7 มิ.ย. 2021 เวลา 02:32 • สัตว์เลี้ยง
สำหรับแนวทางการรักษานั้น เนื่องจากโรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษาเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ และการบำรุงร่างกายให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง โดยเน้นวิธีการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในอวัยวะที่มีเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelial cell) เช่น บาดแผลที่ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการรักษาจัดเป็นศาสตร์และศิลป์ และขึ้นอยู่กับเวชภัณฑ์ที่มี
1
โดยสรุปแนวทางการรักษามีดังนี้
ระยะที่ 1 มีไข้
1.ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ที่เน้นฤทธิ์ลดไข้ เช่น Dipyrone หรือ Tolfenamic acid หรือ Flunixin meglumine
2.ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรงโดยเฉพาะเป้าหมายที่เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น วิตามิน AD3E แบบฉีดหรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน
ระยะที่ 2 มีตุ่มที่ผิวหนัง
1.ให้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เน้นฤทธิ์ลดการอักเสบ เช่น Tolfenamic acid หรือ Flunixin meglumine และอาจพิจารณาให้ร่วมในการรักษากรณีที่ลูกสัตว์ที่แสดงอาการทางเดินหายใจ
2.ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรง โดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น วิตามิน AD3E แบบฉีด หรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน
*กรณีลูกโค หรือโคที่มีอาการทางเดินหายใจ บวมที่ลำคอ หายใจลำบาก และมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจพิจารณาเลือกให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Cephalosporin
ระยะที่ 3 ตุ่มที่ผิวหนังแตก
1.ให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างและออกฤทธิ์ได้ดีที่ผิวหนัง เช่น กลุ่ม Penicillin
2.ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่และยาป้องกันแมลงตอมวางไข่ที่แผล เช่น การใช้ Gentian violet ร่วมกับยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันหรือยาสมุนไพรทากีบ
3.ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เน้นออกฤทธิ์ลดการอักเสบ เช่น Tolfenamic acid หรือ flunixin meglumine กรณีที่ลูกสัตว์มีอาการทางเดินหายใจ อาจพิจารณาให้ยาลดการอักเสบ flunixin meglumine (เพื่อช่วยลดผลกระทบจาก endotoxin จากการติดเชื้อแบคทีเรีย)
4.ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรง โดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่มีเซลล์เยื่อบุผิว เช่น AD3E
*กรณีลูกโคหรือโคที่มีอาการทางเดินหายใจ คอบวมหายใจลำบาก และมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจพิจารณาเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เช่น Cephalosporin
ระยะที่ 4 แผลเริ่มหาย
1.ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่และยาป้องกันแมลงวันตอมวางไข่ที่บริเวณแผล เช่น การใช้ Gentian violet ร่วมกับยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันหรือยาสมุนไพรทากีบ
2.ให้วิตามิน AD3E และในกรณีแม่พันธุ์ที่ใกล้หายแล้วให้แร่ธาตุซิลิเนียม เพื่อช่วยเสริมสุขภาพของระบบสืบพันธุ์และการทำงานของเม็ดเลือดขาว
หมายเหตุ : การรักษาให้พึ่งระวังผลข้างเคียงและฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของยาแต่ละชนิด โดยเฉพาะยากลุ่ม NSAIDs การใช้ติดต่อกันนานๆ จะก่อให้เกิดความระคายเคืองในทางเดินอาหาร และเป็นอันตรายต่อตับและไต รวมทั้งข้อจำกัดการใช้ Tolfenamic acid ในสัตว์อายุน้อยและไม่ควรใช้ในสัตว์ท้อง และให้มีการงดส่งนมหรือบริโภคตามระยะการตกค้างของยาในเอกสารกำกับยา
1
โฆษณา