27 พ.ค. 2021 เวลา 10:01 • ประวัติศาสตร์
อาชีพสุดแปลก: คนกินบาป (sin-eater)
จากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลายคนคงรู้สึกเบื่อหน่ายกับอาชีพที่ตัวทำอยู่ในปัจจุบัน และอาจจะรู้สึกว่างานการที่ทำอยู่นั้นมันแย่สิ้นดี เลยอยากให้ผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอาชีพที่เรียกว่า “คนกินบาป” ดู เผื่อว่าจะทำให้รู้สึกดีกับอาชีพที่ทำอยู่มากขึ้น หรือบางทีอาจจะเปลี่ยนใจอยากไปประกอบอาชีพเป็นคนกินบาปแทน และฟื้นฟูอาชีพนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
อาชีพคนกินบาปคืออะไร? อย่าแปลกใจที่ทำไมคนอ่านไม่เคยได้ยินอาชีพนี้ เพราะอาชีพนี้สูญหายไปนานแล้ว sin-eater หรือว่าคนกินบาป เป็นอาชีพที่มีหลักฐานแน่ชัดว่าปรากฏอยู่ตั้งแต่ช่วงยุคกลางในอังกฤษ สก็อตแลนด์ และเวลส์ โดยเมื่อมีคนเสียชีวิตลง สมาชิกในครอบครัวจะว่าจ้างให้คนกินบาปนี้มากินบาปของคนที่ตายไป แล้วบาปก็จะตกอยู่ที่คนกินบาปแทน
คนกินบาปเป็นอาชีพแพะรับบาปโดยแท้ เพราะต้องมารับบาปที่ไม่ได้ก่อของคนที่ตายไปไว้กับตัว และต้องแบกบาปเหล่านี้ไว้เองทั้งในโลกนี้และโลกหน้าโดยที่รู้ตัวว่าตายไปจะไม่ได้ไปสวรรค์เป็นแน่แท้
การ์ตูนวาดจำลองพิธีกรรมกินบาป Photo: Deviant Art/Tillinghast23
•ต้นกำเนิดของคนกินบาป
กล่าวกันว่าการกินบาปเป็นสิ่งที่เก่าแก่มีมาตั้งแต่ 2,000 ปีมาแล้ว เพราะมนุษย์ในสมัยโบราณเชื่อในเรื่องบาปกรรมและกลัวบาปกันมาก จึงพยายามที่จะแสวงหาวิธีขจัดบาปออกไปจากตัว พอตอนตายไปแล้วจะได้ไม่ตกนรกหมกไหม้
ในอารยธรรมเก่าแก่อย่างแอซเต็ก กรีกโบราณ และอียิปต์โบราณ มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันที่มีลักษณะประมาณว่า เมื่อคนใกล้สิ้นลมหายใจ จะมีเทพมาปรากฏตัวให้เห็น โดยคนผู้นั้นจะต้องสารภาพความผิดที่เคยได้ทำมาทั้งหมดเพื่อแลกกับการที่เทพจะกำจัดบาปทั้งหมดให้โดยการ “กินสิ่งสกปรกชั่วร้ายนั้นให้”
2
ชาวยิวส่วนหนึ่งก็มีพิธีกรรมการไถ่บาปด้วยการปล่อยแพะเข้าป่าไปในช่วงเทศกาลยมกิปปูร์ ผู้ลงมือปล่อยแพะจะเป็นพระยิว ซึ่งแพะก็เปรียบเสมือนบาปของชาวยิวนั่นเอง
เชื่อกันว่าธรรมเนียมการมีคนมากินบาปให้แก่คนตายปรากฏในหลายวัฒนธรรมและมีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องต้องห้าม ผู้คนจะไม่อยากเอ่ยถึงมัน และจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของอาชีพนี้ ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมกินบาปในยุคโบราณจึงแทบไม่มีหลงเหลืออยู่
ในศาสนาคริสต์ ก็มีแนวคิดเรื่องการไถ่บาป ดังที่ปรากฏในเรื่องเล่าที่พระเยซูยอมเสียสละชีวิตของตนเพื่อล้างบาปให้แก่มวลมนุษย์ พระเยซูคริสต์จึงถูกตีความว่าเป็นต้นฉบับของคนกินบาปทั้งปวง
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดการล้างบาปจึงปรากฏในศาสนาคริสต์ ซึ่งการล้างบาปตามธรรมเนียมศาสนาจะอยู่ในรูปของการทำพิธีศีลจุ่มเด็กแรกเกิดบ้าง การไปโบสถ์เพื่อสารภาพบาปบ้าง หรือการให้พระมาทำพิธีให้ก่อนที่คนผู้นั้นจะตายบ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีวิธีการไถ่บาปแบบนอกรีตนอกรอยอยู่เช่นกัน เช่น การทรมานตัวเองด้วยการเฆี่ยนตี หรือการซื้อใบไถ่บาป เป็นต้น
การจ้างคนมากินบาปของคนตาย ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งซึ่งปฏิบัตินอกเหนือจากคำสอนของคริสตจักร ดังนั้นคนกินบาปและพิธีกรรมการกินบาปนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับและไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในศาสนาคริสต์
หน้าปกหนังสือชื่อ Brand’s Faiths and folklore; a dictionary of national beliefs, superstitions and popular customs โดยงานชิ้นนี้มีเนื้อหาเล่าถึงบทบาทของคนกินบาปด้วย Photo: ZME Science
•การกินบาปในยุคกลาง
ที่เกาะบริเตน อาชีพคนกินบาปนี้ปรากฏอย่างชัดเจน และแพร่หลายอย่างมากในช่วงยุคกลางหรือยุคมืดของอังกฤษ คนจะจ่ายเงินให้คนกินบาปมาทำหน้าที่เอาบาปไปแทนคนตาย
เมื่อมีคนเสียชีวิตกะทันหันโดยยังไม่ทำพิธีสารภาพบาป จะถือว่าคนที่ตายไปนั้นยังไม่ทันได้ล้างบาปให้กับตัวเอง สมาชิกในครอบครัวจะว่าจ้างคนกินบาปมาปฏิบัติหน้าที่รับบาปไป พิธีกรรมคือการนำขนมปังมาวางไว้บนอกของคนตายจำนวน 1 ชิ้น พร้อมกับเครื่องดื่มเล็กน้อยสักแก้ว เครื่องดื่มที่ว่านั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นเบียร์ (เอล) แต่มีบ้างที่เป็นไวน์
คนกินบาปจะนั่งอยู่ตรงหน้าศพคนตาย ซึ่งจะมากินขนมปังจากอกของศพไป จากนั้นก็ยกแก้วที่ใส่เบียร์หรือไวน์มาดื่มเพื่อให้โล่งคอ รับเศษเงินจำนวนน้อยนิดจากญาติผู้ตาย แล้วก็ต้องรีบออกจากงานไป เชื่อกันว่าขนมปังจะซึมซับเอาบาปของผู้ตายทั้งหมดไว้ในนั้น เมื่อคนกินบาปกินขนมปังเข้าไป บาปทั้งหมดของคนตายจะตกไปสู่คนกินบาปแทน และจะรอดพ้นจากการตกนรก
การกินบาปเพื่อหาเลี้ยงตัวเองเป็นอาชีพที่หนักหนาสาหัสมาก คนที่เลือกมาประกอบอาชีพนี้ได้จะต้องเป็นคนยากจนที่สุดที่สิ้นไร้ไม้ตอกจนไม่เหลืออะไร ยากจนข้นแค้นที่สุดจนไม่เหลือแม้กระทั่งความกลัวต่อบาปจนต้องมาประกอบอาชีพรับบาปแทนคนตาย เพราะสิ่งที่คนกินบาปได้รับคือมื้ออาหารจำนวนน้อยนิดที่แทบไม่พอยาไส้แถมได้เงินกระจึ๋งเดียว แล้วต้องมาแบกรับความอัปยศอดสูและภาระบาปแทนคนตาย
แต่ละหมู่บ้านจะมีคนกินบาปประจำหมู่บ้านของตัวเอง คนกินบาปจะแยกอาศัยอยู่นอกหมู่บ้านนอกแหล่งชุมชนให้ไกลจากคนอื่น ๆ และไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่มีใครต้องการอยู่ใกล้คนกินบาปด้วยเชื่อว่าบาปและวิญญาณของคนตายนับไม่ถ้วนอยู่ในตัวของคนกินบาป ผู้คนจึงไม่ต้องการใกล้ชิดหรือเกลือกกลั้วด้วย แต่คนกินบาปจะถูกตามตัวเมื่อมีคนตายเพื่อให้มาประกอบพิธีกรรมการกินบาป ยิ่งคนกินบาปไปทำพิธีกินบาปให้แก่ผู้ตายมากขึ้นเท่าไหร่ คนในชุมชนจะยิ่งกลัวคนกินบาปมากขึ้นเท่านั้น
การกินบาปนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ซึ่งพระก็จะดูถูกเหล่านักกินบาปมากเช่นกัน เพราะคริสตจักรต้องการเป็นหนึ่งเดียวในการผูกขาดพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย พิธีกินบาปถือว่าเป็นสิ่งนอกรีต คนกินบาปจะต้องคอยหลีกเลี่ยงคนในคริสตจักรเพราะเกรงกลัวการถูกลงโทษ
ธรรมเนียมในยุคกลางนี้ต่อมาได้เสื่อมลงไป แต่ปรากฏว่าฟื้นกลับมาใหม่ในศตวรรษที่ 18
พิธีกรรมฝังศพตามธรรมเนียมศาสนาคริสต์ในอังกฤษเมื่อปี 1795 Photo: British Library
•การกินบาปในศตวรรษที่ 18-19
พิธีกรรมที่ใช้บริการคนมากินบาปให้แก่ผู้เสียชีวิตนั้นปรากฏต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 -19 ในแถบชนบทและเขตเมืองบางส่วนอังกฤษ เวลส์ และสก็อตแลนด์ ซึ่งยังมีคนกินบาปตามธรรมเนียมในยุคกลางอยู่
บางที่ก็ยังคงธรรมเนียมดั้งเดิมไว้โดยวางขนมปังไว้ที่อกของศพแล้วเรียกคนกินศพที่นั่งอยู่ตรงหน้ามากินขนมปังเพื่อรับบาปของผู้ตายไปแทน ส่วนแก้วหรือชามที่คนกินบาปใช้ในพิธีก็จะถูกเผาทำลายทิ้งด้วย บางที่หลังจากเสร็จพิธีกินบาปคนที่มาร่วมงานจะมีการทุบตีเตะต่อยคนกินบาปด้วย ดังนั้นคนกินบาปเมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะต้องรีบจรลีออกจากงานไปให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเจอสหบาทา
เมื่อสังคมมีความซับซ้อนขึ้นพิธีกรรมกินบาปแทนก็จะมีความพิถีพิถันมากขึ้น ดังเช่นที่ปรากฏข้อมูลว่าในปี 1893 ที่เมืองการค้าเดรย์ตัน ในมณฑลชร็อบไชร์ มีงานศพซึ่งวางโลงศพไว้ในบ้าน จะมีผู้หญิงคอยรินไวน์ใส่แก้วให้แต่ละคนถือ แล้วคนถือแก้วไวน์นั้นจะยื่นแก้วข้ามโลงศพไปให้คนกินบาปพร้อมกับ ’ขนมบิสกิตงานศพ’
การหาคนกินบาปในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีคนจรจัดไร้บ้านที่ไม่สามารถหางานประเภทอื่นทำได้แล้ว จึงพร้อมจะทำอาชีพนี้เพื่อความอยู่รอด แม้จะได้รับอาหารตกท้องเล็กน้อยพร้อมเศษเงินก็ยังดี ถึงแม้คนกินบาปจะเป็นอาชีพที่ไม่พึงประสงค์ แต่อาชีพนี้ก็จำเป็นสำหรับคนในช่วงเวลานั้น เพราะนอกจากให้คนมารับบาปแทนคนตายจะได้ไปสวรรค์แล้ว ยังเชื่ออีกว่าจะช่วยไม่ให้วิญญาณคนตายกลายเป็นผีเร่ร่อนบนโลกมนุษย์
ลองนึกภาพดูว่าการต้องมากินขนมปังบนศพของคนตายนั้นน่าสยองขนาดไหน แถมนึกไปอีกว่าถ้าคนตายคนนั้นตายด้วยสภาพทุเรศทุรังหรือตายด้วยโรคติดต่อจะยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ แต่คนในยุคนั้นก็ยอมทำแม้ว่าตายไปจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะแบกบาปของคนอื่นจนตกนรกก็ตามที
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการกินบาปที่แคว้นบาวาเรียในเยอรมนี ในคาบสมุทรบอลข่าน และที่อื่น ๆ ซึ่งรูปแบบได้พัฒนาแตกต่างไปจากยุคกลาง โดยเอนไซโคลพีเดียบริทานิกาฉบับปี 1911 ได้ระบุถึงพิธีกรรมการกินบาปในหัวข้อบทความเรื่อง ‘sin eaters’ ไว้ว่า
•ในแคว้นบาวาเรียตอนบนการกินบาปยังคงมีอยู่ โดยจะมีขนมเค้กของศพวางไว้ที่ตรงหน้าอกของคนตาย แล้วคนที่กินเค้กนี้จะเป็นญาติใกล้ชิดของคนตาย
•ในคาบสมุทรบอลข่านจะมีการทำขนมปังเล็ก ๆ เป็นรูปของคนที่ตายไป แล้วสมาชิกในครอบครัวที่ยังหลงเหลืออยู่จะเป็นคนกินขนมปังนี้เข้าไป
ธรรมเนียมเรื่องการกินบาปยังได้เผยแพร่ไปสู่อเมริกาโดยเหล่าผู้อพยพจากยุโรป และมีพิธีกรรมการกินบาปในแถบรัฐนอร์ธแคโรไลน่า เวสต์เวอร์จิเนีย และเวอร์จิเนีย
เมื่อสังคมเจริญขึ้นความเชื่อของคนก็เปลี่ยนตาม ไม่มีใครอยากประกอบอาชีพคนกินบาปนี้ และก็ไม่มีใครจ้างคนกินบาปเช่นกัน อาชีพนี้จึงค่อย ๆ หายไปในศตวรรษที่ 19
หน้าตาของขนมบิสกิตงานศพในยุควิคตอเรียของอังกฤษ ซึ่งในรูปนี้ทำขึ้นในภายหลังเพื่อเลียนแบบ Photo: Historiccamdencounty.com
ครอบครัวที่ร่ำรวยบางทีจะใช้ชามไม้สั่งทำพิเศษหน้าตาแบบนี้เพื่อใช้ในพิธีการกินบาป ซึ่งชามนี้จะเอาไว้ใส่ขนมปัง เกลือ และชีส ให้กับคนกินบาปใช้ในพิธี แล้วชามเช่นนี้จะกลายเป็นสมบัติตกทอดในครอบครัวนั้นต่อไป Photo: Historiccamdencounty.com
ขนมปังที่วางบนหน้าอกศพในช่วงศตวรรษที่ 17-18 จะมีหน้าตาแบบนี้ และมีเกลือให้คนกินบาปกินเข้าไปด้วย โดยจะมีชามวางรองขนมปังไว้ที่ศพ Photo: Historiccamdencounty.com
ภาพวาดคนกินบาปแสดงความขอบคุณที่ได้รับขนมปัง Photo: Oriel Washington Gallery
•นักกินบาปคนสุดท้ายในศตวรรษที่ 20
ในอังกฤษ อาชีพคนกินบาปนี้กลับมาอีกครั้งช่วงสั้น ๆ ในศตวรรษที่ 20 เพราะชายคนสุดท้ายที่ประกอบอาชีพนี้ชื่อว่าริชาร์ด มันส์โลว์ (Richard Munslow) เขาเป็นชาวนาที่ได้รับการนับหน้าถือตา แต่พอสูญเสียลูกไป 4 คนไป (ในจำนวนนี้ 3 คนตายไปภายในเวลาเพียง 1 อาทิตย์) ด้วยความโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียลูก ๆ ไป เขาจึงตัดสินใจว่าจะรับเอาบาปของคนอื่นมาไว้กับตัวเอง เพราะต้องการช่วยเด็ก ๆ ที่ตายก่อนวัยโดยมากินบาปของเด็ก ๆ แทน ดังนั้นในกรณีนี้จึงเลือกมาเป็นคนกินบาปไม่ใช่เพราะไม่มีอันจะกินแต่เพราะเสียลูกไป แต่เมื่อเขาตายไปในปี 1906 ก็ไม่มีใครทำอาชีพนี้อีก และไม่มีใครมากินบาปแทนให้แก่เขาด้วย
1
หลังจากที่ชายผู้นี้ตายไป อีกหนึ่งศตวรรษต่อมามีการบูรณะหลุมฝังศพของเขา ซึ่งวัตถุประสงค์มิได้เป็นไปเพื่อฟื้นฟูการกินบาป แต่เป็นไปเพื่อรำลึกถึงความตั้งใจที่เขาเสียสละตัวเองเพื่อรับบาปแทนให้เด็ก ๆ ที่ตายไปได้ไปสู่สุขคติ
ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ของธรรมเนียมการกินบาป ปรากฏให้เห็นผ่านการมีขนมเค้กงานฝังศพ ซึ่งทำกันอยู่ในปัจจุบันในเขตชนบทบางส่วนของอังกฤษ เช่น ในเขตมณฑลลินคอล์นไชร์และคัมเบอร์แลนด์ เชื่อกันว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากธรรมเนียมการกินบาปในอดีต
เค้กงานศพ Photo: Birmingham Mail
•ส่งท้าย
มีใครสนใจจะจ้างคนกินบาปให้กับตัวเองบ้างไหม เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ท่าทางคนกินบาปในปัจจุบันไม่น่าจะกินบาปไหว เพราะเรา ๆ ก่อบาปกันไว้เยอะกันเหลือเกิน 😉
มีหนังเกี่ยวกับเรื่องราวของคนกินบาปมาฝาก ชื่อว่า “The Last Sin Eater”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา