23 ส.ค. 2021 เวลา 13:56 • ประวัติศาสตร์
การโยนบกแห่งปรากกับสงคราม 30 ปี
สงคราม 30 ปี (Thirty Years' War) เป็นสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1618 เพราะเหตุปัจจัยทางศาสนาและการเมือง เมื่อมีการยุติสงครามด้วยสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) เมื่อปี 1648 จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดรูปแบบการปกครองใหม่ที่มีลักษณะเป็นรัฐชาติ (nation-state) อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก (ที่เป็นทางการเพราะมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร แต่รัฐชาติที่เกิดอย่างไม่เป็นทางการมีก่อนหน้านี้แล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน)
1
กล่าวได้ว่าเหตุการณ์การโยนบกแห่งปราก (The Defenestration of Prague) เป็นชนวนที่ทำให้สงครามสามสิบปีระเบิดขึ้น ต่อไปนี้คือสรุปประเด็นสำคัญอันนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันนี้
ภาพพิมพ์จากไม้แกะสลักเล่าเหตุการณ์การโยนบกแห่งปราก (Wikipedia)
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ปี 1618 ข้าหลวงของคริสตจักรคาธอลิกจำนวน 2 คนพร้อมกับเลขานุการอีก 1 คน ถูกจับโยนลงมาจากหน้าต่างชั้นบนสุดของปราสาทปราก ในบาวาเรีย (ปัจจุบันอยู่ในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก)
1
ข้าหลวงของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับคนรับใช้สามารถหนีไปได้โดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ เป็นเพราะทั้ง 3 คนตกลงมาบนกองสิ่งปฏิกูล (หรืออึ) กองพะเนินขนาดมหึมาที่ถูกเททิ้งลงทางหน้าต่างปราสาทซึ่งสะสมมานาน จึงกลายเป็นเบาะชั้นดีรองรับให้คนตกลงมาจากความสูง 50 ฟุต (21 เมตร) ได้อย่างปลอดภัย
2
ปราสาทปราก (Wikipedia)
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกว่า “การโยนบกแห่งปราก” และกลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม 30 ปี ซึ่งเป็นสงครามที่นองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2
ผู้ก่อเหตุคือกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวโบฮีเมียที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งโกรธแค้นจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ฮับสบวร์กที่ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire)
แผนที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี 1512 ซึ่งประกอบไปด้วยดินแดนต่าง ๆ (Wranovsky.com)
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มดินแดนที่ปกครองโดยเจ้าชาย ดินแดนที่ปกครองโดยดยุก และนครรัฐต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดถูกปกครองโดยจักรพรรดิ ซึ่งต้องแบ่งอำนาจกับเจ้าชายประมาณ 60 คน เคาท์และอธิการโบสถ์รวม 140 คน และนครรัฐอิสระอีก 60 แห่ง
องค์จักรพรรดิไม่ได้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นโยบายสำคัญ ๆ จะถูกตัดสินใจผ่านสมาชิกรัฐสภาของจักรวรรดิและดินแดนต่าง ๆ ซึ่งต่างรักษาสถานะกึ่งมีเอกราชของตนไว้อย่างหวงแหน มีสิ่งเดียวที่ผูกใจดินแดนต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันคือความจงรักภักดีต่อคริสตจักรคาทอลิก
พิธีสวมมงกุฎจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของเฟอร์ดินานด์ที่ 2 ที่ Frankfurt ในปี 1619 (Researchgate)
โดยหลักการแล้วตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะถูกสรรหาโดยอีเล็กเตอร์หรือตัวแทนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิ แต่ในทางปฏิบัติแล้วราชวงศ์ฮับสบวร์กซึ่งเป็นสายหนึ่งของออสเตรียผูกขาดตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 1438 และสืบทอดตำแหน่งกันทางสายเลือด
แต่เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนา อาณาจักรคริสเตียนคาทอลิกจึงแตกสลายไป โดยช่วงปี 1618 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นเพียงแต่จักรวรรดิที่ถูกรวมปะติดปะต่อกันทางการเมืองอย่างเดียว แต่กลายเป็นจักรวรรดิที่ปะติดปะต่อเอาความเชื่อที่แตกต่างกันของแต่ละนิกายย่อยมารวมกันอีกด้วย
ภาพพิมพ์จากไม้แกะสลักแสดงขบวนแห่ของบรรดาอีเล็กเตอร์ในพิธีสถาปนาจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 2 เมื่อปี 1619 ภาพนี้ทำขึ้นเมื่อปี 1885 (NBCNews)
โบฮีเมียถือว่าเป็นกล่องสมบัติของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นดินแดนที่มั่งคั่งที่สุด มีทั้งเหมืองเงินเหมืองทอง การเกษตร การค้า และอุตสาหกรรมต่างก็เจริญรุ่งเรือง แต่อาณาจักรโบฮีเมียเป็นดินแดนที่มีความแตกต่างกันมากที่สุด ประชากรนับถือนิกายลูเธอร์รัน คาลวิน และคาทอลิก ซึ่งอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติเพราะความเปิดกว้างทางความเชื่อ
1
ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 พระองค์ได้ตราพระราชสาส์นที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา (อย่างไม่เต็มใจ) ในปี 1609 แต่เมื่ออาร์ชดยุกเฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรียได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (และได้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์องค์ต่อมาในปี 1619 เป็นจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 2) ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ภาพวาดจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 2 โดย Joseph Heintz the Elder (Ancient Origins)
เฟอร์ดินานด์มีความเชื่ออย่างสุดโต่งว่าความเป็นหนึ่งเดียวของขัตติยวงศ์ อาณาเขต และศาสนา แยกออกจากกันไม่ได้ และต้องการฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ในอดีตของจักรวรรดิคาทอลิกให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง และดำเนินนโยบายทุกอย่างตามความเชื่อนี้
ในทางศาสนา เมื่อพวกลูเธอรันต้องการสร้างโบสถ์ 2 แห่ง ซึ่งเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะทำได้ แต่เฟอร์ดินานด์กลับสั่งให้ยุติการก่อสร้างแล้วริบดินแดนที่พวกลูเธอรันกำลังจะสร้างเอาไปยกให้ศาสนจักรคาทอลิกแทน ประชาชนท้องถิ่นจึงประท้วง ผู้ช่วยข้าหลวงที่เป็นคาทอลิกจึงจับกุมประชาชนเหล่านั้น
ดยุกมักซิมิเลียนแห่งบาวาเรีย วาดโดย Joachim von Sandrart, 1643 (Wikipedia)
ในทางการเมือง พวกพาลาทีนเห็นโอกาสที่จะได้ขยายอำนาจ จึงสร้างพันธมิตรทางการทหารกับเหล่านครรัฐและดินแดนที่ปกครองโดยเจ้าชายที่เป็นโปรเตสแตนท์ จึงทำให้ฝ่ายดยุกมักซิมิเลียนแห่งบาวาเรียสร้างพันธมิตรฝ่ายคาทอลิกตอบโต้ ซึ่งพวกฮับสบวร์กเห็นการสร้างพันธมิตรของกลุ่มโปรเตสแตนท์ว่าท้าทายอำนาจของตน และต้องการปกป้องความเชื่อในนิกายคาทอลิก จึงแต่งตั้งเฉพาะพวกคาทอลิกมาครองตำแหน่งสำคัญ ๆ ซึ่งทำให้ขุนนางโปรเตสแตนท์ในโบฮีเมียรับไม่ได้
ฝ่ายกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในโบฮีเมียจึงมารวมตัวกันเพราะกษัตริย์ละเมิดสิทธิอันชอบธรรมในดินแดนและความมีอิสระที่จะนับถืออะไรก็ได้ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษ แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเกิดการระดมคนทั่วอาณาจักรเพื่อรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงที่ปรากในวันที่ 23 พฤษภาคม 1618
1
หอคอยของปราสาทที่เกิดเหตุการณ์การโยนบกขึ้น โดยโยนลงมาจากหน้าต่างบนสุด (Britannica)
ในวันนั้น ฝูงชนขนาดใหญ่มารวมตัวกันที่หน้าปราสาทปรากซึ่งเป็นที่ทำการปกครองของโบฮีเมีย แล้วกลุ่มประท้วงที่โกรธแค้นเข้าไปในปราสาทจนถึงห้องเล็ก ๆ ที่ผู้รักษาการข้าหลวงที่เป็นคาทอลิกจำนวน 4 คนนั่งอยู่ มี 2 คนถูกปล่อยตัวไป เหลือผู้รักษาการข้าหลวงอีก 2 คนรวมผู้ติดตามอีก 1 คน ซึ่งทั้งหมดถูกจับโยนลงหน้าต่างของปราสาท แต่เคราะห์ดีที่ทั้งหมดตกลงไปบนกองอึขนาดมหึมาจึงไม่ตายและหนีไปเพื่อไปแจ้งข่าวแก่รัฐบาลกลางที่กรุงเวียนนา
1
เฟอร์ดินานด์จึงชักจูงให้ดยุกมักซิมิเลียนแห่งบาวาเรียและบรรดาเจ้าชายที่เป็นคาทอลิกส่วนใหญ่มาอยู่ฝ่ายตน ที่เป็นโปรเตสแตนท์แต่มาเข้าร่วมด้วยคือแซกโซนีเพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะสร้างขั้วทางการเมืองให้เกิดขึ้นในจักรวรรดิ
ความเกี่ยวพันของชาติต่าง ๆ ในสงครามสามสิบปี (Wikipedia)
กลุ่มผู้ประท้วงโบฮีเมียโค่นล้มกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ จากนั้นก็จัดตั้งสมัชชาเฉพาะกาลขึ้นมาแล้วระดมพลได้ 16,000 นายเพื่อป้องกันชาติ ส่วนตำแหน่งกษัตริย์แห่งโบฮีเมียถูกยกให้แก่เฟรเดอริกที่ 5 อีเล็กเตอร์แห่งพาลาทีน (มเหสีของพระองค์เป็นพระธิดาของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ) ซึ่งเป็นสายหนึ่งของราชวงศ์ Wittelsbach
สงคราม 30 ปีอันโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของยุโรปจึงระเบิดขึ้นในใจกลางยุโรป เกิดความขัดแย้งมากมายตามมาในอีก 30 ปีต่อมา ราชวงศ์ฮับสบวร์กสายออสเตรียและสายสเปน ดินแดนต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และประเทศอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างเดนมาร์ก ฝรั่งเศส สาธารณณรัฐดัตช์ สวีเดน ต่างส่งกองกำลังมารบในครั้งนี้ ใจกลางยุโรปจึงแตกสลาย
แผนที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และตำแหน่งการรุกและรบ (International History-Wordpress.com)
การที่สงครามลากยาวถึง 30 ปีส่วนหนึ่งมาจากการที่เฟอร์ดินานด์ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่ข้อเรียกร้องจากฝ่ายตรงข้าม และเมื่อรบชนะพวกพาลาทีนและยึดครองโบฮีเมียได้ก็ริบเอาดินแดนทั้งหมดแล้วเอาไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่สนับสนุนตน จึงทำให้พวกโปรเตนแตนท์ไม่พอใจ อีกทั้งพวกพาลาทีนยังมีพันธมิตรนอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ชาติภายนอกจึงเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งนี้ ชาติแรกที่เข้ามาคือเดนมาร์กเมื่อปี 1625–29 ชาติต่อมาคือสวีเดนเมื่อปี 1630 และฝรั่งเศสเมื่อหลังปี 1635
ชาติที่เข้าร่วมรบในสงคราม 30 ปีเสียประชากรไปประมาณ 25-40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ทั้งจากการต่อสู้ ความอดอยาก และโรคระบาด เฉพาะแค่กองทัพสวีเดนทำลายเมืองของชาวเยอรมันไป 1,500 เมือง ทำลายหมู่บ้านไป 18,000 แห่ง และทำลายปราสาทไป 2,000 ที่ และมีคนเรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็นสงครามที่ไร้ความหมาย มีคนตายจากสงครามครั้งนี้มากกว่า 5 ล้านคน
ภาพการทำลายและปล้มสะดมโดยทหารที่เกิดขึ้นในสงคราม 30 ปี วาดโดย Sebastian Vrancx, 1620 (Ancient Origins)
เมื่อเฟอร์ดินานด์ที่ 2 สิ้นพระชนม์ พระโอรสของพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิต่อเป็นเฟอร์ดินานด์ที่ 3 ซึ่งประนีประนอมมากกว่าพระบิดา และมาถึงจุดที่ฝ่ายฮับสบวร์กเริ่มตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจึงกลัวว่าผลประโยชน์ที่ตัวเองได้มาจากการสู้รบจะเสียไป จึงเจรจา
สงคราม 30 ปีจึงยุติลงในปี 1648 ด้วยการทำสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย และมีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญของจักรวรรดิ เช่น ให้สิทธิ์แก่ประชาชนคาลวินเท่ากับคาธอลิกและลูเธอร์รัน
การลงนามในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียเพื่อยุติสงครามสามสิบปี (Moment Magazine)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา