2 มิ.ย. 2021 เวลา 01:24 • ประวัติศาสตร์
เมื่อเชียงใหม่เผชิญมหันตภัยทางอากาศ
(บน) สถานีรถไฟเชียงใหม่หลังแรกสร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อทางรถไฟมาถึงในปี ๒๔๖๔ ต่อมาถูกเครื่องบินของสหรัฐถล่มพินาศ ลูกระเบิดที่ทิ้งลงมานั้น ถ้าเป็นชนิดทำลายจะเกิดหลุมขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ ถึง ๑๕ เมตร ถ้าเป็นระเบิดสังหารหลุมจะเล็กและตื้น แต่อำนาจการทำลายชีวิตสูง สะเก็ดระเบิดจะแตกกระจายไปรอบทิศทางในแนวราบได้ไกลมาก . (ล่าง) เป็นภาพบริเวณสถานีรถไฟเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นมาแทนหลังสงครามโลกยุติแล้ว
พอสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ ได้ไม่นาน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ออกคำสั่งให้จัดตั้งกองทัพพายัพขึ้นโดยมีพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ พลอากาศตรีหลวงรณนภากาศเป็นผู้บังคับกอง(ตำแหน่งที่เรียกในสมัยนั้น)กองบินใหญ่ผสมภาคพายัพ กำหนดให้ตั้งขึ้นที่ฐานบินลำปาง ซึ่งมีกองบินน้อยผสมที่ ๘๕ ตั้งประจำการอยู่แล้ว ส่วนหน่วยขึ้นตรงก็คือ กองบินน้อยผสมที่ ๘๐ ที่ฐานบินเชียงใหม่ และกองบินน้อยผสมที่ ๙๐ ที่ฐานบินเชียงราย
1
คนเมืองเชียงใหม่จึงได้เห็นเครื่องบินขับไล่คอร์แซร์ปีกสองชั้นคิดเครื่องหมายธงชาติไทยมาลงเป็นครั้งแรกเมื่อ ๑๕.๐๐ น.ของวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ ฐานบินนี้ น.ต. เฉลิม พีระบูล ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๘๐ ได้สั่งให้สร้างเพิงหมาแหงนทำด้วยไม้ไฝ่หลังคามุงใบตองตึง ๒ โรง ตั้งหันหน้าเข้าหากันบริเวณด้านเหนือสุดของทางวิ่งไว้ แต่แรกหมู่เฮานึกว่าทหารอากาศจะเลี้ยงไก่ ไหนได้ มันจุเครื่องบินได้ถึงโรงละ ๓ เครื่อง
เมื่อทอ.ส่งฝูงบินที่ ๒๒ ซึ่งเป็นเครื่องขับไล่แบบฮอร์ค ๓ หรือ "ฮอร์คพับฐาน" สามารถเก็บลูกล้อเข้าไปไว้ในลำตัวได้ จำนวน ๙ เครื่องจากฐานบินจังหวัดนครราชสีมา กับอีก ๑๐ เครื่องจากฝูงบินที่ ๔๒ จากฐานบินพลอยแหวน จันทบุรี มาประจำกองบินใหญ่ผสมภาคพายัพด้วย เครื่องขับไล่ทั้งหมดจึงถูกกระจายกันไปอยู่ที่เชียงรายบ้าง ที่ฐานบินสร้างใหม่ที่ตำบลบ้านกลางของลำพูนบ้าง ที่ฐานบินสร้างใหม่ที่บ้านสันข้าวแคบ-ล้านตอง อำเภอสันกำแพงบ้าง แล้วยังมีฝูงบินทิ้งระเบิดเบา เครื่องมาร์ติน บอมเบอร์ บี ๑๐ ย้ายจากดอนเมืองมาตั้งอยู่ที่ฐานบินแพร่ด้วย การที่เครื่องนี้จะบินมาลงที่สนามบินเชียงใหม่บ่อยๆจนติดตา พวกป้อจายจึงชอบล้ออี่สาวตุ้ยนุ้ยด้วยศัพท์อันทันสมัยว่า "หุ่นมาร์ติน บอมเบอร์"
พลตรี แคลร์ เชนโนล์ด (Claire L. Chennault) ผู้ก่อตั้ง"กองบินเสือเหิร"(Flying Tiger) โดยใช้ P-40 B (Warhawk) ของกองทัพอากาศสหรัฐ
ฐานบินเหล่านี้ที่สร้างกันได้อย่างรวดเร็ว เพราะเครื่องบินสมัยนั้นต้องการทางวิ่งง่ายๆที่ไม่มีคันนาและหญ้ารกเท่านั้น ที่พักของทหารบางแห่งก็อาศัยวัดเป็นที่นอน พวกที่อ้างว่ากลัวผีก็ไปหาที่นอนบ้านละอ่อนแทน
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นย้ายเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ KI-21 ร่วม ๕๐ เครื่อง และเครื่องขับไล่แบบโอตะกว่า ๑๐ เครื่อง จากฮานอยมาร่วมใช้สนามบินเชียงใหม่ เพราะใกล้ต่อการบินไปถล่มฐานทัพอังกฤษที่มัณฑเลย์ และเส้นทางลำเลียงยุทธสัมภาระจากพม่าเข้าไปจุงกิง เมืองหลวงชั่วคราวของรัฐบาลจีน(ก๊กมินตั๋ง)ที่ย้ายหนีสงครามกับญี่ปุ่นไป ทอ.กลัวว่าเดี๋ยวจะพลอยซวยไปด้วยจึงย้ายเครื่องไทยไปไว้สนามบินอื่นหมด ญี่ปุ่นก็รื้อโรงเก็บแบบเล้าไก่ออกไป เพราะเครื่องบินรบของญี่ปุ่นทั้งหมดออกแบบไว้ให้ทนแดดทนฝนได้สองสามปีสบายๆอยู่แล้ว ยังไงๆก็คงไม่อยู่ยืนยาวมากไปกว่านั้น
นอกจากเครื่องบินรบที่วิ่งขึ้นลงขวักไขว่แล้ว คนเมืองยังตื่นเต้นกับปีนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของกองทัพบก ๖ กระบอก ที่ทหารปตอ.นำไปตั้งไว้กลางสนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แล้วตั้งเต้นท์ปักหลักอยู่ที่นั่นด้วย นี่เปิ้นจะรบกันกลางเมืองเลยหรือไร ต่อมาจึงค่อยเบาใจลงเมื่อ ปตอ.ทั้งหมดถูกย้ายไปตั้งป้อมอยู่ที่ชายทุ่งนาหมู่บ้านป่าแพ่งทางเหนือของเมืองหน่วยหนึ่ง ที่ชายทุ่งช้างคลานใกล้กับสะพานแม่ข่าสุดถนนระแกงทางใต้ของเมืองหน่วยหนึ่ง ที่ชายทุ่งนาด้านตะวันตกของโรงพยาบาลสวนดอกอีกหน่วยหนึ่ง ทหารประจำปตอ.เหล่านี้ล้วนเป็นหนุ่มจากภาคอื่นๆทั้งสิ้น ไม่นานก็มีมะญิ๋งเมตตาคอยดูแลส่งข้าวส่งน้ำ จบสงครามแล้วมีผลงานได้ลงเอยกันมีบุตรหลานสืบตระกูลหลายต่อหลายคนจนถึงทุกวันนี้
ส่วนสนามบินเชียงใหม่นั้น ถือเป็นภาระโดยตรงของหน่วย ปตอ.ของญี่ปุ่นซึ่งตั้งรายล้อมป้องกันอยู่กว่าสิบกระบอก อยู่ดีมีสุขจนกระทั่งบ่ายแก่ๆของวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๘๕ ขณะที่กำลังพลญี่ปุ่นและคนงานพื้นเมืองนับพันคนกำลังทำงานดินเพื่อขยายทางวิ่งของสนามบินอย่างรีบเร่ง สิ่งที่ทอ.เดาไว้ก็ถูกเผง อยู่ๆเครื่องบินขับไล่ติดเครื่องหมายดาวสีขาว ๑๒ แฉกบนพื้นวงกลมสีน้ำเงินของจีนก๊กมินตั๋ง จำนวน ๗ เครื่อง บินจากทิศเหนืออ้อมหลังดอยสุเทพมาโผล่ออกทางดอยคำ แล้วตรงเข้าใช้ปืนกลยิงกราดลงมา ตามด้วยระเบิดที่ถูกทิ้งลงตรงบริเวณที่คนงานกำลังทำงานอยู่ แล้วยังบินวกกลับมาซ้ำอีกครั้ง ก่อนจะบินเลยลับไปทางทิศเดิม ทั้งหมดรวดเร็วจนปตอ.ทั้งของไทยและญี่ปุ่นยังไม่ทันตั้งตัว ถึงจะระดมยิงเสียงสนั่นลั่นเมืองก็ไร้ผล
นั่นถือเป็นครั้งแรกที่เชียงใหม่ถูกโจมตีทางอากาศ ภายหลังทราบว่าเป็นเครื่อง P-40 จากกองบินเสือเหิร (Flying Tiger) ซึ่งจัดตั้งในทางลับโดยรัฐบาลสหรัฐเพื่อช่วยรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งตั้งแต่ยังไม่ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น โดยพลตรีเชนโนล์ด (Claire Lee Chennault) ได้รับมอบหมายภารกิจมาให้จัดหาทหารนักบินรับจ้าง โดยชักชวนนักบินอเมริกันทุกกองทัพให้อาสาสมัครเข้ามารบเพื่อเงินเดือนที่มากกว่าเดิม ๓ เท่า แถมโบนัส ๕๐๐ เหรียญต่อลำหากยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกได้ เงินนี้มาจากเงินกู้ที่สหรัฐปล่อยเครดิตให้รัฐบาลจีนกู้ ๕๐ ล้านเหรียญ กำหนดให้ซื้อเครื่องบินรบ ๖๐ เครื่อง กับค่าจ้างนักบินและช่างเครื่อง ที่ส่วนหัวของเครื่องบินหน่วยนี้ ได้วอลท์ ดิสนี่ย์ ราชาการ์ตูนออกแบบให้ เป็นรูปฉลามอ้าปากเห็นพันซี่โตๆเพื่อให้ข้าศึกงงงวย และรูปเสือติดปีกที่ลำตัวด้วย
เรืออากาศโทวิลเลียม แมคแกร์รี่ นักบินแห่ง"กองบินเสือเหิร" ลำแรกที่โดนปตอ.ยิงโดนที่เชียงใหม่
กองบินเสือเหิรมีฐานบินที่คุนหมิง มาถึงเชียงใหม่ครั้งแรกในจังหวะที่เครื่องบินรบญี่ปุ่นออกไปปฏิบัติภารกิจในพม่าพอดีจึงรอดพ้นจากการสูญเสีย นอกจากชีวิตของทหารญี่ปุ่นกับคนพื้นเมืองหลายร้อยคน สี่วันต่อมาวิทยุกระจายเสียงของกรมโมษณาการได้อ่านคำแถลงการณ์ของรัฐบาลไทยมีความว่า "เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีเครื่องบินข้าศึกเล็ดลอดเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ราษฎรได้รับบาดเจ็บบ้างเล็กน้อย"
๒๔ มีนาคม ๒๔๘๕ กองบินเสือเหิรได้ส่งฝูงบินมาถล่มเชียงใหม่อีกครั้ง คราวนี้ได้รับการต้อนรับขับสู้จากปตอ.ของไทยและญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ลำแรกที่ถูกยิงนักบินพยายามประคองเครื่องได้ดีพอควรจึงตกลงในป่าเข้าเขตแม่ฮ่องสอนไปแล้ว หลายสิบปีให้หลัง นอ.วีรยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกไปสำรวจซากเครื่องบินที่ชาวบ้านค้นพบในป่า แล้วจึงขนมาเก็บไว้ที่เชียงใหม่ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นหมายเลข ๑๕๔๕๒ จึงได้ขอให้เพื่อนชาวอเมริกันช่วยตรวจสอบประวัติ พบว่านักบินชื่อ รท.วิลเลียม แมคแกร์รี่ หลังจากที่เครื่องบินของเขาถูกปตอ.ยิงจนคิดว่าไปต่อไม่ไหวจึงกระโดดร่มลง แล้วถูกชาวบ้านล้อมจับตัวไปมอบให้เจ้าหน้าที่ ข้าหลวงแม่ฮ่องสอนจึงส่งตัวต่อให้รมต.มหาดไทย พล.ต.ต. หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งควบตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจด้วย เชลยศึกอเมริกันจึงถูกนำไปควบคุมอย่างดีที่สันติบาลระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปอยู่ในความดูแลของเสรีไทยที่ห้องบนหลังคาตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ใช้เป็นกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย ก่อนที่จะส่งกลับบ้านในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๘ พร้อมกับนายทหารอเมริกัน ๒ นายที่เข้ามาปฏิบัติการลับ โดยมี น.ท.ทวี จุลละทรัพย์กับคณะ ร่วมลอบเดินทางออกไปด้วยโดยเครื่องบินน้ำ ขึ้นจากอ่าวไทยไปลงที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา เพื่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษที่นั่น
ผู้พิชิตเสือเหิร ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของไทย Bofors 75 mm สั่งจากสวีเดน เข้าประจำการในกรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน กองทัพบก เมื่อปี ๒๔๗๗
เครื่องที่ ๒ พบว่าถูกยิงตกในวันเดียวกัน ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ได้ยินเสียงเครื่องบินและเสียงปืนกลดังขึ้นเป็นชุดๆ พร้อมๆกับเสียงกลองที่ทุกวัดตีรัวถี่ๆเป็นสัญญาณเตือนภัย แล้วจึงเห็นเครื่องบินไม่ทราบว่าของใครบินมาตามแนวรางรถไฟ มีควันสีดำพุ่งตามหลังเป็นทาง ก่อนจะเอียงปีกเลี้ยวไปทางวัดพระยืน ตามด้วยเสียงปืนอีกชุดหนึ่ง เข้าใจว่าเครื่องบินหมายจะยิงต่อสู้กับหน่วยปตอ.ที่ตั้งอยู่ที่ข้างสะพานรถไฟ แต่กระสุนกลับพุ่งลงมาถูกสะพานไม้ข้ามลำเหมืองกับโดนชาวบ้านที่เผอิญขับเกวียนบรรทุกข้าวผ่านมาจนเสียชีวิตพร้อมกันทั้งคนและวัว ตัวเครื่องบินนั้นดิ่งลงปะทะกับต้นทองกวาวต้นหนึ่งจนหักกลาง แล้วพุ่งเลยไปชนต้นโพธิ์ใหญ่เสียงดังสนั่น ปีกข้างหนึ่งกระเด็นไปตกถึงหน้าวัด ร่างของนักบินฝรั่งหลุดจากที่นั่งไปตกห่างจากซากเครื่องบินหลายสิบเมตร ร่างแหลกเหลวเลือดท่วม
ข้าหลวงลำพูนพร้อมนายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไปสำรวจซากเครื่องบิน แล้วได้นำศพนักบินฝรั่งไปฝังไว้ใกล้ๆกับจุดที่เครื่องบินตก ปักไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายไว้ ส่วนซากเครื่องบินได้นำไปเก็บไว้ที่หน้าสถานีตำรวจในเมือง
ทราบภายหลังว่านักบินชื่อเรืออากาศโท แจ็ค นิวเคิร์ค (Jack Newkirk) เมื่อสงครามยุติแล้วหน่วยงานร่วมมือทางทหารของไทย-อเมริกันได้ขุดชิ้นส่วนศพที่ยังคงเหลืออยู่ส่งไปฝังยังสุสานที่สคารส์เดล นิวยอร์ค บ้านเกิดของเขาในปี ๒๔๙๒
ในระยะเดียวกันนั้น หน่วยทหารไทยในกองทัพพายัพได้ทยอยเดินทางมาถึงเชียงใหม่โดยรถไฟขบวนพิเศษหลายขบวนด้วยกัน แล้วเข้ายึดอาคารสถานที่ของคนสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน ไม่เว้นแม้มิชชันนารี โรงเรียนและโรงพยาบาล เพราะรัฐบาลไทยถือว่าเป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรู โรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามของทหาร ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ต้องรสนิยมของแม่ทัพว่า "โรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์" เมื่อพร้อมแล้วก็เคลื่อนทัพต่อเข้าไปยึดเชียงตุงในรัฐฉานของพม่า เพื่อยันกองทัพจีนไว้ตามนโยบายที่ท่านผู้นำตกลงกันไว้กับโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
เสือสิ้นฤทธิ์ที่ลำพูนในวันเดียวกัน เป็นลำที่ ๒ ชากเครื่องบิน P-40 ของ"กองบินเสือเหิร" ติดเครื่องหมายกองทัพอากาศจีนคณะชาติของจอมพลเจียง ไคเชค(ก๊กมินตั้ง) ซึ่งถูก ปตอ. ยิงตกบริเวณวัดพระยืน ต.เวียงยอง อเมืองลำพูน ถูกนำมากองไว้ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน
เรืออากาศโท แจ็ค นิวเคิร์ค (Jack Newkirk) ทหารนักบินรับจ้างของ"กองบินเสือเหิร" ได้นำเครื่อง P-40 ติดเครื่องหมายแสดงสัญชาติจีน เอกสารฝรั่งบอกว่าได้บินอ้อมเข้ามาตามแนวรางรถไฟทางด้านทิศใต้ ผ่านสนามบินลำพูนไปโดยไม่เห็นเครื่องบินของทอ. (สงสัยจะซ่อนไว้ในเล้าไก่)พอเลยไปหน่อยหนึ่งก็ถูกปตอ.ยิงสวน จึงบินวนตัวเมืองกลับมายิงตอบโต้ เลยโดนเข้าอีกชุดถึงกับถลาลงไปชนต้นไม้ แหลกเหลวทั้งเครื่องและนักบิน
หลังจากที่กองทหารไทยออกจากเชียงใหม่ไปแล้ว กองทหารญี่ปุ่นก็ยาตราทัพเข้ามาบ้าง โดยใช้ขบวนรถไฟพิเศษขนทั้งยานพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งกองทหารม้า ลา ฬ่อ เพื่อจะใช้ขนสัมภาระบนภูเขาจำนวนมากมาย สิ่งของทั้งหมดที่ยังไม่นำไปไว้ที่ไหนก็ยังคงฝากอยู่ในโกดังของการรถไฟนั่นเอง
ในช่วงนี้รัฐบาลอเมริกาเลิกกระมิดกระเมี้ยนแปลงเครื่องบินเป็นสัญชาติจีนแล้ว กองบินเสือเหิรสลายตัว เครื่องถูกเปลี่ยนสัญญลักษณ์เป็นอเมริกันแล้วย้ายฐานไปอยู่ย่างกุ้ง กองทัพอากาศสหรัฐในจีนได้เปลี่ยนเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B 24 "Liberator" กับเครื่องบินโจมตีแบบ P -38 "Lightning" อันทันสมัยเข้ามาแทน แล้วในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ คนเมืองเชียงใหม่ก็ได้เห็นฤทธิ์เดชของฝูงบินคู่หูมหาภัยนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ B 24 ๙เครื่องปรากฏตัวเหนือเชียงใหม่ในระยะสูง ปตอ.ทั้งของไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันระดมยิงอย่างหนักแต่กระสุนไปไม่ถึง แตกสะเปะสะปะเสียก่อน ครั้นอยู่เหนือสถานีรถไฟก็พร้อมกันปล่อยระเบิดลงมาแบบปูพรม โดนอาคารสถานี โกดังสินค้าที่เก็บยุทธสัมภาระ และบ้านเรือนราษฎรบริเวณใกล้เคียงพินาศหมดสิ้น คราวนั้นเจ้าหน้าที่ คนงานรถไฟ และคนเมืองที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นกว่าสามร้อยคน กับทหารญี่ปุ่นร่วมร้อยต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ทางการจังหวัดและเทศบาลนครเชียงใหม่กลัวจะมีลูกระเบิดชนิดที่ถ่วงเวลาให้ตูมขึ้นภายหลังอีก จึงรออีกหลายวันก่อนเข้าไปเก็บศพ คุ้ยเขี่ยเศษซากที่แหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้หมด แล้ว จึงแยกย้ายไปฝังยังสุสานทุกแห่งในเชียงใหม่ โดยขุดเป็นหลุมขนาดใหญ่สำหรับฝังรวมกัน ก่อนจะกลบหลุม ทหารญี่ปุ่นกองเกียรติยศหมู่หนึ่งจะนั่งรถบรรทุกเข้าไปที่สุสานแล้วจัดแถวหน้ากระดานหันหน้าไปทางหลุมศพ พลแตรเป่าแตรเดี่ยวจบแล้วหมู่ทหารก็ยิงปืนขึ้นฟ้า ๓ ชุด แสดงความเคารพเป็นเกียรติแก่ผู้ตายทุกแห่ง
 
ภัยพิบัติทางอากาศครั้งนี้ นับว่าร้ายแรงที่สุดของเชียงใหม่ในสมัยสงคราม หลังจากวันนั้นคนเมืองจะเรียกเครื่อง B 24 ที่ทิ้งระเบิดพรูออกมาจากใต้ท้องว่า "เครื่องบินหยอดไข่ขาง" เพราะตกลงมาเป็นแพเหมือนไข่แมลงวันหัวเขียว ศัพท์เดียวกับ"แมลงวันหยอดไข่ขาง"ลงบนปฏิกูล
1
หลังจากนั้นเป็นต้นมา B 24 และ P -38 ต่างสลับกันเข้ามาทิ้งระเบิดในเชียงใหม่อีกหลายครั้ง โดยมุ่งทำลายโรงสีและโกดังที่ส่งข้าวขายให้ญี่ปุ่นตามที่สายลับชี้เป้าให้ แต่ก็ไม่ได้รุนแรงจนคนเมืองโดนลูกหลงบาดเจ็บล้มตายมากมายเช่นครั้งแรก
ที่หนักคือสนามบินเชียงใหม่ซึ่งตกเป็นเป้าหลัก โดนโจมตีบ่อยๆเสียจนเครื่องบินรบญี่ปุ่นมลายไปสิ้น การบินเข้ามาปฏิบัติงานระยะหลังๆนักบินจึงบินมาในระยะต่ำๆเพื่อเน้นความแม่นยำ คนเมืองเวลานั้นเมื่อไรได้ยินเสียงหวอก็จะรู้สึกปวดหนักปวดเบาขึ้นมาทันที พอเสียงเครื่องบินอยู่ตรงหัวบางคนก็ราวกับยาถ่ายออกฤทธิ์ ว่ากันว่ากลิ่นในหลุมหลบภัยแต่ละแห่งนั้นใกล้เคียงกับส้วมสาธารณะมาก
ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขสักสองสามเดือน ประมาณสองทุ่มเศษของคืนหนึ่ง เดือนหงายส่องแสงสว่างฟ้าอันปราศจากเมฆหมอก คนเมืองต่างได้ยินเสียงเครื่องบินลำหนึ่งหึ่งๆเข้ามาในระยะสูงมองไม่เห็นตัว แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน กำลังเม้าท์มอยกันเพลินๆอยู่พลันได้ยินเสียงหวอโหยหวนขึ้น จึงได้แตกตื่นแย่งกันลงหลุมหลบภัย คอยอยู่เป็นนานก็ไม่ได้ยินเสียงตูมตามนอกจากเสียงเครื่องบินลำนั้นที่ยังบินวนเวียนอยู่ คนที่กล้าหน่อยก็เริ่มทยอยออกมานอกหลุมทีละคนสองคน พอแหงนหน้าดูฟ้าก็เห็นกลุ่มควันสีขาวพวยพลุ่งเป็นลำตามเสียงเครื่องบินที่มองไม่เห็นตัวไปตลอดทาง จนกระทั่งอ่านออกว่าเป็นรูปตัว "V" อันหมายถึง "Victory" หรือชัยชนะ ความยาวของควันแต่ละเส้นน่าจะเป็นกิโลเมตร เพราะสามารถมองเห็นกันทั่วทั้งเมือง
(บน) เครื่องบินขับไล่ ๒ เครื่องยนต์ แบบ P -38 ไลท์นิง (Lightning) ใช้สำหรับงานคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดวิถีไกล รวมทั้งการสกัดกั้น การโจมตีทิ้งระเบิดทางภาคพื้นดิน อัตราเร็วสูงสุด: ๖๕๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง อาวุธ ปืนใหญ่อากาศขนาด ๒๐ มม. ๑ กระบอก ปืนกลอากาศขนาด ๑๒.๗ มม. ๔ กระบอก ระเบิด ๒๕๐ ถึง ๑๐๐๐ ปอนด์ ไม่เกิน ๒๐๐๐ ปอนด์ . (ล่าง)เครื่องบินทิ้งระเบิด ๔ เครื่องยนต์ วิถีไกล แบบ B-24 ลิเบอเรเตอร์ (Liberator) ความเร็วสูงสุด ๔๖๘ กม/ชม. ติดอาวุธปืนใหญ่อากาศ ขนาด ๒๐ มม. รวม ๑๐ กระบอก มีทั้งปืนกลอากาศชนิดใช้พลปืนยิง และยิงโดยอัตโนมัติ บรรทุกลูกระเบิดได้ ๙,๐๐๐ ปอนด์ เจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง ๑๐ นาย . แม้ในยามสงครามหน้าสิ่วหน้าขวาน คนเชียงใหม่ยังมีอารมณ์ขันปลอบใจตัวเอง โดยเรียกการปล่อยเครื่อง B 24 ที่ทิ้งระเบิดพรูออกมาจากใต้ท้องว่า "เครื่องบินหยอดไข่ขาง" เพราะตกลงมาเป็นแพเหมือนไข่แมลงวันหัวเขียว ศัพท์เดียวกับ"แมลงวันหยอดไข่ขาง"ลงบนปฏิกูล
เมื่อรูปตัว "V" เสร็จสมบูรณ์แล้ว เครื่องนั้นก็บินหายไปทางทิศเหนือ จึงแน่นอนว่านักบินอเมริกันมาแปรอักษรประกาศชัยชนะกลางอากาศ เวลานั้นกองทัพสหรัฐรบชนะญี่ปุ่นทุกสมรภูมิ เหลือเพียงเกาะญี่ปุ่นเท่านั้น จึงต้องการข่มขวัญทหารญี่ปุ่นที่ยังมีจิตใจจะต่อสู้อยู่
ในช่วงท้ายสุดของสงคราม คนเมืองเชียงใหม่ต้องใจเต้นระทึกอีกครั้ง เมื่อทหารและตำรวจต่างออกมาทำบังเกอร์หน้าสถานที่สำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หน้ากองพันทหาร ค่ายกาวิละ เชิงสะพานนวรัฐฝั่งสถานีรถไฟ หน้าสถานีตำรวจภูธรกองเมืองเชียงใหม่ หน้าวัดพระสิงห์ หน้าวัดสวนดอกซึ่งเป็นที่พักของทหารอากาศไทย ทุกแห่งสร้างเสร็จอย่างแข็งแรงรอเพียงคำสั่งจากรัฐบาลที่จะให้ทหารเข้าประจำที่เท่านั้น ญี่ปุ่นจึงเกิดระแวงสุดๆว่าทหารไทยคงกำลังจะแปรพักตร์ไปเป็นข้างสัมพันธมิตร แล้วหันอาวุธมาฆ่าเพื่อน ฝ่ายไทยก็แก้ตัวว่าที่เตรียมไว้ก็เพื่อจะต่อสู้กับศัตรูภายนอกต่างหาก แต่สิ่งบอกเหตุหลายประการก็ทำให้ญี่ปุ่นไม่ไว้ใจ จนเกิดความตึงเครียดมากขึ้นทุกขณะ คนเมืองต่างเตรียมตัวเตรียมใจที่จะได้เห็นทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นเปิดศึกต่อกันในไม่ช้า
แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น มีผลให้คนไทยกับคนญี่ปุ่นมองหน้ากันสนิทฉันท์มิตรมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อสหรัฐส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข สันติสุขจึงคืนกลับมาสู่ชาวโลกอีกครั้ง คนเชียงใหม่จึงไม่ต้องวิ่งหลบลูกหลงกันอีกต่อไป
ระหว่างสงคราม ทางราชการได้นำทางมะพร้าวไปผูกห้อยไว้รอบๆเสาคอนกรีตหัวสะพานนวรัฐ นัยว่าเพื่อตบตานักบินทิ้งระเบิด โดยลืมไปว่าตัวสะพานโครงเหล็กที่ทอดขวางกลางแม่น้ำปิงนั่นน่ะตัวเตะตาเลย วันหนึ่งนักบินฝรั่งจึงเตือนให้มาพรางตาเสียหน่อย ด้วยการกราดยิงมาโดนโครงสร้างเหล็กเป็นรูไปสองสามจุด เจ้าหน้าที่จึงเลิกห้อยทางมะพร้าว ปล่อยให้สะพานนวรัฐอยู่รอดปลอดภัยจนจบสงคราม เมื่อจะสร้างสะพานใหม่ให้กว้างขึ้น ก็ถอดโครงเหล็กไปประกอบใหม่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ปาย
หมายเหตุ
บทความนี้ได้นำข้อมูลส่วนใหญ่จากหนังสือเรื่อง “เชียงใหม่กับภัยทางอากาศ” ของบุญเสริม สาตราภัย มาผนวกกับข้อมูลฝ่ายอเมริกันที่หาได้ ตามแนวถนัดของ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน - กราบขอบพระคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา