Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
22 มิ.ย. 2021 เวลา 09:30 • ประวัติศาสตร์
รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เป็นอย่างไร? ทำไมใครๆ ถึงบอกว่าดีที่สุด?
สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรานึกถึงอะไรกันบ้าง? ประชาธิปไตย, นายกรัฐมนตรี, รัฐสภา, ผู้แทนราษฎร, การเลือกตั้ง, สิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค แน่นอน! สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เเลย ถ้าไม่ถูกบัญญัติไว้ในสิ่งที่เรียกว่า 'รัฐธรรมนูญ' อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบใดๆ ก็ตาม ต่างตราขึ้นเพื่อเป็นหลักในการปกครองดินแดนในอำนาจอธิปไตยของตัวเองกันทั้งนั้น
1
เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีเนื้อหาหลัก ๆ ว่าอย่างไรบ้าง และทำไม หลาย ๆ คนจึงยกให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความหมาย มีความไพเราะเพราะพริ้ง และเป็นกันเองกับประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
หลายคนคงทราบว่า ‘รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการฉบับแรกของไทย’ คือ 'รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม' ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แต่ที่จริงแล้ว ก่อนหน้านั้นยังมีรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่ประกาศใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้ชื่อว่า 'พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475' ประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 วัน ก่อนที่จะเล่าถึงกำเนิดรัฐธรรมนูญไทยอย่างละเอียด เรามาทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร?
สยามภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แม้จะประสบความสำเร็จในการรักษาอธิปไตยในยุคล่าอาณานิคมเอาไว้ได้ด้วยระบบราชการสมัยใหม่และการทูตที่โอนอ่อนผ่อนปรนรวมไปถึงการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยด้วยการศึกษา การสาธารณสุข และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ทั้งในและนอกระบบราชการ ซึ่งเป็นผลพวงจากการยกเลิกระบบไพร่ ที่มีชีวิตที่ผูกพันกับกลไกรัฐสมัยใหม่และโลกภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ด้วยระบอบการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่คนเพียงคนเดียวก็สร้างปัญหาอย่างหนัก เรียกว่าผลัดแผ่นดินทีก็เปลี่ยนทั้งคนทั้งนโยบายกันยกใหญ่ อีกทั้งโครงสร้างการเมืองการปกครองที่กระจายอำนาจในวงแคบๆ ให้กับคนที่มีความสามารถหรือที่ไว้ใจได้ และยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กระหน่ำซ้ำอีกระลอกในต้นทศวรรษ 1930 จึงทำให้สยามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ระส่ำระสายอย่างหนัก เริ่มจากราคาข้าวและดีบุกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสยามในยุคนั้นมีราคาตกต่ำ เมื่อชาวนาขายข้าวไม่ได้ แรงงานเหมืองขุดแร่ไม่ได้ก็ไม่มีเงินไปจับจ่ายใช้สอย และไม่มีเงินส่งค่ารัชชูปการหรืออากรต่าง ๆ ให้แก่รัฐส่วนรัฐบาลเมื่อเก็บภาษีไม่ได้ก็ไม่มีงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในการบริหารประเทศจึงจำเป็นต้องตัดรายจ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ยุบเลิกกรมกองที่ไม่จำเป็นไปจนถึงลดเงินเดือนข้าราชการและลดจำนวนข้าราชการออก ที่เรียกกันติดปากในยุคนั้นว่าดุลยภาพ แน่นอนครับว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ต้องออกจากราชการ มิหนำซ้ำยังมีการเก็บภาษีใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้มีเงินเข้าคลัง อย่างเช่น พรบ.ภาษีเงินเดือน ที่เก็บจากผู้ที่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างในประเทศและชาวต่างชาติที่อยู่ในสยามเกินสี่เดือนในหนึ่งปี หรือภาษีโรงเรือน ซึ่งคนที่รับภาระภาษีเหล่านี้คือชนชั้นกลางนอกระบบราชการ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นอกเหนือจากปัญหาทางเศรษฐกิจ รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์ก็มีปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจทางการเมืองของเหล่าอภิรัฐมนตรีสภาซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จึงมีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารบ้านเมืองขึ้นถึง 2 ครั้งครับ ครั้งแรกนะครับก็คือ Outline of Preliminary Draft ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี ฟรานซิส บี. แซร์ ในปี พ.ศ.2469 มีทั้งสิ้น 12 มาตรา สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงจะมีสิ่งใหม่ๆ อย่างตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในการบริหารบ้านเมืองและมีการแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีอีก 5 คน ทำหน้าที่ถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ในเรื่องทั่วไป โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาควบคู่ไปด้วย ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ ก็แน่นอนว่า เมื่อร่างฉบับนี้เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาก็ย่อมถูกปฏิเสธ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการลดทอนอำนาจของอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนกลุ่มสำคัญที่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ส่วนอีกฉบับนะครับคือ An Outline of Changes in the Form of Government โดยเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา หรือ เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล ร่วมกันร่างเพื่อสนองพระบรมราชโองการ ในปี พ.ศ. 2474 ครับ สาระสำคัญของร่างฉบับนี้ แม้จะมีการบรรจุองค์กรในระบอบประชาธิปไตย อย่างสภานิติบัญญัติที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ยังคงมาจากการคัดเลือกโดยองค์พระมหากษัตริย์เช่นเดิมซึ่งร่างฉบับนี้ ว่ากันว่าจะมีการพระราชทานเป็นรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และเมื่อถึงในวันนั้นก็ไม่ได้มีการประกาศใช้แต่อย่างใด เนื่องจากถูกคัดค้านตั้งแต่ผู้ร่างที่มองว่าราษฎรนั้นยังไม่พร้อม ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น การจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการจัดระเบียบการปกครองใหม่จึงไม่เหมาะสม เช่นเดียวกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีสภาทรงมองว่านายกรัฐมนตรีเป็นวิธีการในระบบรัฐสภา ในเมื่อไม่มีสภาก็ไม่ควรมีนายกรัฐมนตรี ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับของรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะฉบับเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์นี่เองนเป็นที่มาของคำบอกเล่าที่ว่าการยึดอำนาจการปกครองในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรเป็นการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เพราะรัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ซึ่งนักกฎหมายหลายคนที่ศึกษาร่างทั้งสองฉบับต่างเห็นตรงกันนะครับว่าร่างทั้งสองฉบับ แม้จะมีสถานะของความเป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด และมีความพยายามในการจัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ที่มีทั้งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามระบอบประชาธิปไตยแต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งแต่งตั้งหรือปลดออก ซึ่งรองรับหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะนั้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักทั่วโลกอีกทั้งความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศต่างๆ ทั้งการรุกรานแมนจูเรียของญี่ปุ่น หรือเยอรมันที่บอบช้ำจากปัญหาทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็กำลังถูกครอบงำโดยพรรคนาซี
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
คณะราษฎรก็ได้ยึดอำนาจการปกครองในย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้อำนาจอธิปไตยของสยามที่แต่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ได้ย้ายมาที่คณะราษฎรโดยพฤตินัยจากข้อเรียกร้องและคำประกาศของคณะราษฎรก็ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า คณะราษฎรไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติจากกษัตริย์ แต่เป็นการขอให้พระองค์ยินยอมอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้สยามมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก นั่นคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ครับ ประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นอันจบสิ้นสยามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตรงนี้คุณผู้ชมอาจสงสัยว่า ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงเป็นฉบับชั่วคราว นั่นก็เพราะว่า เมื่อสมาชิกคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างธรรมนูญการปกครองเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ 7 ทรงมองว่ายังมีเนื้อหาที่ทรงไม่เห็นด้วย จึงทรงลงพระปรมาภิไธยพร้อมคำว่าชั่วคราวในร่างธรรมนูญดังกล่าว ขณะเดียวกันทางฝ่ายคณะราษฎรต่างก็เห็นว่า รัชกาลที่ 7 ทรงยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎรและร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ จึงยอมรับสถานะของธรรมนูญการปกครองดังกล่าวให้เป็น ‘รัฐธรรมนูญชั่วคราว’ เพื่อที่จะได้มีการร่างรัฐธรรมนูญเป็นการถาวรต่อไป
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเพื่อรองรับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือ Constitutional Monarchy นั่นเอง โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรฝ่ายพลเรือน อาจารย์โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการร่างขึ้น อยากจะให้ไปหาอ่านกัน เดี๋ยวเราจะนำลิงก์ของฉบับเต็มๆ มาแปะไว้ให้ที่ท้ายบทความนี้
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ มีความงดงามในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ความงดงามนั้นมาจากความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีเพียง 36 มาตราเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็อ่านเข้าใจไม่ต้องอาศัยนักกฎหมายมาตีความอีก เป็นหลักการในการปกครองและแบ่งแยกอำนาจ เช่น ในมาตรา 1 ก็เขียนไว้ง่ายๆ แต่ชัดเจนสวยงามว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายและมาตรา 2 บอกว่า ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญโดยมีกษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ซึ่งอำนาจของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้น มีอำนาจอยู่อย่างจำกัด ในฐานะประมุขของประเทศ อันนี้คือในมาตรา 3 คือ กษัตริย์นะครับ เมื่อกระทำการใด ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะราษฎรในมาตรา 7 และกษัตริย์อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัยแต่ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลได้ นี่คือมาตรา 6 ซึ่งหมายถึง ถ้าหากกษัตริย์ดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอำนาจทางการปกครอง ได้ให้อำนาจอย่างเต็มที่แก่สภาผู้แทนราษฎรในการควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ ของประเทศ และแต่งตั้งคณะกรรมการราษฎรขึ้นมาบริหารประเทศ จำนวน 15 นาย ประกอบไปด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎรอีก 14 นาย ทั้งหมดนี้ อยู่ในมาตรา 32 ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการราษฎรก็คือบริหารประเทศตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ตามมาตรา 28 และสภาผู้แทนราษฎรยังสามารถถอดถอนคณะกรรมการราษฎรได้อีกด้วย ซึ่งระบบการปกครองที่สภามีอำนาจเหนือรัฐบาลแบบนี้ เราเรียกกันว่า ‘ระบบรัฐบาลโดยรัฐสภา’ นั่นเอง
นอกจากการจัดวางโครงสร้างการปกครองในรูปแบบใหม่แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยนั่นก็คือ ‘การเลือกตั้ง’ ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้วางแนวทางในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยแบ่งออกเป็น 3 สมัย คือ ในสมัยแรกผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คน ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวภายในเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าประเทศจะมีความสงบเรียบร้อย หลังจากนั้นจึงดำเนินการในสมัยที่สองคือแบ่งประเภทของผู้แทนราษฎรออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน หรือถ้าจังหวัดใดมีประชากรมากกว่า 100,000 คน ก็จะสามารถเลือกผู้แทนเพิ่มอีกจังหวัดละ 1 คนในทุกๆ 100,000 คน ส่วนผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ก็คือผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 1 โดยจะต้องมีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 ถ้ามีเกินก็ให้เลือกกันว่าใครจะอยู่ต่อหรือจะต้องออกจากตำแหน่ง แต่ถ้ามีน้อยกว่า ก็ไปคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งจนครบ และในสมัยที่สาม เมื่อหลังจากราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ในชั้นประถมศึกษาเกินครึ่งของจำนวนทั้งหมด หรือไม่เกิน 10 ปี หลังจากการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ผู้แทนราษฎรทั้งหมดจะต้องมาจากการเลือกตั้ง
แน่นอน! นี่ไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาลยังมาจากฝ่ายทหารและคณะปฏิวัติแต่ก็มีการระบุห้วงเวลาอย่างชัดเจนว่า ลำดับขั้นในการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และอย่างไร นอกจากแนวทางในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วนะครับ ยังได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงนั้นจะต้องเป็นราษฎรที่มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะเป็นเพศใด ถ้ามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิ์ในการออกเสียงหรือเป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านเช่นเดียวกับคุณสมบัติของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แนวคิดในเรื่องของการมีสิทธิ์เลือกตั้งของคณะราษฎรโดยไม่แบ่งเพศถือว่าเป็นแนวคิดที่ทันสมัยและก้าวหน้ามาก ๆ ในยุคนั้น คือทั้งชายและหญิงสัญชาติไทยตามกฎหมายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามอย่างเป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถและไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิ์ในการออกเสียง ตามมาตรา 14 เพราะสิทธิ์ในการเลือกตั้งของผู้หญิงนั้น เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อปลายศตวรรษ 19 โดยมีนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) แม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ก็เพิ่งจะให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) ก่อนหน้าที่คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 14 ปีเท่านั้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ มีสถานะเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว’ จึงไม่มีการเลือกตั้งในช่วงที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทันทีที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มีการเปิดประชุมสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
วาระสำคัญในการประชุมวันนั้นมีตั้งแต่การที่ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจัดตั้งผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนและมอบอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎรในการออกพระราชบัญญัติต่างๆ มีการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกประธานคณะกรรมการราษฎร และคณะกรรมราษฎรจำนวน 14 คน ซึ่งในที่ประชุมได้เลือกพระยามโนปกรณนิติธาดา หรือ ก้อน หุตะสิงห์ ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรก นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นมาใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการและอดีตข้าราชการอาวุโสในระบอบเก่าจำนวน 5 คน นำโดยพระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นหัวหน้าในการร่างนั่นเอง และสมาชิกคณะราษฎรอีก 2 คน ซึ่งนำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง รวมทั้งสิ้น 7 คน และต่อมาได้มีการตั้งอนุกรรมการฯ เพิ่มขึ้นอีก 2 คน รวมทั้งสิ้นแล้ว 9 คน
เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้นจนแล้วเสร็จและผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยใช้ชื่อว่า ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม’ มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า ‘งานฉลองรัฐ’ และประกาศให้เป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’ และเป็นวันหยุดราชการมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับนี้ เรียกได้ว่าเป็นการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างคณะราษฎร รัชกาลที่ 7 และเหล่าข้าราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจน มีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างเช่น สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยามที่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคภายใต้กฎหมายที่กำหนด สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2475 มีการปรับเปลี่ยนจากธรรมนูญการปกครองฯ ได้แก่ มาตรา 1 นั้น กลายเป็นสยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ประชาชนชาวสยามไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน ซึ่งสำหรับเรานั้นคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะมาตราที่ดีที่สุด มีประชาชนเป็นศูนย์กลางแทนที่จะได้อยู่ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญ กลับโดนเรื่องของความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกมิได้ ไปแทนที่ นี่คือการเอาแนวคิดและการรับประกันความเป็นราชอาณาจักรมาให้ความสำคัญมากไปกว่าประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เรื่องของที่มาของอำนาจซึ่งระบุว่า ในธรรมนูญการปกครองชั่วคราวฯ ได้ระบุไว้ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นตามมาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 6 อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 7 และอำนาจตุลาการผ่านศาล ตามมาตร 8 พร้อมทั้งเพิ่มอำนาจให้แก่องค์พระมหากษัตริย์มากขึ้น ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ตามมาตรา 3 เป็นพุทธมามกะและองค์อัครศาสนูปถัมภก ตามมาตรา 4 ดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม ตามมาตรา 5 และพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ต้องดำรงตำแหน่งฐานะเหนือการเมือง ตามมาตรา 11 ในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ได้เปลี่ยนแปลงจากระบบรัฐบาลโดยรัฐสภา มาเป็นระบบรัฐสภาที่มีการดุลอำนาจระหว่างกัน สภาผู้แทนราษฎรได้ลดอำนาจลงจากควบคุมและดูแลกิจการต่าง ๆ เหลือเพียงควบคุมราชการแผ่นดิน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีต่อ รวมไปถึงการตั้งกระทู้ถาม และลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องออกจากตำแหน่ง ถ้าหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ส่วนฝ่ายบริหารนั้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากประธานคณะกรรมการราษฎร มาเป็น นายกรัฐมนตรี และกรรมการราษฎรก็เปลี่ยนเป็น รัฐมนตรี เนื่องจากชื่อเดิมนั้นดูคล้ายกับ สภาประชาชนของสหภาพโซเวียต ก็มีคนกลัวกันมากน โดยเฉพาะเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้อำนาจที่เพิ่มขึ้นแก่ฝ่ายบริหารโดยยกเลิกตำแหน่งเสนาบดี หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบแทน และเพิ่มอำนาจนายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร ในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีได้ด้วยตนเองแทนสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังมีอำนาจในการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกด้วย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว มี 68 มาตรา ถ้าลองไปอ่านเทียบกันดูก็จะเห็นว่าความงอก ความเยอะ เพิ่มมาตรงไหนบ้าง เรื่องคำปรารภ ซึ่งในฉบับชั่วคราวมีความยาวเพียงไม่กี่บรรทัด อธิบายที่มาของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายดี ก็กลายเป็นคำปรารภยาวถึง 2 หน้า ถึงกระนั้นก็เทียบกันไม่ได้กับรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีคำปรารภยาวถึงเกือบ 4 หน้ากระดาษเลยทีเดียว ส่วนสิ่งที่ขาดหายไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม นั่นก็คือการเลือกตั้ง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
แต่ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ระบุเอาไว้ว่า เรื่องของการเลือกตั้งมีสถานะเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ และแนวทางในการจัดการเลือกตั้งก็อยู่ในส่วนของบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งต่อมา ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาเป็นหลักในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา แต่กว่าที่สยามจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกก็ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 อีกเกือบ 1 ปีหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และทั้งหมดทำให้รัฐธรรมนูญของสยามหลักการที่สำคัญ 3 ประการครับ ก็คือเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มีระบบรัฐสภาและยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และนี่คือรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งเป็นแนวทางการปกครองที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้งานนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ คือ มีอายุการใช้งานถึง 14 ปี แม้ว่าจะมีการพยายามยึดอำนาจ โดยปิดสภาผู้แทนราษฎรและออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยพระยามโนปกรณนิติธาดาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเกิดการยึดอำนาจโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เกิดกบฏบวรเดช และการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ก็ยังได้รับการประคับประคองให้คงอยู่ จนถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2489 เมื่อรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ขึ้นมาแทน
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ข้อมูลเพิ่มเติม :
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/166.PDF
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF
'คณะราษฎร' ตอนที่ 1 : ปฏิวัติสยาม 2475
https://www.blockdit.com/posts/60b784c1365cd90974bd9a18
'คณะราษฎร' ตอนที่ 2
เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี และรัฐประหารสองครั้งแรกหลัง 2475
https://www.blockdit.com/posts/60b71cbdb0cd100c43e04214
7 บันทึก
8
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คณะราษฎรและปฏิวัติสยาม 2475
7
8
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย