20 มิ.ย. 2021 เวลา 09:00 • หนังสือ
เงียบ (Silence : In the Age of Noise)
“ความเงียบ” แค่พูดถึงก็รู้สึกอึดอัดแล้ว คนเราจะอยู่ในห้องเงียบๆ ลำพังได้นานสักกี่นาทีกัน หรือหากการต่อบทสนทนากับใครสักคนแล้วเกิดความเงียบขึ้นท่ามกลางระหว่างนั้นจะรู้สึกยังไง
แทบมองไม่เห็นข้อดีของความเงียบเลย...
อันที่จริงแล้ว “ความเงียบ” มีอะไรดีๆ อย่างนั้นหรือ ผู้ที่จะขยายความสิ่งน่าค้นหานี้ได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ตกอยู่ในความเงียบมาเป็นเวลามากพอ
แล้วนานแค่ไหนถึงจะเข้าอกเข้าใจถึงความเงียบได้?
ต้องไร้ซึ่งเสียงขนาดไหนถึงจะเรียกว่าเงียบ?
Erling Kagge ชาวนอร์เวย์นักสำรวจคนแรกของโลกที่เดินกว่าแปดร้อยไมล์ไปยังขั้วโลกใต้ตามลำพัง และเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่พิชิต “สามขั้วโลก” คือ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์
การเดินทางของ Erling Kagge นั้นต้องอยู่กับความเงียบสุดขั้วเป็นเวลานาน ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บเป็นเวลา 50วัน บนทวีปแอนตาร์กติกาสู่ขั้วโลกใต้ และอีก 55วัน บนอาร์กติกขั้วโลกเหนือโดยที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์เพื่อสร้างความเพลิดเพลินใดๆ ช่วงเวลาเหล่านั้นคงทำให้ Erling Kagge รู้สึกว่าเวลายาวนานกว่าความเป็นจริงเป็นทวีคูณ
ตลอดระยะเวลาแห่งการเดินทาง “ความเงียบ” และสถานที่ที่แทบปราศจากสิ่งมีชีวิตนั้นได้มอบอะไรให้กับ Erling Kagge บ้าง หนังสือ “เงียบ (Silence : In the Age of Noise)” จะบอกเล่าความคิดและความรู้สึกที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอโดยผ่านปึกกระดาษปกสวยเล่มนี้
ความรู้สึกหลังอ่านจบ...
ต้องบอกก่อนเลยว่าเราเป็นคนประเภท introvert ค่ะ ต้องการความเป็นส่วนตัวมากพอๆ กับต้องการความเงียบเลย เวลาทำงานหรือต้องใช้ความคิดหนักๆ สมองจะแล่นและทำงานได้ดีกับสภาวะแวดล้อมที่เงียบสงบเลยค่อนข้างเข้าใจเนื้อหาในหนังสือได้แม้ไม่ได้ไปอยู่ท่ามกลางทวีปแอนตาร์กติกาหรืออาร์กติก
1
โดยภาพรวมแล้วคิดว่า “เงียบ (Silence : In the Age of Noise)” เป็นหนังสือออกไปทางเชิงปรัชญาให้ความสำคัญและทำความรู้จักกับสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือหยิบยกมาเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ทำให้เราตระหนักและกลับมาสนใจกับสิ่งที่มีคุณค่าและหาง่ายได้มาแบบฟรีๆ
*เนื้อหาต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วน
หากยังเห็นภาพไม่ชัดว่าทำไมเรื่องของความเงียบถึงถูกหยิบมาเขียนจนเป็นหนังสือขายดีถูกแปลไปกว่า 33 ภาษา เนื้อหาต่อจากนี้เราจะมาเล่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือคร่าวๆ ให้อ่านไปพร้อมๆ กันค่ะ
บทแรกๆ ก็จะเป็นการเกริ่นนำผลงาน “เงียบ (Silence : In the Age of Noise)” ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการอธิบายเป็นเหตุการณ์แบ่งเป็นตอนย่อยๆ มากมายว่าตัวผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนบ้างและขณะช่วงเวลานั้น Erling Kagge ได้พบประสบการณ์ความเงียบในรูปแบบใด
“การต้องอยู่ในที่ห่างไกลไร้ผู้คนคำโกหกด้วยเจตนาดีและความจริงเพียงครึ่งเดียวที่เราพูดกันตลอดเวลาขณะอยู่ในโลกศิวิไลซ์นั้นดูไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงจากระยะทางห่างไกลขนาดนี้ - Erling Kagge”
ภาพประกอบจาก Erling Kagge
มีการพูดถึง “Noise” สังคมเมืองที่เต็มไปด้วยเสียงอึกทึกวุ่นวายและเทคโนโลยีโดยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียว่าเรานั้นให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชันกันมาก เวลาเบื่อหรือไม่มีอะไรทำก็จะหยิบมือถือออกมาเช็กความเคลื่อนไหวและลงเอยด้วยการอยู่กับมันไปเรื่อยๆ
Erling Kagge เล่าว่าเมื่อปี 1984 ตอนที่เดินทางกลับบ้านที่นอร์เวย์หลังล่องเรือไปแอฟริกาตะวันตกซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 8 เดือนในการเดินทาง แต่พอกลับมาก็พบว่าข่าวในหนังสือพิมพ์ยังคงมีเนื้อหาที่เกือบจะเหมือนเดิมแบบก่อนที่จะออกเดินทางหรือเมื่อ 8 เดือนก่อน ทำให้คิดได้ว่าเราใช้ช่วงเวลาซ้ำๆ เดิมๆ อันแสนธรรมดาเหล่านี้ไปนานเท่าไหร่กันนะ
ภาพประกอบจาก haraldur örn ólafsson
และอีกบทที่เราจะเอามาพูดถึงซึ่งเป็นบทที่เราชอบมากๆ นั่นคือบทที่ 11 ค่ะ นอกจาก Erling Kagge จะกล่าวถึงการใช้ชีวิตที่หลบหลีกจากเสียงแล้วยังมีการหยิบยกเรื่องของความงามจากพื้นที่ที่ไม่คาดคิดด้วย
เมื่อปี 2010 ตัวผู้เขียนและเพื่อน สตีฟ ดันแคน นักสำรวจเมืองได้ปีนขึ้นไปบนยอดสะพานวิลเลียมสบูร์กซึ่งต้องเดินผ่านอุโมงค์ใต้ดินของเมือง ทำให้ได้เห็นนิวยอร์กในแบบที่ไม่มีใครเคยเห็น ใต้อุโมงค์ใหญ่นั้นเหมือนกับที่รกร้างที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานเท่านั้น ไร้ความสวยงาม ไม่มีแม้อากาศบริสุทธิ์ เรื่องสีสันไม่ต้องพูดถึงมีแต่สีเทาและน้ำตาล แต่หลังจากที่นั่งพักกลับพบกับต้นไม้ต้นหนึ่งเบียดแทรกขึ้นตรงหน้าบ้านเก่าโทรม
ทำให้ Erling Kagge นึกถึงหนังสือชื่อ Here is New York อี.บี ไวท์ บรรยายถึงการดำรงอยู่ของเมืองนี้ขณะเฝ้ามองต้นไม้ ชีวิตภายใต้ความลำบาก เติบโตผ่านอุปสรรค ชำแรกขึ้นท่ามกลางคอนกรีต และไขว่คว้าหาดวงตะวันอยู่เสมอ
ส่วนเรานึกถึงเพลิง YOU ของ LANY ค่ะ แวบเข้ามาในหัวทันทีทันใดเลย เพราะมีเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า a flower in the concrete, so beautiful and rare คล้ายกับที่ผู้เขียนกล่าวไว้ เราคิดว่าอะไรแบบนี้มันสวยงามมากๆ เช่นกัน
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับ ความเงียบ...
เราเดาว่า Erling Kagge ต้องการจะสื่อว่าความงามนั้นหาพบได้ทุกที่แม้ที่ที่เราคาดไม่ถึง ความเงียบก็เช่นเดียวกัน เราเข้าถึงความเงียบได้เมื่อเราตัดขาดจากโลกภายนอก ถึงจะอยู่ท่ามกลางความจอแจวุ่นวาย เราปิดกันสิ่งรบกวนต่างๆ ได้ถ้าเราพยายามมากพอ เราสามารถสร้างความเงียบในแบบเฉพาะของเราเองได้ และทุกคนต่างมีความเงียบเป็นของตัวเอง
1
ความคิดเห็นสุดท้ายที่เราอยากจะบอกผู้ที่เข้ามาอ่านทุกคนคือใช้ความเงียบในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความพอดีของแต่ละบุคคลจะดีที่สุดค่ะ อ้อแล้วก็ต้องขอชมรูปเล่มของหนังสือเพราะทำทุกอย่างออกมาได้สวยจริงๆ ค่ะ ทั้งหน้าปกและคุณภาพกระดาษดีเยี่ยมเหมาะกับการเก็บสะสมมากๆ
1
เงียบ (Silence : In the Age of Noise)
ผู้เขียน Erling Kagge
ผู้แปล วรรธนา วงษ์ฉัตร
สำนักพิมพ์ OMG
จำนวน 144 หน้า
#เงียบ #Silence #รีวิวหนังสือ #almostmidnight #กระซิบบอกต่อหนังสือเล่มนี้มีอะไร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา