9 มิ.ย. 2021 เวลา 07:11 • ประวัติศาสตร์
เรื่องราวของชาวปาร์ซี
ชนกลุ่มน้อยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอินเดีย
ข้อมูลเบื้องต้น
🔥ชาวปาร์ซี (Parsi หรือสะกดอีกแบบว่า Parsee) คือชนกลุ่มน้อยที่เล็กที่สุดในอินเดีย ชุมชนของชาวปาร์ซีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองมุมไบ และมีรากเหง้าดั้งเดิมมาจากเปอร์เซีย โดยบรรพบุรุษของชาวปาร์ซีอพยพมาอาศัยอยู่ในอินเดียเป็นเวลามานานกว่า 1,200 ปีแล้ว
🔥ชาวปาร์ซีนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) ที่มีจุดกำเนิดในอิหร่าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศาสนาโบราณที่เก่าแก่มากที่สุดศาสนาหนึ่งของโลกที่ยังมีคนนับถืออยู่ในปัจจุบัน ศาสนานี้มีอายุราว 4,000 ปีมาแล้ว และเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียว
🔥แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่เล็กที่สุดในอินเดีย แต่ชาวปาร์ซีมีอิทธิพลอย่างสูงในอินเดียมาก ชาวปาร์ซีเป็นกลุ่มคนผู้บุกเบิกการศึกษาในอินเดียช่วงศตวรรษที่ 19 และชาวปาร์ซียังเป็นแนวหน้าในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอินเดีย
3
🔥ชาวปาร์ซีเป็นหัวหอกในการก่อตั้งพรรค Indian National Congress ในศตวรรษที่ 19 และผู้นำคนสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของพรรคนี้ตลอดศตวรรษก็เป็นชาวปาร์ซี
1
🔥ในปัจจุบันชาวปาร์ซีเป็นกลุ่มคนชั้นนำในธุรกิจธนาคาร การค้า การแพทย์ กฎหมาย และการข่าว
🔥จากการสำรวจประชากรเมื่อปี 2020 มีชาวปาร์ซีในอินเดียอยู่เพียง 23,000 คนเท่านั้น (แต่บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีราว 60,000 คน)
🔥การที่ประชากรปาร์ซีในอินเดียลดลงเรื่อย ๆ มาจากอัตราการเกิดต่ำ เพราะผู้หญิงชาวปาร์ซีถึง 1 ใน 3 ไม่แต่งงาน ซึ่งถ้าแต่งงานไปก็จะมีลูกโดยเฉลี่ยเพียงแค่คนเดียว นอกจากนี้การที่ผู้หญิงชาวปาร์ซีแต่งงานกับคนนอกลูกที่เกิดมาก็จะไม่นับว่าเป็นประชากรปาร์ซีด้วย
🔥ชุมชนชาวปาร์ซีมีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในประเทศอินเดียเมื่อเทียบกับชุมชนอื่น ๆ จากข้อมูลปี 2001 ชาวปาร์ซีมีอัตราการรู้หนังสือถึง 97.9% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 64.8%
2
ประชากรชาวปาร์ซีในอินเดีย (Photo: Wikipedia)
การอพยพ
🔥ในคริสตศักราชที่ 7 ชาวปาร์ซีลี้ภัยหนีออกจากเปอร์เซียมายังอินเดียเป็นเพราะการรุกรานที่โหดร้ายทารุณจากพวกมุสลิมอาหรับ
🔥คาดการณ์ว่าคนกลุ่มนี้ล่องเรือข้ามทะเลอาหรับมา และขึ้นฝั่งที่แถบรัฐคุชราชทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย และน่าจะมาถึงเมื่อปีใดปีหนึ่งในช่วงคริสต์ศักราชที่ 785-936
🔥มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าในตอนที่ชาวปาร์ซีอพยพมาถึงรัฐคุชราช กษัตริย์ของรัฐส่งสาส์นในทำนองแจ้งว่าสถานที่แห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่จนล้นแล้วผ่านแก้วที่มีนมอยู่เต็มแล้ว (เพราะพูดกันคนละภาษาสื่อสารกันด้วยคำพูดไม่รู้เรื่อง) เมื่อนักบวชชาวปาร์ซีที่นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์เห็นแก้วดังกล่าวจึงเติมน้ำตาลลงไปในแก้วนมนั้น เพื่อเป็นการส่งสารไปถึงกษัตริย์ว่าพวกเขารักสงบและจะสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนและสันติ และจะทำให้ชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งขึ้นจากความรู้ ค่านิยมที่ดี ความอุตสาหะและการทำงานหนักของพวกเขา พอกษัตริย์ได้เห็นการตอบกลับด้วย ‘น้ำตาลในแก้วนม’ ดังกล่าวแล้วจึงเกิดความประทับใจมากและยอมให้ผู้อพยพชาวปาร์ซีตั้งรกรากอยู่ที่นี่
5
🔥ในช่วงแรกที่อพยพมาชาวปาร์ซีประกอบอาชีพทางการเกษตร ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็ทำการค้ากับจีนและพม่า ซึ่งในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย ชาวปาร์ซีรุ่งเรืองขึ้นจากการทำธุรกิจที่ชาวอังกฤษเปิดโอกาสให้ชาวปาร์ซีเข้ามามีส่วนร่วม โดยชาวปาร์ซีเป็นคนกลุ่มแรกที่เริ่มทำงานร่วมกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Company)
🔥ชื่อเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ‘ปาร์ซี’ มาจากคำว่า ‘ฟาร์ซี’ (Farsi) ซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันในดินแดนเปอร์เซีย แต่บางแหล่งข้อมูลก็ระบุว่า ‘ปาร์ซี’ มาจากคำว่า ‘เปอร์เซีย’ ซึ่งหมายถึงชาวเปอร์เซียนั่นเอง
🔥ชาวปาร์ซีในอินเดียส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองมุมไบ และมีบางส่วนอาศัยอยู่ในเมืองหรือหมู่บ้านที่อยู่ทางตอนเหนือของมุมไบและเมืองบังกาลอร์ ส่วนในประเทศปากีสถานก็มีชาวปาร์ซีอาศัยอยู่ที่เมืองการากาจีซึ่งทั้งประเทศมีไม่ถึง 2,000 คน
1
🔥เนื่องจากไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู ชาวปาร์ซีจึงไม่ได้มีระบบวรรณะ
2
ผู้หญิงปาร์ซีมีการศึกษาที่สูงมาก ในรูปเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงชาวปาร์ซีในปี 1870 (Photo: CNN)
ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติ
🔥วิถีปฏิบัติตามแนวทางศาสนาโซโรแอสเตอร์ของชาวปาร์ซีในอินเดียเป็นไปตามแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์และความเปรอะเปื้อน ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางศาสนามีตั้งแต่พิธีรับเข้า การสวดมนต์ประจำวัน การบูชาที่วิหารแห่งไฟ การแต่งงาน พิธีฝังศพ เป็นต้น
🔥ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วเด็กชาวปาร์ซีจะถูกรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาโดยอัตโนมัติ แต่เด็กชาวปาร์ซีจะมีพิธีรับเข้าในศาสนาเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุตายตัว แต่ส่วนมากมักจะทำพิธีเมื่อมีอายุได้ 7 ขวบ
🔥ชาวปาร์ซีมีประเพณี “ฝังศพบนฟ้า” คือชาวปาร์ซีจะสร้างอาคารที่เรียกว่า ‘หอคอยแห่งความเงียบ’ (Tower of Silence) หรือ ‘ดักห์มา’ (dakhma) ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่นำศพคนตายไปไว้บนยอดหอคอยเพื่อให้แร้งมากินศพไป
🔥ศพจะถูกทิ้งไว้จนเหลือแต่กระดูกขาว จากนั้นกระดูกทั้งหมดจะถูกกวาดไปไว้ตรงหลุมตรงกลางเพื่อให้ย่อยสลายและปล่อยสู่ภายนอก วิถีปฏิบัติเช่นนี้มาจากแนวคิดที่ว่าธาตุไฟ น้ำ และดิน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงต้องหลีกเลี่ยงการทำให้องค์ประกอบนี้สกปรก ชาวปาร์ซีจึงจำเป็นต้องฝังคนไว้บนฟ้าโดยวิธีนี้
🔥ประเพณีฝังศพบนฟ้าเช่นนี้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศต้นกำเนิดอย่างอิหร่านมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่ชาวปาร์ซีบางส่วนในอินเดียยังประกอบประเพณีฝังศพเช่นนี้อยู่
🔥แต่ปัจจุบันประชากรแร้งในอินเดียมีจำนวนลดลงเข้าขั้นวิกฤต จึงทำให้เกิดปัญหาศพย่อยสลายช้าลงมาก จึงมีการนำเครื่องรวมแสงอาทิตย์มาช่วยในการย่อยสลายศพ
🔥ศาสนสถานของชาวปาร์ซีไม่ว่าจะเป็นวิหารแห่งไฟหรือหอคอยแห่งความเงียบจะห้ามคนนอกศาสนาเข้าไป แม้กระทั่งหญิงชาวปาร์ซีหากไปแต่งงานกับคนนอกแล้วก็จะห้ามมิให้เข้าไปยังสถานที่เหล่านี้ด้วย จนต่อมาเกิดคดีฟ้องร้องต่อศาลที่หญิงปาร์ซีที่แต่งงานไปกับคนภายนอกต้องการเข้าไปในสถานที่เหล่านี้
1
หอคอยแห่งความเงียบ สถานที่จัดการศพคนตายตามแบบศาสนาโซโรแอสเตอร์ (Photo: The Guardian)
ธุรกิจและคนดังชาวปาร์ซี
🔥ชาวปาร์ซีมีจำนวนประชากรไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมดในอินเดีย แต่มีชาวปาร์ซีถึง 4 คนที่ติดอันดับอภิมหาเศรษฐีพันล้าน 20 รายแรกของประเทศ
🔥ชาวปาร์ซีที่ร่ำรวยระดับแนวหน้าของประเทศคือตระกูล Tata ตระกูล Wadia และตระกูล Godrej ดังนั้นบริษัทใหญ่ ๆ ของอินเดียอย่าง Tata Group, Godrej และ Bombay Dyeing ผู้ก่อตั้งเป็นชาวปาร์ซี
1
🔥นอกจากนี้ บุคคลที่ติดอันดับ 20 คนแรกที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดียประจำปี 2021 ที่จัดอันดับโดยฟอร์บส์นั้นมีที่เป็นชาวปาร์ซีก็เช่น Pallonji Mistry, Cyrus S. Poonawalla, ตระกูล Godrej เป็นต้น
🔥คนดังชาวปาร์ซีที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในด้านศิลปินคือเฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี นักร้องนำวง Queen (เล่าไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้) นอกจากนี้ยังมี Zubin Mehta คอนดักเตอร์วงดนตรีคลาสสิกก็เป็นชาวปาร์ซี
🔥Homi Jehangir Bhabha นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงของอินเดียก็เป็นชาวปาร์ซีที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาของโครงการนิวเคลียร์อินเดีย”
🔥รัตน์ เปสตันยี ที่มีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนต์ในประเทศไทยก็เป็นชาวปาร์ซีที่อพยพมาอาศัยอยู่ในไทย
ชาวปาร์ซีผู้ร่ำรวยและมีชื่อเสียง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา