12 มิ.ย. 2021 เวลา 03:00 • หนังสือ
ในกรงแก้ว (The Bell Jar)
เคยรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกไหมคะ?
ไม่ว่าเราจะพยายามเข้าไปอยู่ในจุดศูนย์กลางมากแค่ไหนก็ตาม แต่กลับรู้สึกว่าใครต่อใครก็ต่างหันหลังให้เสมอ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนตัวก็หดเหลือนิดเดียวจนไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง หากโดนเหวี่ยงด้วยกำลังอันน้อยนิดก็อาจทำให้ปลิวไปไกลจนหาทางกลับไม่เจอ
ชีวิตตอนนี้มันห่วยซะเหลือเกิน วางแผนอนาคตไว้ดิบดีแต่พอเวลานั้นมาถึงก็กลับไม่ได้รู้สึกดีดั่งใจที่เคยคิดไว้
ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา แต่พอไปอยู่ที่อื่นก็รู้สึกว่าตัวเองยังเป็นตัวประหลาดอยู่ดี หรือจริงๆ แล้วเป็นตัวเราเองที่ไม่เหมาะกับอะไรเลย
คุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนั้นหรอกนะ...
“เอสเทอร์ กรีนวูด” บัณฑิตสาวหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีอาการทางจิตเวชเจ็บป่วยภายในจิตใจที่ใครก็ไม่อาจมองเห็น หลงทางอยู่ในหุบเหวแห่งความคาดหวังจากคนรอบข้าง ถึงจะพยายามดิ้นรนหาทางออกสู่โลกใบใหม่สักเท่าไหร่ ก็ยังไม่เคยเฉียดใกล้อิสรภาพดั่งใจนึกได้แม้แต่ครั้งเดียว
ผลงานเรื่องเดียวของ “ซิลเวีย แพลท” นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ปี 1982 ถูกจัดขึ้นแท่นนิยายร่วมสมัยชิ้นเยี่ยม นำเสนอความเปราะบางของจิตใจมนุษย์ที่ต้องก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลง ความต้องการ และความคาดหวังจากสังคมต่อความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ
พื้นที่สำหรับปลดปล่อยความหดหู่และผิดหวัง ไม่ต้องกว้างมาก แค่ได้ถ่ายเทมันออกบ้างก็ยังดี...
ในกรงแก้ว (The Bell Jar) นับว่าเป็นหนังสือ favourite อีกเล่มตลอดกาลสำหรับเรา ทุกช่วงขณะที่อ่านจะได้รับความรู้สึกว่าความคิดของตัวละครได้อธิบายสิ่งที่คล้ายกับความรู้สึกของเราในหลายๆ ด้าน มีการถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือในแง่การเสียดสีอันเจ็บแสบ สอดไส้การเปรียบเปรยตลอดทั้งเล่ม และสิ่งที่ชอบที่สุดคือภาษาสวยมาก ไม่ว่าเรื่องราวจะหดหู่ โศกเศร้า จมดิ่งขนาดไหนแต่ยังมีประโยคสวยๆ ชวนสุนทรีย์ให้ได้ดื่มด่ำตลอดการอ่าน หากใครที่ชอบการอ่านบทกวีก็แนะนำให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้นะคะ
“ซิลเวีย แพลท” เขียนผลงานชิ้นนี้ผ่านมุมมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ในยุคนั้นยังถูกมองว่าเป็นคนบ้า เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังเรื่องความเห็นอกเห็นใจในเนื้อเรื่องมากนัก
อ่านคำโปรยแล้วเนื้อเรื่องน่าสนใจ ต้องหามาเป็นของตัวเองแล้ว...
เป็นความรู้สึกของเราตอนตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ แต่สุดท้ายดองทิ้งไว้เป็นปีกว่าจะได้หยิบออกมาอ่านต้องปัดฝุ่นกันเลยทีเดียว แถมกว่าจะละเมียดละไมอ่านจนจบก็ใช้เวลานานเอาการ จำได้ว่าตอนที่อ่านเล่มนี้ต้องพักไปอ่านหนังสือเล่มอื่นเพื่อสลับอารมณ์อยู่หลายเล่ม
บางช่วงบางตอนการพลิกกระดาษเปลี่ยนหน้าก็ทำให้เรารู้สึกกลัวจนต้องเปลี่ยนเป็นปิดหนังสือแทน อย่างที่บอกว่าเรารักงานชิ้นนี้ค่ะ แต่ในความรักนั้นมันเต็มไปด้วยอารมณ์ที่หนักหน่วงและเจ็บปวดปะปนอยู่ด้วยกัน
สิ่งที่เราอยากบอกคือถ้าใครมีความลังเลหรือวิตกกังวลที่จะอ่าน ในกรงแก้ว (The Bell Jar) ก็ควรหยุดพักแล้ววางทิ้งไว้แบบนั้น ให้สภาพจิตใจกลับเข้าสู่โหมดปกติก่อนค่อยกลับมาอ่านก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสค่ะ เมื่อพร้อมและกลับมาไล่เรียงอ่านถึงตอนจบอาจจะรักหนังสือเล่มนี้เพิ่มขึ้นอีกก็ได้นะคะ
*เนื้อหาต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วน
ถ้าต้องให้เลือกว่าชอบส่วนไหนของเนื้อเรื่องเราตอบได้ทันทีเลยค่ะว่าชอบช่วงเริ่มต้นที่สุด (ชีวิตในนิวยอร์ก) เรื่องราวจะค่อยๆ ไล่ระดับความดิ่งลงเรื่อยๆ เป็นเลเวลผ่านประเด็นความสับสน ว่างเปล่า สู่ความทุกข์ทรมานไปจนเข้าประเด็น suicide ซึ่งต้องใช้อารมณ์ซึมซับระหว่างอ่านพอสมควร
อีกสิ่งที่เรามองว่าหนังสือเล่มนี้แตกต่างจากเล่มอื่นๆ คือผู้เขียนมีการใช้คำเปรียบเปรยในเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก แบบซ้ำๆ จนทำให้เรารู้สึกว่าแม้เอสเทอร์จะไม่ได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเองตรงๆ แต่เธอคิดถึงเรื่องความตายอยู่ตลอดเวลา หากซึมเศร้าขั้นรุนแรงผู้ป่วยจะคิดถึงการ suicide แต่เมื่อเป็นตัวละครเอสเทอร์จะพรรณนาถึงหลุมศพหรือป้ายหลุมศพ อะไรทำนองนี้ซ้ำหลายบทหลายตอน ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นการเล่นสําบัดสํานวนที่สวยงามของ “ซิลเวีย แพลท” จะไม่เอ่ยชมได้ยังไงกัน
เรื่องเริ่มต้นที่ “เอสเทอร์ กรีนวูด” กำลังฝึกงานภาคฤดูร้อนกับนิตยสารในนิวยอร์ก เธอเกลียดชีวิตของตัวเอง รู้สึกแปลกแยกและต่อต้านทุกสิ่งอย่างรอบตัวไปหมด แต่ก็จำใจต้องแบกรับสิ่งที่สังคมวาดและคาดหวัง
ฉากที่เรายกให้เป็นที่สุดคือวันที่เอสเทอร์ได้อยู่ในนิวยอร์กวันสุดท้ายก่อนจะต้องย้ายกลับบ้าน เธอแอบย่องขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าของโรงแรมพร้อมกับหอบห่อผ้าที่มีเสื้อผ้าทั้งหมดขึ้นไปด้วย จากนั้นจัดการโปรยชุดทั้งหมดไปในอากาศให้ปลิวว่อนไปตามกระแสลม พอนึกเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วมันทั้งดูเหงา โดดเดี่ยว แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความสวยงามควบคู่ไปด้วยกัน
เรามองว่าเอสเทอร์ต้องการจะสื่อว่าตัวเองไม่เหมาะกับเมืองนิวยอร์ก การโยนเสื้อผ้าทิ้งทั้งหมดก็เหมือนการบอกลาชีวิตที่นี่ เพราะเสื้อผ้าทุกชิ้นคือเครื่องปกคลุมร่างกาย เทรนแฟชั่นและกระแสนิยมของยุคสมัยในตอนนั้น ซึ่งมักจะถูกถ่ายทอดมากับวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่
“ฉันเลี้ยงลมราตรีให้อิ่มหนำด้วยเสื้อผ้าทีละชิ้น เศษผ้าสีเทาทั้งหลายลอยเคว้งข้ามขอบฟ้าราวกับเถ้ากระดูกของสุดที่รัก ไปตกกลางใจอันมืดมิดแห่งมหานครนิวยอร์กที่ฉันไม่รู้จัก” - เอสเทอร์ กรีนวูด
บทท้ายเล่มมีการสรุปประเด็นฉากสำคัญบางตอนของเนื้อเรื่องไว้ สำหรับใครที่คิดว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยาก ไม่เข้าใจ เปรียบเปรยเยอะเหลือเกิน บทท้ายที่ว่าคือตัวช่วยที่จะทำให้ความกังวลคลี่คลายหายห่วงไปได้เปราะหนึ่งค่ะ
ในกรงแก้ว (The Bell Jar) ปิดท้ายจบลงอย่างสวยงามแบบปลายเปิด ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้อ่านซึ่งมีความคิดหลากหลายไปตามแต่ละบุคคล อาจประทับใจหรือไม่ประทับใจในผลงานชิ้นนี้ หรืออาจมีฉากที่ชื่นชอบ มีประโยคโดนใจที่แตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างจากการวิเคราะห์ส่วนบุคคล ใครที่อ่านจบแล้วมีความคิดเห็นยังไงแวะมาแชร์กันได้นะคะ
ในกรงแก้ว (The Bell Jar)
ผู้เขียน Sylvia Plath
ผู้แปล เจนจิรา เสรีโยธิน
สำนักพิมพ์ Library House
จำนวน 272 หน้า
#ในกรงแก้ว #TheBellJar #รีวิวหนังสือ #almostmidnight #กระซิบบอกต่อหนังสือเล่มนี้มีอะไร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา