25 มิ.ย. 2021 เวลา 10:21 • ประวัติศาสตร์
🪓หน้ากากแห่งความตายกับวิญญาณของแมรี่ ราชินีแห่งสก็อตแลนด์
เรื่องเล่าครั้งที่แล้วเขียนถึงชีวิตที่หายนะวายวอดของราชินีแมรี่แห่งสก็อตแลนด์ผู้จบชีวิตด้วยการถูกบั่นคอฐานเป็นกบฏวางแผนจะแย่งชิงบัลลังก์อังกฤษไปจากราชินีอีลิซาเบธ ส่วนในตอนนี้จะเล่าภาคต่อว่าชีวิตหลังความตายของราชินีผู้นี้เป็นเช่นไร ดังที่พระนางได้ปักลงในผืนผ้าเพื่อหาอะไรทำในระหว่างที่ถูกกักขังอยู่ที่อังกฤษเป็นเวลา 19 ปีว่า "En ma Fin gît mon Commencement..." หรือ "In my End is my Beginning..." หรือ “ในจุดจบของข้าก็เป็นจุดเริ่มต้นของข้า”
จุดจบที่เป็นความตายของราชินีแมรี่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิญญาณของพระนางที่มาปรากฏตัวให้ผู้คนได้พบเห็นจนถึงปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านไปนับ 400 ปี
เมื่อโดนบั่นคอ มีการทำหน้ากากแห่งความตายให้กับแมรี่ ราชินีแห่งสก็อตแลนด์ (Image: REUTERS/David Moir)
🪓วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
เพื่อให้ได้อารมณ์ต่อเนื่องเรื่องชีวิตหลังความตาย มาดูกันว่าในโมงยามสุดท้ายแห่งชีวิตของราชินีแมรี่ในรายละเอียดนั้นเป็นเช่นไร
1 วันก่อนถูกประหาร เมื่อได้รับแจ้งข่าวว่าพระนางต้องถูกประหารชีวิต ราชินีแมรี่รับทราบข่าวอย่างไม่สะทกสะท้านและตรัสว่าพระนางยินดีที่ได้รับข่าวดีนี้ และรอคอยเวลานี้มานานแสนนานเพื่อจะได้ยุติความทุกข์ทรมานของพระนางเสียที โดยพระนางเตรียมตัวรอรับความตายตั้งแต่วันที่กลายเป็นนักโทษในอังกฤษแล้ว จากนั้นพระนางก็ใช้เวลาที่เหลืออยู่ด้วยการเขียนพินัยกรรมและเขียนจดหมายลาเพื่อส่งให้แก่ญาติมิตร แล้วอำลานางสนองพระโอษฐ์ แล้วก็สวดมนต์
ในวันที่ถูกประหารชีวิต ภายในห้องโถงในปราสาทฟอเธอริงเกย์ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ประหารนั้น เมื่อพระนางเดินมาถึงตะแลงแกง ราชินีแมรี่เรียกหัวหน้าคนรับใช้และย้ำสิ่งที่พระนางตรัสกับเขาเพื่อนำไปแจ้งต่อแก่พระโอรสของพระนาง นอกจากนี้ ราชินีแมรี่ยังร้องขอให้นำพระคาทอลิกมาพบกับพระนาง แต่ถูกปฏิเสธและมีการเสนอให้นำพระโปรเตสแตนท์มาปลอบขวัญแทน พระนางก็ปฏิเสธเช่นกัน
3
จากนั้นราชินีแมรี่จึงคุกเข่าลงบนเบาะเพื่อสวดมนต์เป็นภาษาละตินอย่างหนัก และสวดร้องขอให้ราชินีอีลิซาเบธไว้ชีวิตนางสนองพระโอษฐ์ของพระนาง เมื่อเพชฌฆาตจะมาถอดเครื่องทรงออกพระนางห้ามมิให้แตะต้องตัวพระนาง แต่เรียกนางสนองพระโอษฐ์มาถอดเครื่องทรงให้เอง ถึงอย่างไร เพชฌฆาตก็แตะต้องตัวพระนางอยู่ดี
1
ในวันนั้น ราชินีแมรี่สวมชุดคลุมสีดำ แต่เมื่อต้องถอดชุดคลุมข้างนอกออกจึงเผยให้เห็นว่าชุดรองชั้นในนั้นมีสีแดงทั้งชุด สำหรับชาวคาทอลิก นี่เป็นเครื่องหมายของการพลีชีพเพื่อปกป้องความเชื่อของพระนาง ซึ่งการเปลื้องเครื่องทรงนี้ทำต่อหน้าผู้คนนับ 400-500 คนที่อยู่ในนั้น
เพชฌฆาตทั้ง 2 คนคุกเข่าเพื่อขอการอภัยโทษจากพระนาง ซึ่งพระนางตรัสว่า “ข้าให้อภัยพวกเจ้าด้วยใจทั้งหมดที่มี ในตอนนี้ข้าหวังว่าพวกเจ้าจะทำให้ปัญหาทั้งหมดของข้าหมดสิ้นลงไป” แล้วนางสนองพระโอษฐ์ผู้หนึ่งก็ผูกผ้าปิดตาให้แก่พระนาง พวกนางร่ำไห้จนราชินีแมรี่ต้องจูบและโอบกอดพวกนาง และปลอบให้ยินดีกับพระนางมากกว่าที่จะเสียใจ
1
จากนั้นพระนางคุกเข่าลงเพื่อรอรับความตาย โดยวางคอลงบนแท่นรองที่ใช้สำหรับตัดคอ เพชฌฆาตคนหนึ่งต้องคอยจัดการให้คอของพระนางอยู่บนแท่นให้เรียบร้อย อีกคนทำหน้าที่ลงขวาน แต่โชคร้ายที่การตัดคอของพระนางต้องลงขวานถึง 3 ครั้ง คิดดูว่าจะตายอย่างทรมานมากขนาดไหน ขวานตัดลงที่คอของพระนางครั้งแรกนั้นพลาดเป้าไปถูกกะโหลกศีรษะ คอของพระนางจึงยังไม่ขาด เพชฌฆาตจึงลงขวานเป็นครั้งที่สองอย่างรวดเร็ว แต่คอของพระนางยังไม่ขาดดี เพชฌฆาตต้องลงขวานเป็นครั้งที่ 3 เพื่อตัดให้กระดูกอ่อนให้ขาด
ราชินีแมรี่น่าจะสิ้นใจในตอนลงขวานครั้งที่ 2 แทบไม่มีใครได้ยินเสียงที่แสดงความเจ็บปวดจากการถูกตัดคอของพระนาง และร่างของพระนางแน่นิ่งอยู่กับที่ไม่ดิ้นทุรนทุรายเลย
พอตัดคอขาดแล้ว เพชฌฆาตก็ชูหัวของพระนางขึ้นมาเพื่อให้สักขีพยานดู พร้อมกล่าวคำสรรเสริญราชินีอีลิซาเบธผู้ลงนามคำสั่งให้ตัดคอว่า “God Save the Queen.” ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกเล่าอย่างสยดสยองว่าสภาพศีรษะของพระนางเละจนจำแทบไม่ได้ แถมริมฝีปากนั้นยังสั่นขยับขึ้นลงอยู่ตลอดเป็นเวลานานถึง 15 นาทีหลังจากที่ถูกตัดหัว
ราชินีแมรี่สวมใส่ผมปลอม ซึ่งเมื่อเพชฌฆาตชูศีรษะขึ้นผมปลอมนั้นติดมือแต่ส่วนศีรษะหล่นลงไปกลิ้งหลุน ๆ อยู่ที่พื้น ปรากฏว่าผมจริงของพระนางนั้นสั้นหร็อมแหร็มเพราะหลุดร่วงไปและที่เหลือกลายเป็นสีขาวหมดแล้ว เพราะความทุกข์และความเครียดที่พระนางต้องประสบกับโชคชะตาอันโหดร้ายเช่นนี้มานานนับตั้งแต่ถูกกักขังจึงทำให้ผมของพระนางเป็นเช่นนี้
1
แต่เรื่องที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือเมื่อตัดคอราชินีแมรี่แล้วเพชฌฆาตพบสุนัขตัวเล็ก ๆ พันธุ์เทอเรียร์ซ่อนอยู่ใต้ชุดของพระนาง มันไม่ยอมไปจากร่างของเจ้านายมัน แถมยังไปนอนหมอบอยู่ระหว่างร่างกับหัวที่เละของราชินีแมรี่จนตัวมันชุ่มไปด้วยเลือดด้วย จนกระทั่งมีคนมาดึงเอามันออกไปทำความสะอาดให้ ซึ่งในช่วงที่ถูกกักขังนั้นราชินีแมรี่ทรงเลี้ยงสุนัขตัวเล็ก ๆ ไว้เป็นเพื่อน
1
เสื้อผ้าของราชินีแมรี่ที่สวมใส่ในวันนั้นถูกนำไปเผาทิ้งเพื่อไม่ให้ผู้สนับสนุนพระนางนำไปใช้เป็นอนุสรณ์วัตถุ สิ่งของอะไรที่เปื้อนเลือดก็ถูกนำไปชะล้างทำความสะอาดจนหมดจด ส่วนร่างของพระนางถูกแบกลงไปยังอีกห้องเพื่อให้ศัลยแพทย์ทำการรักษาร่างไว้ไม่ให้เน่า แล้วร่างนั้นถูกซ่อนไว้ในปราสาทฟอเธอริงเกย์เป็นเวลานานถึง 6 เดือน ก่อนที่จะถูกนำไปทำพิธีฝังศพที่โบสถ์ปีเตอร์เบอเรอะอย่างเงียบ ๆ
1
พระโอรสของราชินีแมรี่เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ พระองค์ได้สั่งให้ขุดพระศพของพระนางมาฝังไว้ที่วิหารเวสต์มินเตอร์ โดยอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งกับที่ฝังพระศพของราชินีอีลิซาเบธคู่แค้นคู่แข่งของกันและกันในยามที่ยังมีชีวิตอยู่
2
ภาพที่วาดจากคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์การประหารชีวิตราชินีแมรี่ ภาพนี้น่าจะวาดขึ้นเมื่อปี 1613 โดยศิลปินชาวดัตช์ (Image: National Galleries of Scotland)
🪓สิ่งที่ทำเพื่อระลึกถึงคือหน้ากากแห่งความตาย
ก่อนหน้านี้ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของหน้ากากแห่งความตายหรือ Death Masks ไปแล้ว โดยปกติหน้ากากแห่งความตายกับรูปปั้นจำลองจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำพิธีศพสำหรับสมาชิกราชวงศ์ แต่ด้วยข้อหากบฏที่ทำให้ราชินีแมรี่ถูกตัดหัวจึงไม่มีพิธีฝังศพอันยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นต่อสาธารณชน
แต่ถึงกระนั้น หน้ากากแห่งความตายยังเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่สำหรับพระนาง ทันทีที่ราชินีแมรี่สิ้นพระชนม์มีการทำหน้ากากแห่งความตายทันที โดยนำขี้ผึ้งไปหล่อจากใบหน้าของศพเพื่อที่จะรักษาภาพใบหน้าของราชินีแมรี่ไว้ได้ตลอดกาลแม้ร่างจะเน่าสลายไป
1
ถึงแม้ว่าจะสิ้นพระชนม์จากการถูกตัดคอ แต่ความเจ็บปวดหรือความกลัวกลับไม่ปรากฏบนหน้ากากแห่งความตายของพระนาง มีข้อมูลระบุว่าหน้ากากแห่งความตายของราชินีแมรี่มีทั้งหมด 4 ชิ้น แต่ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันมีเพียง 2 ชิ้น โดยหน้ากากแห่งความตายสองใบนี้ทำจากขี้ผึ้ง และมีลักษณะแตกต่างกัน
1
• Lennoxlove mask
หน้ากากแห่งความตายของราชินีแมรี่ชิ้นหนึ่งถูกเรียกว่า ‘หน้ากากเลนน็อกซ์เลิฟ’ ซึ่งเรียกชื่อตามบ้านของตระกูลแฮมิลตัน ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางสก็อต
หน้ากากแห่งความตายใบนี้ผู้ครอบครองคนแรกคือ มาร์ควิสแห่งแฮมิลตัน ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของราชินีแมรี่ เขาได้รับสืบทอดมรดกจากราชินีแมรี่เป็นแหวนไพลินวงหนึ่ง รวมไปถึงกล่องที่บรรจุหน้ากากใบนี้ด้วย ดังนั้น หน้ากากเลนน็อกซ์เลิฟนี้จึงตกทอดกันมาในหมู่ผู้สืบสกุลนี้ และปัจจุบันตกอยู่ในความครอบครองของดยุกแห่งแฮมิลตันคนปัจจุบัน
หน้ากากแห่งความตายใบนี้อยู่กับตระกูลแฮมิลตันเป็นเวลามากกว่า 250 ปีแล้ว แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าหน้ากากใบนี้ไม่น่าจะเป็นของราชินีแมรี่ เพราะมันเล็กเกินไปและดูเด็กไป ยิ่งเมื่อเทียบกับหน้ากากแห่งความตายอีกใบนั้นไม่เหมือนกันเลย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นหน้ากากแห่งความตายของสตรีในตระกูลแฮมิลตันยุคแรก ๆ มากกว่า ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดมาพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้เช่นกัน
หน้ากากเลนน็อกซ์เลิฟใบนี้ไร้ซึ่งการประดับประดาตกแต่งใด ๆ นอกจากใส่คิ้วและขนตา ซึ่งขนตา ขนคิ้ว และอื่น ๆ ถูกใส่ขึ้นภายหลังเพื่อทำให้หน้ากากนี้แลดูเหมือนมีชีวิตมากขึ้น
เชื่อกันว่าหน้ากากใบนี้เป็นหน้ากากแห่งความตายของราชินีแมรี่ (Image: New York Times)
บ้าน Lennoxlove House ของดยุกแห่งแฮมิลตันในสก็อตแลนด์ และเป็นสถานที่เก็บหน้ากากแห่งความตายที่เชื่อว่าเป็นของราชินีแมรี่ไว้ด้วย (Image: Undiscovered Scotland)
• Jedburgh mask
หน้ากากอีกใบถูกเรียกว่า ‘หน้ากากเจ๊ดเบอเรอะ’ ซึ่งถูกพบที่โบสถ์ปีเตอร์เบอเรอะ สถานที่ฝังศพของราชินีแมรี่แห่งแรก คนที่พบหน้ากากใบนี้ตรงสถานที่นี้คือ Dr. Charles Hepburn
ในตอนแรก หน้ากากเจ๊ดเบอเรอะนี้มีสีขาวและไร้ซึ่งการประดับตกแต่งใด ๆ แต่ต่อมานำมาลงสีให้หรูหรา ทั้งเขียนคิ้ว ทาเปลือกตา ทาปาก ราวกับว่าราชินีแมรี่นั้นแต่งหน้า
ปัจจุบันหน้ากากใบนี้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งเคยเป็นบ้านที่ราชินีแมรี่เคยมาพักและเกิดป่วยหนักขึ้น บ้านนี้ถูกเรียกว่า Mary, Queen of Scots' House ปัจจุบันอยู่ที่เมืองเจ็ดเบอเรอะ (Jedburgh) ประเทศสก็อตแลนด์ หน้ากากใบนี้จึงถูกเรียกชื่อตามชื่อเมือง
หน้ากากแห่งความตายของราชินีแมรี่ที่ถูกเรียกว่า Jedburgh mask ซึ่งเรียกตามชื่อเมืองที่หน้ากากนี้ถูกเก็บรักษาไว้ (Image: Biography.com)
บ้านที่ราชินีแมรี่เคยไปพำนักในปี 1566 และป่วยหนักจนเกือบสิ้นพระชนม์ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และมีหน้ากากแห่งความตายที่เรียกว่า Jedburgh mask จัดแสดงอยู่ที่นี่ (Image: Tudor Times Ltd 2017)
🪓เรื่องเล่าลึกลับจากหน้ากากแห่งความตาย
หน้ากากแห่งความตายเลนน็อกซ์เลิฟไม่ปรากฏว่ามีเรื่องลึกลับอะไรเกิดขึ้น อาจจะเป็นไปได้ว่ามันไม่ใช่หน้ากากของราชินีแมรี่จริงตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกต จะมีแต่ก็เพียงเรื่องที่บรรดาคนในบ้านที่เก็บหน้ากากไว้และแขกได้ยินเสียงเปียโนดังขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนเล่น ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับหน้ากากแห่งความตาย
2
แต่มีเรื่องลึกลับเกิดขึ้นกับหน้ากากแห่งความตายอีกชิ้นคือหน้ากาก Jedburgh mask บางเรื่องอ่านแล้วก็ดูไม่น่าเชื่อถือและดูเหลวไหลไร้สาระ แต่บางเรื่องก็พอจะน่าสนใจอยู่บ้าง แต่เพื่อความบันเทิงเลยนำมาเล่าให้อ่านกัน
ด้วยความโด่งดังของวิญญาณราชินีแมรี่แห่งสก็อตแลนด์ เพราะมีผู้พบเห็นวิญญาณของราชินีแมรี่เกือบจะในทุกที่ที่พระนางเคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งมีชีวิต (ขนาดบางที่พระนางไม่เห็นเสด็จไปยังมีคนอ้างว่าเจอผีราชินีแมรี่ เช่นที่หอคอยแห่งลอนดอน) จึงมีผู้ไปล่าท้าผีราชินีแมรี่หลายครั้งหลายคราตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี Mary, Queen of Scots' House บ้านที่ราชินีแมรี่เคยมาป่วยอยู่ที่นี่และปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บหน้ากากแห่งความตาย Jedburgh mask ของพระนาง
บ้านหลังนี้ที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีอายุมากกว่า 500 ปี คนเชื่อว่ามีวิญญาณราชินีแมรี่สิงสู่ในที่แห่งนี้ ผู้ที่เข้ามามักจะได้กลิ่นและได้ยินเสียงแปลก ๆ จนตกอกตกใจเผ่นหนีออกไปจากบ้านนี้แทบไม่ทัน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในห้องนอนของราชินีแมรี่มักจะสัมผัสถึงความรู้สึกแปลก ๆ ในห้องนี้ที่ราชินีแมรี่ได้นอนป่วยรักษาตัวอยู่เป็นเดือน และในตอนที่พระนางถูกกักตัวที่อังกฤษนั้นพระนางโศกเศร้าจนถึงกับคร่ำครวญว่าพระนางน่าจะตายเสียตั้งแต่ตอนที่ป่วยอยู่ที่ Jedburgh
1
กลิ่นที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสคือกลิ่นของดอกฟรีเซีย ซึ่งคนที่เข้าไปในห้องนอนของราชินีแมรี่ก็มักจะได้กลิ่นแบบเดียวกันนี้ และในห้องนั้นนักท่องเที่ยวมักสัมผัสได้ว่ามีบางสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ในห้องนั้นด้วย บ้างก็ได้ยินเสียงฝีเท้า คนถอนหายใจ เสียงกระซิบเบา ๆ และรู้สึกว่ามีบางสิ่งจ้องมองอยู่ จึงพากันกลัวและวิ่งหนีออกไปจากพิพิธภัณฑ์ทันที เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในนี้ผู้บอกว่าตนนั้นไม่ใช่คนกลัวผีก็ยอมรับว่าได้กลิ่นเดียวกัน และยังได้ยินเสียงดังกรอบแกรบซึ่งคล้ายกับเสียงกระโปรงผู้หญิงขยับเวลาเคลื่อนไหว เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเสียงกระโปรงของราชินีแมรี่เวลาพระองค์ก้าวเดิน
เมื่อปี 2012 เจ้าหน้าที่ของบ้านแห่งนี้ถึงขั้นเชิญนักสำรวจสิ่งเหนือธรรมชาติรวมถึงคนทรงมาดูว่าบ้านหลังนี้มีสิ่งผิดปกติอะไร โดยนักสำรวจสิ่งเหนือธรรมชาตินี้มาอยู่ที่นี่จนถึงตีสาม แต่ก็ไม่มีรายงานว่าพวกเขาพบอะไรบ้าง ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเชิญมาอาจจะต้องการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่มีการจัดอีเวนต์ล่าผีกันอยู่เรื่อย ๆ
ในปี 2018 มีกลุ่มคนไปทดสอบพลังงานที่อยู่ในหน้ากากแห่งความตายใบนี้ โดยนำเอาเครื่องวัดอุณหภูมิไปตรวจสอบ และพบว่าตรงจุดที่ตั้งของหน้ากากแห่งความตายใบนี้มีสีแดง ในขณะที่บริเวณโดยรอบนั้นเป็นสีเขียวและสีเหลือง แถมจุดที่มีสีแดงเหล่านั้นเคลื่อนไหวไปมาในบริเวณช่องที่เก็บหน้ากากไว้อีกด้วย ผู้ที่ไปทำการทดลองนี้ระบุว่าภายในอาคารนั้นอุณหภูมิค่อนข้างเย็นและมีการดับไฟในระหว่างที่ทำการทดลองด้วย
สภาพภายในของ Mary, Queen of Scots' House (Images: Border Telegraph)
🪓วิญญาณราชินีแห่งสก็อต
ชีวิตหลังความตายของราชินีแมรี่น่าจะเฮี้ยนยิ่งกว่าผีของราชินีแอนน์ โบลีน ที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้ เพราะราชินีแมรี่ขยันไปหลายที่แทบไม่ว่างเว้น มีเรื่องเล่าว่าวิญญาณของพระนางไปปรากฏกายยังสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 20 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นปราสาทที่พระนางเกิด ปราสาทที่เสด็จไปช่วงที่ยังเป็นราชินีแห่งสก็อตแลนด์ สถานที่กักกันตัวในอังกฤษ และสถานที่ถูกประหาร
สถานที่ต่อไปนี้คือบางส่วนที่เชื่อว่ามีวิญญาณของพระนางสิงสู่อยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีผีประจำถิ่นที่ดังกว่าผีราชินีแมรี่มาก รายละเอียดของเรื่องหลอนของผีราชินีแมรี่จึงค่อนข้างน้อยเพราะโดนผีตนอื่นบดบังรัศมีหมด
• ปราสาทสเตอร์ลิง (Stirling Castle)
ปราสาทแห่งนี้เป็นที่พำนักของเหล่าพระราชาและพระราชินีของสก็อตแลนด์ จึงเกี่ยวพันกับชีวิตของราชินีแมรี่เป็นอย่างมาก ส่วนวิญญาณที่มาหลอกหลอนผู้คนในปราสาทแห่งนี้มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน แถมดังกว่าผีราชินีแมรี่ด้วย ทั้งผีไฮแลนด์แต่งชุดโบราณที่คนไปพบแล้วนึกว่าเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว และทั้งผีผู้หญิงในชุดสีต่าง ๆ ตั้งแต่ชุดขาว ชุดดำ ชุดเทา ชุดเขียว ชุดชมพู (Highland คือดินแดนทางตอนเหนือของสก็อตแลนด์ที่เป็นภูเขาและผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนั้นสืบเชื้อสายมาจากชาวเคลต์-Celt) มีทหารยามได้ยินเสียงฝีเท้าเดินอยู่ตรงห้องว่างชั้นบน และในปี 1820 มีทหารยามหนุ่มถูกพบเป็นศพในห้องนั้น ไม่มีใครรู้สาเหตุการเสียชีวิต แต่ตอนที่พบศพนั้นใบหน้าของศพอยู่ในสภาพตกใจกลัวอะไรบางอย่าง
วิญญาณที่มีผู้พบเห็นอยู่เป็นประจำมี 2 ตน ถูกเรียกว่า ‘สุภาพสตรีสีชมพู’-Pink Lady กับ ‘สุภาพสตรีสีเขียว’-Green Lady บางคนเชื่อกันว่าสุภาพสตรีสีชมพูนั้นคือวิญญาณของราชินีแมรี่ ส่วนสุภาพสตรีสีเขียวนั้นน่าจะเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระองค์ มีคนเห็นสตรีแต่งกายด้วยชุดสีชมพูพลิ้วไหว กำลังเดินไปจากตัวตำหนักเพื่อไปยังโบสถ์ที่อยู่ใกล้กัน
สุภาพสตรีสีเขียวนั้นน่ากลัวเป็นที่สุด ร่างที่ปรากฏให้ผู้คนได้เห็นเป็นวิญญาณของผู้หญิงผมยาวและสวมชุดคลุมสีเขียว และเรื่องเล่าการตายของนางอาจจะทำให้วิญญาณตนนี้น่ากลัวมากยิ่งขึ้น เล่ากันว่าในขณะที่ราชินีแมรี่บรรทมอยู่บนเตียง เทียนไขที่วางข้างเตียงมาไหม้ม่านเตียงนอน จึงเกิดไฟลุกขึ้น นางสนองพระโอษฐ์มาช่วยพระนางไว้ได้ในตอนที่เทียนไขไหม้ที่นอน แต่ตัวนางเองต้องสังเวยชีวิต จึงกลายเป็นวิญญาณที่ติดอยู่ที่นี่เพราะความรู้สึกผิดที่เกือบทำให้พระราชินีแมรี่สิ้นพระชนม์ และรอคอยที่จะรับใช้พระนางอยู่ แถมมีความเชื่อกันอีกว่าใครที่เจอนางมาปรากฏตัวให้เห็นจะเป็นลางบอกเหตุว่าจะประสบเคราะห์ร้าย
มีตำนานที่เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นตุเป็นตะ (แต่สนุก) ว่าหลังจากที่ราชินีแมรี่เสด็จกลับจากฝรั่งเศสเพื่อคืนสู่สก็อตแลนด์บ้านเกิดเมืองนอนนั้น พระนางจะต้องเสด็จมาประทับที่พระราชวังสเตอร์ลิง มีหญิงสาวชาวไฮแลนด์ผู้หนึ่งมาทำงานเป็นหญิงรับใช้ในพระราชวังนี้ นางมีพรสวรรค์พิเศษคือสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ นางเห็นนิมิตว่าหากแม้นราชินีแมรี่ของนางมาหลับนอนภายในพระราชวังโบราณแห่งนี้แม้แต่คืนเดียว พระนางจะไม่มีโอกาสได้ตื่นมาเห็นแสงตะวันเลย ด้วยความกลัวนางจึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่องค์ราชินี ราชินีแมรี่จึงให้นางมาเฝ้ายามให้ตอนพระนางบรรทม และให้เรียกทหารยามถ้ามีสิ่งใดมาคุกคามพระนาง
2
หญิงรับใช้ผู้นี้นั่งเฝ้ายามให้ราชินีแมรี่บนเก้าอี้ ส่วนราชินีแมรี่เมื่อหัวถึงหมอนก็หลับไปทันทีเนื่องจากความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล ส่วนหญิงสาวข้ารับใช้นางนั้นก็เหน็ดเหนื่อยเช่นเดียวกัน ด้วยความกลัวว่าจะมีอันตรายมาแผ้วพานราชินีแมรี่ นางจึงปิดประตูลงกลอน จุดเทียนไขยาวไว้ข้างเตียง เผื่อราชินีตื่นขึ้นมาจะได้ไม่ตกใจกลัวความมืด ค่ำคืนนั้นดูเหมือนยาวนานมากสำหรับหญิงรับใช้ผู้นี้ นางสะกดจิตตัวเองไม่ให้หลับด้วยการเพ่งมองแสงวิบวับของเทียนไขที่จุดไว้ แต่เปลือกตาก็หนักขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถต้านทานได้ นางจึงคิดว่าหลับตาลงสักหน่อยคงไม่น่าจะมีอันตรายใด ๆ อย่างที่ตัวเองรู้สึก
1
นางเผลอหลับไป พอตื่นมาก็เห็นในห้องบรรทมสว่างจ้าเพราะไฟลุกท่วม เทียนไขที่จุดไว้ล้มไหม้เตียงและผ้าปักที่แขวนประดับผนังในห้อง นางสำลักควันและตะโกนเรียกยามรักษาการณ์แล้วรีบไปปลุกราชินีแมรี่แต่พระนางไม่ยอมตื่น อาจจะเป็นเพราะพระนางหลับแล้วสูดควันพิษเข้าไปเลยไม่ยอมตื่น หญิงรับใช้เองทั้งไอทั้งสำลักควันหายใจไม่ออกแต่ก็ไปอุ้มราชินีพาไปที่ประตู แต่ไฟได้ลุกไหม้ชุดสีเขียวที่นางสวมใส่อยู่และไหม้ตัวของนาง ยามรักษาการณ์พังประตูเข้ามาและมาพาตัวทั้งสองออกไปจากห้องที่ไฟกำลังไหม้อยู่นี้
ทุกคนที่อ่านเรื่องโศกนาฏกรรมชีวิตของราชินีแมรี่รู้ว่าพระนางมีชีวิตอยู่จนกระทั่งได้ถูกตัดหัว แต่หญิงรับใช้ผู้นี้ตายเพราะทนพิษบาดแผลจากการถูกไฟไหม้ไม่ไหว ด้วยความเป็นคนไม่สำคัญทุกคนล้วนลืมชื่อนางไปเสียสิ้น จดจำได้แต่ชุดที่นางสวมใส่ในวันนั้นที่เป็นสีเขียว
เมื่อตายไปวิญญาณของนางต้องมาชดใช้กับความโง่เขลาที่นางกระทำไปจนทำให้เกิดเหตุไฟไหม้นี้ ตำนานยังเล่าอีกว่าหากผู้ใดได้เจอกับวิญญาณของนางแล้วสบตาด้วย คนผู้นั้นจะไม่มีโอกาสเห็นพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ด้วยเหตุนี้ วิญญาณของสตรีในชุดเขียวจึงเป็นที่กลัวเกรงกันมากว่าจะไปจ๊ะเอ๋เจอกันเข้า
ปราสาทสเตอร์ลิงในยามค่ำคืนจากมุมใกล้และมุมไกล (Images: Visit Scotland)
• พระตำหนักโฮลีรู้ด (Holyroodhouse)
สถานที่แห่งนี้มีเหล่าวิญญาณที่ไม่ไปสู่สุคติวนเวียนอยู่เป็นจำนวนมาก มีเรื่องน่ากลัวที่เกี่ยวข้องกับราชินีแมรี่ในตำหนักนี้ นั่นคือการสังหารเดวิค ริคชิโอ ที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระนางโดยดาร์นลีย์สวามีของพระนางและพรรคพวก
เดวิค ริคชิโอ ถูกแทงยับนับ 56 ครั้ง แล้วร่างของเขาก็ถูกโยนลงบันได คราบเลือดของเขายังติดอยู่บนพื้นไม้ตรงจุดที่ถูกฆ่า ซึ่งไม่ว่าจะพยายามขัดถูทำความสะอาดคราบรอยเลือดนี้มากขนาดไหน แต่พอข้ามคืนคราบเลือดนี้ก็จะกลับมาปรากฏขึ้นใหม่อีกครั้ง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนพื้นไม้ตรงนี้หลายรอบ แต่รอยเลือดดังกล่าวก็จะปรากฏขึ้นมาใหม่ตรงจุดเดิมอยู่ดี มีทหารยามรักษาการณ์เห็นร่างที่เหมือนวิญญาณปรากฏอยู่ในบริเวณนี้ และยามดึกสงัดจะมีเสียงแปลก ๆ ดังขึ้นแบบหาสาเหตุไม่ได้
1
ดั่งสวรรค์แกล้ง เมื่อดาร์นลีย์ถูกฆ่าตายเป็นผีก็มาสิงสู่ในตำหนักนี้เช่นเดียวกัน มีคนเห็นเงาเหมือนร่างคนที่น่าจะเป็นวิญญาณของสวามีของราชินีแมรี่ผู้นี้อยู่เป็นประจำบริเวณที่เคยเป็นส่วนที่เขาอยู่อาศัยในอดีต
เชื่อกันว่าวิญญาณของราชินีแมรี่ก็คอยหลอกหลอนผู้คนตรงห้องโถงของตำหนักนี้ เรื่องแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องโถงที่ทั้งมืดและทอดยาวคืออยู่ดี ๆ ก็จะมีลมพัดมาโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ มีเสียงฝีเท้าคนเดินดังขึ้น และมีเสียงร้องไห้ลอยมาจากห้องใต้ดิน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ที่นี่และยามรักษาการณ์มีประสบการณ์ร่วมกันในการได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินตรงระเบียงทางเดินที่ทอดยาวหลายครั้งหลายครา แม้กระทั่งคนเช็ดกระจกยังเคยเห็นชายแต่งตัวในชุดโบราณช่วงศตวรรษที่ 16 ปรากฏกายให้เห็นในบริเวณนี้
ในห้องนอนของราชินีแมรี่ก็มีเงาเป็นร่างคนมาปรากฏให้เห็น และจะมีวิญญาณผู้หญิงเป็นเงาสีเทาอยู่ในห้องรับแขกของราชินีแมรี่ ซึ่งวิญญาณสีเทาตนนี้เชื่อกันว่าคงจะเป็นข้ารับใช้ราชินีแมรี่สักคนหนึ่ง
ตำหนัก Holyroodhouse ห้องนอน และห้องรับแขกของราชินีแมรี่ (Images: Martin Coventry/ The Castles of Scotland)
จุดที่เดวิค ริคชิโอ ถูกสังหาร ภาพวาดของเขา และศิลปินยุคหลังวาดภาพจำลองเหตุการณ์ในครั้งนั้น (Images: Wikipedia, Royal Collection Trust)
• ปราสาทเครกเนธัน (Craignethan Castle)
เรารู้กันว่าราชินีแมรี่แต่งงานรอบสามกับบอธเวลล์แล้วกลายเป็นหายนะ ขุนนางสก็อตจับพระนางไปขังในปราสาทเลเวนที่ตั้งอยู่บนเกาะ แต่ราชินีแมรี่หนีออกมาได้ พระนางได้หลบมาประทับอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้หนึ่งคืนก่อนที่จะทำศึกกับขุนนางสก็อตและพ่ายแพ้ไป กองทัพของพระนางส่วนใหญ่ได้มาจากการสนับสนุนของตระกูลแฮมิลตัน (ตระกูลญาติของพระนางที่ได้รับมรดกตกทอดหลายชิ้น หนึ่งในนั้นมีหน้ากากแห่งความตายนั่นเอง) แล้วพระนางก็หนีไปลี้ภัยที่อังกฤษ
ทันทีที่สิ้นพระชนม์จากการถูกตัดหัว วิญญาณของราชินีแมรี่ในสภาพไร้หัวก็ไปปรากฏตัวที่ปราสาทเครกเนธันในสก็อตแลนด์ทันที เพราะมีผู้เห็นวิญญาณไร้หัวอยู่ที่ปราสาทนี้ จึงเชื่อกันว่าเป็นพระนาง มีคนเห็นวิญญาณผู้หญิงสวมชุดในยุคราชวงศ์สจ๊วร์ตยืนอยู่ที่ลานปราสาท และมีคนได้ยินเสียงดังรบกวนที่อธิบายที่มาไม่ได้ ทั้งเสียงพูดของผู้หญิงดังมาจากลานปราสาท และเสียงเป่าปี่สก็อต
ผีที่ปราสาทนี้เคยหลอกนักท่องเที่ยวอีกด้วย มีนักท่องเที่ยวเห็นคนแต่งชุดโบราณตรงลานปราสาท จึงนึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำปราสาท จึงเดินตามไปเพราะคิดว่าจะมีการแสดงย้อนยุคเกิดขึ้น แต่ปรากฏว่าคนที่พวกเขาเห็นและเดินตามนั้นหายวับไปต่อหน้าต่อตา
ซากปราสาทเครกเนธัน (Image: Historic Environment Scotland)
• ปราสาทบอร์ธวิก (Borthwick Castle)
เมื่อราชินีแมรี่แต่งงานกับบอธเวลล์ ทั้งคู่มาฮันนีมูนกันที่ปราสาทนี้ในช่วงปี 1567 แต่การแต่งงานครั้งนี้กลายเป็นหายนะเพราะเหล่าขุนนางสก็อตไม่พอใจ จึงต้องการจับตัวพระนางกับบอธเวลล์โดยนำกำลังคนมาล้อมปราสาทไว้มากกว่า 1,000 คน พระนางจึงปลอมตัวเป็นเด็กรับใช้แล้วหนีออกไปได้ทางหน้าต่างในยามตอนกลางคืนกับบอธเวลล์ แต่ทั้งคู่ต้องแยกจากกันไปตลาดกาล ถึงจะหนีออกไปได้สุดท้ายพระนางก็โดนตามจับตัวได้แล้วถูกส่งไปขังไว้ที่ปราสาทเลเวนที่ตั้งอยู่บนเกาะ
พอเมื่อสิ้นพระชนม์ วิญญาณของราชินีแมรี่ได้มาปรากฏกายให้เห็น ณ ปราสาทแห่งนี้ในชุดเด็กชายคนรับใช้ ซึ่งน่าจะเป็นสภาพเดียวกับที่พระนางหนีการล้อมจับตัวครั้งนั้น มีคนเห็นวิญญาณแต่งตัวเหมือนผู้ชายแต่รูปร่างสูงบางเดินจากปราสาทไปยังบริเวณโบสถ์และสุสานที่อยู่ติดกัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิญญาณราชินีแมรี่
ความสวยงามของปราสาทบอร์ธวิกทำให้ถูกปรับปรุงเป็นโรงแรมและกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมที่คนชอบมาจัดพิธีแต่งงาน (ถ้าเป็นคนไทยน่าจะถือเพราะราชินีแมรี่แยกจากบอธเวลล์ที่นี่) ปราสาทแห่งนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องผีในห้องแดง-The Red Room ที่เฮี้ยนจนเจ้าของต้องเชิญพระมาทำพิธีไล่ผี มีคนมาล่าท้าผีจำนวนมาก โดยมีคนได้ยินเสียงมาจากทิศทางที่ไร้ตัวตนไม่มีคนอยู่ตรงนั้น ได้ยินเสียงเดาะลิ้นและเสียงดังปังทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้น และเห็นแสงประหลาด แขกที่มาพักก็มักล้มป่วยอย่างไร้สาเหตุ
ปราสาทบอร์ธวิกและบริเวณโดยรอบ (Image: Wikipedia)
• ปราสาทเลเวน (Leven Castle)
ปราสาทเลเวน หรือที่เรียกว่าปราสาทล็อชเลเวน เพราะเป็นปราสาทตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบ ราชินีแมรี่ถูกจับมาขังไว้ที่นี่นาน 1 ปี และถูกบังคับให้สละบัลลังก์ให้แก่เจมส์โอรสของพระนาง แถมยังแท้งลูกแฝดที่นี่ โดยพระนางพยายามหาทางหลบหนีออกจากที่นี่หลายครั้ง
ความโศกเศร้าและเจ็บปวดจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ทำให้วิญญาณของพระนางมาติดอยู่ยังสถานที่นี้ และกลายเป็นวิญญาณที่โหยหาการหนีออกไปจากที่นี่ มีคนเห็นวิญญาณของพระนางตรงจุดที่ลงนามสละราชสมบัติให้กับพระโอรสด้วย
ปราสาท Lochleven Castle ที่ราชินีแมรี่ถูกนำมากักขังไว้ (Images: Visit Scotland)
• เชฟฟีลด์ แมนเนอร์ ลอดจ์ (Sheffield Manor Lodge) และปราสาทโบลตัน (Bolton Castle)
เมื่อราชินีแมรี่ลี้ภัยมายังอังกฤษ พระนางถูกกักตัวตามปราสาทต่าง ๆ มากมายตลอดระยะเวลา 19 ปี ผีของพระนางจึงปรากฏตัวหลายที่มาก ด้วยข้อจำกัดที่มีจะขอเล่าสั้น ๆ แค่ 2 ที่
ที่เชฟฟีลด์ แมนเนอร์ ลอดจ์ เป็นบ้านของเอิร์ลแห่งชรูส์เบอรี่ (Earl of Shrewsbury) มีคนพบวิญญาณของราชินีแมรี่เดินทะลุกำแพงเข้าบ้านหลังนี้ไป
ส่วนที่ปราสาทโบลตันนี้ก็เป็นอีกที่ที่พระนางถูกนำมากักตัวไว้ เรื่องลึกลับที่เกิดขึ้นคือมีเสียงฝีเท้าคนเดินหนัก ๆ ย่ำอยู่ชั้นบน แต่พอขึ้นไปดูก็ไม่พบว่ามีใคร มีเสียงวิญญาณร้องไห้คร่ำครวญดังขึ้นในยามกลางคืนตอนที่มีคนมาล่าผีกันในปราสาทนี้ และมีเสียงเคาะดังขึ้นที่หาต้นตอของเสียงไม่ได้ บ้างก็ว่ามีคนพบเห็นวิญญาณที่ลานปราสาทซึ่งเป็นวิญญาณผู้หญิงสองคนยืนเคียงกัน ทั้งคู่สวมชุดคลุมยาวมีหมวก วิญญาณตนหนึ่งสวมชุดคลุมสีดำ ส่วนวิญญาณที่ยืนข้าง ๆ อีกตนนั้นสวมชุดสีขาว
คนเชื่อกันว่าวิญญาณที่พบตรงลานปราสาทและทั่วบริเวณปราสาทนี้ที่สวมชุดคลุมกำมะหยี่สีดำนั้นคือราชินีแมรี่ คนที่พบเห็นวิญญาณตนนี้มีตั้งแต่ชาวบ้าน ผู้ดูแล และเจ้าของปราสาท และมีการจดบันทึกเรื่องราวการพบเห็นวิญญาณนั้นด้วย เรื่องมีอยู่ว่าเย็นวันหนึ่งเวลาห้าโมงครึ่ง ลอร์ดโบลตันกำลังล็อคประตูทางออกของปราสาท แล้วเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งตรงลานปราสาท หญิงคนนี้สวมชุดคลุมสีดำ กำลังเดินตรงไปยังฝั่งกำแพงปราสาทฝั่งตะวันออก ตอนแรกเขานึกว่าเป็นนักท่องเที่ยว จึงรออยู่ข้างนอกให้เธอเดินเที่ยวอยู่สัก 5 นาที แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นแม้เงาผู้หญิงคนนั้นเดินออกมา
เขาเลยเดินไปยังจุดที่เห็นหญิงคนนั้นเพื่อดูว่าเธอกำลังทำอะไรอยู่ แต่ก็ไม่เห็นว่ามีคนอยู่ตรงนั้น ซึ่งปราสาทนี้มีทางออกทางเดียวและเขายืนอยู่ตรงทางออกตลอดเวลา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 2-3 ปีต่อมา แต่คราวนี้เจอที่โบสถ์ของปราสาท
ที่ปราสาทนี้ยังเคยทำพิธีไล่ผีตรงห้องที่เคยใช้เป็นห้องนอนของราชินีแมรี่ด้วย แต่ก็ไล่ไม่สำเร็จเพราะยังเกิดเหตุประหลาดอยู่ เหตุเกิดมาจากเตียงสี่เสาแบบศตวรรษที่ 18-19 ที่อยู่ในห้องของราชินีแมรี่ ผู้ครอบครองเตียงนี้ 4 คนสุดท้ายเมื่อมานอนบนเตียงจะต้องประสบกับฝันร้ายและเจอภาพหลอนที่ชัดเจนมาก ซึ่งเตียงนี้ไม่ใช่ของเก่าดั้งเดิมของปราสาทแต่เป็นเตียงที่ได้รับมาเป็นของขวัญเพราะเจ้าของเดิมเห็นว่าเตียงนี้มีบางอย่างสิงสู่อยู่
ครั้งหนึ่ง สุนัขของลอร์ดโบลตันเข้าไปในห้องของราชินีแมรี่ พอพวกมันเข้าไปก็มีพฤติกรรมคลั่ง ทั้งพากันเห่าและคำรามใส่เตียงนอนในห้องนั้นไม่หยุด จนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่มีใครกล้านอนบนเตียงหลังนั้น
ภายในห้องนอนของราชินีแมรี่ในปราสาทโบลตัน (Image: British Express)
รูปบนคือปราสาท Bolton Castle และรูปล่างคือ Sheffield Manor Lodge สถานที่ราชินีแมรี่ถูกนำมากักตัวในอังกฤษ (Images: Wikipedia)
• โรงแรมทัลบอต (Talbot Hotel)
ปราสาทฟอเธอริงเกย์ที่ราชินีถูกนำตัวไปประหารนั้นถูกทำลายลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1620 โดยพระโอรสและหลานชายของพระนางตั้งใจทำลายปราสาทนี้ทิ้งเพราะเป็นสถานที่ปลิดชีวิตราชินีแมรี่ แต่เล่ากันว่าอิฐ หน้าต่างขนาดใหญ่ และบันไดไม้โอ๊กที่พระนางเดินลงมาเพื่อมายังสถานที่ประหารนั้น ถูกนำไปสร้างเป็นโรงแรมแห่งนี้ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวปราสาท
เล่ากันว่าในวันที่ถูกประหาร ราชินีแมรี่เดินลงมาด้วยบันไดไม้โอ๊กนี้ และได้ทิ้งรอยไว้บนราวบันได เพราะตอนที่พระนางเดินลงมาต้องจับราวไว้จนแน่นเพื่อพยุงตัวพระนางให้เดินได้อย่างมั่นคงไม่เข่าอ่อนล้มลงไปเสียก่อน แหวนของพระนางที่เป็นรูปมงกุฎก็ทิ้งรอยกดเป็นรูปมงกุฎไว้บนราวบันไดนี้
แต่ข้อมูลของโรงแรมระบุว่าหน้าต่างตรงข้างบันไดไม้โอ๊กนั้นน่าจะเป็นของที่มาจากปราสาทฟอเธอริงเกย์จริง แต่บันไดไม้โอ๊กไม่น่าจะใช่ เพราะดูจากสภาพแล้วบันไดของปราสาทจะต้องหรูหราใหญ่โตกว่านี้ อีกทั้งบันไดที่โรงแรมน่าจะทำขึ้นในสมัยหลัง
เมื่อสร้างโรงแรมนี้เสร็จ ราชินีแมรี่จึงกลายเป็นแขกประจำของโรงแรม และเล่าว่าแขกที่มาพักในโรงแรมจะเห็นวิญญาณของพระนางเดินลงบันไดมา เฟอร์นิเจอร์ในโรงแรมเคลื่อนย้ายได้เอง และภาพวาดการประหารชีวิตของพระนางที่แขวนไว้บนผนังของโรงแรมมักจะร่วงหล่นลงมาเอง ในห้องของโรงแรมที่ตั้งชื่อตามพระนางนั้นแขกที่มาพักมีประสบการณ์ว่านอน ๆ อยู่ก็มีมือชื้น ๆ มาผลักออกจากเตียง
นอกจากนี้ มีการเล่าลือว่าพบวิญญาณราชินีแมรี่ที่หอคอยแห่งกรุงลอนดอนด้วย แถมเล่าไปอีกว่าเมื่อวิญญาณของพระนางมาปรากฏตัวที่นั่นจะมีข่าวร้ายเกิดขึ้น เช่น มีสมาชิกราชวงศ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ขอเล่าในรายละเอียดเพราะราชินีแมรี่ไม่เคยเสด็จไปที่นั่นเมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ แถมยังบอกว่าพระนางถูกจับไปขังรอประหารที่นั่นด้วย ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ใช่ความจริง
โรงแรมทัลบอตที่เชื่อว่า บันได หน้าต่าง และอิฐ ถูกนำมาจากปราสาทฟอเธอริงเกย์ที่ถูกทำลายลง และมีรอยที่เชื่อว่าเป็นรอยกดจากแหวนของราชินีแมรี่ด้วย (Image: Wikipedia, Talbot Hotel)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา