Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
29 มิ.ย. 2021 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
คณะราษฎร ตอนที่ 3 : กบฏบวรเดช และอนุสาวรีย์ที่หายไป
ในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และคณะราษฎร มีให้พวกเราอ่านมากมายจริงๆ แต่หนังสือใหม่ๆ ที่ออกมา มีอยู่เล่มหนึ่งที่เติมเต็มเรื่องราวที่ถูกลืมได้เยอะจริงๆ เรื่องสำคัญแบบนี้เคยเกิดขึ้นแต่เรากลับไม่เคยได้รับรู้เหมือนมีใครมาลบทิ้งไปแบบง่ายๆ เลย หนังสือเล่มที่ว่านี้ก็คือ หนังสือชื่อ “ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร” ของคุณศรัญญู เทพสงเคราะห์ หนึ่งในเรื่องที่ชวนช็อกก็คือเรื่องของ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกฏบวรเดช นั่นเอง
ภาพนี้ สมัยก่อนถูกเรียกว่าตำบลหลักสี่ทุ่งบางเขน หรือในปัจจุบันคือเขตบางเขนของกรุงเทพ ครั้งนึงเคยมีอนุสาวรีย์ทางทหารที่มีขนาดใหญ่โตมากๆ กว้างถึง 120 x 90 เมตร แล้วยังมีลานรอบ ๆ อีก!
ในระหว่างปี พ.ศ. 2480 - 2486 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหมจะจัดพิธีวางพวงมาลา ทุกวันที่ 14 ตุลาคม โดยในปีแรกๆ จะมีงานตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน คือทำบุญตอนเช้า และฉายหนังกลางแปลงตอนกลางคืน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการสร้างอนุสาวรีย์ยังมีการผลิตแสตมป์อนุสาวรีย์ “ปราบกบถ” ถึง 4 ล้านดวงด้วย (คำว่า กบถ สมัยนั้นสะกดแบบนี้นะครับ)
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันอนุสาวรีย์นี้ นอกจากจะหายไปจากความทรงจำของคนยุคหลัง ตัวอนุสาวรีย์เองก็หายไปด้วย! หายไปอย่างลึกลับจากวงเวียนหลักสี่ หลังจากการก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่ หายไปแบบที่ไปถามหาจากใครก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่โลโก้ของสำนักงานเขตบางเขน เป็นรูปอนุสาวรีย์นี้จนถึงปี 2550 ก่อนจะถูกเปลี่ยนไปเป็นรูปเจดีย์ของวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอกตั้งใจทำเป็นเหมือนอนุสาวรีย์นี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่ไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่รู้หรือเปล่าว่านี่คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพราะเราเคยมีสงครามกลางเมืองที่หลักสี่และเป็นเหตุการณ์หมุดหมายสำหรับเรื่องราวของคณะราษฎร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหมาดๆ ด้วย
ประวัติแบบคร่าวๆ ของอนุสาวรีย์นี้ คือในปี พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปได้เพียงปีเดียว บ้านเมืองเพิ่งผ่านเหตุการณ์สำคัญคือการปราบกบฏบวรเดช ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา และรัฐบาลของพระยาพหลฯ กำลังวางแผนขยายเมือง โดยจะสร้างถนนจากสนามเป้าไปถึงดอนเมือง ตอนแรกตั้งชื่อถนนว่า ถนนประชาธิปัตย์ ก่อนที่เวลาต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพหลโยธินเพื่อเป็นเกียรติให้กับพระยาพหลฯ พอสร้างถนนเส้นนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดความคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ตามมาด้วย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏ ที่เคยมีพื้นที่ตรงนั้นเป็นหนึ่งในจุดเกิดเหตุด้วย
จุดประสงค์ของการสร้างอนุสาวรีย์นี้ในเบื้องต้นก็คือ การรำลึกถึงทหารและตำรวจ 17 นาย ที่ต้องเสียชีวิตจากการปะทะกับ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ถูกรัฐบาลปราบไปอย่างราบคาบ และถูกเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ทหารและตำรวจ 17 นาย ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีนายทหารที่อยู่ในกลุ่มคณะราษฎรที่ด้วย นั่นก็คือ หลวงอำนวยสงคราม ครับ
ชื่อของทั้ง 17 นายนี้ ยังได้รับการจารึกไว้อีกอย่างว่าเป็นสามัญชนกลุ่มแรก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ ท้องสนามหลวง อัฐิของทั้ง 17 นายถูกบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์ที่หลักสี่ มีพิธีอัญเชิญในวันที่ 14 ตุลาคม 2479 มีริ้วขบวนทหารยิ่งใหญ่เริ่มจากกระทรวงกลาโหมเคลื่อนไปถึงหลักสี่ ในพิธีมีทั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็คือ จอมพล ป. และพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นด้วย
อนุสาวรีย์นี้ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการซะทีเดียว ในเอกสารของทางราชการใช้หลายชื่อไม่ซ้ำกันเลย มีตั้งแต่อนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ อนุสาวรีย์สิบเจ็ดทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม อนุสาวรีย์หลักสี่ อนุสาวรีย์บางเขน และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
รัฐบาลในยุคคณะราษฎรตั้งใจถึงขั้นที่ว่า จะสร้างเมืองโดยมีอนุสาวรีย์นี้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งหลังจากที่สร้างถนน สร้างอนุสาวรีย์ ก็สร้างเมืองต่อ โดยตั้งใจเปลี่ยนจากทุ่งนาให้เป็นเมือง เริ่มสร้างโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สร้างสถานีตำรวจบางเขน สร้างที่ว่าการเขตบางเขน และวัดพระศรีมหาธาตุ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก และต่อมาก็มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่พอนานๆ ไป คนต้นคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์นี้ คือ จอมพล ป. กลับอยากให้เรียกชื่ออนุสาวรีย์นี้ว่าอนุสาวรีย์หลักสี่แทน เป็นไปได้ว่าชื่อ “ปราบกบฏ” มันเตือนให้ระลึกว่าครั้งหนึ่งทหารเคยรบกันเอง คนที่เคยอยากให้สร้างคิดไปคิดมาเริ่มไม่ปลื้ม แต่ชื่อที่ถูกใช้ในช่วงท้ายๆ ก่อนอนุสาวรีย์จะหายไปอย่างไร้ร่องรอยก็คือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ทำไมรัฐบาลตอนนั้นต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญและพิทักษ์จากใคร ใครเป็นคนพิทักษ์?
เราได้เคยพูดถึงการรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) และ การยึดอำนาจคืนมาสำเร็จของคณะราษฎรปีกทหารนำโดยหลวงพิบูลสงคราม โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี บรรยากาศในช่วงต้นของรัฐบาลพระยาพหลฯ ก็เต็มไปด้วยความพยายามที่จะฟื้นฟูระบอบรัฐธรรมนูญ หลวงวิจิตรวาทการ ได้นำเสนอแนวคิดแบบชาตินิยม เน้นปลูกฝังให้ประชาชนรักและเทิดทูนรัฐธรรมนูญ เป็นคนเสนอให้กระทรวงธรรมการ (หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) วางหลักสูตรให้นักเรียนท่องจำรัฐธรรมนูญ เริ่มมีการเสนอให้ออก พ.ร.บ. พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เอาผิดคนล้มล้างการปกครอง แต่แล้วช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2476 ก็เป็นช่วงที่บ้านเมืองกลับมาอึมครึมอีกครั้ง เมื่อคณะราษฎรสายทหารรู้ตัวว่า ไม่สามารถนำการเมืองเองได้ จึงต้องหันกลับไปฟื้นฟูสายพลเรือนขึ้นมา โดยเฉพาะหลวงพิบูลสงครามที่หลังจากได้เครดิตไปเยอะเพราะเป็นคนนำกำลังมายึดอำนาจจากพระยามโนฯ ก็ยอมรับว่า ต้องตามหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดีกลับมา โดยรัฐบาลจะรับประกันว่าปรีดี ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ จะไม่มีการบังคับซื้อที่ดิน ไม่มีการบังคับจ้างแรงงาน และในช่วงต้นเดือนตุลาคม ปรีดี พนมยงค์ ก็กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยอีกครั้ง หลังจากที่ไปอยู่ฝรั่งเศสมา 5 เดือน
อีกเหตุการณ์ที่ดำเนินควบคู่กันไปในช่วงเดียวัน ก็คือเหตุการณ์ที่ผู้นำกรรมกรรถราง“ถวัติ ฤทธิ์เดช” ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยนี้ต้องเรียกว่าเป็นนักรณรงค์ที่มีความสำคัญมาก ถ้ายังจำกันได้เราเคยพูดถึงการยื่นฎีกาให้พระมหากษัตริย์ว่าเป็นเครื่องมือเดียวที่ประชาชนจะมีปากมีเสียง ถวัติ ก็เป็นคนที่เขียนฎีกาที่แหลมคมหลายๆ ชิ้น ในเดือนกันยายน 2476 นายถวัติ ก็ตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้เจ้านายทั้งหลายแทบตกเก้าอี้
เรื่องนี้เริ่มจากช่วงที่รัฐบาลพระยามโนฯ ปิดสภายึดอำนาจใหม่ๆ ในเดือนเมษายน 2476 รัฐบาลของพระยามโนฯได้นำบันทึก “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” มาพิมพ์แจกจ่ายสาธารณะ หรือที่รู้จักในชื่อว่า “สมุดปกขาว” มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี ซึ่งก็มีช่วงหนึ่งที่พาดพิงถึงหัวหน้ากรรมกรรถรางด้วย โดยบอกว่าการประท้วงหยุดงานของคนงาน ไม่ได้ทำลงไปเพราะเดือดร้อนจริงๆ แต่มีคนยุยงให้ประท้วง เพื่อให้หัวหน้าคนงานได้ตั้งสมาคมหรือสมัยนี้เค้าเรียกสหภาพนั่นแหละ แล้วคนที่เป็นหัวหน้าก็จะได้เงินกินสบายๆ
ถวัติ ฤทธิ์เดช ที่เป็นหัวหน้ากรรมกร เลยให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์ว่าจะทำการฟ้องหมิ่นประมาทกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 นับเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ประชาชนฟ้องคดีกับพระมหากษัตริย์ บรรดาเจ้านายทั้งหลายก็เดือดกันมากเลยนะครับ จากเดิมที่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต้องกลัวรัฐบาลใหม่ริบทรัพย์ของตน กลัวถูกปลดยศฐาบรรดาศักดิ์ เพียงไม่นานหลังเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี กลับมีประชาชนชาวบ้านทั่วๆ ไปทำเรื่องแบบนี้ซะแล้ว นายถวัติก็ถูกอัยการฟ้องกลับฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
1
แต่เอาเข้าจริงไม่มีหลักฐานปรากฏว่านายถวัติ ทำการฟ้องในหลวงแล้ว มีแต่คำบันทึกหลังจากที่เขาถูกฟ้องไปแล้ว ว่าเขาทำการยื่นเรื่อง แต่ยื่นกับสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นคณะราษฎรสายพลเรือนคนนึง แต่ก็ไม่สำเร็จ ผู้แทนคนนั้นปฏิเสธ เพราะด้วยรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในมาตรา 3 ว่าพระมหากษัตริย์นั้น “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่นายถวัติก็ตีความคำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้ ไปในแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ว่า มาตรา 6“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญายังศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” ด้วยความไม่ชัดเจนและยุ่งยาก และไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีรับสั่งจากในหลวงให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ให้ชัดเจน
สำหรับฝ่ายอำนาจนิยมทั้งการที่ไม่มีนายกคนกลางแบบพระยามโนฯ ทั้งการกลับมาของปรีดี พนมยงค์ ทั้งเรื่องของนายถวัติ และการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่างสักที เจ้านายชั้นหม่อมเจ้าบางคน เปิดประชุมกันลับๆ เรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” ถึงแม้รัฐบาลจะรู้ความเคลื่อนไหว แต่พระยาพหลฯก็นิ่งเฉย คนที่ทำหน้าที่ขู่จริงจัง ก็คือหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ที่ถึงกับส่งหนังสือไปหาแบบเป็นทางการว่า อย่า จุ้นจ้าน ไม่อย่างนั้นจะจัดการอย่างรุนแรง
แต่รัฐบาลก็ทำอะไรคณะกู้บ้านเมืองไม่ได้ จนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2476 คณะกู้บ้านเมือง นำโดยหัวหน้าคณะคือพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ที่ถ้าคุณผู้ชมยังจำได้จากตอนที่ 1 ท่านลาออกจากตำแหน่งนี้เองจนถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำตัวเป็นภัยต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ความจริงแล้วเป็นคนละเรื่องเลย พระองค์เจ้าบวรเดชได้ออกมาเป็นผู้นำกองทัพที่เรียกตัวเองว่ากองทัพสีน้ำเงิน ถึงจะเป็นทหารนอกราชการแต่กลับมีบารมีสูง สามารถนำกองกำลังถึง 9 กองพัน จากอุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี และอยุธยา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่โคราช เคลื่อนพลด้วยรถไฟเข้ากรุงเทพ มาจ่ออยู่ที่ดอนเมือง และมีพระยาศรีสิทธิสงครามอดีตผู้รักษาการ ที่พระยามโนฯ เคยตั้งมาแทนพระยาทรงสุรเดชก่อนถูกยึดอำนาจสองวัน มาเป็นเสนาธิการ ซึ่งหัวหน้าฝ่ายกบฏสองท่านนี้ ก็ได้รับเกียรติจากกองทัพบก ใช้ชื่อตั้งเป็นชื่อห้องในพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ
คณะกู้บ้านเมืองได้ประกาศต่อรัฐบาลว่าให้รัฐบาลลาออกภายในหนึ่งชั่วโมง เพราะรัฐบาลนี้ปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แถมยังเอานายปรีดีกลับมาดำเนินการอันเป็นคอมมิวนิสต์อีก และนอกจากนี้ยังประกาศจุดยืนของรัฐบาลใหม่ที่พวกเขาอยากได้ไว้ 6 ข้อ คือ 1.ต้องทำให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองใต้รัฐธรรมนูญ “ชั่วกัลปาวสาน” 2.การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาล ต้องเป็นไปตามเสียงหมู่มาก มิใช่ด้วยอาวุธแบบที่แล้วมา (คือไม่ได้นับสิ่งที่ตัวเค้าเองกำลังทำอยู่เลย แต่หมายที่พระยาพหลฯ ยึดอำนาจจากพระยามโนฯ) 3.ข้าราชการประจำ ทั้งทหารและพลเรือนห้ามเล่นการเมือง ยกเว้น ผบ.ทบ.กับ ผบ.ทร. 4.ตำแหน่งข้าราชการต้องแต่งตั้งจากความสามารถ ไม่เกี่ยวกับการเมือง 5.ผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ต้องถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือก 6.กองทัพบก ต้องไม่มีกำลังส่วนใหญ่อยู่เฉพาะที่ตั้งแห่งเดียว
ทางด้านของรัฐบาลพระยาพหลฯ รับมือด้วยการประกาศให้ประชาชนย้ายออกจากบริเวณหลักสี่ บางเขนและดอนเมือง ตั้งหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการ เพื่อปราบกบฏโดยเฉพาะ หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 12-26 ตุลาคม 2476 ก็มีการปะทะกัน ที่ในความเป็นจริงต้องเรียกว่าเป็นสงครามกลางเมืองดีๆ นี่เอง ปะทะกันตั้งแต่กรุงเทพ ที่บางซื่อ สนามเป้า สามเสน มักกะสัน ฝ่ายกบฏก็เสียเปรียบถูกรุกไล่กลับไปถึงนครราชสีมา จนเมื่อพระยาศรีสิทธิสงคราม เสนาธิการฝ่ายกบฏ เสียชีวิตในการปะทะที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี พระองค์เจ้าบวรเดชก็หลบหนีเข้าไปที่ประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศส ทำให้ฝ่ายรัฐบาลยึดโคราชกลับมาได้ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2476
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ความเสียหายจากการสู้รบ โดยมากก็คือทางรถไฟที่ถูกทำลาย รวมๆ แล้วมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ผู้เสียชีวิตฝ่ายกบฏไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด บางข้อมูลบอกว่ามี 8 คน แต่ฝ่ายรัฐบาลก็มีทหารตำรวจ 17 นายเสียชีวิต ซึ่งก็เป็นแบบที่ได้กล่าวไปตอนต้น รัฐบาลไทยเลือกเชิดชูทั้ง 17 เป็นวีรบุรุษสงคราม มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่ท้องสนามหลวง และมีการสร้างอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิทั้ง 17 ไว้ มีการมอบเหรียญพิทักษรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเครื่องหมายของการสร้างรัฐแบบชาตินิยมว่า มีแต่ทหารเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ แล้วรัฐธรรมนูญก็หมายถึงความเป็นประเทศชาตินั่นเอง
ก็คงจะเป็นสิ่งที่ขัดความรู้สึกของเราในปัจจุบันมากๆ เลย ทหารตอนนั้นเค้าโปรโมทตัวเองว่าพิทักษ์รัฐธรรมนูญงั้นเหรอ?
หลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะไม่นาน ก็มีการออก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.2476 เพื่อพิจารณาคดีที่มีผู้ต้องหาในการกบฏครั้งนี้ถึง 600 คนด้วยกัน การดำเนินคดียาวนานหลายปี มีคนรับโทษ 154 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 47 คน มีคนโดนประหารชีวิต 5 คน แต่ได้รับการลดโทษในภายหลัง ซึ่งนักโทษการเมืองทั้งหมดติดคุกอยู่ที่เกาะตะรุเตา หลายคนเป็นข้าราชการระดับสูง เป็นหม่อมเจ้า เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียน โดยพวกเขายังคงเรียกตัวเองว่า “ชาวน้ำเงินแท้” มีการเขียนหนังสือแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองกันในคุกเรียกว่าหนังสือพิมพ์น้ำเงินแท้ และก็มีหนังสืออีกเล่มของหลวงมหาสิทธิโวหาร หรือ สอ เสถบุตร ผู้แต่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยนี่เอง ก็ได้แปลพจนานุกรมที่เราใช้กันในวัยเด็กจากในคุกด้วย
จากนั้น 3 เดือนหลังเหตุกบฏ และผ่านการเลือกตั้งอีกรอบตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัย จะประพาสต่างประเทศเพื่อรักษาพระวรกาย แต่ในระหว่างที่พระราชดำเนินอยู่ต่างประเทศ ก็ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งหรือวีโต้กฎหมายที่ผ่านโดยสภาผู้แทนถึง 4 ครั้งด้วยกัน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระองค์เองในกรณีภาษีมรดกและทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษประหาร ที่จะทำให้อำนาจวินิจฉัยสุดท้ายเกี่ยวกับการประหาร ไม่ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ แต่ขึ้นอยู่กับศาลยุติธรรมตามแบบฉบับประเทศที่มีอารยสมัยใหม่ แต่ไม่ว่าจะวีโต้ยังไง กฎหมายเหล่านี้ก็ผ่านสภาและประกาศใช้อยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจในการผ่านกฎหมายเป็นของสภาผู้แทน ในความขัดแย้งนี้พระองค์ได้ทรงนำตำแหน่งพระมหากษัตริย์เข้า “ต่อรอง” กับรัฐบาลของพระยาพหลฯ ในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญในฉบับที่พระองค์พระราชทานมาให้เองนี่แหละ มีทั้งข้อที่ดีมากๆ ที่จะทำให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยขึ้นในทันทีแบบที่งงกันไปเลย ว่าทำไมไม่ทำกันมาก่อนหน้านี้ เช่น ทรงสนับสนุนให้มีพรรคการเมืองได้แล้ว ทรงเห็นชอบให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งหมด แต่ในทางกลับกันก็มีหลายข้อที่เป็นไปได้ยาก เช่น ทรงขอให้มีการอภัยโทษผู้ต้องสงสัยคดีกบฏบวรเดช เลิกกล่าวร้ายรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และบางข้อก็ขัดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่น ทรงต้องการพระราชอำนาจในการยับยั้งพระราชบัญญัติ
เมื่อรัฐบาลตั้งคณะผู้แทนได้แก่ พระยาศรีธรรมาธิเบศ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายดิเรก ชัยนาม ให้ไปเข้าเฝ้าชี้แจงถึงประเทศอังกฤษและทูลเชิญกลับพระนครแต่ยังไม่เป็นผล รัฐบาลตอบสนองได้ไม่ครบทุกข้อ ในวันที่ 2 มีนาคม 2477 ทรงมีพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ
พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ เป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านมากเลยนะครับ โดยเฉพาะท่อนที่บอกว่า “…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…” ประโยคนี้ในยุคนึงจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพียงแค่สั้นๆ เท่านี้ เพื่อตอกย้ำถึงคุณค่าที่แท้จริงของประชาธิปไตยที่ต้องฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน แต่ถ้าเราเลือกจะอ่านแล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้อ่านเต็มๆทั้ง 4 หน้านะ เพื่อให้ครบบริบท พระราชหัตถเลขาฉบับนี้อยู่ในหนังสือแถลงการพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ แปะลิงค์เอาไว้ให้นะครับ ไปโหลดดูกันได้ในส่วนสำคัญที่เราจะยกขึ้นมาให้ดูกัน ก็คงจะเป็นส่วนที่พระองค์กล่าวถึงการทำหน้าที่ของท่านที่จะส่งคืนอำนาจสู่ประชาชน แต่รัฐบาลคณะราษฎรกลับเห็นแย้งหลายเรื่อง เช่นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่2 ที่ต้องมาจากการตั้งกันเองในช่วง 10 ปีแรกตามรัฐธรรมนูญ
“การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ”
แค่เรื่อง ส.ส.ประเภทสองเรื่องเดียว สามารถหาเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎรเจอไหมครับ หรือคิดว่าอย่างไร? เสียงที่ว่าควรจะมาทางไหน วิธีการเป็นอย่างไร? ลองคิดดูนะครับ
แต่บางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในแถลงการณ์แต่อยู่ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงต่อรองกับรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลจริง ๆ นะครับ เช่นเรื่องของเสรีภาพสื่อ ทรงทักท้วงว่ารัฐบาลปิดหนังสือพิมพ์ยึดใบอนุญาตประกอบการหนังสือพิมพ์ที่ไม่เข้าข้างรัฐบาลเยอะมาก แบบนี้จะเรียกประชาธิปไตยได้อย่างไร ? การวาดภาพให้ฝั่งหนึ่งเป็นพระเอกฝั่งหนึ่งเป็นผู้ร้ายเหมือนในนิยายน้ำเน่ามันมีปัญหาตรงนี้ ที่จริงแล้วเหตุการณ์กบฏบวรเดชก็ยังสะท้อนอีกเรื่องหนึ่งครับ ในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยหลังๆ เริ่มมุ่งประเด็นไปที่ความนึกคิดของประชาชน เพื่อค้นหาว่าประชาธิปไตยไทยกำเนิดแบบชิงสุกก่อนห่ามจริงหรือไม่ ประชาชนไม่รู้เรื่องประชาธิปไตยเลย คณะราษฎรเป็นเพียงแค่กลุ่มคนเสียผลประโยชน์อ้างประชาธิปไตยเป็นฉากหน้าหรือไม่
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ตัวอย่างสั้นๆ ในเรื่องนี้ หลังการปราบกบฏใหม่ๆ มีบันทึกว่า รัฐบาลตอนนั้นตั้งงบขึ้นมาเป็นพิเศษจากกระทรวงการคลังเพื่อทำการรบ จำนวน 1 แสนบาท แต่มีการทำการเรี่ยไรจากราษฎรได้อีกถึง 171,659.25 บาท แต่ในขณะที่ฝ่ายกบฏ หยิบเงินออกไปจากมณฑลทหารบกที่ต่างๆ แค่เพียง 59,834.03 บาท ฝ่ายรัฐบาลทำได้แค่สันนิฐานไปเรื่อยๆ ว่ามีใครหรือเปล่ามาสนับสนุนการเงินให้อีก? อาจจะเป็นคนมีเงิน อาจจะเป็นพ่อค้า หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจเชียร์ก็อาจจะเป็นไปได้นะครับ
แต่การศึกษาก็ยังพบว่า รัฐบาลพระยาพหลฯได้รับการสนับสนุนมากมายจากประชาชน โดยเฉพาะข้าราชการ พลเรือน พ่อค้า กรรมกร โดย ปรีดี พนมยงค์ เล่าว่า สมาคมกรรมกรรถรางของนายถวัติ ฤทธิเดช เป็นนายกสมาคมฯ มาอาสาไปรบทั้งที่รัฐบาลไม่ได้ออกหมายเรียก แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธเพราะมีทหารมากพอแล้ว ส่วนคณะนักเรียนกฎหมาย ก็ได้เข้าช่วยเหลืองานตำรวจหลายด้าน เช่น การสืบสวนหาตัวพวกกบฏ นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ตั้ง “หน่วยอาสาสมัครต่อต้านกบฏจังหวัดขอนแก่น” ขับเครื่องบินไปแจ้งข่าวให้รัฐบาลถึงกรุงเทพ นอกจากนี้ยังมีจดหมายของ เสมียนอำเภอพานทอง ชลบุรี ได้บันทึกว่า เขาได้ขอลาหยุดงาน 7 วัน เพื่อเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ และยังมีอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมาก มีความคิดทางการเมือง มีความต้องการจะปกป้องรัฐธรรมนูญด้วย เลยไม่แน่ใจว่า วาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามนี่มาจากไหน?
ต่อมารัฐบาลตอนนั้นยังมีการสำรวจราษฎรในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง พบว่า “กึ่งหนึ่ง” ยังนิยมในระบอบเก่าอยู่ ซึ่งเป็นรายงานที่สนับสนุนให้รัฐบาลส่งเสริมประชาธิปไตย ด้วยการโฆษณาเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วงเวลาหลังจากนั้น ซึ่งก็น่าจะจริง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างปี 2482 สร้างหลังอนุสาวรีย์ปราบกบฏตั้ง 3 ปี
ข้อมูลเพิ่มเติม :
แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ (พระราชหัตถเลขา สละราชสมบัติอยู่ที่หน้า 440) :
http://dl.kids-d.org/handle/123456789/HASH01426348c83a06106c2eb294
ความทรงจำต้องคำสาป กับอนุสาวรีย์ที่สาบสูญ :เพจคิดอย่าง :
https://www.facebook.com/Arch.kidyang/posts/3962066367168210
“ข้ออ้าง”การปฎิวัติ-รัฐประหาร กบฎในการเมืองไทยปัจจุบัน บทวิเคราะห์และเอกสาร : ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
https://thamrongsakpetch.blogspot.com/2012/10/blog-post_7.html?fbclid=IwAR0TnagDyKS2BIs8JLrszIE1eNlvQ4432Oktcbl5YOEt1wmSPpRiltHblyg
การปฎิวัติสยาม พ.ศ.2475 : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
http://openbase.in.th/files/tbpj006.pdf
หนังสือพิมพ์เก่าจาก D-library หอสมุดแห่งชาติ :
http://164.115.27.97/digital
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพจากคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ และ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้เขียนหนังสือ 'ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร
"คณะราษฎร" ตอนที่ 1 : ปฏิวัติสยาม 2475 เกิดขึ้นได้อย่างไร?
https://www.blockdit.com/posts/60b784c1365cd90974bd9a18
คณะราษฎร ตอนที่ 2
เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี และรัฐประหารสองครั้งแรกหลัง 2475
https://www.blockdit.com/posts/60b71cbdb0cd100c43e04214
รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เป็นอย่างไร? ทำไมใครๆ ถึงบอกว่าดีที่สุด?
https://www.blockdit.com/posts/60c6f39177ca79073cd052f3
แบบ VDO
https://www.blockdit.com/posts/5f97da566bcc0e084e2b4deb
13 บันทึก
11
1
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คณะราษฎรและปฏิวัติสยาม 2475
13
11
1
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย