าวถึงการศึกษาเพื่อพินิจดูว่าจุดใดในถนนที่มีผู้คนหยุดแวะมากที่สุด ซึ่งจุดที่ผู้คนหยุดแวะน้อยที่สุดได้แก่ หน้าธนาคาร สำนักงาน โชว์รูมและงานแสดงสินค้าที่น่าเบื่อ เช่น งานจัดแสดงเครื่องรับเงินสด แสดงเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน นั่นคือส่วนที่ไม่ได้มีกิจกรรมเกิดขึ้นนั่นเอง ในทางกลับกันจุดที่ผู้คนแวะดูที่สุดกลับเป็นจุดที่มีกิจกรรมเกิดขึ้น เช่นจุดที่มีการแสดงการวาดรูปสดๆให้ดูตรงนั้น เมื่อเทียบกันระหว่างเสียงดนตรีจากลำโพงจากร้านเครื่องเสียงนั้นไม่น่าดึงดูดเท่านักดนตรีข้างทางที่เล่นดนตรีให้ฟังสดๆ นั่นเองอาจเป็นคำตอบในการออกแบบร้านกาแฟร้านหนึ่ง หากสถาปนิกเลือกที่จะวางโต๊ะสำหรับนั่งทานไว้ด้านหน้า อาจทำให้ผู้คนหยุดดู หรือสนใจตัวร้านมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอเค้กซักหนึ่งชิ้นด้วยการเห็นคนทานมันสดๆอาจจะดูน่ากินกว่าเค้กในตู้โชว์ก็ได้
หรือในอีกกรณีหนึ่ง การออกแบบหน้าร้านก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวา โดยผนังหน้าร้านนับเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกร้าน ในการศึกษาชีวิตด้านหน้าอาคารที่เปิดและปิดบริเวณถนนเจ็ดแห่งในเมืองโคเปนเฮเกนที่เฝ้าสังเกตผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าร้านค้าที่มีลักษณะแตกต่างกันตั้งแต่อาคารที่มีร้านค้าเล็ก ๆ หลากหลาย มีหลายประตูและมีหน้าที่ใช้สอยที่แตกต่างกันมาก ไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ที่มีทางเข้าออกเพียงไม่กี่ทาง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้คนจะเลือกเดินช้า ๆ หันไปมองตามหน้าร้านค้าถี่ขึ้นไปจนถึงการทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับร้านค้าเช่นคุยโทรศัพท์หรือหยุดจัดของในถุงในบริเวณอาคารที่มีลักษณะเปิดโล่งและมีร้านค้าที่หลากหลายมากกว่าอาคารมีร้านค้าขนาดใหญ่เพียงร้านเดียวซึ่งมีทางเข้าออกเพียงไม่กี่ร้าน ดังนั้นเราอาจควรเริ่มตั้งคำถามถึงการออกแบบร้านกาแฟหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพที่เลือกดึงดูดลูกค้ากิจกรรมที่หลากหลายภายในร้านแทนการออกแบบหน้าร้านที่ “เท่ๆ เรียบนิ่ง” โชว์วัสดุเหล็กหรือคอนกรีต
หรือแม้กระทั่งความใส่ใจระหว่างซอกตึกระหว่างอาคาร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือพื้นที่ที่ร่มที่สุดในเมือง บริเวณเหล่านี้สามารถเป็นพื้นที่พักผ่อนใหญ่ใจสำหรับแม่บ้านบุคลากรที่ถูกสถาปนิกผู้ใจร้ายทอดทิ้ง หรือพื้นที่สำหรับคนเมืองที่ก่อนการหยุดพักหายใจหายคอจากความเร่งรีบระหว่างวัน แต่สุดท้ายแล้วพื้นที่เหล่านี้มักถูกทิ้งร้างเป็นแหล่งรวมขยะและคอมเพรซเซอร์แอร์ที่ค่อยเป่าลมร้อนใส่อยู่ตลอดเวลา หากพื้นที่ตรงนี้ถูกพัฒนาอย่างเห็นใจมนุษย์ผู้อยู่อาศัยในเมือง สุดท้ายอาจจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในเมืองได้อย่างไม่ยากเย็น
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเมืองกับอาชีพสถาปนิกถือเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันมาก สถาปนิกคือฟันเฟืองสำคัญในการออกแบบอาคารซึ่งเป็นพื้นที่กายภาพส่วนใหญ่ภายในเมือง เพราะสถาปนิกมิได้เพียงออกแบบอาคารหรือตกแต่งสวนเท่านั้น หากแต่พวกเขายังออกแบบพื้นที่ระหว่างอาคารเหล่านั้นซึ่งส่งผลกับกิจกรรมของผู้คนในเมืองโดยตรงเช่นเดียวกับที่ญาห์น เกลห์เคยกล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า City for people ว่า “เราปั้นเมืองแล้วเมืองจึงปั้นเรา”
โฆษณา