3 มิ.ย. 2021 เวลา 12:28 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน สังหารหมู่กลางกีฬาโอลิมปิค
Source: Pinterest
ถ้าทุกคนลองสังเกตภาพด้านบนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ แน่นอนว่าทุกคนจะต้องเห็นคนคนหนึ่ง ใส่หมวกไอ้โม่ง ปิดหน้าปิดตา ยืนอยู่ตรงบริเวณระเบียง โดยมีลักษณะท่าทางเหมือนกับกำลังสำรวจอะไรบางอย่างอยู่
6
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองมิวนิค เยอรมันตะวันตกในปี 1972 นะครับ (ในตอนนั้นเยอรมันแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือเยอรมันตะวันตก และเยอรมันตะวันออก) โดยเกิดขึ้นในช่วงการจัดงานกีฬาโอลิมปิค งานมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ
2
แต่กลับกลายเป็นว่า ถ้าเราลองพิมพ์ใน Google ว่า “1972 Munich Olympic” ภาพที่เราได้ออกมาจะไม่ใช่พิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ภาพนักกีฬาที่กำลังแข่งขันกัน แต่จะเป็นภาพของกลุ่มคนใส่หมวกไอ้โม่งถือปืน เดินอยู่ตรงบริเวณระเบียงของอาคารหลังหนึ่ง เพราะสิ่งที่คนจดจำได้จากงานนี้คือเหตุการณ์จับตัวประกันและการสังหารหมู่นักกีฬา ที่มีปมมาจากความขัดแย้งของปาเลสไตน์และอิสราเอล
9
ก่อนที่เราจะไปเชียร์นักกีฬาไทยในงานกีฬาโอลิมปิคที่กรุงโตเกียว ลองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ช็อคโลกครั้งนี้กันครับกับ The Munich Massacre: สังหารหมู่กลางกีฬาโอลิมปิค
7
โปสเตอร์การจัดงาน 1972 Munich Olympic (Source: https://natedsanders.com)
เหตุการณ์ก่อนหน้า
ถ้าใครได้ติดตามอ่านเรื่อง Dawson’s Field Hijacking : จี้เครื่องบินหมู่สะท้านโลกครั้งที่แล้ว จะรู้ถึงเหตุการณ์ Black September นะครับ ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ หรือ PLO นำโดยยัสเซอร์ อาราฟัด และกองทัพจอร์แดนของกษัตริย์ฮุสเซน ซึ่งผลการต่อสู้ในครั้งนี้คือ ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกจากประเทศจอร์แดน และต้องกลายเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีดินแดนเป็นของตนเอง สามารถไปตามอ่านเรื่องของ Black September ได้ที่
2
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายใหม่ชื่อว่า Black September Organization (BSO) ขึ้นในปี 1970 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยใน PLO อีกที โดยมีเป้าหมายหลักในการแก้แค้นกษัตริย์ฮุสเซน และกองทัพจอร์แดน และกลุ่ม BSO นี่เอง ที่เป็นผู้สังหารนายกรัฐมนตรีของจอร์แดน Wasfi Tal ซึ่งเป็นกำลังหลักในปฏิบัติการขับไล่กลุ่ม PLO ให้ออกไปจากดินแดนในจอร์แดน
3
Wasfi Tal นายกรัฐมนตรีของจอร์แดนที่โดนกลุ่ม BSO สังหาร (https://www.jordantimes.com)
เกิดอะไรขึ้น
1
คืนวันที่ 4 กันยายน บรรดานักกีฬาอิสราเอลออกไปทานอาหารค่ำ พร้อมกับเฉลิมฉลองเล็กน้อย และเดินทางกลับมายังหมู่บ้านนักกีฬาตอนประมาณเที่ยงคืน การเข้าร่วมการแข่งขันของนักกีฬาอิสราเอลในครั้งนี้ ถือว่ามีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าอิสราเอล ให้อภัยเยอรมันในเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุยิวที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว
3
กองทัพนักกีฬาอิสราเอลในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิคที่กรุงมิวนิค (Source: The Guardian)
ในขณะที่กลุ่มนักกีฬาอิสราเอลกำลังสนุกสนาน สมาชิกกลุ่ม BSO ทั้งหมด 8 คนก็กำลังประชุมกันที่ร้านคาเฟ่แห่งหนึ่ง พวกเขาทบทวนผังของหมู่บ้านนักกีฬา และรายละเอียดต่าง ๆ ที่ได้มาจากคำบอกเล่าของสมาชิก 2 คนที่ปลอมตัวเข้าไปสำรวจสถานที่เมื่อ 2 วันก่อนหน้า ถ้าพวกเขาสามารถทำแผนการนี้ได้สำเร็จ จะทำให้พี่น้องชาวปาเลสไตน์หลายคนของพวกเขาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และพวกเขาก็จะกลายเป็นฮีโร่ทันที
4
เช้าวันที่ 5 กันยายน เวลาประมาณ 04.30 น. ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม Black September ทั้ง 8 คน แอบลักลอบเข้ามาในหมู่บ้านนักกีฬา นำโดยหัวหน้าทีม Luttif Afif (ฉายา “Issa”) โดยทั้งหมดสวมชุดวิ่ง พร้อมถือกระเป๋าผ้าใบที่ภายในมีอาวุธครบมือ ทั้งหมดพยายามปีนรั้วที่สูง 2 เมตรเข้าไปด้านใน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ห้ามอะไรด้วยซ้ำ ทันใดนั้นมีนักกีฬากลุ่มหนึ่งผ่านมาเห็นเข้า พวกเขาตะโกนถามทันทีว่าทั้ง 8 คนมาทำอะไรกัน ซึ่งพวกเขาตอบไปว่ากำลังขนอุปกรณ์กีฬากันอยู่ ทำให้กลับกลายเป็นว่านักกีฬาเหล่านั้นกลับช่วยพวกเขาแบกของเหล่านี้เข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬาแทน
7
ภาพจำลองเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายกำลังปีนรั้วเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬา (Source: https://historica.fandom.com/wiki/Munich_massacre)
ผู้ก่อการร้ายมุ่งตรงไปยังหอพักของนักกีฬาอิสราเอลทันที พร้อมทั้งใช้กุญแจที่ขโมยมาไขเข้าไปในอพาร์ทเมนท์หมายเลข 1 ซึ่งเป็นที่พักของบรรดาโค้ชและเจ้าหน้าที่ของคณะนักกีฬาอิสราเอล แต่เคราะห์ดีที่ Yossef Gutfreund กรรมการกีฬามวยปล้ำ ได้ยินเสียงไขกุญแจ และตื่นขึ้น
1
หอพักของนักกีฬาชาวอิสราเอล (Source: wikipedia)
เมื่อ Gutfreund เดินไปที่ประตู เป็นจังหวะที่ประตูกำลังเปิดออกพอดี เขาสังเกตเห็นชายใส่หน้ากากไอ้โม่งกำลังจะย่องเข้ามา ด้วยสัญชาตญาณนักมวยปล้ำ เขารีบขว้างตุ้มน้ำหนักไปที่ประตูทันที และตะโกนสุดเสียงเพื่อปลุกเพื่อนร่วมห้องของเขา การกระทำของเขาในครั้งนี้ทำให้หัวหน้าทีมยกน้ำหนักสามารถทุบหน้าต่างและปีนหนีออกไปได้ ในขณะที่หัวหน้าทีมมวยปล้ำ Moshe Weinberg เข้าต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่างกล้าหาญ แต่เขาก็พลาดท่าและโดนยิงที่บริเวณแก้ม กระสุนทะลุแก้มของเขาอย่างน่าสยดสยอง และเขาก็โดนบังคับให้นำทีมผู้ก่อการร้ายทั้ง 8 ตามหานักกีฬาคนอื่น
4
Weinberg ในสภาพบาดเจ็บสาหัส พาทีมผู้ก่อการร้ายผ่านหน้าอพาร์ทเมนท์หมายเลข 2 ซึ่งเขาอ้างว่าด้านในเป็นนักกีฬาของชาติอื่น ซึ่งการกระทำของเขาในครั้งนี้ ช่วยชีวิตของนักกีฬาชาวอิสราเอลไว้อีกหลายคน
3
Moshe Weinberg หัวหน้าทีมนักมวยปล้ำ ที่มีส่วนช่วยชีวิตของนักกีฬาชาวอิสราเอลอีกหลายคน (Source: https://www.ynetnews.com)
จากนั้นทุกคนมาอยู่ที่หน้าอพาร์ทเมนท์หมายเลข 3 กลุ่มก่อการร้ายบุกทลายเข้าไปทันที ในห้องนั้นมีนักกีฬามวยปล้ำและยกน้ำหนักทั้งหมด 6 คน ซึ่งตกใจตื่นขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ทั้งหมดโดนจับเป็นตัวประกันโดยแทบจะไม่มีโอกาสได้สู้อะไรเลยด้วยซ้ำ จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ Weinberg เลือกที่จะนำผู้ก่อการร้ายมายังอพาร์ทเมนท์นี้นั้นก็น่าจะเป็นเพราะนักกีฬาในห้องนี้ เป็นคนตัวใหญ่และมีพละกำลังมากนั่นเอง
5
ในขณะที่ทั้งหมดกำลังถูกพากลับไปยังอพาร์ทเมนท์หมายเลข 1 Weinberg ผู้กำลังบาดเจ็บสาหัส พยายามที่จะจัดการกับผู้ก่อการร้ายอีกครั้ง เขาพยายามดิ้นและต่อสู้อย่างกล้าหาญ เขาคว้ามีดปอกผลไม้แล้วฟันไปที่ผู้ร้ายคนหนึ่งแต่พลาด แต่ก็สามารถต่อยคนร้ายคนหนึ่งจนหมดสติได้ ก่อนที่เขาจะโดนยิงเสียชีวิตคาที่
4
อีกด้าน Yossef Ramano นักกีฬายกน้ำหนักที่เป็นทหารผ่านศึกมาก่อน อาศัยช่วงชุลมุนนี้ใช้ความสามารถและสัญชาติญาณทางการทหารของเขาในการทำให้ผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ กลุ่มก่อการร้ายโต้ตอบเขาด้วยการยิงกราด Ramano ในระยะเผาขน ส่งผลให้เขาเสียชีวิตคาที่ทันที นอกจากนี้นักกีฬาหลายคนก็ได้พยายามทำการต่อสู้ แต่ด้วยการที่พวกเขาไร้ซึ่งอาวุธ พวกเขาจึงโดนฟาดด้วยของแข็งและปืน จนหลายคนได้รับบาดเจ็บกระดูกหักหลายท่อน
6
Yossef Ramano นักกีฬายกน้ำหนักที่โดนยิงเสียชีวิตคาที่ ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุน (Source: https://israeled.org)
Weinberg และ Ramano คือเหยื่อ 2 รายแรกจากเหตุการณ์สังหารหมู่ ร่างของ Weinberg ถูกจับถอดเสื้อผ้า และลากออกมาวางไว้หน้าหอพัก ส่วนร่างของ Ramano ถูกตัดอวัยวะเพศ และลากเข้ามาในอพาร์ทเมนท์หมายเลข 1 เพื่อใช้ข่มขู่ตัวประกันที่เหลือ
2
ตอนนี้มีตัวประกัน 9 คน โดนควบคุมตัว โดยคนที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น Gutfreud (คนที่ตื่นมาคนแรก) ซึ่งเป็นคนที่ตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาตัวประกันทั้งหมด โดนจับมัดขึงกับเก้าอี้ ในขณะที่ 8 คนที่เหลือ ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน และโดนมัดข้อมือ ข้อเท้า และมัดตัวเข้าด้วยกัน จากนั้นเพื่อเพิ่มความสยองร่างพรุนไร้วิญญาณของ Ramano ถูกนำมาวางไว้ต่อหน้าพวกเขาเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ให้พวกเขาคิดที่จะแข็งขืนใดใดอีก
3
โฉมหน้าของนักกีฬาทั้ง 9 คนที่โดนจับเป็นตัวประกัน (Source: https://digitalcommons.chapman.edu)
ผู้ที่สามารถหนีจากการบุกรุกในครั้งนี้ รีบไปแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจากนักกีฬาคนอื่น ๆ และเรื่องก็ไปถึงทางการเยอรมันและอิสราเอลอย่างรวดเร็ว หลังจากนี้คือการเจรจาและปฏิบัติการชิงตัวประกันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก โดยมีชีวิตของนักกีฬาอิสราเอล และชื่อเสียงของประเทศเยอรมันเป็นเดิมพัน
นักกีฬาชาวอิสราเอลโดนจับเป็นตัวประกันโดยผู้ก่อการร้ายกลุ่ม BSO (Source: https://historycollection.com)
การเจรจา
เวลา 06.00 น. กลุ่มก่อการร้าย BSO โยนกระดาษลงมา 2 แผ่นจากระเบียงของหอพัก เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอิสราเอล โดยข้อเรียกร้องนั้นคือการให้อิสราเอลปล่อยนักโทษทางการเมืองชาวปาเลสไตน์และชาติอาหรับอื่น ๆ ทั้งหมด 234 คน โดยให้เวลาถึง 09.00 น. เท่านั้น มิฉะนั้นนักกีฬาจะค่อย ๆ โดนสังหารชั่วโมงละ 1 คน
6
ในส่วนของอิสราเอลนั้นนายกรัฐมนตรีโกลดาร์ แมร์ นายกรัฐมนตรีหญิงของอิสราเอลออกมาเรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลืออิสราเอลในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย เพราะนี่คือเหตุการณ์อุกอาจต่อชนชาติยิว และถ้าหากทุกคนยอมแพ้ ก็คงไม่มีชาวยิวคนใดในโลกที่จะปลอดภัยอีกเลย และชาติอาหรับชาติเดียวที่ยืนเคียงข้างกับอิสราเอล ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ผู้นั้นคือกษัตริย์ฮุสเซนของจอร์แดนนั่นเอง
2
นายกรัฐมนตรีโกลดาร์ แมร์ นายกรัฐมนตรีหญิงของอิสราเอลในขณะนั้น (Source: wikipedia)
แต่กลุ่มก่อการร้ายต้องผิดคาด เพราะอิสราเอลในตอนนั้นมีนโยบายไม่เจรจากับผู้ก่อการร้าย พวกเขาเชื่อว่าการเจรจาต่อรอง จะนำมาซึ่งการก่อการร้ายในอนาคต และการต่อรองก็จะต้องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด
5
ทุกอย่างจึงตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจเยอรมันตะวันตก และเนื่องจากตัวประกันในครั้งนี้เป็นชาวยิว ดังนั้นชาติที่เคยพยายามที่จะกำจัดชาวยิวมาก่อนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกทันที พวกเขายอมไม่ได้ที่จะให้มีเลือดของชาวยิวต้องเปื้อนมือของชาวเยอรมันอีกครั้ง Schreiber หัวหน้ากรมตำรวจของมิวนิค หนึ่งในหัวหน้าทีมเจรจา ต้องพยายามใช้ความสามารถโดยการบอกกลุ่มผู้ก่อการร้ายว่าทางอิสราเอล ยังไม่พร้อมที่จะให้คำตอบ
5
ภาพของผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งที่บริเวณระเบียง (Source: Pinterest)
ในขณะเดียวกัน ทางการเยอรมันตะวันตกก็มอบข้อเสนออื่นให้กับเหล่าผู้ก่อการร้ายซึ่งได้แก่ เงินไม่จำกัดจำนวน และขอให้มีการสลับตัวนักกีฬากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมันแทน ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับการปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยพร้อมกับประโยคที่ว่า “เงินไม่มีความหมายสำหรับเรา และชีวิตของเราก็ไม่มีความหมายกับเราเช่นกัน” นี่คือรูปแบบของการก่อร้ายที่จัดการด้วยยากที่สุด เพราะผู้ร้ายพร้อมที่จะตายโดยไม่ใส่ใจชีวิตของตนเอง
10
ตำรวจหญิงที่สามารถพูดภาษาอราบิกได้ กำลังสื่อสารกับตำรวจเยอรมันถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อการร้าย (Source: https://historycollection.com)
การเจรจาต่อรองดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และมีการเลื่อนเส้นตายถึง 5 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเจรจาก็มีความสามารถพอตัวอยู่ ในขณะเดียวกันทุกอย่างในหมู่บ้านนักกีฬาก็ดำเนินไปตามปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นักกีฬาเดินเข้าเดินออกได้อย่างเสรี หลายคนมองปฏิบัติการต่าง ๆ จากระเบียงห้องของตนเองด้วยซ้ำ ในตอนแรกการแข่งกีฬาดำเนินไปตามปกติ แต่หลังจากทนแรงกดดันไม่ไหว ทางสมาพันธ์กีฬาโอลิมปิคสากลจึงระงับการแข่งขันทุกอย่างในบ่ายวันนั้น
4
สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม BSO ที่กำลังป้องกันการจู่โจมจากทางตำรวจ (Source: https://historycollection.com)
บรรดากองทัพนักข่าวที่มาทำข่าวกีฬาโอลิมปิคซึ่งประกอบไปด้วยนักข่าวกว่า 4,000 คน ต่างมาเข้ามาจับจองพื้นที่รอบหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อทำข่าวการจับตัวประกันในครั้งนี้ และเนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมการที่ดีพอ ทำให้ไม่มีการกันนักข่าว หรือเคลียร์พื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
และแล้วในเวลา 16.30 น. ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันครั้งแรกก็เริ่มขึ้น กองกำลังตำรวจชายแดนเยอรมัน 38 นาย แต่งกายในชุดนักวิ่งแอบเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬา โดยมีแผนการคือพวกเขาจะขึ้นไปยังดาดฟ้าของอพาร์ทเมนท์ แล้วคลานลงมาตามปล่องระบายอากาศ เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และถ้าหากทุกคนเข้าประจำที่เรียบร้อยและได้ยินโค้ดว่า “Sunshine” ให้ทุกคนเปิดฉากจับกุมทันที
3
ภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปฏิบัติการครั้งแรก (Source: Pinterest)
เหมือนจะเป็นแผนการที่ดี แต่มีปัญหาใหญ่อยู่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือตำรวจทั้ง 38 นาย เป็นตำรวจชายแดนธรรมดา ที่ไม่เคยได้รับการฝึกฝนเรื่องการต่อสู้แบบประชิดและการช่วยเหลือตัวประกันเลย อย่างที่สองคือ สื่อของเยอรมันถ่ายทอดสดการเตรียมการของตำรวจอยู่ตลอดเวลา และผู้ร้ายก็สามารถตามติดสถานการณ์ทุกอย่างได้แบบนาทีต่อนาที มีภาพหนึ่งที่ผู้ร้ายยืนอยู่ตรงประตูระเบียงแล้วมองขึ้นไปบนหลังคา ในขณะที่ตำรวจอยู่ห่างจากผู้ร้ายคนนั้นเพียงคืบนิด ๆ เท่านั้น
9
และจากการถ่ายทอดสดนี่เอง สุดท้ายผู้ก่อการร้ายจึงขู่ว่าจะสังหารตัวประกันเพิ่มอีก 2 คน ทำให้ปฏิบัติการต้องถูกยกเลิก การพยายามแย่งชิงตัวประกันครั้งที่ 1 ประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
4
เจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดนคนหนึ่งในปฏิบัติการครั้งแรก ขณะกำลังพยายามมองเข้าไปในหอพัก (Source: https://historycollection.com)
ในช่วงหนึ่งของการเจรจาอันยาวนาน ทางการเยอรมันได้เรียกร้องขอคุยกับตัวประกัน เพื่อที่จะดูว่าตัวประกันยังปลอดภัยดีหรือไม่ หัวหน้าทีมฟันดาบ Andre Spitzer ที่สามารถพูดภาษาเยอรมันได้คล่อง ถูกพาตัวมายังบริเวณหน้าต่าง แต่ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มที่จะตะโกนถามเขาเป็นภาษาเยอรมัน และ Spitzer กำลังจะตอบ เขาโดนปืน AK-47 ฟาดเข้าที่บริเวณก้นกบ และลากกลับเข้าไปในห้อง ต่อหน้าต่อตากองทัพนักข่าวทั่วโลกที่กำลังถ่ายทอดสดสถานการณ์อยู่
3
Andre Spitzer นักกีฬาชาวอิสราเอลที่สามารถพูดภาษาเยอรมันได้ และโดนฟาดเข้าที่ก้นกบ (Source: https://www.standard.co.uk)
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทางตำรวจเยอรมันตัดสินใจส่ง Hans-Dietrich Genscher รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ Walter Troger เจ้าหน้าที่ของสมาพันธ์กีฬาโอลิมปิค เข้าไปขอพูดคุยกับตัวประกัน และอาจจะเป็นเพราะทั้งคู่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งสองจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังอพาร์ทเมนท์ แต่หารู้ไม่ว่าพวกเขาสองคนได้รับการบรีฟจากตำรวจว่า ให้ไปสังเกตจำนวนผู้ก่อการร้ายออกมาด้วย
6
Issa หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้าย (สวมหมวก) ในขณะที่กำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ที่ขอเข้าไปดูสภาพความเป็นอยู่ของตัวประกัน (https://historycollection.com)
เวลาผ่านไปไม่นาน ทั้งสองออกมาพร้อมกับบอกกับตำรวจว่าผู้ก่อการร้ายน่าจะมีประมาณ 4-5 คน และนักกีฬาชาวอิสราเอลทุกคนนั้นดูใจเย็น ไม่ตื่นกลัว และดูยอมรับชะตากรรมของตนเอง แม้สภาพความเป็นอยู่นั้นจะ “เลวร้ายมาก" ก็ตาม
3
เวลา 18.00 น. ทางกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ยื่นข้อเสนอใหม่ พวกเขาต้องการเครื่องบินที่จะพาพวกเขาเดินทางไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งแม้ทางการอียิปต์จะไม่เต็มใจแต่สุดท้ายก็ยอมรับข้อเสนอโดยดี
ฝูงชนรอบๆ หอพักที่มีเหตุการณ์จับนักกีฬาเป้นตัวประกัน (Source: https://historycollection.com)
แผนการชิงตัวประกัน
เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เดินทางมายังหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อที่จะพาผู้ก่อการร้ายและทีมนักกีฬา เดินทางไปยังสนามบิน แต่เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถลงจอดบนหลังคาของหอพักได้ ทำให้ทั้งหมดต้องเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร เพื่อเดินทางไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์
5
และด้วยระยะทาง 200 เมตรที่เต็มไปด้วยที่ที่จะสามารถซ่อนตัวได้ ตำรวจเยอรมันเลยวางแผนที่จะชิงตัวประกันอีกครั้ง โดยการนำนักแม่นปืนหลายคน ซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง
Yussuf Nazal รองหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายในครั้งนี้ กำลังโบกมือให้กับนักข่าวมากมายที่มาทำข่าว (Source: Tumblr)
แต่ผู้ร้ายก็ไม่ใช่คนประมาท พวกเขาตัดสินใจที่จะเดินตรวจสอบเส้นทางก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีกับดักใดใดรอพวกเขาอยู่ Issa และเพื่อนอีกคน เดินลงมาจากหอพัก พร้อมปืนที่จ่อ Troger และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ทุกคนค่อย ๆ เดินอย่างช้า ๆ และเริ่มการตรวจสอบระยะทาง 200 เมตร บรรยากาศตึงเครียดถึงขีดสุด และแล้วนักแม่นปืนคนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่หลังรถ เริ่มค่อย ๆ คลานหนี เพื่อหลบสายตา และโชคร้ายที่เสียงคลานของเขาดังเข้าไปถึงหูของผู้ก่อการร้าย ทำให้พวกเขาไหวตัวทัน และตัดสินใจกลับเข้าหอพักทันที
3
เฮลิคอปเตอร์ที่เดินทางมาถึงบริเวณหอพัก เพื่อที่จะนำกลุ่มผู้ก่อการร้ายและตัวประกันไปสนามบิน (Source: weebly.com)
เป็นอีกครั้งที่ความพยายามในการแย่งชิงตัวประกันประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กลุ่มก่อการร้ายยื่นข้อเสนอใหม่ โดยระยะทาง 200 เมตรนั้น พวกเขาจะไม่เดิน แต่จะขอนั่งรถบัสแทน
เวลา 22.00 น. รถบัสเดินทางมาถึงหอพักและพาคณะไปยังเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินทางไปยังสนามบิน
รถบัสที่มารอรับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และนักกีฬาชาวอิสราเอล เพื่อเดินทางไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ (Source: https://historycollection.com)
ปฏิบัติการครั้งสุดท้าย
ปฏิบัติการชิงตัวประกัน 2 รอบล้มเหลวไปแล้ว สนามบินถือเป็นจุดสุดท้ายที่ทางเยอรมันจะสามารถจัดการกับผู้ก่อการร้ายได้ ดังนั้นปฏิบัติการชิงตัวประกันครั้งที่ 3 จึงถูกวางแผนไว้โดยทุกคนต่างหวังว่า ทุกอย่างจะจบลงที่สนามบินแห่งนี้
1
ผู้ก่อการร้ายและตัวประกันบนรถบัส (Source: https://sites.google.com)
ทางการเยอรมันได้เตรียมเครื่องบินแบบโบอิ้ง 727 เอาไว้ 1 ลำ เพื่อที่จะนำกลุ่มผู้ก่อการร้ายและนักกีฬาเดินทางไปยังกรุงไคโร แต่บนเครื่องบินลำนั้น นักบินและลูกเรือทั้งหมด 12 คน จะเป็นตำรวจเยอรมันที่ปลอมตัวมาพร้อมอาวุธครบมือ นอกจากนี้รอบ ๆ บริเวณสนามบิน จะมีนักแม่นปืน 5 คน ซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ เพื่อจัดการกับผู้ก่อการร้ายที่ตอนนี้ทางการเยอรมันยังเข้าใจอยู่ว่ามีอยู่ประมาณ 4-5 คนเท่านั้น
แผนการในครั้งนี้ไม่ซับซ้อนมาก ทางผู้ก่อการร้าย 2 คนจะขึ้นไปบนเครื่องบิน เพื่อตรวจสอบถึงความปลอดภัย และเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการเล่นตุกติกใดใดอีก ซึ่งทั้งหมดจะถูกตำรวจเยอรมันที่ปลอมตัวอยู่บนเครื่องบินเข้าจับกุมทันที ส่วนผู้ก่อการร้ายที่เหลือจะถูกจัดการโดยนักแม่นปืนที่ซ่อนตัวอยู่
2
ตำรวจปิดล้อมบริเวณหมู่บ้านโอลิมปิค (Source: Pinterest)
แต่แล้วแผนการก็เริ่มสั่นคลอน เพราะสุดท้ายตอนขึ้นรถบัส เพียง 30 นาทีก่อนที่ปฏิบัติการจะเริ่มต้นขึ้น ปรากฏว่ามีผู้ก่อการร้ายมากถึง 8 คน ไม่ใช่ 4-5 คนตามที่คาดการณ์กันไว้ ทางตำรวจเยอรมัน 12 นายที่ปลอมตัวอยู่บนเครื่องบิน เมื่อได้ทราบถึงข่าวนี้ทำการปรึกษากัน และตัดสินใจที่จะยกเลิกภารกิจ โดยที่ไม่บอกส่วนกลางเลยแม้แต่น้อย ตอนนี้เหลือเพียงนักแม่นปืน 5 คนเท่านั้น ที่จะจัดการกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายทั้ง 8 คน ซึ่งตามยุทธวิธีทางการทหารนั้นถือว่าไม่เพียงพอ เพราะปกติแล้วจะต้องมีนักแม่นปืน 2 คนต่อผู้ร้าย 1 คน
5
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือนักแม่นปืนทั้ง 5 คนที่เลือกมานั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับการฝีกเรื่องการซุ่มยิงอย่างมืออาชีพ พวกเขาถูกเลือกมาเพราะว่าเป็นตำรวจที่ขึ้นชื่อว่ายิงปืนแม่นเท่านั้นเอง นอกจากนี้ในบรรดานักแม่นปืนทั้ง 5 คนนั้น ไม่มีใครมีวิทยุสื่อสารติดต่อกันเลย มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่อยู่บนหอบังคับการบินที่จะรับคำสั่งโดยตรงจากผู้บัญชาการด้วยการตะโกนออกคำสั่ง ส่วนอีก 2 คนที่อยู่ด้านล่างนั้นได้รับคำสั่งเพียงแค่ว่าถ้าด้านบนเปิดฉากยิงเมื่อไหร่ ก็ให้เปิดฉากยิงทันที
4
เวลา 22.30 น. เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำ เดินทางมาถึงสนามบิน และลงจอดโดยหันหน้าตรงเข้าหอบังคับการบิน ซึ่งนี่ก็คืออีกหนึ่งความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะจริง ๆ แล้วเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำ ควรจะลงจอดทางฝั่งตะวันตกของหอบังคับการบิน โดยหันด้านข้างเข้ามาที่ตัวหอบังคับการบิน ซึ่งจะเป็นมุมที่ดีที่สุดที่นักแม่นปืนจะสามารถเล็งผู้ที่จะเดินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ได้
5
เฮลิคอปเตอร์ลงจอดโดยหันหน้าเข้าหาหอบังคับการบิน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วควรจะต้องหันด้านข้าง (Source: bbc.co.uk)
นักบิน 4 คน และผู้ก่อการร้าย 6 คนปรากฎตัวขึ้นอย่างช้า ๆ โดย 4 จาก 6 คนนั้น ใช้ปืนจ่อขมับนักบินชาวเยอรมันทั้ง 4 คนไว้เป็นตัวประกัน ในขณะที่อีก 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Issa ค่อย ๆ เดินไปสำรวจเครื่องบินที่จอดรออยู่
1
แน่นอนเมื่อทั้งสองไปถึงเครื่องบิน ก็พบกับเครื่องบินเปล่า ๆ ทั้งคู่รู้ทันทีว่าทุกคนโดนหลอกเข้ามาสู่กับดักซะแล้ว แล้วรีบวิ่งออกจากเครื่องบินกลับไปยังเฮลิคอปเตอร์ทันที
Issa คือหนึ่งในคนที่ไปสำรวจเครื่องบิน และพบเครื่องบินเปล่า ๆ ทำให้ผู้ก่อการร้ายทราบทันทีว่าโดนล่อเข้าในกับดักซะแล้ว (Source: https://vexmansthoughts.wordpress.com)
ในช่วงที่กำลังวิ่งอยู่นั้น นักแม่นปืนคนหนึ่งสบโอกาสและเปิดฉากยิงใส่ผู้ก่อการร้ายที่กำลังวิ่งอยู่ และสามารถยิงโดนต้นขาของผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งได้สำเร็จ หลังจากกระสุนนัดแรกถูกยิงออกไป ทางตำรวจเยอรมันจึงสั่งการให้นักแม่นปืนทุกคนเริ่มปฏิบัติการสังหาร
1
ความชุลมุนเกิดขึ้น ผู้ก่อการร้ายที่คุมตัวนักบิน 2 คนถูกยิงเสียชีวิตคาที่ทันที ในขณะที่คนที่เหลือต่างรีบหลบไปหลังหรือใต้เฮลิคอปเตอร์ และยิงสวนกลับด้วยความชำนาญ ภายใต้ความชุลมุนนั้นนักบินทั้ง 4 คนสามารถหลบหนีไปได้ ในขณะที่เหล่าบรรดานักกีฬานั้นโดนมัดอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ ไม่สามารถขยับไปไหนได้ และทำได้เพียงแค่สวดมนต์เท่านั้น
4
เหตุการณ์ยิงกันกินเวลาไประยะหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างสาดกระสุนใส่กันไปมาอย่างดุเดือด และดูท่าว่าไม่วันจะจบลงง่าย ๆ ดังนั้นทางการเยอรมันจึงตัดสินใจเรียกกำลังเสริมเป็นรถหุ้มเกราะเข้ามาช่วยในภารกิจครั้งนี้ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมการมาก่อน กว่าที่กำลังเสริมจะเดินทางมาถึงนั้นก็กินเวลาไปกว่า 1 ชั่วโมง
2
รถหุ้มเการะ และกำลังเสริมต้องใช้เวลานานในการเดินทาง เนื่องจากฝูงชนและนักข่าวรอบ ๆ สนามบิน (Source: https://www.thoughtco.com)
จุดจบ
เวลา 11.00 น. เสียงปืนสงบลง ต่างฝ่ายต่างเฝ้ารอดูเชิง ไม่มีใครรู้ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ จนกระทั่งเมื่อกำลังเสริมเดินทางมาถึงนั่นเอง ที่ทางกลุ่มผู้ก่อการร้ายเริ่มรู้สึกว่า ภารกิจของพวกเขาอาจจะต้องประสบความล้มเหลวซะแล้ว ดังนั้นในเมื่อพวกเขาจะไม่รอด ตัวประกันของพวกเขาก็จะต้องไม่รอดด้วยเช่นกัน
2
เวลา 00.04 น. ของวันที่ 6 กันยายน Issa หัวหน้าของกลุ่มก่อการร้ายตัดสินใจหยิบปืนไรเฟิลขึ้นมา แล้วกราดยิงนักกีฬาชาวอิสราเอลในเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ร่างของนักกีฬาทั้ง 4 ถูกยิงในระยะเผาขน ทำให้นักกีฬาสามคนเสียชีวิตคาที่ทันที โดยอีกคนหนึ่งนั้นยังพอจะมีลมหายใจอยู่บ้าง แต่จากนั้น Issa ตัดสินใจโยนระเบิดมือเข้าไปในห้องนักบิน เพื่อทำลายเฮลิคอปเตอร์ทิ้ง ว่ากันว่านักกีฬาคนที่ 4 นั้นเสียชีวิตจากการสูดดมควันที่เกิดจากการระเบิดไม่ใช่จากการโดนยิง และเป็นที่น่าเศร้าที่สภาพศพส่วนใหญ่นั่นไหม้เกรียมจนแทบจะไม่เหลือซาก
6
ภาพจำลองเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ 1 ใน 2 ลำที่ถูกคนร้ายปาระเบิดมือใส่ ส่งผลให้นักกีฬา 4 คนที่ถูกมัดอยู่ในนั้นเสียชีวิตทันที (Source: https://historica.fandom.com/wiki/Munich_massacre)
ส่วนนักกีฬาในเฮลิคอปเตอร์อีกลำ ก็โดนกราดยิงโดยปืนไรเฟิลเช่นกัน ทั้ง 5 คนเสียชีวิตคาที่ทันที โดยไม่มีเวลาแม้จะส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ จากการชันสูตรศพพบว่าแต่ละคนโดนกระสุนประมาณคนละ 4 นัดเลยทีเดียว
3
หลังจากสังหารนักกีฬาแล้ว ก็ถึงเวลาที่กลุ่มก่อการร้ายจะต้องหนีตาย หัวหน้ากลุ่มวิ่งข้ามลานจอดเครื่องบิน และเริ่มกราดยิงใส่ตำรวจอย่างบ้าคลั่ง และเขาก็ถูกยิงเสียชีวิตทันที ในขณะที่นักแม่นปืนก็สามารถจัดการกับผู้ก่อการร้ายได้คนหนึ่ง ในขณะที่ผู้ก่อการร้ายอีก 3 คนโดนยิงบาดเจ็บอยู่บนลานจอด
5
แต่เรื่องก็ยังไม่จบเพียงแค่นั้น มีผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งสามารถหลุดรอดไปได้ ตำรวจออกปฏิบัติการตามล่าทันทีโดยใช้สุนัขดมกลิ่นช่วยในการตามหา และหลังจากผ่านไป 40 นาที เขาก็ถูกพบในลานจอดรถของสนามบินนั่นเอง แม้ว่าจะพยายามยิงตอบโต้ แต่เขาก็ถูกล้อมด้วยตำรวจ และโดนโจมตีด้วยแก๊ซน้ำตา และโดนยิงเสียชีวิตคาที่ในที่สุด
8
ผู้ก่อการร้าย BSO 3 คนที่รอดจากการถูกสังหาร (Source: cnn.com)
ทุกอย่างจบลงในเวลา 01.30 กินเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากการจับตัวประกันครั้งแรก และจบลงด้วยการเสียชีวิตของนักกีฬาชาวอิสราเอลทั้งหมด 11 คน และผู้ก่อการร้าย 5 คน ปฏิบัติการชิงตัวประกันทั้ง 3 ครั้งของทางการเยอรมันประสบความล้มเหลวทั้งหมด
4
จากการสอบสวนภายหลัง นอกจากความผิดพลาดต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ยังพบอีกว่าอาวุธที่นักแม่นปืนทั้ง 5 ใช้นั้นไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติการเลยแม้แต่น้อย เริ่มตั้งแต่ขนาดลำกล้องที่สั้นเกินไป ไม่มีกล้องส่องเล็ง และทุกคนไม่มีใครสวมใส่เครื่องป้องกันใดใดทั้งสิ้น ซ้ำร้ายนักแม่นปืน 2 คนที่ประจำอยู่บนพื้นดินนั้นยังอยู่ในแนวการยิงของนักแม่นปืน 3 คนที่อยู่บนหอบังคับการบิน และสุดท้ายหนึ่งในนั้นก็โดนยิงโดยพวกเดียวกันจนได้รับบาดเจ็บ ในตอนที่เขาพยายามที่จะยิงสกัดผู้ก่อการร้ายที่กำลังวิ่งหนี
5
ภาพของเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งที่โดนระเบิด (Source: Pinterest)
ผิดพลาดแต่เริ่มต้น
ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ในครั้งนี้ จะสามารถเกิดขึ้นได้ในมหกรรมกีฬาระดับโลก ที่ควรจะมีการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้ก่อการร้าย ถึงสามารถบุกเข้าไปในหอพักนักกีฬาได้ง่ายดายเช่นนี้ ต้องขอย้อนกลับไปถึงช่วงการเตรียมงานก่อน
รอยเลือดในหอพัก ตรงจุดที่มีการสังหารนักกีฬาอิสราเอล (Source: https://historycollection.com)
ต้องขอบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิค เยอรมันเป็นเจ้าภาพการจัดงานในปี 1936 มาแล้วที่กรุงเบอร์ลิน โดยในตอนน้้นอดอลฟ์ ฮิตเลอร์เป็นผู้นำของเยอรมัน และต้องการจัดงานเพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศเยอรมันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งแล้ว แต่สิ่งที่ออกมาคืองานในครั้งนั้นกลับเต็มไปด้วยความตึงเครียด มีกองทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธมากมาย จนกลายเป็นภาพจำที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก
6
การจัดการงานครั้งนี้ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือต้องการให้ทั่วโลกทราบว่าหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ตอนนี้เยอรมันพร้อมแล้วที่จะก้าวเข้าสู่สังคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ และที่สำคัญจะต้องลบภาพจำต่าง ๆ ของการจัดงานครั้งที่แล้ว รวมถึงความโหดร้ายของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ได้ โดยการจัดงานครั้งนี้มีสโลแกนว่า "The Cheerful Game"
1
การจัดงานโอลิมปิคในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งฮิตเลอร์ต้องการใช้เป็นงานที่โปรโมทลัทธินาซี (Source: apnews.com)
ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยในครั้งนี้จึงค่อนข้างมีความ “ผ่อนคลาย” มีการวางกองกำลังเจ้าหน้าที่ไว้น้อยมาก และเจ้าหน้าที่ส่วนมากก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พกอาวุธ เพราะทางคณะผู้จัดไม่ต้องการให้เกิดความ ”ตึงเครียด” สำหรับหมู่บ้านนักกีฬานั้น แม้จะมีรั้วล้อมรอบที่สูงถึง 2 เมตร แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคใดใดกับนักกีฬาระดับโลก ทุกคนสามารถปีนเข้าออกได้ตลอดเวลา ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลทางเข้าออกก็ไม่ได้ใส่ใจคนที่เดินเข้าออกมากนัก ว่ากันว่าถ้ามีคนใส่ชุดออกกำลังกายวิ่งผ่านเข้าไป คนคนนั้นก็สามารถเข้าไปได้เลย
1
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรอบหมู่บ้านนักกีฬา ตอนเกิดเหตุการณ์จับตัวประกัน (Source: https://historycollection.com)
แน่นอนว่าหัวหน้าทีมนักกีฬาอิสราเอลได้แสดงความกังวลถึงเรื่องนี้ แต่ทางผู้จัดงานก็ยืนยันว่ามีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพิเศษสำหรับนักกีฬาอิสราเอลไว้แล้ว แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่ผู้จัดงานบอกนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
1
นอกจากนี้ในช่วงของการเตรียมการ มีการจำลองสถานการณ์ก่อการร้าย 26 เหตุการณ์ โดยหนึ่งในนั้นมีรายละเอียดคือ นักกีฬาอิสราเอล โดนผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์จับเป็นตัวประกัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษและขอเครื่องบินเพื่อนำพาพวกเขาออกไปจากเยอรมัน เรียกได้ว่า แทบจะเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย แต่ผู้จัดงานกลับเพิกเฉยต่อการซักซ้อมรับมือกับสถานการณ์ในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ต้องมีการจัดกำลังคุ้มกันที่แน่นหนามากเกินไป ทำให้การแข่งกีฬาในครั้งนี้ไม่ "Cheerful” เหมือนอย่างที่เขียนไว้ในสโลแกน
2
ภาพถ่ายจากทางอากาศของบริเวณสนามบินที่เกิดเหตุการณ์ชิงตัวประกัน (Source: https://historica.fandom.com/wiki/Operation_Wrath_of_God)
หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น
ร่างของผู้ก่อการร้ายที่เสียชีวิตทั้ง 5 ถูกส่งไปยังประเทศลิเบีย ที่ซึ่งพวกเขาได้รับการเชิดชูสรรเสริญ และได้รับพิธีฝังศพแบบทหาร ส่วนผู้ก่อการร้ายที่เหลืออีก 3 คน ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจเยอรมันตะวันตก
4
ในวันที่ 29 ตุลาคม ปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์จี้เครื่องบินสายการบิน Lufthansa ของเยอรมันเที่ยวบินที่ 615 โดยกลุ่ม BSO อีกครั้ง และข้อเรียกร้องในครั้งนี้ก็คือ ทางการเยอรมันจะต้องปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายทั้ง 3 คน ซึ่งทางการเยอรมันก็ยอมทำตามโดยไม่มีทางเลือก ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศลิเบีย และได้รับการต้อนรับราวกับเป็นฮีโร่ จากการสืบสวน ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วการจี้เครื่องบินในครั้งนี้เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่ม BSO และรัฐบาลเยอรมัน เพื่อแลกกับข้อตกลงที่ว่ากลุ่ม BSO จะไม่ทำการก่อการร้ายใดใดในดินแดนของเยอรมันอีก
4
ผู้ก่อการร้ายทั้งสามคนที่ทางการเยอรมัน ยอมปล่อยตัวในเหตุการณ์จี้เครื่องบิน Lufthansa 615 ให้สัมภาษณ์เมื่อเดินทางมาถึงประเทศลิเบีย (Source: https://www.spiegel.de)
อีกข้อสงสัยของหลายคนน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า ทำไมไม่ให้กองทัพของเยอรมันซึ่งน่าจะมีประสบการณ์ และความสามารถมากกว่า เข้ามาช่วยในปฏิบัติการต่าง ๆ ตั้งแต่การเจรจา วางกลยุทธ์ หรือแม้กระทั่งนักแม่นปืนที่ทางกองทัพจะต้องมีคนที่มีฝีมืออย่างแน่นอน
2
สาเหตุทั้งหมดนั้นเป็นเพราะว่า ในรัฐธรรมนูญของเยอรมันกล่าวไว้ว่า กองทัพจะสามารถเข้ามาจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อประเทศอยู่ในภาวะสงครามเท่านั้น ถ้าในภาวะปกติทุกอย่างจะอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจแทน
1
จากเหตุการณ์นี้เอง ในเวลาเพียง 2 อาทิตย์ มีคำสั่งจากรัฐบาลให้จัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายขึ้น โดยใช้ชื่อว่า GSC9 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหน่วย S.W.A.T ของไทย ที่ที่เจ้าหน้าที่จะได้รับการฝึกเป็นพิเศษให้จัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ
4
หน่วย GSC9 ของเยอรมัน ที่ถูกตั้งขึ้นเพียงสองอาทิตย์หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬาโอลิมปิค (Source: youtube)
และแน่นอนว่าอิสราเอลย่อมที่จะต้องไม่อยู่เฉย หลังจากการสังหารหมู่ได้ 2 วัน ในวันที่ 8 กันยายน กองกำลังอิสราเอล เปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่ม PLO ในประเทศซีเรีย และเลบานอนทันที แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ประชาชนชาวอิสราเอลต่างเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรซักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับชาวยิวทั่วโลกอีก ดังนั้นจึงมีการคิดแผนการที่ชื่อว่าปฏิบัติการ “Wrath of God : การลงทัณฑ์จากพระเจ้า” ขึ้น เพื่อเป็นการกำจัดกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ที่มิวนิคในครั้งนี้ ซึ่งเรื่องราวของปฏิบัติการนี้นั้น ถือว่าเข้มข้น ซับซ้อน เต็มไปด้วยการลุ้นระทึก และที่สำคัญคือกินเวลายาวนานกว่า 20 ปีเลยทีเดียว ทาง Kang’s Journal สัญญาว่าจะพยายามเรียบเรียงมาให้อ่านในเร็ว ๆ นี้
9
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับกีฬาโอลิมปิค
1
ตอนที่ข่าวเรื่องการจับตัวประกันได้รับการเผยแพร่ออกไป มีคำสั่งให้หยุดการแข่งขันทุกชนิดเป็นเวลา 34 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดกีฬาโอลิมปิคที่เกิดการหยุดการแข่งขันขึ้น
ข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาชาวอิสราเอล และกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก (Source: https://thequadrennialblog.wordpress.com)
วันที่ 6 กันยายน มีการจัดงานไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตขึ้นที่สนามกีฬาโอลิมปิค ที่กรุงมิวนิค โดยมีผู้เข้าร่วมงานถึง 80,000 คน และนักกีฬากว่า 3,000 คน และญาติของนักกีฬาอิสราเอลบางคนก็เดินทางมาเข้าร่วมงานด้วย แต่ในระหว่างงานนั้นกลับเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้น ประธานของสมาพันธ์โอลิมปิค Avery Brundage แทบไม่ได้กล่าวถึงนักกีฬาที่เสียชีวิตเลย แต่กลับไปกล่าวถึงความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในการแข่งขัน และพาดพิงไปถึงสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้ประเทศโรดีเซียเข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งทำให้ผู้ฟังหลายคนไม่พอใจมาก เพราะนี่แสดงให้เห็นว่า Brundage ไม่ได้แสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตได้อย่างเหมาะสม
5
การประท้วงของชาวยิวนอกสนามกีฬาโอลิมปิค เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดการแข่งขัน (Source: Pinterest)
หนึ่งในคนที่ไม่พอใจและโกรธมากคือ Carmel Eliash ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของ Weinberg หนึ่งในผู้เสียชีวิต เขาโกรธจนกระทั่งเป็นลม และเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอาการหัวใจวาย
5
หลังงานไว้อาลัย มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้นทันทีระหว่างฮังการี และเยอรมันตะวันตก ในระหว่างการแข่งขัน มีผู้ชมบางคนที่ไม่พอใจที่การแข่งขันดำเนินต่อและชูป้าย “17 dead, already forgotten? : 17 ศพ ลืมกันแล้วเหรอ” ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องรีบเข้ามานำตัวคนเหล่านี้ออกไป
2
มีการเสนอว่าจะมีการลดธงครึ่งเสาทั้งหมด เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับเหล่าบรรดานักกีฬา แต่ข้อเสนอนี้กลับถูกปฏิเสธโดยชาติอาหรับที่เข้าร่วมการแข่งขัน จนทำให้ข้อเสนอทำได้แค่ในช่วงของการไว้อาลัยเท่านั้น
ธงโอลิมปิค และธงชาติของทุกประเทศถูกลดลงครึ่งเสา ในช่วงของการไว้อาลัยให้กับนักกีฬาที่เสียชีวิต (Source: https://historycollection.com)
มีการเรียกประชุมกันว่าการจัดการแข่งขันควรจะดำเนินต่อหรือไม่ ซึ่งหลังจากการถกเถียงกันเป็นเวลานาน สุดท้ายมติของที่ประชุมคือ ให้มีการดำเนินการแข่งขันต่อ ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอิสราเอลด้วย
นักกีฬาอิสราเอลทั้งหมดถอนตัวจากการแข่งขันทันที รวมถึงนักกีฬาที่มีเชื้อชาติยิวหลายคนด้วย นักกีฬาจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ (ที่กลัวการถูกแก้แค้น) ฟิลิปปินส์ แอลจีเรีย นอร์เวย์ ก็ถอนตัวออกเช่นกัน มีนักวิ่งมาราธอนคนหนึ่งของอเมริกาที่ตัดสินใจถอนตัวให้เหตุผลว่า “การตัดสินใจมันง่ายมาก คุณได้รับเชิญให้มางานปาร์ตี้ แล้วอยู่ ๆ ก็มีใครไม่รู้ บุกเข้ามาแล้วมากราดยิงคนที่อยู่ในงาน คุณจะอยู่ในงานต่อไปทำไมกัน”
3
นักกีฬาอิสราเอล ถอนตัวจากการแข่งขันทันที หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จบลงด้วยนักกีฬาชาวอิสราเอล 11 คนที่ต้องเสียชีวิต (https://historycollection.com)
ในการแข่งขันโอลิมปิคครั้งต่อมาในปี 1976 ที่กรุงมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา ทีมนักกีฬาอิสราเอล เดินเข้างานด้วยโบว์สีดำที่ผูกอยู่บนธงชาติของพวกเขา ต่อจากนั้นมีการเรียกร้องให้ทางสมาพันธ์โอลิมปิคสร้างอนุสรณ์สถานให้กับนักกีฬาที่เสียชีวิต แต่ต้องใช้เวลากว่า 40 ปี อนุสรณ์สถานจึงถูกสร้างขึ้นที่กรุงริโอ เดอจาเนโร ซึ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคในปี 2016
บทสรุป
ข้อมูลที่ผมนำเขียนมาทั้งหมดนี้ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้รับการเปิดเผยทันทีนะครับ เพราะจะเห็นได้ว่าทางเยอรมันล้มเหลวในการจัดการกับผู้ก่อการร้ายอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นรายงานต่าง ๆ จึงถูกเก็บไว้เป็นความลับเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี
4
Ankie Spitzer ภรรยาของหนึ่งในตัวประกัน กำลังสำรวจสถานที่ที่สามีของเธอถูกจับเป็นตัวประกัน และเธอคือหนึ่งในคนที่ได้รับและเปิดโปงเอกสารการสอบสวนของทางการเยอรมัน (Source: https://historycollection.com)
เหล่าบรรดาญาติของผู้เสียชีวิตต่างพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันเปิดเผยผลการสืบสวน และชดเชยค่าเสียหาย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเรื่อยมา จนกระทั่งปี 1992 มีญาติของผู้เสียชีวิตบางคนเริ่มได้รับเอกสารบางอย่าง ซึ่งเอกสารเหล่านั้นคือผลการสืบสวนของปฏิบัติการในครั้งนี้ที่มีคนลักลอบนำออกมานั่นเอง รายงานหลายฉบับถูกเปิดเผยต่อชาวโลก และเป็นที่มาของรายละเอียดที่เราได้รู้ถึงเหตุการณ์ช๊อคโลกในครั้งนี้
นักกีฬาทั้ง 11 คน ได้รับการต้อนรับกลับสู่อิสราเอล แต่น่าเสียดายที่พวกเขาเดินทางมาถึงโดยร่างไร้วิญญาณ (Source: https://historycollection.com)
เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความประมาทนะครับ ทางผู้จัดงานยอมที่จะลดความปลอดภัยลง เพื่อแลกกับความ "ผ่อนคลาย" ของงาน ซึ่งผลสุดท้าย สิ่งที่ทุกคนจดจำได้จากการแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่ความ "Cheerful" แบบที่ทุกคนคาดหวัง แต่กลับเป็นความตายของนักกีฬาทั้ง 11 คนแทน
ในส่วนของปฏิบัติการชิงตัวประกัน ก็เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวหลายอย่างในเรื่องของการจัดการนะครับ เริ่มจากการไม่ควบคุมสื่อที่แพร่ภาพออกอากาศกลยุทธ์ต่าง ๆ ของตำรวจ ทำให้ผู้ร้ายรู้ถึงความเคลื่อนไหวทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องของการวางแผนที่ไม่ครอบคลุม การสื่อสารที่ผิดพลาด และการใช้คนที่ไม่ถูกกับงาน จริง ๆ แล้วถ้าในตอนนั้นกรมตำรวจขอความร่วมมือให้มีนักแม่นปืนจากกองทัพเข้ามาร่วมปฏิบัติการ หรือนำคนของกองทัพขึ้นไปประจำบนเครื่องบิน 727 ลำนั้น เหตุการณ์นี้อาจจะจบลงโดยที่ไม่มีตัวประกันต้องมาเสียชีวิตเพิ่ม
ส่วนปมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2021 มหกรรมกีฬาโอลิมปิคจะถูกจัดขึ้นอีกครั้งที่กรุงโตเกียว ซึ่งก็เป็นอีกงานที่คนทั่วโลกต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยหลังจากที่ต้องเลื่อนงานมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจากเหตุการณ์ต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ยังดำเนินอยู่ เราก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบที่เกิดขึ้นที่มิวนิคอีกครั้ง และการแข่งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
1
อย่าลืมว่าครั้งหนึ่ง เพราะความเกลียดชัง เราจึงต้องเสียนักกีฬาไปมากถึง 11 คน ในงานแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมาแล้ว (Source: Pinterest)
วีดีโอ:
สามารถดูภาพ Live Footage จากปฏิบัติการครั้งนั้นได้ที่
Podcast:
Seeing Red Season 5 Ep 2 "The Munich Massacre"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา