31 พ.ค. 2021 เวลา 05:54 • ประวัติศาสตร์
Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต)
เขียนเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2556
ผมไปอ่านพบบทความนี้ในหนังสือเรื่อง "การฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม" ซึ่งจัดทำโดย องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support : JAHDS) เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2547 เลยคิดว่าน่าจะนำมาเผยแพร่ในบล็อกนี้อีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงผลกระทบของทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากสงครามและการสู้รบในสมัยก่อนที่ยังไม่ได้ถูกเก็บกู้ออกไป มันทำลายชีวิตมนุษย์ไม่เลือกหน้า ไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และปัจจุบันยังมีทุ่นระเบิดเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 18 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมา
Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต)
ทัศนียภาพของทุ่งนาและหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ ปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม ดูเงียบสงบ ผู้คนที่นั่นใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใครบ้างเลยจะคิดว่าที่แห่งนี้มีเรื่องราวน่าเศร้าเกิดขึ้นมากมาย? จากทุ่นระเบิดเพียงชิ้นเดียว ที่ถูกฝังไว้ใต้ดิน สามารถทำลายชีวิตผู้คนอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และที่แห่งนี้ ที่มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมากมาย
ระหว่างการทำงานในไร่นาหรือเล่นกับเพื่อนหลังกลับจากโรงเรียน หากพวกเขาโชคร้ายเหยียบทุ่นระเบิดเข้า ถ้าไม่สูญเสียขาหนึ่งข้างก็สูญเสียทั้งสองข้าง มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ด้วยหรือ?
เด็กชายเมธี อายุ 7 ขวบ รำพึงให้ฟังว่า "ผมอยากไปโรงเรียน...."
"ปีที่แล้ว ขณะที่ผมกลับจากโรงเรียน ได้แวะเล่นกับเพื่อนที่สวน ทันใดนั้น ผมก็ได้ยินเสียงดังมาก จากนั้นไม่รู้สึกตัวอีกเลย สิ่งต่อมาที่รู้ก็คือ มีผู้ใหญ่หลายคนมาอยู่ตรงหน้า"
ในตอนนั้น เมธีสูญเสียขาทั้งสองข้าง แม้ว่าเขาจะสามารถเดินได้ด้วยขาเทียม แต่ก็ไม่อาจไปโรงเรียนได้อีก เพราะที่บ้านไม่มีใครพาเขาไปได้ แม่ก็ยุ่งอยู่กับการทำงานในไร่นาและพ่อก็เข้าไปทำงานในเมือง
ความปวดร้าวทางกายได้เลือนหายไปแล้ว
แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปตลอดกาล มันช่างยากที่จะลบเลือน
ที่มาข้อมูล
องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม. (2547). Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต). การฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม. กรุงเทพฯ : เชอิอูน (ประเทศไทย).
#ทุ่นระเบิด #คนพิการ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา