1 มิ.ย. 2021 เวลา 02:56 • ความคิดเห็น
คุณนึกอยากกินลิ้นจี่ แต่มันไม่ใช่ฤดูลิ้นจี่ ทันใดนั้นญาติคนหนึ่งก็โผล่มาที่บ้านคุณ นำลิ้นจี่มาฝาก
1
อย่างนี้เรียกว่าความบังเอิญ
ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็ย่อมเป็นไปได้
ครั้นวันรุ่งขึ้น คุณนึกอยากกินโรตีใส่ไข่ ทันใดนั้นเพื่อนคนหนึ่งก็ผ่านมา เอาโรตีใส่ไข่มาฝาก
ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็ย่อมเป็นไปได้
วันที่สามคุณนึกอยากกินสับปะรดกวน ก็มีเพื่อนคนหนึ่งส่งสับปะรดกวนมาให้พอดี เป็นไปได้ไหม? ก็ย่อมเป็นไปได้ แต่... เอาเถอะ มันเป็นไปได้
วันที่สี่คุณอยากกินเต้าคั่วร้านป้าจวบ สงขลา ก็มีญาติคนหนึ่งมาหา นำเต้าคั่วร้านนี้มาฝากพอดี
ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่คุณสมหวังทั้งสี่วันติดกัน ก็ย่อมเป็นไปได้ แต่โอกาสน่าจะน้อยมากๆ
3
วันที่ห้าคุณคุยกับเพื่อนเรื่องมนุษย์ต่างดาว ทันใดนั้นก็มียานลงมาจอดใกล้บ้านคุณ มนุษย์ต่างดาวลงมาจากยาน
ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็ได้นะ แต่มันชักมากไป
ในโลกของการเขียนนิยาย หากเขียนแบบนี้ นักเขียนจะถูกตั้งข้อหาว่าขี้เกียจ
3
โลกของนิยายกำลังภายในก็เหมือนกัน หากปูเรื่องในบทแรกๆ ว่า ในยุทธจักรมีจอมยุทธ์ระดับ Top Ten สิบคน อยู่คนละที่ คนหนึ่งอยู่ที่ภูเขาไท้ซัว ซ่อนในถ้ำเร้นลับ 50 ปีเข้าเมืองที คนหนึ่งอยู่นอกกำแพงใหญ่ เข้าตงง้วนทุก 25 ปี คนหนึ่งอยู่ที่ตังอ๊วง เดินทางไปมาลำบาก อีกคนหนึ่งอยู่แถวเปอร์เซีย ฯลฯ
6
แต่พระเอกของเราพบจอมยุทธ์ทั้ง 10 คนเรียงไปทีละคน
ในการเขียนนิยาย อย่างนี้เรียกว่าบังเอิญ
2
ในแผ่นดินจีนกว้างใหญ่ การพบตัวละครระดับ 'ซูเปอร์สตาร์' เรียงหน้าทีละคนทีละวัน ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก
ถามว่าบังเอิญแล้วเป็นไรหรือ? คำตอบคือไม่เป็นไร ก็มันเป็นนิยาย คิดมากไปทำไม แต่มันขาดความสมจริง
ไม่สมจริงพอๆ กับขึ้นเขาสูงแล้วเจอโรงเตี๊ยมซ่อนอยู่ ลูกค้านั่งเต็มร้าน
แม้แต่ปรมาจารย์กิมย้งและโก้วเล้ง ก็ยังต้องพึ่งความบังเอิญอยู่บ้าง โดยเฉพาะในงานช่วงแรกๆ
ปูเรื่องว่ามีตัวละครจอมยุทธ์ระดับสุดยอดหลายคน บรรยายชื่อ+ฉายาครบ แล้วตัวละครเอกก็พบตัวละครยอดจอมยุทธ์เหล่านี้เรียงไปทีละคน แทบบทต่อบท จนครบคน
1
ใน ฤทธิ์มีดสั้น ของโก้วเล้ง พูดถึงตำราวิจารณ์อาวุธของแป๊ะเฮี่ยวเซ็ง จัดยอดฝีมือสิบอันดับ ตัวเอก 'ลี้คิมฮวง' ก็ยังเจอหลายคนในรายชื่อแทบครบ
2
นี่ก็ตรงตามหลัก Chekov’s Gun เมื่อ establish (ปูเรื่อง) องค์ประกอบใดแล้ว ก็ต้องใช้ เมื่อปูเรื่องว่ามีจอมยุทธ์ 10 คน ก็ต้องให้ทั้งสิบคนมีบทบาท ณ จุดใดจุดหนึ่งของเรื่อง
นิยายกำลังภายในสมัยก่อน establish ตัวละครไว้แบบเสียของมาก
ทางแก้ไม่ยาก ถ้าไม่มีบทบาท ก็ไม่ต้องพูดถึง ไม่ต้อง establish หรือ establish แบบกลางๆ เช่น "กังหนำมีผู้เชี่ยวชาญกระบี่ 8 คน ตังอ๊วงมี 2 คน" ไม่ต้องบอกชื่อฉายา
เทคนิคนี้โก้วเล้งใช้บ่อย
ความจริงความบังเอิญก็ไม่ใช่ข้อเสียหนักหนาอะไร เหมือนรอยหยาบบนประติมากรรมหินอ่อนที่ยังขัดไม่เกลี้ยง แม้ว่าประติมากรรมในภาพรวมจะงดงาม
เพราะหากวางโครงแบบสมจริง ตัวละครเอกต้องเดินทางสิบปีไปพบจอมยุทธ์# 1 รออีกห้าปีพบจอมยุทธ์# 2 และพบจอมยุทธ์# 3 ตอนอายุ 85 ฯลฯ เรื่องคงกร่อยมากๆ
ความสนุกกับความสมจริงเป็นสองฝั่งของตาชั่ง เมื่อเรื่องสนุกมักไม่สมจริง เมื่อเรื่องสมจริงมาก มักไม่ค่อยสนุก
1
นักเขียนที่สามารถรักษาสมดุลของความสนุกกับความสมจริงได้ ถือว่าเก่ง
เรื่องแรกๆ ของท่านปรมาจารย์กิมย้งก็มีความบังเอิญ แต่ก็เหมือนนักเขียนทุกคนในโลก เมือ่ทำงานไปนานเข้า ก็พัฒนา ลบจุดอ่อน ในเรื่องหลังๆ กิมย้งก็มีเทคนิคลดความบังเอิญ เช่น รวบจอมยุทธ์ทั้งหลายมารวมกันในงานชุมนุมสุดชาวบู๊ลิ้ม เช่นในเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร
อีกเทคนิคหนึ่งที่กิมย้งใช้หลายครั้งก็คือวางจุด static point (จุดนิ่งอยู่กับที่) ไว้หนึ่งจุด แล้วให้ตัวละครต่างๆ มาหาที่จุดนี้ static point อาจเป็นจุดคนเดินทางต้องผ่านมา เราเห็นงานออกแบบอย่างนี้ใน มังกรหยกภาค 1 เช่นฉากที่ก๊วยเจ๋งรักษาอึ้งย้งในห้องลับ ขณะที่มีจอมยุทธ์อื่นๆ มาพัก แล้วคุยกัน ทีละชุด
1
จนเรื่องเดินได้ หรือใน กระบี่เย้ยยุทธจักร ฉากที่พระเอกกับหญิงสาวถูกหิมะเกาะจนกลายเป็นตุ๊กตาหิมะ แล้วมีตัวละครอื่นผ่านมาดูตุ๊กตาหิมะ แล้วคุยกัน
นี่แทบเป็น signature ของกิมย้ง ผมก็ครูพักลักจำมาใช้เหมือนกัน
1
สมัยเด็กผมอ่านนิยายกำลังภายในแบบไม่คิดมาก ไม่รู้เรื่องบังเอิญหรือไม่บังเอิญ แต่เมื่อทำงานด้านขีดๆ เขียนๆ ก็มองเห็นว่า 'ความบังเอิญ' ในนิยายกำลังภายในเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากมาก ทั้งนี้เพราะพล็อตนิยายกำลังภายในมักมีตัวละครมากมาย ตัวเอกต้องเจอคนนั้นคนนี้ไม่มีหยุด
นิยายอีกตระกูลหนึ่งที่เลี่ยงความบังเอิญแบบนี้ยากคือนิยายผจญภัย ตัวเอกต้องเจอเหตุนั้นเหตุนี้ตลอดเวลาเช่นกัน
1
ยกตัวอย่าง เช่น เพชรพระอุมา ความสนุกอยู่ที่เมื่อทีมพระเอกเจอภัย #1 แล้วก็เจอภัย #2 พ้นภัย #2 ก็มีภัย #3 มารออยู่ทันที ไม่รอให้คนอ่านมีเวลาหายใจ
ถามว่าในชีวิตหนึ่ง มีโอกาสเท่าไรที่คนกลุ่มหนึ่งจะเจอเสือลำบาก ช้างคลั่ง งูร้าย ลิงโหด ผีพราย สางเขียว สางห่า ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว น้ำป่า หิมะ ไดโนเสาร์ ฯลฯ คำตอบคือน้อยมาก แต่หากไม่เป็นอย่างนี้ เรื่องก็กร่อยสนิท
2
บทเรียนจากการทำงาน เป่ย-ตง-หนาน-ซี ที่มีฉากและตัวละครเยอะมากคือ ความสมจริงในนิยายบางประเภทต้องยกไว้ หรือยอมผ่อนคลายบ้าง
จะว่าไปแล้ว นิยายกำลังภายในก็คือนิยายพาฝันชนิดหนึ่ง เราสามารถทำให้มันเป็นงานวรรณกรรมเคร่งขรึมก็ได้ แต่มันจะเข้าไปสู่งานอีกตระกูลหนึ่ง
จะมีนักเขียนกี่คนที่สามารถรักษาน้ำหนักของความสนุกกับสาระลุ่มลึกทางวรรณกรรมได้ เช่น ฤทธิ์มีดสั้น ซึ่งในชีวิตหนึ่ง​โก้วเล้งก็ทำได้เพียงไม่กี่เรื่อง
.
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา