Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สนามบิน
•
ติดตาม
1 มิ.ย. 2021 เวลา 03:58 • ประวัติศาสตร์
ยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าอินโดจีน
ปี ๒๔๗๙ รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ผ่านพระราชบัญญัติจัดซื้ออาวุธสงครามครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับทุกกองทัพ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์อันอาจนำไปสู่มหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ หลังจากนั้นรัฐบาลก็จัดการสั่งซื้อ เรือรบ เครื่องบิน รถถัง ปืนใหญ่ และยุทโธปกรณ์ทันสมัยหลายสิบรายการ ขณะที่ทยอยได้รับของจากญี่ปุ่นและยุโรปก็เกิดเหตุตามคาดในปี ๒๔๘๒ เยอรมันบุกโปแลนด์ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงคราม สหรัฐเห็นท่าว่าสงครามใหญ่จะเกิดแน่จึงสั่งระงับการส่งมอบเครื่องบิน ๒ แบบที่ไทยซื้อแล้วแต่ยังไม่ได้รับ โดยยอมคืนเงินให้ กองทัพอากาศจึงได้ฝูงบินทิ้งระเบิดมาร์ติน บอมเบอร์ เมดอินยูเอสเอ ซึ่งรับมาก่อนหน้ามาฝูงเดียว
จังหวะนั้นญี่ปุ่นได้สอดแทรกเข้ามาเสนอขายเครื่องบินให้แทน กองทัพอากาศจึงส่งเจ้าหน้าที่ ๘ นายเดินทางไปเลือกแบบ แล้วตัดสินใจซื้อเครื่องบินโจมตีแบบมิตซูบิชิ (Mitsubishi Ki-30 Ann) จำนวน ๒๔ เครื่อง และเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักแบบมิตซูบิซิ คิ-๒๑ (Mitsubishi Ki-21- Sally) จำนวน ๙ เครื่อง
ในปลายบี ๒๔๘๓ ทอ.ได้จัดนักบินไปทำการบินเครื่องฝูงนี้ที่โรงงานในนาโกย่าส่งมอบ เมื่อมาถึงเมืองไทยได้เข้าประจำการใน“ฝูงบินพิบูลสงคราม ๑” และ “ฝูงบินพิบูลสงคราม ๒” ฐานบินดอนเมือง มีชื่อว่าเครื่องบินแบบ ๒๖ นักบินเรียก “นาโกย่า”
ระหว่างไปฝึกบินและฝึกการใช้อาวุธอยู่ที่กองบินน้อยที่ ๕ ประจวบคีรีขันธ์ ยังไม่ถึง ๑๐ เที่ยวบิน ก็เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนจึงได้รับคำสั่งให้เข้าสู่สมรภูมิ เวลานั้นเครื่องบินรบฝรั่งเศสได้บินล้ำแดนเข้ามารุกรานไทยแล้ว ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักแบบมิตซูบิซิ คิ-๒๑ หรือที่นักบินไทยเรียก “นากาจิม่า” จึงไม่ทันได้เข้าสมรภูมิครั้งนี้ แต่ก็ได้ไปใช้ในศึกเชียงตุง
เมื่อสายข่าวทางทหารสืบมาได้ว่า ฝรั่งเศสมาตั้งฐานทัพในเขมรที่เมืองสตรึงเตร็ง ทอ.จึงได้มอบภารกิจให้นาโกย่าทั้งสองฝูงบินไปทำลาย
บ่ายวันที่ ๖ ม.ค. ๘๔ น.ท. ขุนรณนภากาศ รองเสนาธิการทหารอากาศ ได้ทยอยนำฝูงบินทั้ง ๒๔ เครื่องบินจากดอนเมืองไปรวมตัวที่นครราชสีมาก่อนค่ำ เพื่ออำพรางสายลับข้าศึก และเป็นการเพิ่มรัศมีทำการ
๗ ม.ค. ๘๔ เวลา ๑๐.๐๐ ขุนรณก็นำเครื่องนาโกย่าหมายเลข ๖ ขึ้นนำฝูงบินสู่สตรึงเตร็ง โดยกำหนดเวลาให้ถึงที่นั่นประมาณเที่ยง โดยมี ร.อ.ม.จ รังษิยากร อาภากร เป็น ผบ. ฝูงพิบูลสงคราม ๑ ร.ท.ประสงค์ สุชีวะ เป็นรอง ผบ.ฝูง ร.ท.มานพ สุริยะ เป็นผบ. ฝูงพิบูลสงคราม ๒ บินระยะสูง ๒๑๐๐ เมตร ระยะต่อระหว่างฝูงสามสี่ร้อยเมตร ในแต่ละฝูงบินหนึ่งแบ่งออกเป็น ๔ หมู่ๆละ ๓ เครื่อง เมื่อถึงสตรึงเตร็งก็ทิ้งระเบิดสถานที่สำคัญทางทหารพังพินาศ ไม่มีเครื่องบินข้าศึกขึ้นมาต่อต้านเลย มีเพียง ปตอ.จากพื้นดินยิงขึ้นมาเท่านั้น แต่ไม่ได้สร้างอันตรายอย่างใด เสร็จภารกิจก็บินกลับไปฉลองที่ได้รับชัยชนะเป็นประเดิม
1
รุ่งขึ้น ๘ ม.ค. ๘๔ ฝูงบินนาโกย่าชุดเดิมได้ไปโจมตีที่หมายทางทหารที่พระตะบองและเสียมราฐอีก ในการไปโจมตีทิ้งระเบิตในแดนข้าศึกนี้ เครื่องบินทุกเครื่องจะไม่มีการใช้วิทยุติดต่อกัน จะใช้แต่ทำสัญญาณมือเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกจับการเคลื่อนไหวได้ จนกระทั่งกลับเข้าสู่เขตไทยปลอดภัยแล้วจึงจะใช้วิทยุ กระนั้นในการโจมตีครั้งนี้ก็ได้รับการต่อต้านจาก ปตอ.ภาคพื้นดินอย่างหนัก จนบางเครื่องถูกกระสุนปืนเป็นรู แต่ก็บินกลับที่ตั้งโดยปลอดภัย
จากการไปทิ้งระเบิดสองครั้งนี้ทำให้พบสนามบินสำรองลับและที่หมายทางการทหารในดินแดนข้าศึกเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ซึ่งจะต้องรีบทำลายฐานทัพเหล่านี้โดยเร็ว
มิตซูบิชิ คิ Ki-30 (นาโกย่า)
ในคืนวันที่ ๘ และ ๙ ม.ค. ๘๔ เครื่องบิน "ฟาร์มัง"' (FARMAN) ของฝรั่งเศสแบบ ๒ เครื่องยนต์ ประเภททิ้งระเบิดหนักจำนวน ๒ เครื่อง ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครราชสีมาและปราจีนบุรี เป็นผลให้สนามบินปราจีนบุรีชำรุด และเครื่องบินที่จอดอยู่ในสนามเสียหายไปจำนวนหนึ่ง ส่วนนาโกย่าทั้งหมดปลอดภัยเพราะบินกลับไปฐานที่ดอนเมืองแล้ว
เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักแบบ "ฟาร์มัง"' (FARMAN) ที่ฝรั่งเศสใช้แบบ บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครราชสีมาและปราจีนบุรี สุดท้ายถูกทำลายสิ้นทรากที่สนามบินนครวัต
ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น ๑๐ ม.ค. ๘๔ เวลา ๐๖.๒๕ ฝูงบินนาโกย่าชุดเดิมจึงบินตรงจากดอนเมือง สู่นครวัต เมื่อถึงเป้าหมายก็สั่งแยกหมู่เข้าจู่โจม หมู่แรกซึ่ง ร.ท. ประสงค์ สุชีวะ เป็นหัวหน้าหมู่ เห็น "ฟาร์มัง" สองเครื่องกำลังจอดเติมน้ามันอยู่ในสนามบิน ก็แน่ใจว่าเจ้านี่เองที่เข้าไปทิ้งระเบิดในดินแดนไทยถึง ๒ คืนติดๆกัน จึงส่งสัญญาณให้ปักหัวดำดิ่งลงไปทั้งระเบิดโดนอย่างจังมองเห็นไฟลุกท่วม นอกจากนั้นเครื่องอื่นๆก็ทยอยลงโจมตีสนามบินนครวัต และที่หมายทางทหารกันอย่างสนุกมือ นครวัตเช้าวันนั้นจึงสนั่นหวั่นไหวไปด้วยเสียงระเบิตและเสียงปตอ.ที่ข้าศึกยิงต่อสู้อย่างรุนแรง อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
ขณะเดียวกันได้ปรากฏว่ามีเครื่องบินขับไล่ "โมราน" แบบทันสมัยล่าสุดของข้าศึกได้บินมาสกัดกั้นในขณะที่นักบินไทยมุ่งจะทิ้งระเบิดให้ตรงเป้า จึงเกิดการต่อสู้กันกลางอากาศอย่างทรหด พลปืนหลังต้องทำหน้าที่ยิงต่อสู้กับเครื่องบินขับไล่ข้าศึกอย่างไม่คิดชีวิต เมื่อผลัดกันดำลงทิ้งระเบิดแล้วก็พยายามหลบหลีกเครื่องบินขับไล่ข้าศึก แต่ก็โดนเข้าจนได้
หมู่สุดท้ายอันมี ร.ท. มานพ สุริยะ เป็น ผบ. หมู่ลงโจมดีแล้วดึงครื่องขึ้นเพื่อกลับฐานทัพ เครื่องบินลูกหมู่ที่ พ.อ.ท. บุญเยี่ยมเป็นนักบิน และ พ.อ.ต.บุญ สุขสบาย เป็นปืนหลัง ขณะกำลังเงยขึ้นหลังจากการดำทิ้งระเบิด ถูกโมรานเครื่องหนึ่งตามเข้ายิงถูกอย่างจัง จนเกิดไฟลุกไหม้กลางอากาศแล้วปักหัวดิ่งลงระเบิดที่พื้น นักบินผู้อุทิศชีวิตทั้งสองได้รับเหรียญกล้าหาญและเลื่อนยศขึ้นเป็นเรืออากาศตรี
โมราน-โซนีเยร์ แอมแอ็ส.406 (ฝรั่งเศส: Morane-Saulnier MS.406)
ทอ. ได้โจมตีทิ้งระเบิดในแดนข้าศึกอีกหลายครั้ง แต่ก็เพลาๆมือไม่ได้จัดหนักเหมือนเดิม ทว่าฝรั่งเศสได้ส่งกองเรือจะลอบเข้าไปโจมตีสัตหีบ แต่เกิดปะทะเสียก่อนที่เกาะช้าง แล้วมีเหตุให้ฐานทัพอากาศที่จันทบุรีมีส่วนสร้างผลงานอันไม่พึงประสงค์ไว้
เพื่อแก้ตัวและแก้แค้นฝรั่งเศส ทอ.จึงได้จัดยุทธการใหญ่ในวันที่ ๒๘ มค. ๘๔ ระดมกำลังทางอากาศเข้าเผด็จศึก โดยใช้เครื่องบินถึง ๓๑ เครื่อง มีเครื่องบินแบบ ๒๖ นาโกย่า ๗ เครื่อง เครื่องบินแบบ ๒๓ คอร์แซร์ ๑๖ เครื่อง ฮอว์ก ๗๕ จำนวน ๕ เครื่อง และเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ ๔๑ มาร์ติน ๓ เครื่อง ไปโจมตีสนามบินและที่หมายทางทหารซ้ำ กำหนดให้มาร์ตินทิ้งระเบิดศรีโสภณในแนวระดับสูง ส่วนนาโกย่าเลยไปนครวัต ให้บินดำดิ่งลงยิงด้วยปืนหน้า ปลดระเบิดแล้วเมื่อเงยหัวขึ้นก็ให้ซ้ำด้วยยิงปืนหลังด้วย เครื่องขับไล่ให้ทำหน้าที่คุ้มกัน เมื่อถึงที่หมายก็เรียงลำดับลงโจมตี จนสนามบินนครวัตถล่มทลาย ระเบิดถูกโรงเก็บเครื่องบินและคลังแสงพินาศในกองเพลิงแทบจะหมดสิ้น
ขณะที่บินวนกลับมาโจมตีระลอกสอง เครื่องนาโกย่าหมายเลข ๖ ซึ่ง น.ท. ขุนรณนภากาศ เป็นนักบิน ร.อ.ม.ร.ว. เสนาะ ลดาวัลย์ เป็นพลปืนหลัง และ ร.ต. ตรี อำมฤต เป็นผู้ตรวจการณ์และพนักงานวิทยุ ได้แยกจากฝูงเพื่อถ่ายรูป และตรวจผลการทิ้งระเบิดโดยทั่วไปอยู่ในระดับบน ขณะเข้าใกล้นครธม เห็นเครื่องขับไล่แบบโมรานจำนวนหนึ่ง ซึ่งบินขึ้นมาจากสนามบินสำรองที่นั่น ลำตัวทาสีพรางทำให้แลเห็นได้ยาก โฉบเข้าสกัดนาโกย่าและฮอว์กอย่างชุลมุน เกิดการต่อสู้ทางอากาศขึ้นอย่างดุเดือด
ขุนรณเองหารู้ตัวไม่ว่าขณะนั้นโมราน ๔ เครื่องกำลังบินคร่อมอยู่ข้างบน เพราะมองย้อนแสงขึ้นไปเห็นแล้วเข้าใจผิดว่าเป็น ฮอว์ก ๗๕ ซึ่งบินคุ้มกันอยู่ จนกระทั่ง ม.ร.ว.เสนาะ ร้องตะโกนมาจากปืนหลังให้ระวังตัวในขณะที่โมรานจิกหัวลงมารุมยิงอย่างหูดับต้บไหม้ ม.ร. ว.เสนาะ ก็ยิงปืนกลแฝดสองลำกล้องใส่อย่างเต็มที่ ขุนรณเห็นดังนั้นก็เร่งเครืองยนต์บักหัวดิ่งลงสู่ทะเลสาบเขมรจนเรี่ยผิวน้ำ เพื่อป้องกันมิให้ข้าศึกเข้ายิงใต้ท้อง เมื่อทิ้งระยะห่างข้าศึกแล้วจึงผ่อนเครื่องยนต์ลงมาอยู่ในความเร็วปกติ แต่แล้วข้าศึกก็ตามมาทัน คราวนี้ทั้งสี่เครื่องได้เรียงหน้ากระดานไล่ยิงตามหลังมาอย่างถี่ยิบ ขุนรณต้องเร่งเครื่องยนต์เต็มที่อีกครั้งพร้อมกับบึนหลังที่ยิงสวนกลับไปอย่างดุเดือด
เมื่อทิ้งระยะห่างจากข้าศึกอย่างปลอดภัยแล้ว ม.ร.ว. เสนาะได้ตะโกนบอกว่า บึนแฝดกระบอกหนึ่งขัดลำเหลือที่ยิงได้กระบอกเตียว ขุนรณก็ตะโกนตอบไปว่าอย่าแก้ปืนเป็นอันขาด เดี๋ยวข้าศึกเห็นจุดอ่อน ทำท่ายิงขู่ไว้ถึงจะไม่ยิงก็ตาม แล้วให้ปล่อยกระสุนเมื่อจำเบ็นจริงๆ เพื่อออมกระสุนไว้บ้าง เพราะฟังเสียงเท่าทีผ่านมาน่าจะใช้กระสุนไปโขอยู่
ขณะบินพ้นขอบทะเลสาบเขมรมาแล้วกำลังมุ่งกลับสู่ประเทศไทย พลางสอดส่ายสายตาหาข้าศึกซึ่งเชื่อว่าคงจะติดตามมา ก็จริงดังคาด โมรานทั้ง ๔ เครื่องได้แยกออกเป็น ๒ หมู่ บินโอบสองข้างเป็นวงล้อมดักหน้า หวังต้อนให้นาโกย่าให้กลับเข้าสู่เขตเขมรซึ่งเต็มไปด้วย ปตอ. ขุนรณจึงต้ดสินใจเร่งเครื่องยนต์เต็มที่ บินสวนวิถีกระสุนข้าศึกที่ดักหน้าอยู่ แม้จะถูกระดมยิงอย่างหนักก็ไม่เปลี่ยนทิศทาง แล้วยิงปืนหน้าสู้อย่างถี่ยิบ เครื่องที่พุ่งเข้าใส่อย่างรวดเร็วทำเอาเครื่องบินข้าศึกทั้ง ๔ เกือบพุ่งเข้าปะทะก่อนจะพลิกหลบได้อย่างหวุดหวิด
จากนี้ขุนรณได้เปลี่ยนทิศทางมุ่งเข้าสู่เขตไทยทางด้านจันทบุรีที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่โมรานทั้งฝูงหาได้เลิกติดตามไม่ สามครั้งแล้วที่รุมกินโต๊ะไม่สำเร็จ ครั้งนี้ยังโอบเข้ามาทั้งสองข้างเหมือนเดิม แต่พุ่งขึ้นหน้าไปอยู่ระดับสูงก่อนจะวกเข้ายิง แต่นาโกย่าก็ใช้ยุทธวิธีเดิมเอาตัวรอดไปได้ครั้งที่ ๕
เครื่องเกือบจะเข้าเขตอำเภอมะขามอยู่แล้วก็ยังไม่พ้น ครั้งที่ ๖ นี้โมรานมาเพียง ๒ เครื่องเท่านั้น เมื่อพุ่งเข้าระดมยิงขวางหน้า ขุนรณก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวขอวัดใจโดยเร่งเครื่องพุ่งเข้าใส่หวังชนให้ยับทั้งสองฝ่าย จวนเจียนจะปะทะนักบินฝรั่งเศสทั้งคู่ก็ถอดใจหักหลบกระเจิงไปคนละทาง
พอสิ้นเสียงปืนนึกว่าจะหายไปแล้ว ปรากฏว่ายังบินเกาะหมู่สองกลับมาเทียบลำอยู่ห่างๆพอมองเห็นหน้า ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างเห็นฝีมือกัน การที่ น.ท. ขุนรณนภากาศได้ใช้กลยุทธและชั้นเชิงที่เหนือกว่า หลบหลีกฝูงบินขับไล่ซึ่งมีความเร็วเกือบ ๔๐๐ กม./ชม.มาได้ถึงหกครั้งถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา เมื่อขุนรณยกมือขึ้นโบกอำลาจึงได้รับการโบกมือตอบจากข้าศึกด้วยน้ำใจนักกีฬา แล้วโมรานทั้งสองก็เบนหัวกลับคืนฐานทัพ
นาโกย่าหมายเลข ๖ จึงมุ่งเข้าเขตไทยและร่อนลงสนามบินจันทบุรี เมือถึงพื้นดินได้สำรวจดูความเสียหาย ปรากฏว่าไม่ถูกกระสุนบีนข้าศึกเลยสักนัดเดียว จึงได้บินกลับฐานทัพที่ดอนเมือง
ข้อมูลของฝ่ายฝรั่งเศสหาได้ไม่ยากจากอินเทอเน็ตบอกว่า L'Armée de l'Air en Indochine (กองทัพอากาศอินโดจีน) ยอมรับว่าประมาณ ๓๐% ของจำนวนเครื่องบินรบที่มีอยู่ ถูกทำลายไปในกรณีย์พิพาทกับไทย ส่วนใหญ่สูญเสียบนสนามบินจากการโจมตีทางอากาศ ในสารคดีดังกล่าวลงท้ายว่า แต่ในความเป็นจริงสูญเสียมากกว่านั้นมาก
กราบขอบพระคุณ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ที่เมตตาอนุญาตให้นำบทความมาเผยแพร่ครับ
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์สงครามทางอากาศ
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย