7 มิ.ย. 2021 เวลา 12:11 • ปรัชญา
ข้อแตกต่างของอวิชชา และ วิชชา
.
Photo by Maria on Unsplash
ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง)
เป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ (ความไม่ละอายบาป)
อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวบาป) ก็มีตามมาด้วย
๑. ผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้งย่อมมีมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด)
๒. ผู้มีมิจฉาทิฏฐิย่อมมีมิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. ผู้มีมิจฉาสังกัปปะย่อมมีมิจฉาวาจา (เจรจาผิด)
๔. ผู้มีมิจฉาวาจาย่อมมีมิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
๕. ผู้มีมิจฉากัมมันตะย่อมมีมิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
๖. ผู้มีมิจฉาอาชีวะย่อมมีมิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๗. ผู้มีมิจฉาวายามะย่อมมีมิจฉาสติ (ระลึกผิด)
๘. ผู้มีมิจฉาสติย่อมมีมิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)
1
ภิกษุทั้งหลาย วิชชา๑ (ความรู้แจ้ง) เป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย
หิริ (ความละอายบาป) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวบาป) ก็มีตามมาด้วย
๑. ผู้มีวิชชาเห็นแจ้งย่อมมีสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. ผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมมีสัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. ผู้มีสัมมาสังกัปปะย่อมมีสัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. ผู้มีสัมมาวาจาย่อมมีสัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. ผู้มีสัมมากัมมันตะย่อมมีสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. ผู้มีสัมมาอาชีวะย่อมมีสัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. ผู้มีสัมมาวายามะย่อมมีสัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. ผู้มีสัมมาสติย่อมมีสัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)”
อวิชชาสูตรที่ ๑ จบ
ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนท่อนไม้ อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ
บางคราวตกเอาโคนลง บางคราวตกเอาตอนกลางลง
บางคราวตกเอาปลายลง ข้อนี้ฉันใด.
 
ภิกษุทั้งหลาย !
สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น
บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้.
 
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !
ข้อนั้นเพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่.
 
อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ?
สี่อย่างคือ :-
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.
ภิกษุทั้งหลาย !
ที่สุดในเบื้องต้นของอวิชชา ย่อมไม่ปรากฏ,
ก่อนแต่นี้อวิชชา มิได้มี, แต่ว่าอวิชชา เพิ่งมีต่อภายหลัง.
อวิชชา ย่อมปรากฏ เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย ดังนี้ :
ภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้อวิชชานั้น
ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร
หาใช่ธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ อวิชชา ?
คำตอบพึงมีว่า
“นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการเป็นอาหารของอวิชชา” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการ ?
คำตอบพึงมีว่า “ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ?
คำตอบพึงมีว่า “การไม่สำรวมอินทรีย์” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ การไม่สำรวมอินทรีย์ ?
คำตอบพึงมีว่า “ความเป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ ความเป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ ?
คำตอบพึงมีว่า “อโยนิโสมนสิการ” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ อโยนิโสมนสิการ ?
คำตอบพึงมีว่า “ความไม่มีสัทธา” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ ความไม่มีสัทธา ?
คำตอบพึงมีว่า“การไม่ได้ฟังพระสัทธรรม” ดังนี้
ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของ การไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ?
คำตอบพึงมีว่า “การไม่คบสัตบุรุษ” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งอวิชชา
ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
และสมบูรณ์แล้วด้วยอาการอย่างนี้.
เครดิต: พุทธวจน อริยสัจจากพระโอษฐ์ facebook
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า แม้วิชชาและวิมุตติ
ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร
หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ?
คำตอบพึงมีว่า “โพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการ” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้โพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ?
คำตอบพึงมีว่า “สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการ” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของสติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการ ?
คำตอบพึงมีว่า “สุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้สุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของสุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ?
คำตอบพึงมีว่า “การสำรวมอินทรีย์” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้การสำรวมอินทรีย์ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ?
คำตอบพึงมีว่า “ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ?
คำตอบพึงมีว่า “โยนิโสมนสิการ” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้โยนิโสมนสิการ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของ โยนิโสมนสิการ ?
คำตอบพึงมีว่า “สัทธา” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวว่า ถึงแม้สัทธา ก็เป็นธรรมชาติมีอาหารหาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของสัทธา ?
คำตอบพึงมีว่า “การได้ฟังพระสัทธรรม” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ถึงแม้การได้ฟังพระสัทธรรม ก็เป็นธรรมชาติมีอาหารหาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของการได้ฟัง พระสัทธรรม ?
คำตอบพึงมีว่า “การคบสัปบุรุษ” ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ด้วยอาการอย่างนี้แล
ที่เมื่อการคบสัปบุรุษเป็นไปบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำการได้ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์;
การได้ฟังพระสัทธรรมบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำสัทธาให้บริบูรณ์;
สัทธาบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำโยนิโสมนสิการให้บริบูรณ์;
โยนิโสมนสิการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์;
ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์;
การสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำสุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์ ;
สุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการให้บริบูรณ์;
สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการให้บริบูรณ์;
โพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อาหารแห่งวิชชาและวิมุตตินี้
ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
และบริบูรณ์แล้วด้วยอาการอย่างนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนัก ๆ ตกลงบนภูเขา,
น้ำฝนนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมทำซอกเขา ซอกผา
และลำห้วยทั้งหลาย ให้เต็ม;
ครั้นซอกเขาซอกผา และลำห้วยทั้งหลายเต็มแล้ว
ย่อมทำบึงน้อยทั้งหลายให้เต็ม;
บึงน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว
ย่อมทำบึงใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม;
บึงใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว
ย่อมทำแม่น้ำน้อยทั้งหลายให้เต็ม;
แม่น้ำน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว
ย่อมทำแม่น้ำใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม;
แม่น้ำใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว
ย่อมทำมหาสมุทรสาครให้เต็ม.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
อาหารแห่งมหาสมุทรสาครนั้น
ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
และเต็มแล้วด้วยอาการอย่างนี้, นี้ฉันใด;
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ
การคบสัปบุรุษบริบูรณ์แล้วย่อมทำการได้ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์;
การได้ฟังพระสัทธรรมบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำสัทธาให้บริบูรณ์;
สัทธาบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำโยนิโสมนสิการให้บริบูรณ์;
โยนิโสมนสิการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์;
ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์;
การสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำสุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์;
สุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการให้บริบูรณ์;
สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการให้บริบูรณ์;
โพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
อาหารแห่งวิชชาและวิมุตตินี้
ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
และบริบูรณ์แล้วด้วยอาการอย่างนี้, ดังนี้ แล
-สูตรที่ ๑-๒ ยมกวรรค ทสก.อํ. ๒๔/๑๒๒,๑๒๖/๖๑,๖๒.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา