Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
"คณะราษฎร" ตอนที่ 1 : ปฏิวัติสยาม 2475 เกิดขึ้นได้อย่างไร?
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันที่ใครหลายๆ คนอาจจะเรียกว่าวันชาติ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อ 88 ปีที่แล้ว นานมากจริงๆ แต่กลับมีเรื่องที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจอีกมากมาย
จุดเริ่มต้นในวันนั้น เริ่มได้ธรรมดากว่าที่คิด เมื่อเวลาประมาณตีสี่ ณ บ้านหลังหนึ่งแถวย่านถนนประดิพัทธ์ คุณหญิงทรงสุรเดช ตื่นมาพบเรื่องแปลก อยู่ๆ สามีซึ่งก็คือพระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่เจ้ากรมยุทธการทหารบก ตื่นเช้ากว่าทุกวัน ไม่รออาหารเช้า เลือกทานข้าวผัดที่เหลือจากมื้อเย็นของเมื่อวาน ก่อนจะออกจากบ้านโดยบอกแค่เพียงว่าต้องตื่นเช้าเพราะวันนี้มี “สวนสนามที่หน้าพระลาน” แต่ในความเป็นจริง พระยาทรงสุรเดชเดินไปขึ้นรถ ตามนัดหมายกับนายทหารกลุ่มหนึ่งที่มีทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา พระประศาสน์พิทยายุทธ หลวงพิบูลสงคราม เพื่อทำภารกิจลับที่บอกใครไม่ได้แม้กระทั้งภรรยาของตัวเอง มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกษัตริย์ใต้กฎหมายเดียวกันกับประชาชน
1
จุดเริ่มต้นคณะราษฎร
คณะราษฎร หรือ ที่เราชอบย่อติดปากกันสั้นๆ ว่าคณะราษฯ กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ด้วยหลายๆ เหตุผล แต่เหตุผลหลักก็จะน่าเป็นคำถามที่คนรุ่นใหม่ค้างคาใจ ว่าทำไมประเทศไทยที่พวกเราเกิดมานี้ ไหนบอกว่าเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่เกือบ 90 ปีที่แล้ว ทำไมทุกวันนี้ ประชาธิปไตยที่ว่าช่างคล้ายกับอาหารพลาสติกในตู้โชว์หน้าร้าน ดูสวยแต่กินเข้าไปจริง ๆ ไม่ได้ คณะราษฎรที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกเขาทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า? แล้วทำไมหนังสือเรียนของเราถึงมีเรื่องของพวกเขาน้อยมาก! ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ก่อนที่จะลงลึกถึงเรื่องราวของคณะราษฎร เราควรจะเข้าใจภาพกว้าง ๆ ของโลกและของสยามในตอนนั้นกันก่อน ในช่วงการก่อกำเนิดคณะราษฎร สมาชิกรุ่นก่อตั้งนั้นเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลของสยามที่ไปเรียนหนังสือกันที่ฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1920
ทศวรรษที่ 1920 เป็นทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และ เศรษฐกิจในยุโรป สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพิ่งจบลง ประเทศผู้ชนะสงครามในยุโรปทั้งหลายกำลังพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาเยอะมาก ปารีสนั้นเป็นเมืองที่งดงามและก้าวหน้าอยู่แล้ว อุตสหากรรมกลับมาเฟืองฟู เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ตลาดหุ้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบอบสาธารณรัฐค่อนข้างจะมั่นคงหยั่งรากลึกแล้ว ปารีสเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมของยุโรป เป็นเมืองของนักคิด นักเขียน นักแสดง ศิลปิน เป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก มีกฎหมายที่เริ่มสร้างรัฐสวัสดิการต่างๆ มีรัฐสภาที่เต็มไปด้วยกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เห็นกันไปคนละทิศคนละทาง ทั้งสังคมนิยม ทั้งนิยมเจ้า ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด มีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและได้รับฟัง จึงทำให้เป็นยุคทองของหนังสือพิมพ์ไปด้วยเช่นกัน แม้แต่ในทศวรรษที่ 1910 ในฝรั่งเศสมีหนังสือพิมพ์ถูกพิมพ์ออกมาถึงวันละ 5 ล้านฉบับเลยทีเดียว
พูดถึงหนังสือพิมพ์ 5 ล้านฉบับ ก็ต้องพูดถึงคนอ่านหนังสือพิมพ์กันหน่อย จะอ่านหนังสือพิมพ์ได้ก็ต้องรู้หนังสือประมาณหนึ่ง การศึกษาในฝรั่งเศษพูดถึงเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสที่เหล่าคณะราษฎรไปร่ำเรียนกัน ในปี ค.ศ. 1910 หรือ พ.ศ. 2453 หรือปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 สวรรคต อัตราคนไม่รู้หนังสือในประเทศฝรั่งเศสคือ 4.2% รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1791 หรือ พ.ศ. 2334 หรือสมัยรัชกาลที่ 1 ของเรา ระบุว่า การศึกษาเป็นสิทธิของประชาชน สังคมมีหน้าที่จะต้องจัดการให้ประชาชนได้รับการศึกษา และสาธารณรัฐเรียกร้องให้ประชาชนมีความสามารถในการ อ่าน เขียน และ คิด อันนี้คือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ครับ
อีก 100 ปีต่อมาหลังจากนั้น คือในช่วงปี ค.ศ. 1882 - 1890 มีการขยายการศึกษาตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมได้สำเร็จ ในระยะเวลา 8 ปี มีการสร้างโรงเรียนเฉลี่ยวันละ 3 โรงเรียน และสามารถขยายจำนวนห้องเรียนทั่วประเทศฝรั่งเศสได้ถึง 70,000 ห้อง และไม่เก็บค่าเล่าเรียน ทั้งหมดนี้ ในบ้านเราคือสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ
ดังนั้นบ้านเมืองฝรั่งเศสที่ชาวคณะราษฎรเห็น ก็คงจะเป็นบ้านเมืองที่แตกต่างกับที่ ๆ พวกเขาจากมาเป็นอย่างมาก เพราะสยามในขณะนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อ รัชกาลที่ 7 ระบบการศึกษายังคงเน้นการศึกษาเพื่อป้อนคนเข้าสู่ระบบราชการ โรงเรียนยังคงอยู่ในวังและในวัด มีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าให้พระคลังข้างที่ ไม่ได้มีที่ดินเป็นของตัวเอง โรงเรียนมีเฉพาะในเมืองหลวงและตามหัวเมืองใหญ่ ส่วนอื่น ๆ ของประเทศนั้นแทบไม่มีเลยนอกจากโรงเรียนของมิชชันนารีสอนศาสนา อัตราการรู้หนังสือคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของประชากรในขณะนั้นก็สุดจะคาดเดาเพราะมีข้อมูลน้อยมากๆ
ลองนึกภาพครั้งแรกที่คุณไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือ ครั้งแรกที่คุณไปอเมริกา หรือยุโรป หรือเกาหลีก็ได้ ความรู้สึกของคณะราษฎรก็คงเป็นประมาณนั้นมั้งครับ แบบว่า ทำไมมันดีย์! มันมีรถไฟความเร็วสูง มันมีรถไฟใต้ดินทั้งเมืองเลย ความรู้สึกครั้งแรกที่ไปสะพานกูลิโกะที่โอซาก้าก็ได้ แบบว่า สว่างไสวอ่ะ หรือว่าสายนักอ่านไปเจอร้านหนังสือใหญ่โต เจอห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประจำเมือง หรือ คนที่ไปพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ค หรือ ลูฟร์ ที่ปารีส หรือ บริติชมิวเซียม หรือ ไปเจอนาซ่า หรือ สมิธโซเนียน หรือ แม้กระทั่งตู้กดน้ำกดนมที่โตเกียว คือ มันแบบว่า ทำไมเขามีอ่ะ ? ก็อยากมีบ้าง ต้องทำยังไง ?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
จุดเริ่มต้นของคณะราษฎร เริ่มจากนักเรียนกฎหมายทุนรัฐบาลในฝรั่งเศส “ปรีดี พนมยงค์” ที่มีเพื่อนเป็นคนไทยด้วยกันคือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ลาออกจากราชการทหารมาเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ สองคนนี้เป็นตัวตั้งตัวตี ทำสิ่งที่ไม่มีใครกล้าเริ่ม ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2469 หรือ ค.ศ. 1926 ที่หอพักซึ่งตั้งอยู่ชั้นบนของคาเฟ่แห่งหนึ่งในปารีส ก็มีการประชุมของกลุ่มนักเรียนนอก ทั้งพลเรือนและผู้ที่มาเรียนวิชาทหารในยุโรป ประกอบไปด้วย ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือต่อมาก็คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม นักเรียนทหารปืนใหญ่ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนทหารม้า นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ หลวงศิริราชไมตรี หรือนายจรูญ สิงหเสนี เป็นผู้ช่วยเลขานุการทูตสยามประจำกรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้ซึ่งมีมีศักดิ์เป็นอาของพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ตามมาเข้าร่วมและถูกยกให้เป็นหัวหน้ากลุ่มในภายหลัง โดยเริ่มแรกทั้ง 7 คนนี้ มีเป้าหมายร่วมกันคือเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาสิทธิราช มาเป็นการปกครองที่กษัตริย์จะอยู่ใต้กฎหมายสูงสุด หรือหมายถึงว่าประเทศสยามจะต้องมี Constitution มีกฎหมายกำหนดอำนาจสูงสุดแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่อมาจึงเลือกคำแปลเป็นภาษาไทยว่า “รัฐธรรมนูญ”
กลุ่มคณะราษฎรยุคบุกเบิก ยังคิดคอนเซ็ปต์ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอันได้แก่ “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” สำหรับเราฟังผ่านๆ มันก็คงเป็นสโลแกนที่ฟังดูไม่มีอะไรเท่าไหร่ เหมือนเป็นอะไรสักอย่างที่นักเรียนมีไว้ท่องหน้าเสาธงตอนเช้า แต่หลัก 6 ประการนี้ ถ้าพิจารณาดี ๆ เป็นความคิดที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินกันเลยทีเดียว เพราะไม่เคยมีมาก่อนในประเทศสยามที่รัฐหรือผู้นำมีการประกาศอย่างชัดเจนว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ตนจะให้อะไรกับประชาชนบ้าง เป็นการแสดงความรับรู้ว่า ประเทศเป็นของราษฎร รัฐมีหน้าที่รับประกันว่าคนต้องเท่ากัน รับประกันว่าต้องสร้างเศรษฐกิจ รับประกันว่าคนต้องได้รับการศึกษา ต่างกับโลกในระบอบเก่าโดยสิ้นเชิงที่แผ่นดินนั้นมีเจ้าของอยู่แล้ว และผู้อยู่อาศัย ต้องอยู่ไปเรื่อยๆ แบบรู้บุญคุณ ต้องสำนึกเสมอว่าในฐานะผู้อยู่อาศัยเราต้องทำอะไรให้เจ้าของประเทศบ้าง ซึ่งการที่ผู้นำจะมาให้สัญญาอะไรกับประชาชนถ้าไม่ใช่นักการเมืองก็ไม่เคยมี จะมีก็แต่สิ่งที่ประชาชนต้องท่องจำหน้าที่ของตนเองอย่างเอาเป็นเอาตายตั้งแต่วัยเรียน เช่น เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน หรือแม้แต่ค่านิยม 12 ประการ ก็มีแต่บอกว่าหน้าที่ของประชาชนที่ดีต้องทำอะไรบ้าง
1
เมื่อรวมกลุ่มกันได้แล้ว ชาวคณะราษฎรก็เริ่มเดินทางกลับประเทศสยามตามความจำเป็นของชีวิต และเปลี่ยนไปติดต่อกันแบบลับๆ แทน เริ่มจาก ปรีดี กลับสยามไปเป็นข้าราชการใช้ทุนอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 บางคนยังอยู่ในยุโรปต่ออีกสองสามปี และมีการหาสมาชิกเพิ่มผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว จนเจอคนที่มีความคิดคล้ายๆ กันเอาไว้เพิ่มอีก เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มคณะก็มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เช่น ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย), นายควง อภัยวงศ์, นายทวี บุณยเกตุ, ดร.ประจวบ บุนนาค, ม.ล.อุดม สนิทวงศ์, นายบรรจง ศรีจรูญ และพระยาทรงสุรเดช กับพระยาพหลพลพยุหเสนา นายทหารปืนใหญ่ ซึ่งถูกเลือกให้เป็นหัวหน้ากลุ่มคณะราษฎร และให้พระยาทรงสุรเดช ผู้มีประสบการณ์เป็นคนวางแผนการที่จะยึดอำนาจ
แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว การปฏิวัติเปลี่ยนระบอบเก่าไปเป็นระบอบใหม่ ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ใช้กำลัง แล้วคนที่มีกำลังอยู่แล้วก็คือทหาร แต่สำหรับคณะราษฎรนี้เรียกได้ว่าแทบจะมือเปล่าเลยก็ว่าได้ ทหารชั้นผู้ใหญ่โดยเฉพาะทหารบก ที่มีอยู่เพียง 4 คนด้วยกัน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ โดยจำนวนของสมาชิกคณะราษฎรในช่วงก่อนการปฏิวัติ นับตามความเป็นไปได้ทุกสายสมาชิก ทั้งสายพลเรือน ข้าราชการ พ่อค้า ปัญญาชน และทหารเรือ ทหารบก มีทั้งสิ้น 115 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ผู้ก่อการในระดับแกนนำมี 61 คนด้วยกัน เป็นทหารบก 23 นาย ทหารเรือ 14 นาย และพลเรือน 24 คน เท่านั้น
ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน เพียงไม่กี่เดือน มีการประชุมลับๆ ที่บ้านของพระยาทรงสุรเดช กับบ้านของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เฉพาะสมาชิกระดับแกนนำประมาณ 10 คน ประชุมกันเพียง 7 ครั้ง ซึ่งบันทึกหลายชิ้นก็ชี้ว่า ช่วงนั้นข่าวกรองของทางการ เริ่มได้กลิ่นว่ามีขบวนการที่พยายามจะก่อกบฏ แต่ด้วยความที่ผู้ต้องสงสัย ไม่มีใครที่มีกำลังมากพอ ทั้งในเรื่องของเงินทอง หรือแม้แต่กำลังทหารก็ไม่มีใครอยู่ในระดับสูงมาก ไม่มีใครมีบารมีมากพอให้กังวล
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
1
แผนก่อการที่พระยาทรงสุรเดชตัดสินใจใช้ก็คือ ในระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จไปพักผ่อนอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน จะใช้วิธีลวงให้ทหารออกมาเข้าร่วมกับฝ่ายตน หรือพูดง่ายๆ ก็คือจิ๊กทหารออกมาร่วมปฏิวัติ โดยเฉพาะรถถัง รถหุ้มเกราะ ที่ต่อมาก็กลายเป็นธรรมเนียมในการยึดอำนาจ ว่าต้องเอาออกมาขับบนถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย เป็นจุดหลักสำหรับปฎิบัติการถ้าเอาออกมาไม่ได้ก็คงถือว่าล้มเหลว
1
ในการประชุมครั้งสุดท้าย มีเรื่องเล่าว่าฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรหลายคน พยายามคาดคั้นพระยาทรงสุรเดชว่าตกลงแล้วจะมีกำลังพลออกมากี่คนกันแน่ พระยาทรงสุรเดชก็ตอบไม่ได้ และเก็บรายละเอียดการลงมือเอาไว้เป็นความลับจนนาทีสุดท้ายเลยทีเดียว
ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง? ไม่เปลี่ยนไม่ได้เหรอ?
1
การปฎิวัติอุตสาหกรรม คือ จักรกลที่ผลักดันความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในตอนนั้น เพราะอุตสาหกรรมทำให้เกิดผู้ผลิต เกิดเจ้าของปัจจัยการผลิต และเกิดความต้องการแรงงานจำนวนมาก หลายๆ ประเทศเริ่มตั้งคำถามกับระบอบเก่าที่ตัวเองอยู่มานาน ซึ่งความนิยมในขณะนั้นก็คือ ระบอบเก่าไม่สามารถปรับตัวเพื่อนำพาสังคมให้ไปรอดในโลกอนาคตได้ เมื่อทำไม่ได้หรือไม่ได้รับการไว้วางใจ การผลักดันเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็ตามมา และการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเสมอไปด้วยนะ เช่น ญี่ปุ่นทำการปฏิรูปเมจิช่วงปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) เปลี่ยนประเทศจากระบอบศักดินาของขุนนางหรือพวกไดเมียว เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยจักรพรรดิ ขับเคลื่อนประเทศด้วยทุนนิยม มุ่งหน้าเข้าสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจอุตสาหกรรม จนเป็นชาติเอเชียแต่ชนะสงครามกับรัสเซียได้ ในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) จากนั้นลัทธิบูชาทหารของญี่ปุ่นก็รุ่งเรืองขึ้นมาทันที
การปฏิวัติซินไฮ่ในประเทศจีนเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) เป็นการปฏิวัติเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ซึ่งมีมาหลายพันปีและก้าวเข้าสู่ยุคการแย่งชิงอำนาจอีกยาวนานกว่า 40 ปี
และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การเมืองในยุโรปก็ทวีความรุนแรง เกิดการปฏิวัติรัสเซีย พระเจ้าซาร์หมดอำนาจในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) อีกหนึ่งปีต่อมา ในออสเตรีย-ฮังการี ไกเซอร์ วิลเฮมที่ 2 ก็ถูกขับไล่เช่นกัน สองเหตุการณ์หลังเป็นสิ่งที่ส่งอิทธิพลกับการเมืองในสยามมากๆ เห็นได้จากประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มีช่วงหนึ่งระบุว่า “ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นบัลลังก์เสียแล้ว”
2
สำหรับประเทศสยามที่การเปลี่ยนแปลงมาในปี พ.ศ. 2475 หรือปี ค.ศ. 1932 ถ้าเทียบกับเหตุการณ์ระดับโลกแล้ว ก็ถือว่าการเปลี่ยนแปลงมาช้าไปหลายสิบปีเลยทีเดียว เพราะไม่นานสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะปะทุขึ้นแล้ว
แล้วอย่าลืมว่าคณะราษฎรเกือบทุกคนไม่ว่าจะสายพลเรือนหรือสายทหาร มีพื้นเพจากคนที่ถูกส่งไปเรียนต่อในโลกตะวันตกที่เจริญก้าวหน้าและเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะยุโรป ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ ค.ศ. 1920 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ช่วงเวลานั้นความเจริญเริ่มกลับเข้ามาหาคนชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตที่เคยเน้นผลิตอาวุธสงครามก็เปลี่ยนมาผลิตรถยนต์จำนวนมากเพื่อให้คนเข้าถึงได้ พร้อมกับถนนที่เข้าถึงที่ห่างไกลมากขึ้น มีวิทยุ มีโทรศัพท์ตามบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวิทยุที่เริ่มแพร่หลาย เช่น ในอังกฤษ BBC Radio ที่เป็นสื่อสาธารณะก็เริ่มออกอากาศในช่วงนั้น โทรทัศน์ขาวดำก็เริ่มประดิษฐ์ในช่วงนั้นเช่นเดียวกัน พอเทคโนโลยีดี วัฒนธรรมก็เติบโตแพร่หลายในหมู่สามัญชน เช่น ดนตรีบลูส์ ดนตรีแจ๊ส ดนตรีของคนรากหญ้าดังกระหึ่มทั่วโลก ยุคนี้ยังเป็นยุคเริ่มเฟื่องฟูของภาพยนตร์ ทำให้คนสามารถหาความบันเทิงได้ในราคาถูก มีให้ดูทุกวัน ตั๋วไม่แพงเหมือนละครเวที หรือ คอนเสิร์ตต่างๆ ภาพยนตร์เงียบดังสุดๆ ในช่วงนี้ ประเทศแบบเยอรมันกลายเป็นผู้นำเรื่องศิลปะภาพยนตร์เลยทีเดียว
พอการเมืองดี รัฐก็เริ่มลงทุนในชนชั้นแรงงานที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วงปี ค.ศ. 1920 กระแสสังคมนิยมกำลังมาแรงในอังกฤษพรรคแรงงานก้าวขึ้นมาสูสีกับพรรคอนุรักษนิยม มีการออกกฎหมายที่ขยายผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 5 ล้านคน กลายเป็น 12 ล้านคน (แต่ผู้หญิงก็ยังไม่ได้เลือกตั้งทุกคนอยู่ดี) ทำให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น มีกฎหมายสวัสดิการจ่ายเงินให้คนว่างงาน ประชากรมีกำลังซื้อบ้านเป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับประเทศสุดฮิตที่เจ้านายไทยสมัยนั้นนิยมส่งลูกหลานไปเรียน คือเยอรมันที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐไวมาร์’ แม้จะมีอายุสั้นไม่กี่สิบปี แต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานที่ค่อนข้างเป็นสากลคือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เริ่มมีสวัสดิการรัฐ ซึ่งนี่คือปี ค.ศ. 1919 หรือ พ.ศ. 2462 ช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6
1
กลับมามองไปที่ระบอบการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนนั้นเราปกครองด้วยระบอบรัฐบรรณาการ หมายความว่าเราไม่ได้ปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยตรง แต่เมืองต่างๆ ตกลงจะส่งบรรณาการให้สยาม เพื่อเป็นการคุ้มครอง แต่พอในสมัยของรัชกาลที่ 5 พระองค์ก็ปฏิรูปครั้งใหญ่ ถือว่าเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มตัว คืออำนาจอยู่กับพระองค์ทั้งหมด โดยบริหารงานราชการทั่วราชาอาณาจักรผ่านระบบข้าราชการ ซึ่งก็นำความเจริญเข้ามาแบบก้าวกระโดด ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานก็เกิดขึ้น มีรถไฟ มีถนน แต่จนถึงปี พ.ศ. 2475 ประเทศสยามก็ยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมได้ ความเจริญที่เข้ามาก็มีแค่จุดๆ เดียว นั่นก็คือพระนคร สยามขายสินค้าเกษตรป้อนให้กับตลาดโลกอุตสาหกรรม ชาวนาคือฐานรากที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเรากำลังจะเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปี 1930 ทั้งๆ แบบนี้ด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
พอเรายังเป็นสังคมกสิกรรมในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเติบโต สยามเป็นประเทศการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว แต่ปัญหาก็คือ“ที่ดิน” ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดนั่นแหละ แล้วเจ้าของที่ดินจะเป็นใครไปได้นอกจากขุนนางเก่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งล้วนแต่ถูกแต่งตั้งโดยคนกลุ่มเดียว ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ช่วงเวลานั้น นายคาร์ล ซิมเมอร์แมน นักวิชาการชาวอเมริกัน ที่ทางการของสยามเคยจ้างให้เข้ามาสำรวจระบบเศรษฐกิจ ก็พบว่าในภาคกลาง 36% ของชาวชนบทไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินเลย และปี พ.ศ. 2472 ประชากรสยามมีประมาณ 11 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ไม่ใช่เล็กๆ แล้ว แต่การใช้สิทธิ์ หรือการมีปากมีเสียงเพียงอย่างเดียวของราษฎรก็คือการถวายฎีกาให้พระเจ้าอยู่หัว เช่น เราเป็นชาวนา เรามีความเดือดร้อนในเรื่องภาษีอากร หรือที่ดินทำกิน เราสามารถถวายฎีกากับพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง และก็จะมีข้าราชการตรวจสอบเรียกว่า“กรรมการศาลฎีกา” คอยคัดแยกฎีกาต่างๆ ให้เข้ากับความเดือดร้อนตามหมวดหมู่ ถ้าไม่เข้าหมวดหมู่ ฎีกาของเราก็อาจจะถูกตีตกไป ส่วนคนเขียนก็ต้องเขียนให้ถูกต้องตามที่ราชการกำหนด ต้องรู้ตัวเอาเองว่าเรื่องของตนเป็นเรื่องที่เดือดร้อนจริงๆ ถึงจะต้องแจ้ง ใครแจ้งแล้วราชการบอกว่าเป็นความเท็จ คนแจ้งก็จะมีโทษไปด้วย แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ ก็ยังเขียนอ่านไม่ได้ ต้องพึ่งคนที่เรียกว่าพวกหัวหมอ ซึ่งเป็นทนายแบบจารีต หมายถึง ในยุคที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย คนที่มีความรู้ เขียนหนังสือได้บางคนมารับจ้างทำงานคล้ายทนายนั่นเอง หรือต้องพึ่งพาพวกผู้ใหญ่และหัวหน้าชาวนา เพื่อเขียนฎีกาขึ้นมา ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าปัญหานั้นจะได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ
ประกอบกับในยุคนั้น ยังไม่มีหลักฐานว่าราชการหน่วยงานไหนทำนโยบายพัฒนาการเกษตร ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าธนาคารเพื่อการเกษตร ที่คอยให้เกษตรกรกู้เงินเพื่อการประกอบอาชีพแบบในปัจจุบัน แต่กลับมีภาษีอากรทางตรงจำนวนมากและทับซ้อนกันเอง เช่น มีอากรค่านาข้าว อากรนาเกลือ มีอากรสมพัตสร ซึ่งเป็นภาษีต้นไม้ที่ให้ผลผลิตและถึงจะเป็นช่วงที่เลิกทาสมานานแล้ว มีการยกเลิกค่าส่วย แต่ในยุคสยามใหม่นี้ มีการเก็บเงินค่าที่เรียกว่า เงินรัชชูปการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเงินอากรแบบหนึ่งที่ต้องจ่ายเกือบทุกคน ยกเว้น อาชีพทางศาสนา ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนที่ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า” ให้ไม่ต้องเก็บ โดยเขียนกฎหมายกำหนดไว้ว่า “ชายฉกรรจ์ อายุ 18-60 ปี” ต้องจ่ายเงินถวายหลวง 6 บาทต่อปี คล้ายกับส่วยที่ต้องจ่าย ถ้าไม่มาเกณฑ์เป็นทหารหรือเป็นแรงงาน ซึ่งมันก็คือส่วยเหมือนสมัยก่อนนี่เอง และด้วยความเป็นกฎหมายสมัยก่อน ก็ไม่มีการเขียนขยายความว่า ชายฉกรรจ์ที่ว่า หมายถึงผู้ชายทุกคนหรือเปล่า? ปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในฐานที่เข้าใจกันเอง
2
และไม่ว่าในสมัยไหนชาวนาก็จะมี 3 แบบด้วยกัน คือ หนึ่งชาวนาที่มีนาเป็นของตัวเอง สองชาวนาที่เช่านาเขาทำ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าแบบแรก และแบบที่สามคือ คนที่เช่านาไม่ไหว อาจจะเพราะนาล่มหรือขาดทุนมากเกินไป ก็คือชาวนาที่ไม่มีอะไรเลย พอไม่มีเงินจะเสียภาษี สิ่งที่รัฐสยามจัดการกับคนที่ไม่มีเงินจ่ายภาษีก็คือ ยึดที่ดินขายทอดตลาด ถ้าไม่มีจริงๆ ก็จะจับไปทำงานโยธาและคิดค่าแรงแทนจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้จ่าย ลองนึกดู สมมติให้เข้าใจแบบง่ายๆ ในปัจจุบัน เราไม่ยอมเสียภาษีเงินได้แล้วสรรพากรมาจับเราไปเป็นคนงานสร้างถนน ไปลอกท่อ แบบนั้นแหละ
เมื่อต้องพึ่งตนเองและไม่มีสวัสดิการใด ๆ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ราคาพืชตกต่ำ หรือโดนภัยธรรมชาติเล่นงาน สิ่งที่ทำได้ก็มีแค่ต้องพยายามอดออมมากขึ้น หางานอื่นทำไปด้วย ชาวนาที่เดือดร้อนส่วนใหญ่ต้องนำลูกหลานไปฝากเป็นแรงงานตามบ้านคนรวย เพื่อขอกู้ยืมเงินมาทำนา หรือไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นอาชญากรไปเลย นี่แหละ ชีวิตที่ต่อรองอะไรกับใครไม่ได้ อยากเปลี่ยนแปลงต้องถวายฎีกาเท่านั้น ฎีกาส่วนใหญ่ที่ปรากฏก็จะเป็นเรื่องไม่มีที่ดินทำกิน และที่มากที่สุดก็คือการขอลดหย่อนอากรค่านา ประโยคสุดฮิตก็คือ การเรียกพวกเจ้าของที่ดินว่า “เป็นผู้ทำนาบนหลังคน”
1
หลายฎีกาที่เขียนแสดงให้เห็นว่าสมัยนั้น ก็มีปัญญาชนท้องถิ่นได้เขียนเพื่อช่วยหาทางออก เช่น อยากให้มีกองทุนกู้ยืมไปทำนา ขอให้ปรับปรุงการชลประทาน ขอให้หาทางขายข้าวต่างประเทศเพิ่มอีกจะได้ราคาข้าวดีๆ บางคนก็ไปไกลถึงขั้นชี้แจงว่ารัฐต้องซื้อข้าวชาวนาทั้งหมด เพื่อเป็นการรับประกันให้ชาวนามีเงินทุนหมุนเวียน อ่านแล้วก็คุ้นๆ สมัยนี้เราคงเรียกว่า “ประกันราคาข้าว” หรือ “จำนำข้าว” แน่ๆ เลย! ถ้ารัฐไม่มีเงินบางคนก็บอกให้ออกใบบอนด์แบบเปลี่ยนมือผู้ถือได้ (Bond) ที่ทุกวันนี้เรียกว่าหุ้นกู้ คือต้องการให้รัฐกู้เงินจากราษฎรและจ่ายดอกเบี้ยให้ ก้าวหน้ามากๆ แต่ก็ถือว่าเป็นการขอให้แทรกแซงตลาด ซึ่งผู้ปกครองสยามมองในมุมเศรษฐกิจแบบเสรีมากกว่า เมื่อความต้องการขัดกัน เสียงเรียกร้องเหล่านี้ก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชักไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เฉยๆ
ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1925 ก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเพียงไม่กี่ปี The Great Depression เริ่มต้นประมาณปี ค.ศ. 1929 พระองค์ตระหนักในวิกฤตเศรษฐกิจโลก และความเดือดร้อนของประชาชน ทรงลดภาษีอากรนาถึง 20% เป็นเวลาหนึ่งปี เปลี่ยนไปขึ้นภาษีที่เก็บจากชนชั้นกลางแทน เช่น ภาษีรายได้ ภาษีจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง เก็บภาษีบ้าน ภาษีที่ดิน แต่ผู้มีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของธุรกิจการค้า กลับได้รับผลกระทบน้อยสุด คนชั้นสูง เจ้านาย ขุนนาง พ่อค้าชาวต่างชาติ กลับได้รับผลกระทบน้อย ผลกระทบที่เป็นโดมิโนกลับไปโดนชนชั้นกลาง อาชีพราชการที่เคยมั่นคงก็ไม่มั่นคง เพราะเริ่มมีการปรับลดข้าราชการชั้นกลางและล่างมากขึ้น
1
การที่รัฐบาลในตอนนั้นพยายามปรับดุลการคลัง โดยลดรายได้ของข้าราชการลงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงขั้นที่ว่าพระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงลาออกจากตำแหน่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน สาเหตุเป็นเพราะท่านรู้สึกเสียหน้า ที่ไม่สามารถเลื่อนขั้นและขึ้นเงินเดือนให้นายทหารจำนวน 90 นายได้ ความขัดแย้งนี้ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดช ถึงกับถูกเพ่งเล็งว่าจะตัดสินใจอะไรที่เป็นภัยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลยหรือไม่ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะราษฎร รอดพ้นการเพ่งเล็งและทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี เรื่องของพระองค์เจ้าบวรเดชจะขอเก็บไว้เล่าในตอนต่อไป
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
1
อย่างไรก็ตามครับ อาจจะเป็นการเคลมใหญ่เกินไปว่าความเดือดร้อนของประชาชนชั้นล่างเป็นสาเหตุหลักในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เพราะ 2475 ไม่ใช่การปฏิวัติของชาวนาที่ลุกฮือขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบอบ เพราะคณะราษฎรส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทั้งนั้น ปัญหาหลักน่าจะเป็นการกระจุกตัวของตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งราชการระดับสูง สำนวนฝรั่งเค้าเรียกว่ามันมี Glass Ceiling หรือ เพดานกระจก ที่หนามาก / Glass Ceiling นี่หมายความว่า เป็นอุปสรรคที่ขวางอยู่เหนือหัว แม้มองไม่เห็น เพราะมันใส ๆ แบบแก้ว แต่เราจะไม่สามารถปีนขึ้นไปเกินจากที่ ๆ เรายืนอยู่ได้เลย ทั้งนี้ เพดานกระจกที่ว่าก็คือ ความไม่มีเชื้อสาย ความไม่ได้มีนามสกุลที่ถูกต้อง ความไม่มีสายสัมพันธ์ในแง่ครอบครัวสายเลือดนี่เอง คนธรรมดาที่อยากเจริญก้าวหน้าถึงแม้จะหลุดพ้นจากการเป็นชนชั้นล่าง ก็ต้องเข้าไปเป็นข้าราชการในระบบที่ตัวเองไม่มีวันได้เป็นใหญ่เป็นโต ไม่เหมือนกับคนที่มีเชื้อสายแต่กำเนิด ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งเป็นข้าราชการระดับกลางยากขึ้นไปเรื่อยๆ
1
สำหรับคณะราษฎรสมาชิกที่เป็นสายพลเรือน เช่น ปรีดี พนมยงค์ ก็มีพื้นเพในลักษณะนี้ คือเกิดในครอบครัวชนบท ที่หล่อหลอมให้เขามองเห็นปัญหา และขับเคลื่อนความคิดว่าถ้าผลประโยชน์ไปไม่ถึงคนทุกชนชั้น ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าเราลองอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ปรีดีเป็นคนเขียน ก็จะสะท้อนเรื่องนี้ตรงๆ ในท่อนที่บอกว่า “ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใด ถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา”
1
แต่สำหรับสายทหารในคณะราษฎร มุมมองความเห็นอกเห็นใจชนชั้นล่างแบบสายพลเรือนอาจจะต่างกันออกไป แต่พวกเขาก็รู้สึกแบบเดียวกันว่า ระบบรวบอำนาจทำให้ชาติอ่อนแอ ประเทศไม่เสียดินแดนแต่ก็เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แม้การค้าจะเจริญรุ่งเรืองแต่ผลประโยชน์กลับไม่กระจายออกไปมากพอ ชาวต่างชาติหรือคนในอาณัติของเจ้าอาณานิคมก็ไม่ต้องขึ้นศาลไทยอีกต่างหาก พระยาทรงสุรเดชมีความเห็นในมุมทหารต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่ทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดิน” หรือ พระยาพหลฯ ก็คิดว่าพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำอะไรตามใจเกินไป ไม่สนใจระดับล่างเลย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งคู่จะมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มาก เพราะทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรที่ทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์และ ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ล้วนแต่สมาทานกับระบบอำนาจนิยมอย่างเต็มที่
ภายในคณะราษฎรที่มีทั้งทหารและพลเรือนมีความเห็นร่วมกันแบบกว้างๆ เพียงว่า ต้องให้มีการปกครองแบบ “ราชาธิปไตยภายใต้กฎหมาย”เท่านั้น ไม่ได้มีอุดมการณ์การเมืองร่วมกันชัดเจนถึงขนาดที่ว่าสยามต้องมีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม หรือจะเลือกตั้งกันอย่างไร พระราชอำนาจจะมีมากน้อยแค่ไหน และการคุยลงลึกถึงขั้นกำหนด “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ให้ประเทศก็ยังไม่มี ซึ่งเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะตามมาภายหลัง
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน
สิ่งที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เกิดจากการวางแผนที่ใจกล้ามากๆ คือการลวงทหารหน่วยต่างๆ ไปกองไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นพันๆ นาย โดยใช้วิธีให้ทหารทั้งหมดออกมา เพราะเข้าใจว่ามีการกบฏเกิดขึ้น โดยอาศัยแค่บารมีเท่าที่จะมีอยู่ พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ บุกเข้าไปในกรมทหารม้าที่ 1 แบบไม่ให้ใครตั้งตัว รีบเรียกทหารขึ้นรถ รีบขนปืน และนำขบวนรถเกราะออกมาในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง สมทบกับทหารเรือที่ใช้วิธีเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนักเรียนนายร้อยที่พระยาทรงสุรเดชใช้ความเป็นอาจารย์นัดหมายไว้ และทหารฝึกใหม่ในกรมทหารช่าง โดยไปบอกว่าให้ตื่นเช้ามาเข้าฝึกหัดที่จุดนัดหมายด้วย
พระยาพหลพยุหเสนา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ขึ้นเวทีและอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และกล่าวถึงข้อเสียของระบอบเก่าว่า เป็นระบอบที่ใครจะออกเสียงคัดค้านย่อมมิได้ การปกครองแบบนี้จะปล่อยให้ประชาชนเผชิญกับเศรษฐกิจและการภาษีโดยลำพัง และไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้นเลย
อีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จก็คือ การมีองค์ประกัน หรือ การจับตัวประกันนั่นแหละ เพราะถ้าไม่มีองค์ประกัน ก็คงไม่มีเครื่องมือต่อรอง องค์ประกันอันดับหนึ่งที่ไม่มีไม่ได้ก็คือ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในพระนครรองจากพระเจ้าอยู่หัว เพราะกรมพระนครสวรรค์นั้นเป็นผู้คุมกำลังทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร เคยดำรงตำแหน่งเป็นทั้งเสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ท่านมีศักดิ์เป็นคุณปู่ของอดีตผู้ว่า กทม. หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สรุปว่าวันนั้นมีการจับกุมบุคคลสำคัญและเชิญเจ้านายมาประทับที่นั่งอนันตสมาคมทั้งสิ้น 25 คน
1
ส่วนบทบาทของฝ่ายพลเรือนทั้งนายประยูร ภมรมนตรี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค ก็คือเข้ายึดกรมไปรษณีย์ ตัดสายโทรเลข ยึดการสื่อสารไว้เพื่อความได้เปรียบ ซึ่งกว่าข่าวจะไปถึงวังไกลกังวล ความได้เปรียบก็อยู่กับฝ่ายคณะราษฎรแล้ว ในช่วงบ่าย คณะปฏิวัติเริ่มแจกจ่ายแถลงการณ์ที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้เขียนขึ้น สิ่งนี้เรียกว่า “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง” มีเนื้อหาย้ำเตือนว่าต่อไปนี้ประเทศสยามเป็นประเทศของราษฎร ไม่ใช่ของใครเพียงคนหนึ่งอีกต่อไป
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
การเปลี่ยนแปลงก็เสร็จสมบูรณ์ เมื่อคณะราษฎรทำหนังสือกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญมาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎหมาย เมื่อพระองค์เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองนี้ และทรงแจ้งให้ทราบว่าพระองค์มีความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่เหมือนกัน โดยจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน
ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นจริงในสมัยของพระองค์ ที่เคยมีการทดลองร่างธรรมนูญการปกครองไว้แล้วอย่างน้อยๆ ถึง 2 ฉบับ จากฝีมือที่ปรึกษาซึ่งเป็นชาวอเมริกันที่มารับราชการ แต่เนื้อหาทั้งสองฉบับก็ห่างไกลจากสิ่งที่คณะราษฎรนำขึ้นถวายมาก เช่น ในฉบับแรกที่มีร่างไว้แค่ 12 มาตรา โดยในมาตราแรก ระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์” และอีกฉบับพูดถึงการเลือกตั้งไว้ก็จริง แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครึ่งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ก็ทรงแต่งตั้งด้วยเช่นกัน
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่อีกสองวันต่อในวันที่ 26 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนคร เสด็จประทับที่วังสุโขทัย คณะราษฎร 7 คนเข้าเฝ้าและถวายกฎหมายสองฉบับ คือกฎหมายนิรโทษกรรมและธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพียงกฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น สำหรับธรรมนูญการปกครองทรงลงนามในวันรุ่งขึ้น พร้อมตัวหนังสือต่อท้ายชื่อกฎหมายว่าเป็นฉบับ “ชั่วคราว” พร้อมพระราชบันทึกที่มีใจความว่า พระองค์อ่านและพบว่าคงไม่เห็นพ้องด้วยกับสิ่งที่หลวงประดิษฐมนูธรรมเขียนมา แต่เพราะเป็นกรณีฉุกเฉินจึงประกาศใช้เป็นการชั่วคราวไปก่อน โดยต้องหาโอกาสผ่อนผันและรับฟังเสียงประชาชนด้วย
และในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เกิดขึ้นในสยาม ให้กำเนิดสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 คนที่มาจากการแต่งตั้งกันเอง สามารถแบ่งสัดส่วนกับกลุ่มอำนาจเก่าจนลงตัว เป็นส่วนคณะราษฎร 33 คน และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 32 คน กลุ่มนอกวงราชการ 5 คน สภาแห่งนี้ถูกกำหนดให้เลือกตั้งจำนวนครึ่งหนึ่งภายในหกเดือน และภายในสิบปีเมื่อประชาชนมีความรู้ถึงชั้นประถมมากกว่าครึ่ง จึงให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด
สภานี้มีประธานกรรมการราษฎร ซึ่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรีในปัจจุบันคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งจะนับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย หรือเรียกว่าเป็นนายกฯ คนกลางก็คงไม่ผิด เพราะเป็นกลุ่มข้าราชการเก่าที่มีชั้นบรรดาศักดิ์ถึงพระยา และคณะราษฎรเองก็เชื่อมั่นว่าท่านเป็นคนหัวสมัยใหม่มากพอ เพราะได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมาสำเร็จภายใน 6 เดือน และเป็นฉบับนี้นี่เอง ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
โดยที่ความแตกต่างใหญ่ๆ ระหว่างฉบับชั่วคราว และ ฉบับถาวรก็จะเป็นในเรื่องพระราชอำนาจนั่นเอง ฉบับชั่วคราวในมาตรา 2 ผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน คือ อำนาจ 4 ฝ่าย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด อีกสามฝ่ายคือสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร (หรือฝ่ายบริหาร) และศาล ต้องกระทำในนามของกษัตริย์ แต่ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการราษฎร ที่จะทำหน้าที่แทน และการกระทำใดๆ ของกษัตริย์ ต้องได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรเสมอ
ส่วนฉบับถาวรนั้น กำหนดไว้เพียงสั้นๆ ในส่วนนี้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยมีพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้น ส่วนที่กำหนดว่าห้ามผู้ใดฟ้องคดีอาญาต่อกษัตริย์คณะกรรมการราษฎรต้องเป็นผู้วินิฉัย ก็เปลี่ยนเป็นว่า “ห้ามผู้ใดล่วงละเมิดมิได้” แทน และต้องทรงเป็นจอมทัพสยาม ทรงมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน
ไม่ว่าใครจะมองความสำเร็จของคณะราษฎรแบบไหน มองว่าทำไม่สำเร็จ ชิงสุกก่อนห่าม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์ตกลงยินยอมให้จำกัดพระราชอำนาจ และไม่ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยจะนำพาไปสู่การรัฐประหารโดยเผด็จการกี่ครั้ง เผด็จการก็ยังต้องใช้สภา ไม่ว่าสภานั้นจะมีความชอบธรรมหรือไม่ แม้จะเป็นเหมือนอาหารปลอมในตู้โชว์ที่กินไม่ได้ แต่ยังไงก็ต้องมีนั่นแหละ และไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่กี่ครั้ง มาตราที่เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ก็ยังคงอยู่ครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
เรื่องต่อไปเราจะมาเล่าเรื่องคณะราษฎรกันต่อ ว่าความแตกต่างระหว่างปีกทหารและปีกพลเรือนคืออะไร และทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง และ 25 ปีของประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของคณะราษฎรนั้นเป็นอย่างไร ติดตามมหากาพย์กันยาว ๆ เลยครับ!
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย สยาม พ.ศ. 2475-2500 : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
http://openbase.in.th/files/tbpj149.pdf
การปฎิวัติสยาม พ.ศ.2475 : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
http://openbase.in.th/files/tbpj006.pdf
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพจาก นักวิชาการอิสระ : นริศ จรัสจรรยาวงศ์
อนุสรณ์งานศพ สมาชิกคณะราษฎร
แบบ VDO
https://www.blockdit.com/posts/6017e3191d3c28177dd3f66b
30 บันทึก
15
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คณะราษฎรและปฏิวัติสยาม 2475
30
15
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย