4 มิ.ย. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 26] บราซิลในฐานะประเทศที่มีประชากรผู้พูดภาษาโปรตุเกสมากที่สุดในโลก และภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล
Brazil as the country of the largest Portuguese speakers’ population in the world & Brazilian Portuguese language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 6 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบราซิล ประเทศยักษ์ใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ที่มีประชากรผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสมากที่สุดในโลก จนผลักดันให้ "ภาษาโปรตุเกส" เป็นภาษาที่มีผู้คนใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และ "ภาษาโปรตุเกส" ที่สอนในตำราหรือแหล่งเรียนรู้หลายแห่งเป็นภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล รวมถึงช่วงเกริ่นนำถึงภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล
1
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
"Eu falo Português Brasileiro" ประโยคภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า "ฉันพูดภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล" (I speak Brazilian Portuguese.) [Credit ภาพ : FB Community "Eu Falo Português Brasileiro"]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง Magalenha จากกลุ่มศิลปินบราซิล (ดนตรี: Sérgio Mendes ร้องนำ: Carlinhos Brown) ในปี ค.ศ.1992 ซึ่งเป็นเพลงในดนตรีแนว Batucada หนึ่งในรูปแบบย่อยของดนตรีแซมบ้า ในแบบที่เน้นเครื่องตีสไตล์ Afro-Brazillian จังหวะดนตรีที่เร็วและวนซ้ำ
ประเทศบราซิล (Brazil) ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นบนเวทีโลก โดยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจหากพิจารณาอำนาจการซื้อ (GDP (PPP)) ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในปัจจุบัน กลายเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ “BRICS” กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ร่วมกับรัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
ประเทศยักษ์ใหญ่จากทวีปอเมริกาใต้แห่งนี้ยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจในหลายแง่มุม ได้แก่...
แผนที่ระดับความต่ำของภูมิประเทศแสดงพื้นที่ประเทศบราซิล ที่มีภูมิประเทศหลากหลายแบบ ตั้งแต่ที่ราบป่าดิบชื้นแอมะซอนในตอนเหนือของประเทศ พื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออก พื้นที่สูงบริเวณตอนกลาง-ตะวันออกเฉียงใต้-ตอนใต้ของประเทศ [Credit แผนที่ : User 'Captain Blood' @ Wikipedia.org]
แผนภาพแสดงกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ (วัดจาก GDP (PPP)) ที่ใหญ่ที่สุด 10 ประเทศ ในปี ค.ศ.1992, 2008 และ 2024 (ข้อมูลคาดการณ์) โดยอาศัยข้อมูลจาก IMF จะเห็นว่าประเทศบราซิลจะมีขนาดเศรษฐกิจอยู๋ในช่วงอันดับ 7-9 [Credit แผนภาพ : Statista]
- การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและกีฬา : แหล่งท่องเที่ยวแนวชายหาดกลางแสงแดด แหล่งท่องเที่ยวแนวธรรมชาติและการผจญภัย (ป่าแอมะซอนและพื้นที่ชุ่มน้ำเขตร้อนบริเวณชายแดนประเทศโบลิเวีย) แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (โดยเฉพาะย่านตัวเมืองเก่าในสถาปัตยกรรมโคโลเนียลหลายแห่ง) เทศกาลคาร์นิวัลโดยเฉพาะที่นครรีโอเดจาเนโร ดนตรีแนวแซมบาและบอสซาโนวา วงการฟุตบอลบราซิล
ภาพถ่ายฝูงชนและแถวขบวนแห่ในเทศกาลคาร์นิวัล นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ.2014 [Credit ภาพ : Fernando Frazão/Agência Brasil]
- แร่ธาตุ (ทองคำ ยูเรเนียม เหล็ก น้ำมัน) ทรัพยากรธรรมชาติ (อย่างไม้ซุงและความหลากหลายทางชีวภาพจากป่าดิบชื้นแอมะซอน) รวมถึงแหล่งศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นิเวศวิทยา และมานุษยวิทยาจากพื้นที่กว้างใหญ่ของประเทศบราซิล
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงป่าดิบชื้นแอมะซอน ในบริเวณใกล้เมือง Manaus ทางตอนเหนือของประเทศบราซิล [Credit ภาพ : Neil Palmer (CIAT)]
- การลงทุนภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ จึงถือเป็นตลาด แหล่งลงทุนและแหล่งทรัพยากรมนุษย์ขนาดใหญ่ รวมถึงการเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ (บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตพืชผลพวกอ้อย ถั่วเหลือง กาแฟ ส้มรายใหญ่ที่สุดในโลก)
แผนที่ประเทศบราซิลแสดงพื้นที่เพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกา (หย่อมสีแดง) และกาแฟสายพันธุ์โรบัสตา (หย่อมสีส้ม) ซึ่งกาแฟเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศบราซิลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน [ที่มาของภาพ : www.arcgis.com]
จากจุดเด่นต่าง ๆ ของประเทศบราซิล หากต้องการติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับประเทศบราซิล ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลงทุนทางอุตสาหกรรมหรือการทำธุรกิจ การทำงานติดต่อกับคนบราซิล การย้ายไปอยู่อาศัยในบราซิล การศึกษาต่อในบราซิล การสมรสกับคู่สมรสคนบราซิล ก็จำเป็นที่จะเรียนรู้ภาษาโปรตุเกส ภาษาหลักที่ใช้ในประเทศแห่งนี้
เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลักที่มีประชากรมากที่สุด (211 ล้านคน ในปี ค.ศ.2020) จำนวนประชากรบราซิลจึงเป็นตัวผลักดันให้ภาษาโปรตุเกสกลายเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 6 ของโลก (ประมาณ 250 ล้านคน) และเป็นอันดับที่ 3 ของในบรรดาภาษาตะวันตกที่มีจำนวนประชากรผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากที่สุด (รองจากภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ)
แผนที่โลกแสดงจำนวนประชากรผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะเห็นว่าประชากรจากประเทศบราซิลสูงถึง 200.4 ล้านคน (ข้อมูลส่วนนี้ในแผนที่อาจเป็นข้อมูลเก่า) ถือว่าเป็นสัดส่วนประมาณ 4 ใน 5 (80%) ของประชากรผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสทั้งหมดทั่วโลก [ที่มาของภาพ : Universidade de Coimbra]
ผลสืบเนื่องจากประเทศบราซิลมีฐานะเป็นประเทศที่มีประชากรผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาแม่มากที่สุด ทำให้เมื่อกล่าวถึง “ภาษาโปรตุเกส” ตามแหล่งเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสนั้น แม้หลายคนจะเข้าใจว่าเป็นภาษาโปรตุเกสที่พูดในประเทศโปรตุเกส (“ภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรป” (European Portuguese)) แต่ในความเป็นจริงแล้ว สื่อการเรียนและตำราเรียนภาษาโปรตุเกสส่วนใหญ่กลับเป็น “ภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล” (Brazilian Portuguese) ซึ่งกรณีภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรป-ฝั่งบราซิล จะค่อนข้างคล้ายกรณีภาษาอังกฤษ ที่สามารถหาสื่อหรือตำราที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันง่ายกว่าภาษาอังกฤษแบบบริติช เนื่องจากปัจจัยดังนี้...
- จำนวนประชากร (จำนวนประชากรบราซิลมากกว่าโปรตุเกส 20 เท่า จำนวนประชากรสหรัฐฯ มากกว่าสหราชอาณาจักรเกือบ 5 เท่า)
- ขนาดเศรษฐกิจ (GDP โดยรวมของบราซิลเป็น 9 เท่าของโปรตุเกส ขณะที่ GDP โดยรวมของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 7 เท่าของสหราชอาณาจักร)
- บทบาทของประเทศในเวทีโลก (บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคละตินอเมริกา)
คอร์สเรียนภาษาต่าง ๆ ผ่านภาษาอังกฤษบน Duolingo เวบไซต์และแอพเรียนภาษาฟรี (https://www.duolingo.com/courses) ซึ่งแสดงภาษาที่เปิดสอนพร้อมจำนวนผู้เรียน (เครื่องหมายถูกในช่องสีเขียว แสดงภาษาที่ผู้ใช้งานกำลังเรียนหรือเคยลงเรียน) จะเห็นได้ว่าคอร์สภาษาโปรตุเกสบน Duolingo มีผู้เรียน 2.36 ล้านคน ซึ่งคอร์สนี้เป็นสอนภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล [ภาพนี้จากเวบไซต์ Duolingo ต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ.2021]
หนังสือเรียนภาษาโปรตุเกสจากซีรีส์ตำราเรียนภาษาต่างประเทศ "Teach Yourself Complete..." ของสำนักพิมพ์ Hodder Education และ McGraw-Hill Education ที่เจ้าของบล็อก ("หนุ่มมาเก๊า") มี จะเห็นว่าแบ่งเป็นสองแบบคือ หนังสือ Complete Brazilian Portuguese (เล่มซ้าย) ที่เน้นภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล และ Complete Portuguese (เล่มขวา) ที่ครอบคลุมเนื้อหาภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรปด้วย
หนังสือเรียนภาษาโปรตุเกสจากซีรีส์ตำราเรียนภาษาต่างประเทศ "Colloquial" ของสำนักพิมพ์ Routledge ที่เจ้าของบล็อก ("หนุ่มมาเก๊า") มี จะเห็นว่าแบ่งเป็นสองแบบคือ หนังสือ Colloquial Portuguese of Brazil (เล่มซ้าย) ที่เน้นภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล และ Colloquial Portuguese (เล่มขวา) ที่เน้นภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรป
ดังนั้น หากจะเรียนภาษาโปรตุเกสผ่านสื่อการเรียนรู้ออนไลน์หรือในตำรา ควรตรวจสอบก่อนว่าภาษาโปรตุเกสแบบที่ใช้เรียนสอดคล้องกับความต้องการของเราหรือไม่ ระหว่างภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรปกับฝั่งบราซิล และการเลือกเรียนภาษาโปรตุเกสฝั่งใดนั้น อาจขึ้นกับความสนใจของเรา การไปศึกษาต่อ การแต่งงาน หรือปัจจัยอื่น เช่น...
- ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม: ภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรปเคยเป็นภาษาทางการทูตที่สยามใช้ติดต่อกับชาติตะวันตกตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บทบาทของโปรตุเกสในประวัติศาสตร์ไทย และชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ถ้าหากทำงานด้านดนตรีแล้วต้องเกี่ยวข้องกับดนตรีแนวละตินอเมริกาทางฝั่งบราซิล ก็ต้องเจอกับภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิลตามเนื้อเพลง
- การทำงานด้านการท่องเที่ยว: จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุสถิติผู้เดินทางเข้าประเทศไทย พบว่าเป็นชาวโปรตุเกสเกือบ 51,000 คน (ค.ศ.2018) และชาวบราซิลเกือบ 84,000 คน (ค.ศ.2017 ถือเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวอันดับ 1 จากภูมิภาคละตินอเมริกา) และจากสถิติผู้เดินทางชาวไทยในต่างประเทศ พบว่าไปโปรตุเกสมากกว่า 12,000 คน (ค.ศ.2018) และบราซิลประมาณ 5,000 คน (ค.ศ.2016)
- การทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศ: จากข้อมูลมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ (รวมการนำเข้าและการส่งออก) ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทย-โปรตุเกสอยู่ที่ 235 ล้าน USD (ค.ศ.2017) ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างไทย-บราซิลอยู่ที่ 3,489 ล้าน USD (ค.ศ.2018) ซึ่งไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของบราซิลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบราซิลก็เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคละตินอเมริกา
ตามประวัติศาสตร์แล้ว แม้ว่าโปรตุเกสจะเริ่มเข้าปกครองบราซิลเป็นอาณานิคมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้นนับศตวรรษ ทางโปรตุเกสค่อยเริ่มส่งเสริมการใช้ภาษาโปรตุเกสในบราซิล เพื่อความมั่นคงสำหรับการปกครองอาณานิคมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งชาวบราซิลหันมาใช้ภาษาโปรตุเกสแพร่หลาย และภาษานี้กลายเป็นภาษาทางการของบราซิลในปี ค.ศ.1758
แผนที่ "Terra Brasilis" วาดโดย Lopo Homem และ Pedro Reinel นักทำแผนที่ชาวโปรตุเกสในปี ค.ศ.1519 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ Miller Atlas แผนที่ส่วนนี้แสดงข้อมูลพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของบราซิล ภาพวาดกองเรือโปรตุเกสนอกชายฝั่ง และภาพวาดกลุ่มชนพื้นเมืองบราซิลบนแผ่นดิน [ที่มาของแผนที่ : World Digital Library (https://www.wdl.org/en/item/18561/)]
แต่ด้วยระยะทางระหว่างสองดินแดนที่ห่างกันข้ามฝั่งมหาสมุทร และอิทธิพลจากปัจจัยอื่น ๆ ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางภาษาโปรตุเกสที่ใช้ในบราซิลจนกลายเป็นภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล เช่น
- การติดต่อสื่อสารระหว่างชาวโปรตุเกสกับกลุ่มชนพื้นเมือง
- การนำทาสจากทวีปแอฟริกาเข้ามาเป็นแรงงานทางการเกษตรโดยพ่อค้าน้ำตาลชาวโปรตุเกส ที่เริ่มต้นในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1550 จนเกิดวัฒนธรรม Afro-Brazilian ทางตอนเหนือของบราซิล การนำทาสจากแอฟริกาเข้ามาในบราซิลดำเนินไปจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (การเลิกระบบทาสในบราซิลเมื่อปี ค.ศ.1888)
ภาพวาดแสดงกลุ่มทาสภายในเรือขนบรรทุกทาสที่ออกจากแอฟริกามุ่งหน้าสู่บราซิล ที่ Johann Moritz Rugendas จิตรกรชาวเยอรมันที่เห็นเหตุการณ์วาดไว้ในปี ค.ศ.1830
- การอพยพเข้าบราซิลของคนชาติอื่นในยุโรป (สเปน อิตาลี เยอรมนี โปแลนด์) และเอเชีย (ญี่ปุ่น จีน เลบานอน) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการเลิกระบบทาสในบราซิล และความต้องการแรงงานทางการเกษตรเพื่อการส่งออกเมล็ดกาแฟในช่วงนั้น
- อิทธิพลของภาษาอังกฤษจากภายนอก (เช่น การติดต่อค้าขายกับสหรัฐฯ)
ภาพถ่ายกลุ่มผู้อพยพคนอิตาลีที่เพิ่งมาถึงบราซิล บริเวณที่พักผู้อพยพ (Hospedaria dos Imigrantes) ในนครเซาเปาลู ปัจจุบันอาคารแห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์การอพยพรัฐเซาเปาลู ภาพนี้ถ่ายในปี ค.ศ.1890
ภาพถ่ายกลุ่มผู้อพยพคนญี่ปุ่นบนรถไฟที่จะออกจากท่าเรือ Santos มุ่งหน้าสู่นครเซาเปาลู ในปี ค.ศ.1935
หนึ่งในความแตกต่างระหว่างภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรปกับฝั่งบราซิลอยู่ที่การออกเสียง แต่เนื่องจากประเทศบราซิลมีพื้นที่กว้างใหญ่และประชากรมาก ภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศบราซิลเลยมีสำเนียงแตกต่างกันไป “ภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล” ที่กล่าวถึงนี้จะเป็นภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไปในประเทศ ยังไม่ได้อ้างอิงกับสำเนียงของภูมิภาคใดในบราซิล
แผนที่ประเทศบราซิลที่แสดงพื้นที่ที่ใช้ภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิลสำเนียงต่าง ๆ [ที่มาของภาพ : http://sociodialeto.com.br ]
หากเทียบระหว่างภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิลกับภาษาโปรตุเกสในดินแดนอาณานิคมโปรตุเกสแห่งอื่น ๆ แล้ว ภาษาโปรตุเกสตามดินแดนอดีตอาณานิคมโปรตุเกสในทวีปแอฟริกา (เช่น โมซัมบิก หรือแองโกลา) จะใกล้เคียงกับภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรปมากกว่าภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล ด้วยปัจจัยดังนี้
- อดีตอาณานิคมโปรตุเกสในแอฟริกาไม่ได้ติดต่อกับวัฒนธรรมอื่น ๆ จนมีผลต่อวิวัฒนาการของภาษามากเท่าบราซิล
- หากเทียบกับบราซิลที่เป็นอดีตอาณานิคมโปรตุเกสแห่งแรกที่ประกาศเอกราช (ค.ศ.1822) อดีตอาณานิคมโปรตุเกสเกือบทั้งหมดในแถบทวีปแอฟริกาและติมอร์แยกตัวเป็นเอกราชภายหลังนับร้อยปี (ค.ศ.1974-1975) อดีตอาณานิคมโปรตุเกสในแถบแอฟริกาจึงติดต่อและอาศัยโปรตุเกสในการพัฒนาช่วงแรก ๆ มากกว่า
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพถึงเรื่องราวของบราซิล ประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีประชากรผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสมากที่สุด จนทำให้ "ภาษาโปรตุเกส" เป็นภาษาที่มีผู้คนใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และ "ภาษาโปรตุเกส" ที่สอนในตำราหรือแหล่งเรียนรู้หลายแห่งเป็นภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล รวมถึงข้อมูลจากการแนะนำประเทศบราซิลและภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล ซึ่งอาจช่วยในการเลือกเรียนภาษาโปรตุเกสว่าจะเรียนภาษาฝั่งใด ระหว่างฝั่งยุโรปกับฝั่งบราซิลครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- Sue Tyson-Ward. Complete Brazillian Portuguese. London, UK: Hodder Education; 2010.
โฆษณา