26 พ.ค. 2021 เวลา 04:05 • ประวัติศาสตร์
“ทางรถไฟสายมรณะ (The Death Railway)” ทางรถไฟที่มีประวัติศาสตร์ดำมืด
เช้าวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) กองทัพญี่ปุ่นได้ทำการโจมตี “เพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)” ทำให้กองทัพอเมริกันสูญเสียทั้งชีวิตทหารและทรัพย์สิน
จากนั้น ญี่ปุ่นยังทำการโจมตีที่มั่นของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจับกุมนักโทษจำนวนกว่า 140,000 คน ประกอบด้วยชาวเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ รวมทั้งชาวยุโรปชาติอื่นๆ และออสเตรเลีย อีกทั้งยังมีชาวอเมริกันจากฟิลิปปินส์ก็ถูกจับมาประมาณ 36,000 คน
ในปีค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) สงครามระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้จบลง และในเวลานั้น ญี่ปุ่นก็ได้เซ็นสนธิสัญญากับประเทศไทย โดยญี่ปุ่นต้องการจะก่อสร้างทางส่งเสบียงสำหรับทหาร และเป็นทางลำเลียงอุปกรณ์ต่างๆ ไปยังพม่า
ญี่ปุ่นต้องการจะสร้างทางรถไฟที่มีความยาวกว่า 415 กิโลเมตร
ทางรถไฟนี้ เริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดราชบุรี ผ่านกาญจนบุรี ยาวไปถึงพม่า และในการสร้างทางรถไฟนี้ มีการเกณฑ์คนงานมากว่า 250,000 คน และในโครงการก่อสร้างนี้ ก็มีคนงานเสียชีวิตประมาณ 200,000 คน
มีการเกณฑ์นักโทษสงครามประมาณ 61,700 คน โดย 30,000 คนเป็นชาวอังกฤษ 18,000 คนเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ อีก 13,000 คนเป็นออสเตรเลีย ชาวอเมริกัน 700 คน และเกณฑ์คนงานชาวพม่า ชาวทมิฬ ชาวจีน ชาวมาเลเซีย อีกเป็นจำนวนมาก ทำการก่อสร้างทางรถไฟจนแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ.1943 (พ.ศ.2486)
ภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็มีการให้นักโทษสงครามเกือบ 30,000 คน เข้าไปช่วยซ่อมแซมสะพานที่เสียหายจากการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งในระหว่างนี้ นักโทษจำนวนมากก็ได้เสียชีวิตเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และการทำงานหนัก
1
นักโทษที่เหลือถูกส่งไปญี่ปุ่นทางเรือ ซึ่งบางลำก็ถูกโจมตีจากเรือดำน้ำของสัมพันธมิตร อีกหลายรายก็เสียชีวิตเนื่องจากขาดอาหาร
เหล่านักโทษที่ต้องทำหน้าที่เป็นคนงาน ต่างต้องทนทำงานในสภาวะที่เลวร้ายและเหน็ดเหนื่อย โดยทำงานถึงวันละ 16 ชั่วโมง และมักจะถูกทหารเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกาย และให้อดอาหารบ่อยๆ
นอกจากนั้น ยังมีโรคระบาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรียหรือไข้เลือดออก ทำให้นักโทษจำนวนมากเสียชีวิตจากสุขภาวะที่ย่ำแย่
เรียกได้ว่าทางรถไฟนี้สร้างขึ้นมาจากกองกระดูกของมนุษย์ ก็คงไม่ผิดนัก
โฆษณา