24 พ.ค. 2021 เวลา 06:51 • การศึกษา
โครงสร้างอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry)
โครงสร้างอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) นั้นประกอบไปด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลายกลุ่ม องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้จัดประเภทกิจกรรมในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนออกเป็น 9 ประเภทกิจกรรม
ประเภทที่ 1 การบินเชิงพาณิชย์ (Commercial air transport service) การท าการบินของอากาศยานในการรับส่งผู้โดยสาร สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ให้แก่สาธารณชน เพื่อการได้รับค่าจ้างหรือการได้รับค่าตอบแทนทั้งเที่ยวบินแบบประจำและไม่ประจำ โดยกิจกรรมการบินเชิงพาณิชย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กิจกรรมย่อย คือ
1
1) เที่ยวบินแบบประจำ (Scheduled) การทำการบินตามตารางการบินมีการประกาศตารางการบินให้สาธารณชนรับรู้ หรือการทำการบินที่มีความถี่สม่ำเสมอ
2) เที่ยวบินแบบไม่ประจำ (Non-scheduled) การทำการบินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการทำการบินแบบประจำไม่ได้ทำการบินตามตารางการบินและไม่ได้มีการประกาศตารางการบินให้แก่สาธารณชนรับรู้ โดยเที่ยวบินแบบไม่ประจำนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กิจกรรมย่อยคือ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter) เที่ยวบินที่ให้บริการตามความต้องการ(On demand) คือ เที่ยวบินแบบที่ให้บริการแบบไม่ประจำมีการเตรียมการบินในระยะเวลาสั้นๆ และมักมีจำนวนเที่ยวบินต่อที่นั่งไม่เกิน 30 ที่นั่ง และเที่ยวบินแบบไม่ประจำประเภทอื่นๆ (Other non-scheduled)
1
ประเภทที่ 2 การบินทั่วไป (General aviation) คือ การทำการบินของพลเรือนนอกเหนือจากการบินเชิงพาณิชย์โดยได้รับค่าจ้างตอบแทนซึ่งหมายถึงการฝึกบิน (Instruction flying), การบินเพื่อการทำธุรกิจ (Business flying), การบินเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ (Pleasure flying), การบินภารกิจเฉพาะด้านการบิน (Aerial work) เช่น การทำการบินเพื่อการเกษตร การทำการบินเพื่อการถ่ายภาพ การทำการบินเพื่อการโฆษณา เป็นต้น และการทำการบินรูปแบบอื่นๆ (Other flying)
ประเภทที่ 3 ท่าอากาศยาน (Airport service) โดยความหมายของท่าอากาศยานคือพื้นที่บนดินหรือบนน้ำ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการให้บริการแก่อากาศยาน เพื่อทำการวิ่งขึ้นร่อนลงหรือการขับเคลื่อนภาคพื้น
ประเภทที่ 4 บริการจราจรทางอากาศ (Air navigation service) เป็นการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ การติดต่อสื่อสาร ระบบติดตามอากาศยาน อุตุนิยมวิทยา การค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการบริการข่าวสารการบินให้กับอากาศยานที่กำลังทำการบิน
ประเภทที่ 5 อากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (Civil aviation manufacturing) เป็นกิจกรรมการผลิตอากาศยานหรือการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อการซ่อมบำรุง
ประเภทที่ 6 การฝึกอบรมด้านการบิน (Aviation training) เป็นกิจกรรมการศึกษา การฝึกอบรมเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการบิน
ประเภทที่ 7 การซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance and overhaul) เป็นกิจกรรมการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อให้อากาศยานมีความสมควรเดินอากาศ (Airworthiness)
ประเภทที่ 8 การกำกับดูแลกิจการด้านการบิน (Regulatory functions) กิจกรรมเพื่อการกำกับดูแลกิจกรรมด้านการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน กฎระเบียบ ข้อบังคับ
ประเภทที่ 9 กิจกรรมอื่นๆ (Other activities)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา