24 พ.ค. 2021 เวลา 06:33 • การศึกษา
ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการบิน
จากความสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทานรวมถึงความเกี่ยวข้องของผลผลิตของแต่ละหน่วย อุปสงค์ของระบบการขนส่งทางอากาศมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากสินค้าและบริการทั่วไป กล่าวคืออุปสงค์ของระบบการขนส่งทางอากาศมีลักษณะเป็น Derived Demand เช่นเดียวกับอุปสงค์ในการใช้บริการการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ สำหรับอุปสงค์ของระบบการขนส่งทางอากาศนั้นเกิดมาจากความต้องการหลัก 3 ประเภท ได้แก่
(1) การเดินทางเพื่อการทำธุระ (Business Purpose)
(2) การเดินทางเพื่อท่องเที่ยว/พักผ่อน (Leisure Purpose)
(3) การเดินทางเพื่อกลับบ้านเกิดเยี่ยมญาติ/เพื่อน (Visiting Friends & Relatives Purpose: VFR)
อุปสงค์ทั้ง 3 ประเภทนี้เอง ที่นำไปสู่ความต้องการในการใช้บริการการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของตลาดที่ให้คุณค่ากับเวลา (Value of Time) สูง เนื่องจากการขนส่งทางอากาศมีคุณลักษณะเฉพาะจากความเร็วของพาหนะที่ใช้ในการให้บริการที่สามารถทำให้การขนส่งใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่นมาก ดังนั้นหน้าที่ผู้ให้บริการ คือ การผลิตอุปทานในปริมาณที่คาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยความสามารถในการผลิตอุปทานขึ้นอยู่ (แปรผันตรง) กับความสามารถของยานพาหนะที่ใช้ (Vehicle Capability) ได้แก่ อากาศยาน (Aircraft) โดยมีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่
(1) ระวางการบรรทุก/จำนวนที่นั่ง
(2) ความเร็วในการบิน และ
(3) พิสัยการบิน
ผลจากการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการจะส่งผลประโยชน์ทั้งโดยตรง โดยอ้อม และโดยต่อเนื่องให้กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และเมื่อระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้นก็จะส่งผลต่อทั้งการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และการเพิ่มขึ้น ของความสามารถในการผลิตของผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศ เป็นวัฏจักรต่อเนื่องในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงกัน และการเติบโตของอุปสงค์และอุปทานนั้นจะไม่สามารถเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ หากเกิดข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่งทางอากาศในประเทศ 2 ส่วน ที่สำคัญ ได้แก่
ระบบท่าอากาศยาน (Airport System) และ
ระบบห้วงอากาศและการเดินอากาศ (Air Space & Navigation System)
ดังนั้นการพัฒนาความสามารถของระบบท่าอากาศยาน (National Airport System Capability) และความสามารถของระบบห้วงอากาศและการเดินอากาศ (National Air Space & Navigation Capability) ให้สอดคล้องกับทิศทางและลักษณะการเติบโตของตลาดการขนส่งทางอากาศจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศในระยะยาว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา