Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
15 มิ.ย. 2021 เวลา 01:32 • ประวัติศาสตร์
คณะราษฎร ตอนที่ 2
เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี และรัฐประหารสองครั้งแรกหลัง 2475
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เกมการเมืองและอำนาจก็เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ที่มีการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า ได้แก่สายนิยมเจ้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และกลุ่มคณะราษฎร ที่แบ่งเป็นสายทหารและพลเรือน มีการใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นรัฐสภา และใช้วังปารุสก์ เป็นทำเนียบรัฐบาล
1
‘คณะราษฎร’ หวังจะเปลี่ยนแปลงการเมืองและนำประเทศเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยใช้อำนาจผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญัติ คณะราษฎรสามารถตกลงกับอำนาจเก่าและคงที่นั่งส.ส.ไว้ในสมาชิกสภาชุดชั่วคราวได้เกินครึ่งนิดหน่อย คือจากทั้งหมด 70 ที่ ก็ได้ ส.ส.ฝ่ายตนไว้ 40 ที่ และเพื่อเป็นการประนีประนอมและหาจุดร่วมในสังคม ในด้านอำนาจบริหาร คณะรัฐมนตรีทั้ง 20 คน ฝ่ายคณะราษฎรยอมให้กลุ่มอำนาจเก่าเป็นแกนนำในคณะบริหาร ซึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง พระยามโนฯ ก็แต่งตั้งข้าราชการจากระบอบเก่า ซึ่งเคยมีตำแหน่งใหญ่ระดับเสนาบดีมาเข้าร่วมรัฐบาลทั้งหมด ส่วนคณะราษฎรในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ มีอยู่ครึ่งหนึ่งคือ 10 คน ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง หรือเรียกอีกชื่อว่า “รัฐมนตรีลอย” เพื่อคานอำนาจในการบริหาร คอยยกมือออกเสียงในการประชุมครม. เท่านั้น ไม่มีรัฐมนตรีประจำกระทรวงคนไหนมีพื้นเพเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเลย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
แต่สิ่งที่จุดระเบิดทำให้เกิดความแตกแยก ระหว่างกลุ่มคณะราษฎรและกลุ่มอำนาจเก่า จนความขัดแย้งทวีความรุนแรงจนต้องรบกัน เป็นเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “กบฏบวรเดช” คนที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยอยู่แล้ว คงเคยได้ยินกันว่าชนวนก็คือ การที่ฝ่ายคณะราษฎรดื้อดึงจะให้รัฐบาลประกาศใช้ “แผนเค้าโครงเศรษฐกิจ” ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งว่ากันว่าถ้าทำตามแผนนี้ ประเทศสยามจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์!! ข้อกล่าวหานี้เป็นความจริงหรือไม่? เล่าแค่นี้ถือว่าเล่าครบหรือยัง? มีปัจจัยอื่นอีกไหม?
1
เรื่องแรก สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว แนวทางของการสร้างประชาธิปไตย ก็คือการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งควรจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ของปี พ.ศ. 2476 และการเลือกตั้งนี้ ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ยังไม่ใช่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเต็มใบ คือจะแบ่ง ส.ส. ออกเป็นสองประเภท ประเภทที่หนึ่งจะได้จากการ “เลือกตั้งทางอ้อม” คือเลือกตั้งจากส่วนท้องถิ่นก่อน โดยประชาชนเลือกผู้แทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลก็จะเป็นผู้เลือกผู้แทนราษฎรอีกที ส.ส.ประเภทที่สอง คือผู้แทนที่มาจากการแต่งตั้ง ปัญหาก็คือใครจะตั้งล่ะ? คณะราษฎรจะตั้งทั้งหมดเลย แล้วมีใครถามฝ่ายระบอบเก่าหรือยัง?
เอาจริงๆ ปัญหายังไปไม่ถึงว่าคำถามว่าใครจะเป็นคนแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่สองด้วยซ้ำ เพราะปัญหาที่มาก่อนเลยก็คือเรื่องของพรรคการเมือง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่จะเข้ามาเป็นตัวเลือกให้ประชาชนนั่นแหละ เพราะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การมีพรรคการเมืองคือเรื่องที่ผิดกฎหมาย มันก็แน่นอนอยู่แล้ว เพราะระบอบนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้ การมีพรรคการเมืองในยุคนั้นจึงเป็นเรื่องผิด ถือว่าเป็นภัยต่อการปกครอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ในเมื่อยังตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ คณะราษฎรก็เลยตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ขึ้นมา เพื่อทำงานการเมืองในภาคพลเรือน มีสมาชิกกว่า 10,000 คน และเพียงไม่กี่เดือนเฉพาะในกรุงเทพ ก็มีสมาชิกประมาณ 60,000 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือนอย่างละครึ่งและมีความพร้อมที่จะส่งสมาชิกลงเลือกตั้งทั่วประเทศด้วย ในทางเทคนิคแล้วสมาคมคณะราษฎร จึงเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศสยาม และเป็นพรรคเดียวในขณะนั้น
ในช่วงนี้ กลุ่มอำนาจเก่าก็เกิดความหวาดกลัวว่าคณะราษฎรจะกินรวบประเทศ แต่ในช่วงแรกก็ยังมีความพยายามแข่งขันกันอย่างยุติธรรม เมื่อพระยาโทณวณิกมนตรี กับคณะรวม 12 คน ยื่นขอตั้ง “สมาคมคณะชาติ” ขึ้นมา เพื่อเป็นคู่แข่งกับสมาคมคณะราษฎร มีหลวงวิจิตรวาทการ อดีตผู้ช่วยเลขานุการทูตไทยในฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นผู้นำทางความคิด แต่ทางด้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีที่เห็นว่าบ้านเมืองมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมาถึงสองพรรค ก็ได้นำเรื่องกราบถวายบังคมกับในหลวงรัชกาลที่ 7 และพระองค์ก็มีพระราชหัตถเลขากลับมาว่า สยามยังไม่ถึงเวลาที่จะมีคณะการเมือง เนื่องจากประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการแบบรัฐธรรมนูญ หากมีคณะการเมืองจะสร้างความเข้าใจผิดได้ ว่ามีการตั้งหมู่คณะเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน “แต่โดยเหตุที่ในเวลานี้รัฐบาลได้อนุญาตให้มีคณะราษฎรเสียแล้ว จึงเป็นการยากที่จะกีดกันห้ามหวงมิให้มีคณะการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ อย่างดีที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นทีเดียว...”
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
อันนี้ก็แปลก เพราะถ้ามีรัฐสภาแต่ไม่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่มีพรรคการเมืองตั้งขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ต่างกันก็ไม่รู้จะมีรัฐสภาไว้ทำไม หรือว่านี่จะเป็นที่มาของความกลัว “ความขัดแย้ง” แบบฝังหัวของชนชั้นนำ เอะอะก็จะไม่ให้ขัดแย้งกัน แต่ถ้าไม่ขัดแย้งด้วยความคิดความเห็นที่หลากหลายแล้วจะมีระบอบรัฐสภาไปเพื่ออะไร ขัดแย้งก็เถียงกันไปด้วยเหตุผลและข้อมูลจนมันชัดเจนว่าใครผิดใครถูก วิธีไหนดีกว่า ประโยชน์จะตกที่ใคร คุ้มค่าขนาดไหน ก็เถียงกันไป ถ้าทุกคนเห็นตรงกันหมดเขาเรียกว่า “เผด็จการ” ในระบอบเผด็จการห้ามใครเห็นต่างจากผู้นำ จึงดูเรียบร้อยมาก แต่ความเรียบร้อยนั้นเกิดจากการถูกบังคับ ไม่ได้เรียบร้อยเพราะทุกคนคิดเหมือนกันหมดเองได้
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
กลับไปที่รัฐบาล เมื่อพระยามโนฯ นำพระราชหัตถเลขาเข้าที่ประชุมครม. เหล่าคณะรัฐมนตรีที่แม้ว่าจะเป็นคณะราษฎร ก็มีมติที่คล้อยตามไปด้วย เช่น นายประยูร ภมรมนตรี ได้เป็นผู้แจ้งให้ข้าราชการทั่วประเทศ ห้ามเป็นสมาชิกคณะการเมือง หรือทางด้านข้าราชการทหาร พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นผบ.ทบ.คนแรกของสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ประกาศว่า ทหารไม่มีความจำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งหมดนี้คือการตัดสินใจที่เหล่าคณะราษฎรในคณะรัฐมนตรีต้องโอนอ่อน ให้กับแนวคิดของฝ่ายข้าราชการและทหารชั้นผู้ใหญ่ และก็เป็นเหมือนโชคร้ายซ้ำสอง ในขณะที่ความขัดแย้งเรื่องการตั้งพรรคการเมืองยังร้อนแรง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ของปรีดี พนมยงค์ ก็เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพอดิบพอดี แถมนายปรีดีถึงกับพูดในที่ประชุมว่า ถ้าเค้าโครงเศรษกิจฉบับนี้ไม่ผ่าน ก็จะขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีซะจะดีกว่า แล้วไปดำเนินโครงการนอกสภาด้วยตัวเอง
แล้วเค้าโครงเศรษฐกิจคืออะไร เป็นจุดแตกหักเลยหรือ?
ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่เราเคยพูดถึงไปแล้วนั้น รัฐบาลสัญญากับประชาชนว่ารัฐต้องทำอะไรให้ประชาชนบ้าง โดยข้อ 3 ระบุว่า รัฐให้การประกันเรื่องเศรษฐกิจคือราษฎรต้องมีงานทำ ต้องไม่ปล่อยให้ใครอดอยาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่การลงมือทำให้เป็นไปตามนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงปัจจุบันว่าต้องทำอย่างไร มากแค่ไหน ปรีดี ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อสอดรับกับนโยบายนี้ โดยร่างนี้เป็นการกำหนดแนวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องดำเนินการ ซึ่งก็ประกอบไปด้วยคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และก็ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ความยาวรวม 62 หน้าด้วยกัน
1
เศรษฐกิจที่ดีตามเค้าโครงนี้ เป็นเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมอย่างมาก ถึงแม้จะไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะไม่ได้ยึดทรัพย์ทุกคน และ ไม่ได้ยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ก็ซ้ายมากจนนักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันแทบทั้งหมดน่าจะบอกว่า ไม่รอด แต่ว่า เราก็ต้องมองเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ผ่านแว่นตาของบริบทสังคมไทยในสมัยนั้นด้วย ไม่ใช่มองผ่านแว่นของประเทศไทยในปัจจุบัน
สยามในตอนนั้นแทบไม่มีอุตสาหกรรมเลย การเกษตรก็เป็นแบบดั้งเดิม ยังใช้ควายไถนากันอยู่ และ นาก็ทำได้แค่ปีละ 6 เดือนเท่านั้น ไม่มีระบบชลประทานหรือการวางแผนการตลาดมากนัก เรียกว่าพื้นที่ส่วนใหญ่แม้จะมีเจ้าของแต่ก็ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าเพราะไม่มีกำลังคนและเทคโนโลยีที่เพียงพอจะพัฒนาที่ดินได้ นายปรีดีมองว่าการจะพัฒนาที่ดินและการเกษตรให้ทันสมัยได้ รัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งเครื่องจักรที่ใช้ทำการเกษตรและการพัฒนาการชลประทาน เพราะการที่เอกชนต่างคนต่างทำนั้น มันมีเงินไม่พอแถมไม่มีการวางแผนในภาพใหญ่ ให้ไปพร้อม ๆ กันได้ทั้งหมด
ปรีดี พนมยงค์ประกาศไว้ในคำชี้แจงว่า รัฐจะมีหน้าที่รับประกันความเป็นอยู่ (Social Assurance) เหมือนเป็นตาข่ายรับรองความเดือดร้อน ตั้งแต่เกิดมาจนตาย ประชาชนจะต้องได้รับการดูแล จะเจ็บป่วย ตั้งครรภ์ พิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ต้องจะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ การรักษาพยาบาล ในเค้าโครงอันนี้มีการตั้งเงินเดือนถ้วนหน้าให้ประชาชนโดยแบ่งตามอายุด้วย
นี่มันประเทศไทยเมื่อ 80 กว่าปีก่อนจริงๆ เหรอ แต่ช้าก่อน!!!
คำถามคือ จะเอาเงินจากไหนมาทำให้เกิดขึ้นได้จริง? เพื่อเลี้ยงคนในประเทศตัวเอง เค้าโครงเศรษฐกิจบอกว่า รัฐจะต้องดำเนินเศรษฐกิจในประเทศเองในรูปแบบสหกรณ์ หมายถึง รัฐจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสหกรรม คือเป็นเจ้าของที่ดิน และเป็นผู้ว่าจ้างแรงงานเองด้วย โดยวิธีการที่รัฐจะให้ได้มาซึ่งที่ดินเค้าโครงเขียนไว้ว่า เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ในที่ดินที่เป็น “บ้าน” ของตัวเองเหมือนเดิม แต่ที่ดินที่ไม่ได้เป็นบ้าน รัฐบาล “มีอำนาจซื้อคืน” โดยตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมา โดยฝ่ายหนึ่งคือรัฐ ฝ่ายหนึ่งคือเจ้าของที่ดิน และมีผู้ชี้ขาดว่าที่ดินนี้ควรจะมีราคาเท่าไหร่ รัฐอาจใช้เงินซื้อคืนก็ได้ หรือจะออกพันธบัตรแบบใบกู้ที่ดินจากรัฐ และรัฐก็จ่ายเป็นดอกเบี้ยให้เพื่อใช้ที่ดินนั้น แต่บังคับนะ จะไม่ให้ก็คงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่การยึดเอาดื้อ ๆ แน่นอน ปรีดียังบอกว่า เรื่องเหล่านี้ระบอบเก่าก็ทำอยู่แล้วในรูปแบบการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนน ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ด้วยซ้ำ
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
นอกจากจ่ายเงินเดือนราษฎรถ้วนหน้าแล้ว ก็ยังจะจ้างราษฎรทุกคนเป็น “ข้าราชการ” อีกด้วย ในคำชี้แจงอาจฟังดูเหมือนประชดประชันว่า คนไทยชอบเป็นข้าราชการเพราะมั่นคง มีเงินเดือน ทำไมไม่ให้เป็นข้าราชการซะให้หมด ฟังดูเหมือนประชดนะ แต่หากทำใจกว้าง ๆ แล้วมองอย่างเป็นธรรม หากคุณเป็นชาวบ้านทำการเกษตร หรือ รับจ้าง หาเช้ากินค่ำ รายได้ไม่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าการรายได้ไม่แน่นอนของคุณนั้นอยู่ระหว่าง การมี กับ การไม่มีรายได้เลย คือ มีน้อย กับ ไม่มีนั่นแหละ การที่จะมีคนมาบอกว่า เอาเงินเดือนมั้ยล่ะ? สิ้นเดือนจะมีเงินจ่ายมาแน่ ๆ เหมือนกับพวกข้าราชการ คุณจะไม่อยากได้เหรอ ? ความมั่นคง กับ ความไม่มั่นคงมันต่างกันตรงนี้
การใช้คำว่า ให้ทุกคนรับราชการกันให้หมดของปรีดีหมายความว่า ให้ทุกคนได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลไม่ว่าจะทำงานอะไร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรปลูกข้าว หรือ คนงานขุดถนน ครู ปลัด หรือวิศวกรสร้างเขื่อน แต่ในมโนของคนเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น ข้าราชการ คือ พวกที่นั่งหล่อ ๆ ซดน้ำชา สั่งงาน อ่านข้อกฎหมาย และรับใช้ข้าราชการที่ยศสูงกว่า คือ พอใช้คำว่า “ข้าราชการ” คนคิดเป็นอย่างอื่นไม่ออกซะหยั่งงั้น บางที ถ้านายปรีดีใช้คำว่า ลูกจ้างของรัฐ คนชั้นสูงอาจจะไม่ต่อต้านมากขนาดนี้ก็เป็นได้
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ในบันทึกการประชุมของคณะรัฐมนตรี มีคำอธิบายของ ทวี บุณยเกตุ คณะราษฎรสายพลเรือนคนสำคัญ ซึ่งเป็นอีกคนนึงที่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจมากๆ ได้อธิบายว่า การเป็นข้าราชการทุกคนมันไม่ดีตรงไหน มันจะไม่ดีได้ไง? ถ้าเราจะบังคับคนที่ไม่มีกินให้มีกิน! และทำไมรัฐจะดำเนินเศรษฐกิจเองไม่ได้ เพราะรัฐบาลขณะนั้น ก็มีกิจการของตัวเองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ไฟฟ้า น้ำปะปา โรงต้มเหล้า ทำไมจะทำทั้งหมดไม่ได้? แต่มันก็มันติดตรงคำว่า “บังคับ” นี่แหละ ไทยไม่ชอบ ในสมุดปกขาวที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เขียนตอบโต้เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีก็ย้ำหลายครั้งว่าคนไทยไม่ชอบถูกบังคับ และความจนความรวยนี้มันเป็นเรื่องแล้วแต่ใครจะมอง คนมีน้อยที่เค้าคิดว่าเค้าไม่ลำบากก็เยอะแยะ คนมีมากกว่าแต่มองว่าตัวเองมีไม่พอก็มากมาย ก็แล้วแต่ใครจะมองอีกนั่นล่ะ คนที่สบายอยู่แล้วก็คงไม่เห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมันก็โอเคอยู่แล้ว ส่วนคนที่ลำบากก็อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ บางทีคนที่ลำบากก็ไม่อยากให้อะไรเปลี่ยนก็มีเหมือนกัน นานาจิตตัง เอาเป็นว่า ทั้งเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีที่เรียกกันว่าสมุดปกเหลือง และ พระราชวินิจฉัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ ซึ่งเรียกกันว่าสมุดปกขาว เราจะแปะลิงค์ไว้ให้เข้าไปอ่านกันเองและตัดสินใจกันเองนะครับว่าคุณเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตรงไหนกันบ้าง ยังไงก็ควรอ่านครับ ไปฟังใครก็ไม่สู้อ่านและตีความด้วยตัวเองแน่นอน
ถ้ามองด้วยแว่นตาของคนไทยในยุค 2021 ก็จะลงความเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีไม่มีทางจะดีได้ ไม่ใช่แค่ว่ารัฐบาลทำเองทุกอย่างแล้วมันจะไม่ดี แต่การผูกขาดทุกอย่างมันก็ไม่ส่งผลดีทั้งนั้น ธุรกิจผูกขาดทำให้ไม่ต้องกลัวคู่แข่งจึงไม่เกิดการพัฒนา ราคาสินค้าและบริการกับค่าครองชีพไม่สัมพันธ์กัน เพราะไม่ต้องสนใจว่าคนจะไม่ซื้อ รัฐวิสาหกิจต่างๆ บริหารงานแบบไม่กลัวเจ๊ง คุณภาพรถเมล์บ้านเราเป็นยังไงเมื่อสี่สิบปีก่อน ทุกวันนี้ก็เป็นแบบนั้น นึกภาพไม่ออกจริงๆ ว่าถ้ารัฐทำเองทุกอย่าง แล้วเราทุกคนก็เป็นลูกจ้างของรัฐ สภาพจะออกมาเป็นแบบไหน
แต่เพื่อเป็นข้อมูล โมเดลแบบนี้ก็ใช่ว่าจะไม่ดีไปซะหมดทุกที่ในโลก ในประเทศแถว ๆ สแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นเป็น นอร์เวย์ สวีเดน หรือ ฟินแลนด์ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ใช้โมเดลประชาธิปไตยในเศรษฐกิจที่เอียงไปทางสังคมนิยมสูง รัฐบาลเป็นเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ในประเทศ แล้วจึงมาค่อย ๆ ปล่อยเป็นเสรีมากขึ้นในยุค 80 คือมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็อีกนั่นล่ะ ในสแกนดิเนเวียตอนนั้นก็ผ่านการปฎิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว ไม่ใช่สังคมการเกษตรหนัก ๆ อย่างไทย การฟันธงจึงทำได้ยากนั่นแหละ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
สรุปแล้ว เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ได้เปลี่ยนให้ประเทศเรากลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ไปได้ทันที เพราะองค์ประกอบก็ไม่ได้ครบขนาดนั้น ผู้ร่างชี้ชัดบอกว่าเป็นการผสมระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม ทุกอย่างที่บังคับใช้ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากที่เป็นนวัตกรรมในเค้าโครงเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ การตั้งสำนักงานสลากกินแบ่ง ข้อนี้เป็นข้อเดียวที่ไม่มีใครคัดค้าน อีกเรื่องที่เป็นมรดกของนายปรีดีที่ให้ไว้กับประเทศนี้คือการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการริเริ่มการกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่นหลังการปฎิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5
สำหรับเสียงคัดค้านเพราะความกลัวที่มีต่อคอมมิวนิสต์ในตอนนั้น ก็หนีไม่พ้นเรื่องที่ดินนี่แหละ ใครเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ ใครเป็นคนที่กลัวที่ดินหลุดมือมากที่สุด การปฎิรูปที่ดินทำให้ชนชั้นเจ้าสั่นคลอนมาก เอาเข้าจริงการปฎิรูปที่ดินไม่ใช่การเป็นคอมมิวนิสต์เสมอไป หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ่งแรกที่อเมริกาทำเพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยก็คือการปฎิรูปที่ดินเพื่อให้คนญี่ปุ่นทั่วไปมีที่ดินทำกิน รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่อยู่ในเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีนั่นเอง นอกจากนี้การใช้คำว่า ทุกคนเป็นข้าราชการหมด ก็อาจจะทำให้ข้าราชการจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวจะเสียสถานะทางสังคมไป และคนพิจารณาว่าจะเอาหรือไม่เอาเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ก็ล้วนแต่เป็นคนชั้นสูง มีการศึกษา เป็นนักเรียนนอก เป็นข้าราชการ เป็นทหาร แม้ว่าเป็นสามัญชนแต่ก็ยังมีหวังจะได้เติบโตในระบอบเก่า การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ในระดับนี้ไม่ใช่ว่าจะทำใจรับได้ง่าย ๆ
และแล้วความขัดแย้งในสภาก็มาถึงทางตัน เมื่อนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำเอาพระราชบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยให้ที่ประชุมครม.พิจารณา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจนี้แทบทั้งหมด ว่าเหมือนกับของพรรคบอลเชวิคในรัสเซียแบบไม่มีผิดเพี้ยน
พอเป็นแบบนี้เสียงในคณะรัฐมนตรีก็เทไปในทางเห็นด้วยกับพระบรมราชวินิจฉัย ในคณะรัฐมนตรี 19 คน มีคนยกมือเห็นชอบเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีเพียง 3 คนเท่านั้น โดย พระยาพหล พระยาฤทธิอัคเนย์ หลวงพิบูลสงคราม และนายตั้ว ลพานุกรม งดออกเสียง ส่วน พระยาทรงสุรเดช และ นายประยูร ภมรมนตรี ยกมือไม่เห็นชอบ สมาชิกคณะราษฎรที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีก็เทปรีดี พนมยงค์แบบไม่เหลือซากซะแล้ว
“รัฐประหารครั้งแรก”
ความขัดแย้งในสภาก็กลับมาที่เรื่องการยุบคณะการเมืองหรือพรรคการเมือง เมื่อสภาผู้แทนที่นำโดยคณะราษฎรสายพลเรือน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถสั่งห้ามใครก็ตามสมัครเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองได้ เพราะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ จะห้ามก็ต้องออกมาเป็นกฎหมายเสียก่อน เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในสภาลงมติให้รัฐบาลถอนคำสั่งดังกล่าว ถัดจากการลงมติแค่สองวัน คือวันที่ 1 เมษายน 2476 รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ประกาศ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และให้รัฐบาลมีอำนาจในการออกกฎหมายซะเอง ซึ่งก็คือการยึดอำนาจนิติบัญัติไป เลิกใช้รัฐสภาแบบดื้อๆ พูดง่ายๆ ก็คือการทำรัฐประหารด้วยการออก พระราชกฤษฎีกา นั่นเอง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคณะราษฎรใน ครม. ก็มาเซ็นรับรองในพระราชกำหนดเพื่อยึดอำนาจ เป็นการเทระบอบรัฐสภาที่ยังไม่ตั้งไข่ทิ้งไปซะ คนที่ร่วมเซ็นและอยู่ในฝ่ายคณะราษฎรมาก่อน มีทั้งพระยาพหลฯ, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ, หลวงพิบูลสงคราม, หลวงสินธุสงครามชัย และนายประยูร ภมรมนตรี
การปิดสภาผู้แทนในวันที่ 1 เมษายน 2476 นับว่าเป็นการหักดิบหรือข่มขืนทางกฎหมายครั้งแรกของเนติบริกรแบบไทยๆ ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีการเกริ่นนำว่าสภาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาจากการแต่งตั้ง “ไม่สมควรจะมาออกนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็นรากเหง้าของประเทศมาแต่โบราณกาล” มีการเขียนมาตราเพื่อกำจัดคณะราษฎรให้พ้นไปจากคณะรัฐมนตรี เหลือแต่พระยามโนฯ เป็นนายก และเหล่าพวกพ้องที่เป็นรัฐมนตรีสังกัดกระทรวงต่างๆไว้ มีการให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการออกกฎหมายเองไปเลย ซึ่งแปลกอยู่เหมือนกันคนยุคเราคงไม่ค่อยชิน เพราะเวลาที่เผด็จการในยุคของเราจะยึดอำนาจและออกกฎหมาย ก็จะใช้สภาปลอมหรือสภาตรายาง อย่างเช่น สนช. เพื่อยกมือผ่านกฎหมายต่างๆ อันนี้รุ่นบุกเบิกเค้าเอาอำนาจไปออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ. ด้วยตัวเอง ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเรียกยุคนี้ว่ายุค “มโนเครซี่” พระยามโนฯก็เป็นนายกฯ เผด็จการคนแรกของประเทศสยามไปในที่สุด หมดสภาพนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่ที่เรียนจบมาจากอังกฤษกันเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงการรัฐประหารโดยการหักดิบทางกฎหมายนั้น มันไม่น่าจะสำเร็จได้ เพราะว่าถ้าฝ่ายตรงข้ามเอากำลังมาปราบ โยนเข้าคุกด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองก็คงจบ สิ่งสำคัญก็คือ กำลังทหารนี่แหละ
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎรปีกทหารก็เริ่มทำการปฏิรูปกองทัพ มีตำแหน่งใหม่คือผู้บังคับบัญชาทหารบก กุมอำนาจเป็นเบอร์หนึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็น ผบ.ทบ.คนแรก ส่วนเบอร์สองก็คือพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ แต่พระยาทรงสุรเดชกลับเป็นคนที่มีบารมีพอๆ กัน สามารถตั้งพวกพ้องของตัวเองให้คุมหน่วยต่างๆ ได้ ซึ่งก็เป็นพระยาทรงสุรเดชผู้เป็นคนคิดแผนยึดอำนาจเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นี่แหละ ที่หลายฝ่ายฟันธงว่าแอบมีข้อตกลงกับพระยามโนฯ ให้การสนับสนุนกำลังทหาร จนฝ่ายอำนาจนิยมมั่นใจว่าจะไม่มีการปฏิวัติซ้อนหรือถูกปราบทันที จนทำรัฐประหารสำเร็จ พูดได้อีกอย่างว่านี่เป็นการยึดอำนาจที่ไม่ใช่แค่การยึดสภาด้วยกฎหมาย แต่ทำโดยมีกำลังอยู่ในที่ตั้งด้วย
ผลงานเด่นๆ ของพระยามโนเครซี่ ตลอดระยะเวลาที่ยึดอำนาจไว้ 81 วัน ก็คือการออกกฎหมายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มอำนาจเดิม อย่างเช่น การออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ฉบับแรกของสยาม ที่กลายเป็นอาวุธกำจัดศัตรูทางการเมือง มีการแก้กฎหมาย ส.ส. เพื่อให้สภาผู้แทนฯสะท้อนเสียงประชาชนได้น้อยลง อย่างเช่น รวมหลายๆ จังหวัดให้เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ส่งผลให้มี ส.ส.ในสภาน้อยลง แถมพอห้ามมีพรรคการเมือง ในอนาคต ส.ส. ก็จะยกมือกันแบบสะเปะสะปะทำให้ควบคุมสภาได้ง่าย มีการแก้อายุผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจาก 20 ปีเป็น 25 ปี และเพิ่มอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก 23 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 30 ปีแทน ด้วยความคิดที่ว่าคนอายุเยอะจะสนับสนุนฝ่ายตน สรุปแล้วใน 81 วันนี้ มีกฎหมายออกถึง 38 ฉบับ ทั้งกฎหมายห้ามสมาคมการเมือง (หรือห้ามมีพรรคการเมือง) กฎหมายคอมมิวนิสต์ แก้กฎหมายหมายการเลือกตั้ง แต่กฎหมายประกาศกำหนดวันเลือกตั้งกลับมาช้ามากที่สุด รัฐบาลของพระยามโนฯ รอไปถึงช่วงท้ายที่สถานการณ์บีบบังคับถึงยอมประกาศออกมา
ในช่วงนี้ ปรีดี พนมยงค์ ถูกเนรเทศไปฝรั่งเศส คณะผู้ก่อการคณะราษฎรถูกกำจัดให้หมดบทบาทไป เหลือแต่เพียงนายประยูร ภมรมนตรีที่ยังได้เป็นรัฐมนตรีลอยอยู่ ทหารฝ่ายคณะราษฎรที่ยังยึดมั่นแนวทางของนายปรีดี ก็ล้วนแต่มีตำแหน่งไม่สูงมาก เช่น หลวงทัศนัยนิยมศึก แห่งกองพันทหารม้า ที่ได้ชื่อว่ารักและเทิดทูนปรีดีมาก ก็รับทำหน้าที่คุ้มกันติดตามปรีดี ไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์เพื่อลี้ภัยไปฝรั่งเศสด้วย น่าเสียดายที่หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว หลวงทัศนัยนิยมศึกก็เสียชีวิตแบบปริศนา แต่ข่าวตอนนั้นออกมาว่าเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม ในวัยเพียง 33 ปี โดยชีวิตของหลวงทัศนัยนิยมศึกนั้น เป็นทหารฝ่ายประชาธิปไตยที่แทบไม่มีคนรู้จัก เป็นสมาชิก 7 คนแรกของคณะราษฎรที่ฝรั่งเศส เป็นคนแรกๆ ที่เริ่มเคลื่อนไหวจะสู้เพื่อยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ โดยที่ท่านเตรียมรถถังรอจะไปเตีรยมยึดปารุสก์แต่หลวงพิบูลสงครามได้ห้ามไว้ และด้วยความไฟแรงนี่เอง ทำให้ตามบันทึกของคนรอบข้างต่างก็เชื่อว่าท่านเสียชีวิตเพราะถูกวางยาด้วยซ้ำไป
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
“รัฐประหารครั้งที่ 2 : 20 มิถุนายน 2476”
รัฐบาลของพระยามโนฯ เริ่มหมดความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่มีแนวทางการกำหยดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และไม่มีทีท่าจะได้กลับไปเปิดสภาผู้แทนสักที จากหลักฐานหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางและปัญญาชนเริ่มไม่เอาด้วยกับรัฐบาลพระยามโนฯ มีการเปรียบเทียบว่าตอนนี้เหมือนเจอบ่อน้ำรัฐธรรมนูญแล้ว แต่โดนกันไว้ไม่ให้ใช้น้ำ ประชาชนกระหายคุณค่ารัฐธรรมนูญ เหมือนที่ชาวฝรั่งเศสในยุคปฏิวัติมีสโลแกนว่า “ขอขนมปังกับรัฐธรรมนูญ”
การรัฐประหารครั้งที่สองของไทย เกิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 กลุ่มทหารคณะราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม หลวงศุภชลาศัย ก็ได้ทำการยึดอำนาจอีกครั้ง เพื่อไล่พระยามโนนิติธาดาออกจากตำแหน่งนายก ความพยายามในการประนีประนอมด้วยการแบ่งอำนาจในคณะรัฐมนตรีให้ฝ่ายอำนาจเก่าก็จบลงไปในที่สุด กลุ่มทหารฝ่ายคณะราษฎรเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลเอง
รัฐประหารครั้งที่ 2 นี้ น่าสนใจมาก เพราะเป็นรัฐประหารเพียงครั้งเดียวในประเทศนี้ ที่ทหารล้มรัฐบาลเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นั่นก็คือยึดอำนาจโดยไม่ได้ฉีกกฎหมายเก่า แต่ใช้กำลังเพื่อเปิดรัฐสภาให้เดินหน้าตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ และก็เป็นการยึดอำนาจที่ไม่มีการปะทะทางทหารกันเป็นครั้งที่สองหลังจากปี 2475 อีกด้วย ว่าแต่? เกิดอะไรขึ้นทำไมกลุ่มทหารคณะราษฎรที่ก่อนหน้านี้โดนกดดันจนต้องเซ็นชื่อปิดสภา กลับลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งได้ แล้วทำไมฝ่ายอำนาจนิยมถึงปล่อยให้เกิดขึ้น? ทั้งๆ ที่ดึงพระยาทรงสุรเดชที่มีกำลังพลเยอะไปเป็นพวกได้แล้วแท้ๆ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือในช่วงเวลาที่ความได้เปรียบกำลังเทไปทางฝ่ายอำนาจนิยม บ้านเมืองกำลังจะกลับไปเป็นระบอบเก่าอีกครั้ง ทหารที่เป็นพวกก่อการปฏิวัติรู้สึกได้ว่ากำลังจะถูกไล่เช็คบิลแน่ๆ เหตุการณ์สำคัญในตอนนั้นก็คือ 4 ทหารเสือของคณะราษฎรที่นั่งตำแหน่งผู้นำในกองทัพบก ทั้งพระยาทรงสุรเดช, พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ประกาศวางมือจากการเมืองและจะลาออกจากตำแหน่งผู้นำในกองทัพบกพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างบรรยากาศว่าทหารจะไม่ยุ่งกับการเมือง โดยเฉพาะพวกเขาเองที่เป็นหัวหน้าคณะราษฎร โดยจะลาออกวันที่ 24 มิถุนายน 2476 ในวันครอบการเปลี่ยนแปลงพอดี เพื่อความเท่ หล่อๆ ในความเป็นจริงใครคิดยังไง? วางแผนอะไรเอาไว้ทำไมถึงลาออกพร้อมๆ กันแบบนี้ ซึ่งมีผลกับเสถียรภาพรัฐบาลแน่ๆ เหตุผลพวกนี้คงไม่มีใครรู้แน่ชัดหรือกล้าฟันธง แต่ในหนังสือ “2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ” ของ อ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิเคราะห์จากการศึกษาความสัมพันธ์และบทสัมภาษณ์ ก็ได้ข้อสรุปว่า การลาออกนี้เป็นเกมการกดดัน ที่ทุกฝ่ายเลือกที่จะเล่นเอง นั่นก็คือ พระยาทรงสุรเดช จะลาออกด้วยเหตุผลดีๆ ว่าคณะปฏิวัติยุ่งกับการเมืองมามากพอแล้ว เพื่อให้อีกสามคนต้องลาออกตาม แต่ที่จริงการลาออกนี้ก็เพื่อเปิดทางให้ให้พระยามโนฯ ได้ควบคุมตำแหน่งเหล่าทัพนั่นเอง พระยาทรงสุรเดชก็คงจะมีแผนว่ากลุ่มอำนาจเดิมคงจะเลือกให้ตัวเองกลับมาเป็น ผบ.ทบ. ส่วนทางด้านพระยาพหลฯ ที่อยู่ท่ามกลางแรงกดดัน ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก และยอมลาออกเพราะหวังว่า ถ้ามีการปรามและขอให้อยู่ต่อจากในหลวง ก็จะเป็นการพลิกเกมและโยนแรงกดดันให้พระยามโนฯ แทน แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระยามโนฯ ไม่รอให้ถึงวันลาออกตามที่ประกาศไว้ เริ่มเดินเกม อยู่ดีๆ ก็ออกกฎหมายกำหนดวันเลือกตั้ง หลังจากที่ยื้อมานาน และทำการปลด 4 นายทหารเสือออกจากตำแหน่ง ล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ โดยบอกว่าให้เป็นการ “ลาพักราชการ” และเพื่อไม่ให้ตำแหน่งว่าง ก็ตั้งทหารจากฝ่ายที่ตนไว้ใจกว่า นั่นก็คือ พระยาพิไชยสงคราม และ พระยาศรีสิทธิสงคราม ให้เข้ามาคุมกำลังพลในฐานะรักษาการ เรียกว่าเอาคนใหญ่คนโตมาจ่อไว้แบบนี้ ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไม่มีทางเป็นของพระยาทรงสุรเดชแน่นอน พระยาทรงสุรเดช โดนพระยามโนฯ เทซะแล้ว
แต่พระยามโนฯ ก็พลาดไปอยู่เรื่องนึง เพราะทหารชุดที่แต่งตั้งขึ้นมารักษาการ กลับไปเลือกทหารกลุ่มคณะราษฎรมาหนึ่งคน ซึ่งพระยามโนฯ คงคิดว่าคนนี้มีท่าทีเป็นกลาง ดูเงียบๆ และน่าจะสมาทานกับกลุ่มอำนาจนิยมคอยช่วยควบคุมกลุ่มทหารหนุ่มสายคณะราษฎรได้ดี คนๆ นั้นก็คือ หลวงพิบูลสงคราม โดยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ จนได้คุมกำลังพลมากขึ้นเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ไปเลย และทันทีที่ถูกแต่งตั้งเพียงแค่สองวัน หลวงพิบูลสงครามก็ตั้งกลุ่มทำรัฐประหารด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าไม่ทำ กลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คงโดนไล่เช็คบิลจนตายกันหมดแน่นอน โดยหลวงพิบูลฯ ตั้งตนเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก และไปชวนหลวงศุภชลาศัย มาเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ และไปชวนพระยาพหลฯ มาเป็นหัวหน้าคณะอีกรอบนึง ซึ่งก็เป็นพระยาพหลฯ นี่เองที่ใช้บารมีขอให้ทหารในกลุ่มพระยาทรงสุรเดชอยู่เฉยๆ แน่นอนว่าพระยาทรงสุรเดชที่โดนพระยามโนฯ เทไปแล้ว ก็ไม่ออกมาชนด้วยแต่อย่างใด การรัฐประหารเพื่อเปิดสภาในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 จึงสำเร็จ เมื่อในหลวงรัชกาลที่7 เซ็นรับรองการเปิดสภา และรับรองพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ส่วนพระยามโนฯ ก็ถูกเนรเทศ และไม่เคยกลับเมืองไทยจนเสียชีวิต
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
หลังการยึดอำนาจกลับมาของทหารสายคณะราษฎร สภาพการเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะยังต้องบริหารอำนาจกับกลุ่มอำนาจเดิมอยู่ โดยในคณะรัฐมนตรี 15 คน เป็นกลุ่มคณะราษฎร 6 คน เป็นรัฐมนตรีลอยเช่นเดิมอีก 9 คน โดยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ชุดใหม่ ที่เอาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวง ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดที่สุดก็คือ พระยาพหลฯ ตั้งตัวเองเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และเป็น ผบ.ทบ. แต่เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์หลังยึดอำนาจ พระยาพหลฯ ก็พยายามจะลาออก โดยไปทูลลาด้วยเหตุผลเรื่องความเหมาะสม เรื่องว่าเป็นทหารไม่มีความรู้เรื่องบริหารบ้านเมือง ไม่ควรที่จะควบสองตำแหน่งนี้ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงปรามไว้
ปัญหาที่รัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องเจอ ก็คือสิ่งที่รัฐประหารครั้งแรกทิ้งเอาไว้ ทั้งเรื่องของกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีพรรคการเมือง และที่สำคัญก็คือกฎหมายปราบคอมมิวนิสต์ ที่ถูกเอามากำจัดคณะราษฎรสายพลเรือนจนไม่มีพลังเหลือ ซึ่งพระพยาพหลฯ ก็ไม่ยกเลิกกฎหมายพวกนี้ทิ้งไป ยอมรับอำนาจรัฐประหารของพระยามโนฯ ไปแบบกลายๆ เพราะจังหวะนั้นก็ถูกเพ่งเล็งไว้ว่าอาจจะโดนข้อหาเข้าข้างพวกนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลพระยาพหลฯ ก็ตระหนักว่าถ้าต้องการคานอำนาจจากฝ่ายอำนาจนิยม ก็ต้องรักษารัฐธรรมนูญ ต้องพึ่งประชาชน ต้องพึ่งประชาธิปไตย และต้องพึ่งความเป็นนิติรัฐ รัฐบาลนี้ลงมือจัดการเลือกตั้งแบบจริงจัง เริ่มรับสมัครผู้แทนระดับตำบลในเดือนสิงหาคม และตั้งใจจะให้เลือกตั้งจนได้ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เข้าสภาในเดือนธันวาคม เพื่อให้ทันวันรัฐธรรมนูญวันที่ 10 ธันวาคม
แต่อุปสรรคใหญ่ก็คือความขัดแย้งที่รุนแรง จนความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เสียเลือดเนื้อทั้งสองครั้งก่อนหน้า ก็ไม่เป็นผล เพราะในครั้งที่สาม ฝ่ายตรงข้ามได้เลือกใช้กำลังถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ข้อมูลเพิ่มเติม :
เค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง)และ พระบรมราชวินิจฉัย(สมุดปกขาว)
http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf
2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ : ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
http://www.openbase.in.th/files/tbpj002.pdf
การปฎิวัติสยาม พ.ศ.2475 : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
http://openbase.in.th/files/tbpj006.pdf
อนุสรณ์งานศพ สมาชิกคณะราษฎร
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพจากคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ และ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้เขียนหนังสือ 'ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร
แบบ VDO
https://www.blockdit.com/posts/5f98b97cc2d9300cd75ec29e
"คณะราษฎร" ตอนที่ 1 : ปฏิวัติสยาม 2475 เกิดขึ้นได้อย่างไร?
https://www.blockdit.com/posts/60b784c1365cd90974bd9a18
9 บันทึก
9
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คณะราษฎรและปฏิวัติสยาม 2475
9
9
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย