11 มิ.ย. 2021 เวลา 14:09 • หนังสือ
A Man Called Ove ของ Fredrik Backman (แปลไทย: ชายชื่ออูเว) คือวรรณกรรมร่วมสมัยสัญชาติสวีเดน ที่น่าจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว เพราะช่วงที่ออกมาใหม่ ๆ (ประมาณห้าปีก่อน) บอกเลยว่าสดใหม่มาก ด้วยความตลกหน้าตาย เล่นกับข้อความระหว่างบรรทัด และหลอกล่อกับความรู้สึกคนอ่านจนเรียกได้ว่าเป็นโรลเลอร์โคสเตอร์ทางอารมณ์ หัวเราะสลับร้องไห้ สับไปสับมาเหมือนคนเสียจริต เป็นการตีแผ่ความบัดซบของชีวิตออกมาในรูปแบบของหนังฟีลกู้ด ซึ่งไม่ลดทอนความเศร้า แต่ใส่ความเข้าใจและความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้นจนรู้สึกเหมือนโดนหนังสือทั้งเล่มโอบกอดเอาไว้
ความจริงมาถึงยุคนี้ คนน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อของ บัคมัน ในระดับนึงแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เคยได้ยิน และไม่เคยอ่านงานของเขามาก่อน ลองอ่านไปพร้อมกับเราได้นะ ลุย
อูเว เป็นมนุษย์วัยเกษียณที่นิสัยเสียแถมน่ารำคาญ ทุกอย่างที่คิดที่ทำก็เหมือนจะขวางโลกไปหมด พูดง่าย ๆ คือทำตัวเป็นมนุษย์ลุงที่แสนน่าเบื่อ แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะบางครั้งเจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบของเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นครอบครัวยุคใหม่ที่ประกอบไปด้วยคุณแม่วัยสาวชาวอิหร่าน สามีทึ่มทือที่ทำงานในบริษัทไอที และบรรดาลูกสาวที่น่ารัก ไม่ใช่แค่หนึ่ง แต่ถึง 2.5 คน!!!
ยังไม่นับเจ้าแมวนั่นอีก ไล่เท่าไหร่ก็ไม่ไป น่าเบื่อจริง
2
การมาถึงของครอบครัวประหลาดนี้ จะทำให้อูเวต้องจับพลัดจับผลู ต้องออกไป เอ่อ ... ปฏิสัมพันธ์กับชีวิตชาวบ้านมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เขาได้หวนคิดถึงช่วงเวลาในอดีต เปิดหัวใจให้คนอ่านได้รับรู้ถึงความทรงจำที่เจ็บปวดและสวยงาม ซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใต้หน้าบูดเป็นตูดหมึกของลุงผู้นี้อย่างคาดไม่ถึง
หนังสือดีสำหรับเราไม่ใช่แค่หนังสือที่สนุก แต่ต้องเป็นหนังสือที่เรื่องราวติดอยู่ในใจ และทำให้เราได้สะท้อนคิด ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัวด้วย ซึ่งเล่มนี้ก็ทำให้เราได้คิดหลายเรื่องพอสมควร หลัก ๆ เลยคือสังคมสวัสดิการ ว่าทำไมระบบในประเทศสวีเดนมันถึงได้เจริญจังวะ คนแก่หรือคนพิการก็สามารถมีชีวิตที่ดี (ในระดับกายภาพ) ได้อะ
ถึงแม้ว่าหัวใจของเรื่องจะสื่อว่าการบริหารจัดการของรัฐบางอย่าง อาจทำให้มองข้ามองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ไปบ้างก็เหอะ แต่การที่ซอนย่าสามารถเป็นครูได้ หรือคนแก่ตัวคนเดียวอย่างอูเว เหมือนจะมีบ้านอยู่ มีชีวิตที่ดีได้หลังวัยเกษียณแบบนั้น มันก็ทำให้เรานึกถึงตัวเองเหมือนกันนะ ว่าแก่ตัวไปจะอยู่ยังไง 5555
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องของการรับมือกับความสูญเสีย และพลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้เราก้าวเดินต่อไปในวันที่มืดหม่น เราอ่านเรื่องนี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักความสูญเสียได้ดีเท่ากับตอนนี้ พอได้มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกเข้าอกเข้าใจความคิดของอูเวมากขึ้นเยอะมาก ทั้งความโกรธที่สะสมอยู่ในใจ ความเสียใจที่ไม่ว่าใครก็หยั่งไม่ถึง กลายเป็นเมสเสจบางอย่างที่มีความทัชใจแรงมาก พูดง่าย ๆ คือแม้เนื้อเรื่องออกจะสูตรสำเร็จอยู่สักหน่อย แต่รายละเอียดยิบย่อยที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดต่างหากที่ทำให้เล่มนี้มีความหมายกับคนอ่านอย่างล้นเหลือ
ตอนช่วงต้นเรื่องอาจจะต้องใช้เวลากับมันสักเล็กน้อย เพราะชีวิตของคนแก่อาจจะไม่มีอะไรหวือหวามากนัก อย่างมากก็บ่นไปบ่นมากับชีวิตคนรุ่นใหม่ ออกไปกวาดหน้าบ้านก็บ่นนิติบ้างอะไรบ้าง ฯลฯ พุดง่าย ๆ คือ 75 หน้าแรกจะเป็นจุดวัดใจ เพราะแม่งน่าเบื่อมากกกก เบื่อเหมือนมีลุงมาด่ากรอกหูให้ฟังผ่านหน้ากระดาษ แต่ความตลกมันจะเริ่มจะฉายแววออกมา เมื่ออูเวต้องออกไปปะทะคารมกับเพื่อนบ้านจอมป่วนคนใหม่บ่อยขึ้น
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของเรื่อง หรือพระเอกตัวจริง อาจอยู่ที่ช่วง flashback ต่าง ๆ ที่บางช่วงก็แสนจะอบอุ่นจนร้อน แต่ในขณะเดียวกันบางช่วงก็แสนจะเยียบเย็นและบีบคั้น ชวนให้เสียน้ำตาไปกับความบัดซบของชีวิต และประทับใจเรื่องของความรักที่ลุงมีต่อซอนย่า ภรรยาที่เพิ่งเสียไป โรแมนติกสัส ๆ อะบอกเลย
สรุปคือ อ่านได้ก็อยากให้อ่าน ฉบับภาษาอังกฤษไม่ยากมาก (แต่อาจจะงง ๆ หน่อย เพราะเป๋นสำนวนที่แปลจากภาษาสวีเดนอีกที) ฉบับภาษาไทยก็มีแปลแล้ว แถมหน้าปกก็น่ารักมุบมิบ ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
โฆษณา