11 มิ.ย. 2021 เวลา 15:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปประเด็นสำคัญหนังสือ "The Intelligent Investor" คัมภีร์ไบเบิลแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า สิ่งที่ เบนจามิน เกรแฮม อยากบอกคุณมาตลอด 72 ปี
หนังสือปกแดงเล่มหนาสุดๆที่มีชื่อว่า “The Intelligent Investor” หรือ "คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า" ในฉบับแปลภาษาไทย ผู้เขียนเชื่อว่าเหล่านักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกทั้งมือใหม่และมือเก๋าต่างต้องเคยคุ้นหูคุ้นตากับหนังสือหน้าปกสีแดงสด น้ำหนักราวกับโบกปูนซีเมนต์ ความยาวกว่า 800 หน้าเล่มนี้แน่นอน
และผู้เขียนยังเชื่ออีกว่ายังมีนักลงทุนจำนวนมาก อาจจะเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำที่ยังไม่เคยได้ลองอ่าน ไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะไม่เคยรู้จักหนังสือเล่มนี้มาก่อน หรือรู้จักแถมยังซื้อหามาเก็บครอบครองไว้ในกองดองซะด้วย แต่แล้วก็ยังไม่ได้เริ่มต้นละเมียดละไมกับตัวอักษรสักที อาจเพราะเมื่อเห็นความหนาปานก้อนอิฐของหนังสือเล่มนี้ก็พาลให้ถอดใจ โยนทิ้งความทุ่มเทพยายามที่จะไต่เต้าไปสู่การเป็นนักลงทุนวีไอเต็มตัวให้สมภาคภูมิ
1
หนังสือ "คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า" ถูกเขียนขึ้นโดย เบนจามิน เกรแฮม ศาสดาแห่งการลงทุนหุ้นแนววีไอที่นักลงทุนหุ้นทั่วโลกต่างยอมรับนับถือในทักษะความสามารถด้านการลงทุนในตลาดทุน เขาเขียนหนังสือเล่มนี้และนำออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1949 จากนั้นก็มีการปรับปรุงแก้ไขและพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1972 ก่อนที่เกรแฮมจะลาจากโลกนี้ไปตลอดกาลในอีกไม่กี่ปีต่อมา หนังสือเล่มนี้คงเป็นหนังสือเพียงไม่กี่เล่มในโลกของน้ำหมึกตัวอักษรที่ยังคงถูกตีพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยมาตลอดช่วงระยะเวลายาวนานจนถึงปัจจุบันกว่า 72 ปี
หากคุณเป็นนักลงทุนในหุ้นที่เพิ่งจะย่างเท้าเหยียบย่ำเข้ามาในแวดวงการเงินอันแสนโหดร้าย และป่าวประกาศถามไถ่นักลงทุนผู้คร่ำหวอดเจนโลกทั้งหลายว่า "หากฉันอยากเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาดและมั่งคั่งร่ำรวย" หรือ "ฉันจะอยู่รอดปลอดภัยในดงเสือหิวอันสุดแสนอันตรายแห่งโลกการลงทุนนี้ได้อย่างไร" แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยของนักลงทุนผู้มั่งคั่งมากด้วยประสบการณ์ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อนคุณจะต้องแนะนำหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสือด้านการลงทุนที่คุณต้องมีมันวางไว้บนหัวนอน ไม่ว่าคุณจะหยิบมาอ่านแล้วนำไปยึดเป็นแนวทางเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคมากมายในโลกการลงทุนที่มีอนาคตเป็นเดิมพันหรือไม่ก็ตาม และวันนี้ผู้เขียนจะมาสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญให้คุณผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับองค์ความรู้ที่ไม่เคยล้าสมัย
The Intelligent Investor
• สำหรับนักลงทุนเชิงรับ
อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนเชิงรับควรคาดหวังนั้นขึ้นอยู่กับระดับความพยายามศึกษาหาความรู้ที่นักลงทุนเต็มใจทุ่มเทให้แก่กิจกรรมการลงทุนของพวกเขา อัตราผลตอบแทนสูงๆนั้นควรสงวนไว้ให้แก่นักลงทุนเชิงรุกผู้ตื่นตัวซึ่งทุ่มเททั้งทักษะ การศึกษา และเวลามากมายให้แก่กิจกรรมการลงทุน เพื่อให้เข้าใจถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ คุณลองจินตนาการถึงสถานการณ์ต่างๆรอบตัวคุณเองว่ามันจะส่งผลตอนไหน เปลี่ยนแปลงเมื่อไร (วิถีชีวิต, เป้าหมายทางการเงิน) และจะส่งผลต่อความต้องการเงินสดของคุณอย่างไร?
ง่ายที่สุดคือคุณอาจแบ่งเงินเพื่อไปลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เป็นสัดส่วนเท่าๆกัน (50:50) ซึ่งสัดส่วนนี้ยืดหยุ่นได้ แต่ต่ำสุดควรอยู่ที่ 25% และสูงสุดควรอยู่ที่ 75% วิธีที่ง่ายที่สุดคือการลงทุนผ่านกองทุนรวมดีๆแทนการสร้างพอร์ตการลงทุนด้วยตนเอง และใช้การ DCA เป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส หากคุณมีเงินก้อนใหญ่มากๆก็อาจจะใช้บริการกองทุนส่วนบุคคลหรือว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินก็ได้ (ต้องเลือกให้ดี)
อย่างน้อยที่สุดคุณควรมีการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งตราสารหนี้ระยะกลางเป็นตัวเลือกที่ง่ายที่สุด เนื่องจากคุณจะได้ไม่ต้องคอยคาดเดาทิศทางของอัตราดอกเบี้ย กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลางเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆทั้งทางด้านการกระจายความเสี่ยงและค่าธรรมเนียมต่ำ และหากคุณอยากลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็ไม่ควรเกินไปกว่า 10% จากเงินลงทุนในตราสารหนี้ทั้งหมด
ทองคำสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้เสมอในระยะยาว มองหากองทุนรวมทองคำที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ค่าธรรมเนียมต่ำ จำกัดการลงทุนเช่นนี้ไม่ให้เกินกว่า 2% ของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของคุณ หรือไม่เกิน 5% หากคุณมีอายุมากกว่า 65 ปี
เพื่อปกป้องเงินของคุณจากเงินเฟ้ออีกขั้นหนึ่ง ให้จัดสรรสินทรัพย์เพื่อการเกษียณอายุอย่างน้อย 10% มาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ง่ายที่สุดคือการลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
แผนการ DCA ทุกเดือนหรือทุกไตรมาสจะสมบูรณ์แบบที่สุดเมื่อคุณลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี มันจะทำให้คุณได้ครอบครองหุ้นหรือตราสารหนี้ที่ควรค่าแก่การถือ ซึ่งแผนการนี้จะทำให้คุณมีวินัยไม่ว่าตลาดจะอยู่ในสภาวะขึ้นหรือลง
1
จากสินทรัพย์การลงทุน 100% การที่คุณนำเงิน 60% ไปลงทุนกองทุนรวมดัชนีในประเทศที่คุ้นเคยซึ่งคุณใช้ชีวิตอยู่ นำอีก 20% ไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ และอีก 20% นำไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่าคุณได้ลงทุนในเกือบทุกสิ่งที่ควรค่าแก่การถือครองบนโลกใบนี้
1
หากช่วงระยะเวลาในการลงทุนของคุณยาวนานกว่า 20 – 30 ปี แนวทางการลงทุนที่สมเหตุสมผลมีเพียงหนทางเดียวก็คือการซื้อหุ้นในจำนวนเงินเท่าๆกันทุกเดือนผ่านกองทุนรวมดัชนี คุณจะขายเงินลงทุนออกมาก็ต่อเมื่อต้องการเงินสดหรือบรรลุเป้าหมายทางการเงินแล้วเท่านั้น กองทุนรวมดัชนีซึ่งถือหุ้นทุกตัวในตลาดอยู่ตลอดเวลาและไม่ได้คัดเลือกหุ้นที่ดีที่สุดหรือหลีกเลี่ยงหุ้นที่แย่ที่สุดจะสามารถเอาชนะกองทุนรวมส่วนใหญ่ได้เสมอในระยะยาว การถือกองทุนดัชนีไว้นานอย่างน้อย 20 ปี และเพิ่มเงินลงทุนใหม่เข้าไปทุกๆเดือนจะทำให้คุณเอาชนะนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ได้
4
การวิเคราะห์ความเสี่ยงของกองทุนรวมก็ทำเพียงแค่เข้าไปอ่านในหนังสือชี้ชวนเพื่อดูกราฟแท่งที่แสดงตัวเลขการขาดทุนสูงสุดในหนึ่งไตรมาส หากคุณไม่สามารถยอมรับผลขาดทุนขนาดนั้นได้ให้มองหากองทุนอื่นแทน คุณควรหากองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำและมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ จากนั้นจึงค่อยไปดูการจัดอันดับใน Morningstar สุดท้ายแล้วจึงดูอัตราผลตอบแทนของกองทุนย้อนหลัง หลีกเลี่ยงกองทุนที่ให้ผลตอบแทนแย่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อผลงานแย่ๆนั้นมีค่าใช้จ่ายต่อปีที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
1
หากคุณไม่พร้อมที่จะถือกองทุนรวมเอาไว้ให้นานอย่างน้อย 3 ปี คุณก็ไม่ควรซื้อมันมาตั้งแต่แรก ความอดทนและมีวินัยเป็นสิ่งทรงพลังที่สุดสำหรับผู้ลงทุนในกองทุนรวม การปรับสมดุลสัดส่วนพอร์ตการลงทุน (Rebalancing) จะช่วยปลดปล่อยพลังอันล้นเหลือของนักลงทุนในความพยายามที่จะแห่ตามฝูงชน หากคุณลงทุนอย่างถูกทิศถูกทาง คุณก็จะได้รับความสุขใจเมื่อได้ทำบางสิ่งที่สวนทางคนส่วนใหญ่
กฎเกณฑ์สำหรับนักลงทุนเชิงรับมีด้วยกันสามข้อคือ ความปลอดภัย, ความง่าย, และผลตอบแทนอันน่าพึงพอใจทั้งในเชิงคณิตศาสตร์และเชิงจิตวิทยา
• เมื่อนักลงทุนเชิงรับต้องการลงทุนหุ้นรายตัว
1. บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอ
2. บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง สินทรัพย์หมุนเวียนควรจะสูงเป็นสองเท่าของหนี้สินหมุนเวียน
3. จ่ายปันผลต่อเนื่องยาวนานมาแล้ว 10-20 ปี
4. ไม่มีผลขาดทุนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
5. EPS เพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งในสามตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
6. P/BV ไม่สูงเกินกว่า 1.5 เท่า
7. P/E น้อยกว่า 15 เท่า คำนวณจาก EPS เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง
8. P/E x P/BV ไม่ควรเกิน 22.50
คุณควรซื้อแต่ตราสารหนี้คุณภาพสูงและหุ้นบริษัทชั้นนำเท่านั้น รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ ต้องมั่นใจว่าราคาที่คุณจ่ายออกไปไม่อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดต่างๆ คุณอาจสร้างพอร์ตการลงทุนจากหุ้นที่อยู่ในดัชนีหลักของประเทศซึ่งผ่านกฎเกณฑ์เชิงปริมาณที่เราได้กล่าวไปแล้ว แบ่งสัดส่วนเงินลงทุนเป็นจำนวนเท่าๆกันเพื่อเข้าซื้อหุ้นแต่ละตัว อัตราผลตอบแทนที่คุณควรคาดหวังจากวิธีการเช่นนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี
ราคาหุ้นที่สูงเกินไปจะทำให้ราคานั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตในอนาคตของบริษัท และไม่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเพียงพอ P/E เฉลี่ยของพอร์ตการลงทุนควรอยู่ที่ไม่เกิน 12-13 เท่า
“เน้นการป้องกัน” คุณต้องสร้างความมั่นใจว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นของหุ้นอยู่ในระดับสูงกว่าราคาตลาดมาก สรุปคือมันต้องมีส่วนเผื่อเพื่อรองรับพัฒนาการเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ การคาดหวังต่ออนาคตของบริษัทไม่ได้สำคัญเท่าความเชื่อมั่นว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง
แนวทางการคาดการณ์อนาคตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงคุณภาพซึ่งวัดค่าไม่ได้ ส่วนแนวทางการป้องกันจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงปริมาณซึ่งเน้นไปที่ตัวเลขในงบการเงิน ตามประสบการณ์ของเรานั้นจะยึดมั่นต่อแนวทางเชิงปริมาณ เพราะเราต้องการความมั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มค่ากับเงินของเราที่วัดผลได้อย่างเด่นชัด สำหรับเราแล้วอนาคตนั้นไม่สามารถชดเชยปัจจุบันได้
คุณต้องมุ่งเน้นการกระจายความเสี่ยงมากกว่าการเลือกหุ้นรายตัว การนำเงินของคุณไปลงทุนในหุ้นหลายๆตัว และหลายๆอุตสาหกรรมคือหลักประกันเพียงอย่างเดียวที่จะปกป้องคุณจากความผิดพลาด คุณต้องเดินทางสายกลางระหว่างการละเลยและการมุ่งเน้นมากเกินไป กองทุนรวมดัชนีคือเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นแบบไม่ต้องดูแลอะไรมาก ความพยายามใดๆที่นอกเหนือไปจากนี้ต้องอาศัยการศึกษาซึ่งจะมีความเสี่ยงและต้นทุนที่สูงขึ้น มันเกินกว่าความทุ่มเทของนักลงทุนเชิงรับ
• สำหรับนักลงทุนเชิงรุก
พอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยหุ้นสามัญทั้ง 100% จะเหมาะสมกับนักลงทุนที่กันเงินสดแยกออกมาในจำนวนที่มากเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของตัวคุณเองและครอบครัวเป็นเวลาอย่างน้อย 1 – 3 ปี การมีเป้าหมายว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องยาวนานไปอีก 20 ปีข้างหน้า และสามารถทนทานต่อวิกฤติเศรษฐกิจหรือภาวะตลาดหมีนั่นคือไม่ได้ขายหุ้นทิ้งออกไป กลับกันคือการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มในภาวะวิกฤติ สุดท้ายคือการมีเป้าหมายและแผนการลงทุนอันชัดเจนเพื่อควบคุมพฤติกรรมการลงทุนของคุณเอง
หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพต่ำ หุ้นสามัญที่เพิ่ง IPO และหุ้นซึ่งมีอดีตอันสวยงามแต่ปัจจุบันผลการดำเนินงานแย่ลงเรื่อยๆ คุณควรระมัดระวังหุ้นที่เพิ่ง IPO ให้ดี เพราะมักเกิดความพยายามเสนอขายในราคาแพงกว่าพื้นฐานเสมอ ดีสำหรับผู้ขาย แย่สำหรับผู้ซื้อ เราไม่แนะนำให้คุณซื้อตราสารหนี้ต่างประเทศและหุ้น IPO ในราคาที่เต็มมูลค่าหรือราคาพาร์ คุณควรเข้าซื้อในราคาถูกเท่านั้น นั่นคือระดับราคาไม่เกินสองในสามของมูลค่าพื้นฐานที่คุณประเมินออกมาได้
อย่าลงทุนในหุ้นโตเร็ว หากอนาคตอันสดใสนั้นได้สะท้อนอยู่ในระดับราคาตลาด ณ ปัจจุบันจนหมดสิ้นแล้ว เราเชื่อว่า P/E ของหุ้นโตเร็วไม่ควรมากกว่า 20 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิเฉลี่ย 7 ปีย้อนหลัง (และ P/E ไม่เกิน 25 เท่าสำหรับนักลงทุนเชิงรับ) การใช้กำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลังกลับไปหลายๆปีจะช่วยลดความผิดพลาดอันเกิดจากการที่คุณให้คุณค่าแก่บริษัทสูงเกินไป ตลาดหุ้นจะโหดร้ายที่สุดกับบริษัทเติบโตที่อยู่ๆก็รายงานผลกำไรที่ลดลง ความคาดหวังสูงๆจะนำไปสู่ความผิดหวังที่รุนแรงกว่าปกติในกรณีที่มันไม่เป็นไปตามคาด มันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
นักลงทุนในปัจจุบันต่างมุ่งเน้นไปที่การคาดการณ์อนาคตจนทำให้พวกเขาจ่ายเงินล่วงหน้าไปมากแล้ว และกลายเป็นว่าต่อให้สิ่งที่คาดการณ์ได้เกิดขึ้นจริงๆพวกเขาก็ยังไม่ได้กำไรอยู่ดี ในทางกลับกันหากเหตุการณ์ในอนาคตไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง คุณก็อาจจะต้องขาดทุนก้อนโตอย่างถาวร
นักลงทุนที่ฉลาดจะไม่สนใจหุ้นโตเร็วขนาดใหญ่ตอนที่พวกมันได้รับความนิยมสูง แต่จะเริ่มสนใจหุ้นเหล่านี้ก็ต่อเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดเกิดขึ้น
การที่จะสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าค่าเฉลี่ยได้ในระยะยาว คุณต้องมีคุณสมบัติสองข้อคือ มีความสมเหตุสมผล และมีแนวทางที่แตกต่างไปจากนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด มีแนวทางอยู่สองข้อที่เข้ากฎเกณฑ์เหล่านี้
1. บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับความนิยม ตลาดจะให้ราคาหุ้นที่ต่ำเกินจริงแก่บริษัทที่ไม่ได้รับความนิยม สาเหตุจากพัฒนาการเชิงลบอันเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว ราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผลกำไรในอดีต นักลงทุนเชิงรุกควรเริ่มต้นคัดกรองหาหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มกฏเกณฑ์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอื่นๆเข้าไป
2. ซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ราคาจะถูกอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมูลค่าพื้นฐานที่คุณประเมินได้นั้นสูงกว่าราคาตลาดอย่างน้อย 50% คุณอาจลองมองหาหุ้นที่ราคาร่วงลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบปี หุ้นในอุตสาหกรรมที่ถูกเทขายอย่างหนัก
การค้นหาหุ้นสามัญที่มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมีสองวิธี
1. การประเมินมูลค่า อ้างอิงจากการคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทในอนาคต และนำตัวเลขที่ได้มาคูณกับตัวคูณที่เหมาะสม
2. การพิจารณามูลค่าธุรกิจสำหรับผู้ซื้อนอกตลาด วิธีการนี้จะมุ่งเป้าไปยังมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ จุดเน้นจะอยู่ที่มูลค่า “Net nets” ซึ่งไม่ให้มูลค่ากับสินทรัพย์ถาวรเลย
การประเมินมูลค่าอย่างสมเหตุสมผลนั้นช่วยสนับสนุนความกล้าของคุณในยามที่ตลาดตกต่ำ จงลงทุนในสินทรัพย์ที่คุณมีความรู้ มีประสบการณ์เพียงพอ และน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของคุณ
เพื่อการกระจายความเสี่ยง คุณควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในต่างประเทศ การนำเงินสำหรับการลงทุนในหุ้นไม่เกินหนึ่งในสามไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศจะช่วยประกันความเสี่ยงในกรณีที่ประเทศของคุณไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุดในโลกแห่งการลงทุน
สุดท้ายแล้วเป้าหมายการลงทุนไม่ใช่การได้เงินมากกว่าค่าเฉลี่ย แต่เป็นการได้เงินในจำนวนที่มากพอต่อความต้องการของคุณซึ่งได้วางแผนไว้แล้ว วิธีการวัดความสำเร็จทางการลงทุนที่ดีที่สุดคือการพิจารณาว่าคุณมีแผนการลงทุนและวินัยซึ่งจะนำพาคุณไปสู่จุดหมายที่คุณต้องการแล้วหรือยัง?
การไม่กระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งที่โง่เขลา การเลือกหุ้นมาไม่กี่ตัวแล้วจะเจอแต่หุ้นดีๆเป็นเรื่องยากมาก การที่ในพอร์ตของคุณมีหุ้นมากตัวพอจะทำให้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งลดลง และโอกาสการได้หุ้นดีๆมาอยู่ในพอร์ตมีมากขึ้น
หากคุณเชื่อว่ามีหุ้นในตลาดจำนวนไม่น้อยถูกมองข้าม คุณก็อาจสามารถหากำไรจากราคาหุ้นที่ต่ำกว่าความเป็นจริงได้
• การวิเคราะห์หลักทรัพย์
คุณควรวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อธิบายลักษณะของธุรกิจ สรุปฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ระบุจุดแข็งและจุดอ่อน ศักยภาพและความเสี่ยง จากนั้นจึงประเมินศักยภาพการทำกำไรในอนาคตภายใต้สมมุติฐานที่หลากหลาย (คาดเดาอย่างดีที่สุด) รวมไปถึงการนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทหลายๆแห่ง หรือเปรียบเทียบกับบริษัทเดียวกันในอดีต
อย่าลืมว่ายิ่งการประเมินมูลค่านั้นอ้างอิงจากการคาดการณ์อนาคตมากขึ้นเท่าไร และอยู่บนพื้นฐานผลการดำเนินงานในอดีตน้อยลงเท่าไร โอกาสเกิดความผิดพลาดก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น การประเมินมูลค่าหุ้นเป็นการคาดการณ์ผลกำไรเฉลี่ยตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีข้างหน้าและนำค่าประมาณการดังกล่าวมาคูณกับตัวคูณที่เหมาะสม (Capitalization Factor) ซึ่งการประมาณการตัวเลขของบริษัทเป็นกลุ่มจะมีความน่าเชื่อถือกว่าการคาดการณ์แยกเป็นรายบริษัท คุณควรเลือกบริษัทออกมาสัก 3-4 แห่งที่คิดว่าจะสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำที่สุด
ความก้าวหน้าและความเสื่อมถอยของบริษัทโดยทั่วๆไปจะขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินการใหม่ๆที่คุณอาจวิเคราะห์ล่วงหน้าได้โดยการออกไปหาข้อมูล สัมภาษณ์ ศึกษาความก้าวหน้าด้วยตนเอง การให้ข้อสรุปจากการครุ่นคิดถึงอนาคตเพียงชั่ววูบเดียวเป็นเรื่องอันตราย และการยึดติดกับตัวเลขที่คาดการณ์ได้ก็อันตรายไม่แพ้กัน ความเสี่ยงเหล่านี้จะควบคุมได้ด้วยการปฏิเสธที่จะจ่ายค่าพรีเมี่ยมสูงๆสำหรับศักยภาพที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค คุณอาจตัดเกณฑ์เรื่อง Current Ratio ออกไป เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้และการเพิ่มทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทด้านการเงินนั้นแนะนำให้ใช้การเปรียบเทียบราคาหุ้นกับ P/E และ P/BV
ปัจจัยที่มีผลต่อตัวคูณ (Capitalization Rate)
1. อนาคตในระยะยาวของบริษัท คุณต้องมีมุมมองของตัวเองที่สมเหตุสมผล ซึ่งมุมมองนี้จะทำให้ค่า P/E ของบริษัทแต่ละแห่งแตกต่างกัน คุณควรอ่านรายงานประจำปีอย่างน้อย 5 ปีย้อนหลัง และรายงานรายไตรมาสอย่างน้อย 1 ปีย้อนหลัง วิเคราะห์งบการเงินเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า อะไรทำให้บริษัทแห่งนี้เติบโต? ผลกำไรในปัจจุบันและอนาคตของบริษัทมาจากแหล่งไหน?
ข้อควรระวังในการวิเคราะห์การเติบโตในอนาคต บางประเด็นก็คือบริษัทที่มีการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง การซื้อกิจการมากกว่า 2-3 แห่งต่อปีจะเป็นสัญญาณของปัญหาในอนาคต บริษัทต้องก่อหนี้และขายหุ้นเพิ่มทุนอยู่ตลอดเวลา การกระทำดังกล่าวจะแสดงอยู่ในส่วน “กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน” มันจะทำให้บริษัทแย่ๆดูเหมือนกำลังเติบโต แม้ว่าตัวธุรกิจจะไม่สามารถทำกำไรได้มากพอก็ตาม การซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไม่หย่อน ท้ายที่สุดแล้วบริษัทจะประสบกับปัญหาการเงินจนล่มสลายในที่สุดหาก “กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน” ติดลบอย่างต่อเนื่อง และ “กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน” เป็นบวกตลอดเวลา แสดงว่าบริษัทนั้นๆมีนิสัยใช้จ่ายเงินเกินตัว ซึ่งคุณควรจะหลีกเลี่ยงบริษัทเช่นนี้
ข้อมูลการซื้อกิจการจะอยู่ในส่วน “คำอธิบายและวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน” ในรายงานประจำปี จากนั้นคุณต้องตรวจสอบต่อไปในส่วน “หมายเหตุประกอบงบการเงิน” ที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง
บริษัทที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากลูกค้าเพียงรายเดียวจะมีความเสี่ยงสูงกว่า คุณต้องมั่นใจว่าบริษัทมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอันแข็งแกร่ง โดยวิเคราะห์ได้จาก แบรนด์ การผูกขาด การประหยัดจากขนาด ความยากในการหาสินค้าทดแทน หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอันมีลักษณะเฉพาะ ตรวจสอบด้วยว่าบริษัทเป็นนักวิ่งมาราธอนซึ่งมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตสม่ำเสมอมั่นคงมาตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตรวจดูงบการวิจัยและพัฒนาของบริษัท การไม่มีเลยหรือมีมากเกินไปจะเป็นความเสี่ยงพอๆกัน
2. คุณภาพของผู้บริหาร เราตั้งสมมติฐานว่าบริษัทชั้นเยี่ยมจะมีผู้บริหารชั้นยอด และมันจะสะท้อนออกมาในผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ตรวจสอบดูว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารสูงเกินไปรึเปล่า? หากสูงก็ควรจะมีเหตุผลดีๆรองรับ มิเช่นนั้นแล้วบริษัทแห่งนี้จะกลายเป็นการบริหารงานเพื่อผู้บริหาร ลองมองดูว่าพวกเขาเป็นผู้บริหารหรือนักขายฝัน ผู้บริหารที่ดีควรใช้เวลาไปกับกิจการของบริษัท ไม่ใช่มัวมานั่งขายฝันให้แก่นักลงทุน
 
ตั้งคำถามว่านโยบายทางบัญชีของบริษัทถูกกำหนดมาเพื่อความโปร่งใสหรือคลุมเครือ หากมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก และให้ความสำคัญกับ EBITDA มากกว่ากำไรสุทธิ เช่นนี้แล้วคุณอาจพบกับบริษัทที่ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก
1
ผู้บริหารต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหา และมีแผนการที่ชัดเจนสำหรับการจัดสรรกระแสเงินสดทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงผู้บริหารควรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แต่หากผู้บริหารพูดถึงแต่ราคาหุ้นมากกว่าตัวธุรกิจ คุณควรเลิกสนใจหุ้นของบริษัทนี้ไปเลย
ติดตามสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดไว้ในอดีตและปัจจุบัน เราต้องการผู้บริหารที่ซื่อสัตย์กับผู้ถือหุ้นและซื่อสัตย์กับตัวเองด้วย หากผู้บริหารพูดแต่สิ่งดีๆในขณะที่ธุรกิจประสบปัญหาควรระวังไว้ให้ดี ตรวจดูรายชื่อผู้บริหารแผนกต่างๆของบริษัท หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีแรกที่ CEO เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ จะถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขากำลังขจัดคนที่ไม่มีประโยชน์ออกไป
คุณต้องการผู้บริหารที่ตั้งเป้าหมายอยู่บนฐานความเป็นไปได้จริง และสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สร้างการเติบโตจากภายในไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ การเติบโตของผลกำไรอย่างมั่นคงสม่ำเสมอจะทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น
3. ความแข็งแกร่งทางการเงินและโครงสร้างเงินลงทุน บริษัทที่มีเงินสดจำนวนมากและไม่มีเงินกู้ยืมจะน่าสนใจมากกว่า ตรวจดูว่ากระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมารึเปล่า โดยทั่วไปแล้วบริษัทควรมีหนี้สินระยะยาวต่ำกว่า 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด ตรวจดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่าหนี้สินระยะยาวของบริษัทมีอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือลอยตัว (คงที่อาจจะดีกว่า) คุณอาจเริ่มอ่านงบการเงินจากหน้าหลังขึ้นมา อะไรที่บริษัทไม่อยากให้คุณเห็นจะอยู่ในหน้าท้ายๆเสมอ
อย่าซื้อหุ้นหากคุณยังไม่ได้อ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน เช่น นโยบายทางบัญชี การรับรู้รายได้ การบันทึกสินค้าคงเหลือ การตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สิน การให้เงินกู้แก่ลูกค้า สต๊อกออปชั่น คุณควรตื่นตัวเมื่อเจอคำว่า ตัดจำหน่าย รอตัดบัญชี ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนแปลง และอย่างไรก็ตาม หมั่นศึกษาเรื่องงบการเงินเพิ่มเติมอยู่เสมอ
บริษัทควรซื้อหุ้นคืนในระดับราคาถูกๆ ไม่ใช่ราคาเกือบจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มันจะกลายเป็นวิธีที่น่ารังเกียจซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้บริหารทำกำไรจากการขายหุ้นของตัวเอง
4. ประวัติการจ่ายเงินปันผล ต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา
1
อัตราการเติบโตควรเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ตลอดช่วง 7-10 ปีข้างหน้า คุณควรใช้อัตราการเติบโตที่ต่ำเข้าไว้สำหรับหุ้นโตเร็วและมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย การเพิ่มส่วนเผื่อเข้าไปจะทำให้คุณได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางแผนเอาไว้ คุณควรวิเคราะห์หุ้นของบริษัทที่คุณเองสามารถคาดการณ์อนาคตได้ค่อนข้างแน่นอนเท่านั้น
• วิเคราะห์ผลการดำเนินงานของบริษัท
1. ศักยภาพการทำกำไร / ROE สูงๆมักจะเกิดควบคู่กับอัตราการเติบโตสูงๆของ EPS สำหรับบริษัทผู้ผลิตสินค้า “อัตราส่วนผลกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขาย” เป็นค่าบ่งชี้ความแข็งแกร่งของบริษัท
2. ความมีเสถียรภาพ / เปรียบเทียบ EPS ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมากับ EPS เฉลี่ย 3 ปีล่าสุด เพื่อดูว่ามีการลดลงหรือไม่ หากไม่ลดลงจะถือว่าเป็นบริษัทที่มีเสถียรภาพเต็มร้อย
3. การเติบโต / หาหุ้นที่มี P/E ต่ำ แต่แน่นอนว่าอัตราการเติบโตของบริษัทที่มีค่า P/E สูงๆจะดูน่าประทับใจกว่า
1
4. ฐานะการเงิน / ควรมี Current Ratio มากกว่า 2 เท่า และมีหนี้สินระยะยาวต่ำ
5. เงินปันผล มีประวัติการจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องยาวนาน
โปรดอย่าลืมว่าคุณเป็นนักลงทุนเชิงรุกซึ่งยินดีทุ่มเทความพยายามให้แก่การบริหารพอร์ตการลงทุนของตัวคุณเอง หากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นดูเป็นงานที่หนักหนาเกินไป การลงทุนด้วยตัวเองจะไม่เหมาะกับคุณ คุณจะไม่มีทางได้ผลตอบแทนตามที่คุณต้องการ หากคุณไม่มีความความพยายาม ระเบียบวินัย และความทุ่มเท
เป้าหมายของนักลงทุนเชิงรุกคือหุ้นทุกประเภทที่พวกเขาคิดว่ามีราคาถูกเมื่ออ้างอิงจากตัววัดแบบอนุรักษ์นิยม และน่าสนใจเมื่อผลการดำเนินงานทั้งในอดีตและอนาคตดูดีกว่าหุ้นทั่วๆไป
การศึกษาว่ามีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพถือหุ้นบริษัทใดที่คุณสนใจอยู่บ้างก็มีประโยชน์ คุณจะได้เรียนรู้คุณลักษณะร่วมของหุ้น อ่านความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุนดังกล่าวจะทำให้คุณสามารถพัฒนาแนวทางของคุณได้
• การคัดเลือกหุ้นสำหรับนักลงทุนเชิงรุก
1. Current Ratio ควรสูงกว่า 1.50 เท่า และหนี้สินไม่สูงเกิน 110% ของสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ
2. ไม่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีล่าสุด
3. มีการจ่ายปันผลในปัจจุบัน
4. มีผลกำไรในปีล่าสุดสูงกว่าผลกำไรเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
5. P/E ต่ำกว่า 10 เท่า และราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 120% ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ
6. ROIC สูงมากกว่า 10% ROIC = (กำไรจากการดำเนินงาน + ค่าเสื่อมราคา + ค่าตัดจำหน่าย) - ภาษี – สต๊อกออปชั่น – รายจ่ายลงทุน / (สินทรัพย์รวม – รายการเทียบเท่าเงินสด) แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสร้างผลกำไรได้มากน้อยแค่ไหน และบริษัทนำเงินของผู้ถือหุ้นไปสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ตัวเลขที่สูงกว่า 10% จะถือว่าน่าสนใจ
หุ้น P/E ต่ำจะราคาร่วงลงน้อยกว่าหุ้นที่มีค่านี้สูงๆ และหุ้นที่มีการจ่ายปันผลมาอย่างยาวนานจะมีราคาลดลงน้อยกว่าหุ้นที่ไม่จ่ายปันผลเลย สุดยอดนักลงทุนหลายๆคนมักแตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ตรงที่พวกเขาจะเริ่มสนใจหุ้นตอนที่ราคามันตกลงไม่ใช่สูงขึ้น
คุณอาจลองมองหาหุ้นที่มีราคาร่วงลงจนทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี มันอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อมุมมองของตลาดเปลี่ยนแปลงไป บริษัทที่มีราคาหุ้นต่ำกว่า 60% ของมูลค่าที่ประเมินได้นั้นแปลว่าการลงทุนครั้งนี้มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยแบบที่เกรแฮมต้องการ คุณอาจมองหาบริษัทที่มีตราสินค้าแข็งแกร่ง ทำธุรกิจที่เข้าใจง่าย ผูกขาด ฐานะการเงินแข็งแกร่ง เข้าซื้อหุ้นในตอนที่บริษัทประสบปัญหา มีผลขาดทุน พบเจอข่าวร้าย
1
คุณควรทำการวิเคราะห์ขั้นพื้นฐานก่อนที่จะไปศึกษาความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น คาดการณ์อนาคต และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การขาดทุนมหาศาลของนักลงทุนส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการซื้อหุ้นคุณภาพต่ำในภาวะเศรษฐกิจดี คุณจะหลงคิดไปเองว่ากำไรสูงๆที่เห็นในปัจจุบันคือ “ศักยภาพของบริษัท” การคาดการณ์ผลกำไรในอนาคตที่แตกต่างจากอดีตจะต้องเป็นไปในค่าซึ่งต่ำๆเอาไว้ก่อน
การลงทุนในหุ้นที่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยหลายๆตัวรวมกันเป็นพอร์ตจะทำให้ผลกำไรโดยรวมสูงกว่าผลขาดทุนโดยรวมนั้นแน่นอนขึ้น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของธุรกิจประกันภัย นักลงทุนควรเสาะหาหุ้นที่มีโอกาสกำไรมากกว่าขาดทุนให้มากตัวที่สุด การกระจายความเสี่ยงเป็นวิธีการที่ง่ายและทำให้ส่วนเผื่อของคุณสูงขึ้น ซึ่งส่วนเผื่อที่แท้จริงต้องได้รับการพิสูจน์จากตัวเลข เหตุผล และประสบการณ์
• คิดอย่างนักธุรกิจ
รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ รู้จักธุรกิจที่คุณจะลงทุน อย่าปล่อยเงินของคุณไปให้คนอื่นบริหารนอกเสียจากว่าคุณมีความสามารถและความระมัดระวังสูงพอในการตรวจสอบการทำงานของพวกเขา และคุณมีเหตุผลดีๆที่จะมอบความเชื่อมั่นในความสามารถและจริยธรรมของพวกเขา
อย่าเข้าไปลงทุนในธุรกิจใดๆหากปราศจากการคำนวณอันเชื่อถือได้ว่าคุณมีโอกาสสูงที่จะได้รับกำไรอย่างสมเหตุสมผล หลีกเลี่ยงธุรกิจที่คุณอาจได้กำไรเล็กน้อยแต่อาจขาดทุนเป็นจำนวนมาก ควรอ้างอิงจากผลคำนวณทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี คุณต้องมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่ได้กำลังเอาเงินจำนวนมากไปเสี่ยง
เชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของคุณเอง หากคุณได้ข้อสรุปและรู้ตัวว่าคุณได้ใช้วิจารณญาณอย่างสมเหตุสมผลแล้ว ลงมือทำตามข้อสรุปนั้น แม้ว่าคนอื่นจะเห็นต่างจากคุณก็ตาม ในโลกการลงทุน ความเชื่อมั่นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญถัดจากความรู้และวิจารณญาณซึ่งได้รับการทดสอบแล้ว การได้ผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจในโลกการลงทุนเป็นเรื่องง่ายกว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่คิด แต่การแสวงหาผลตอบแทนชั้นเลิศสูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเรื่องยากกว่าที่คุณเห็น
• ความเสี่ยงอยู่ที่ตัวคุณเอง
คุณเข้าใจการลงทุนครั้งนี้จริงๆเหมือนอย่างที่คุณคิดหรือเปล่า? คุณจะตอบสนองอย่างไรหากปรากฎว่าการวิเคราะห์นั้นผิดพลาด?การวิเคราะห์ของคุณมีโอกาสถูกต้องแค่ไหน? คุณมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน? ประวัติการตัดสินใจในรูปแบบที่คล้ายๆกันของคุณเป็นอย่างไร? ผลลัพธ์ของคนทั่วไปที่พยายามทำสิ่งนี้ในอดีตเป็นอย่างไร? หากคุณกำลังซื้อในขณะที่คนอื่นกำลังขาย คุณรู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้มากน้อยแค่ไหน?
คุณคาดการณ์ความเสียใจของตัวคุณเองได้อย่างถูกต้องไหม? เข้าใจผลลัพธ์ของการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดหรือเปล่า? ถ้าคุณเดาถูกคุณจะกำไรมหาศาล แล้วถ้าคุณผิดล่ะ? จากประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น กรณีการลงทุนที่คล้ายๆกัน คุณมีโอกาสขาดทุนแค่ไหน? การลงทุนในสินทรัพย์อื่นของคุณจะช่วยให้คุณไม่ตกที่นั่งลำบากหากการตัดสินใจครั้งนี้ผิดพลาดหรือไม่? คุณใช้เงินในสัดส่วนที่สูงเกินไปเข้ามาเสี่ยงกับการลงทุนครั้งนี้หรือเปล่า? เมื่อคุณบอกว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้สูง คุณรู้ได้อย่างไร เคยขาดทุนเป็นเงินจำนวนมากรึเปล่า? รู้สึกอย่างไรบ้าง ซื้อเพิ่มหรือขายเอาตัวรอด? คุณควบคุมตัวเองโดยการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมหรือเปล่า?
ความเสี่ยงถูกกลั่นออกมาจากส่วนผสมของ “ความน่าจะเป็นและผลลัพธ์ที่ตามมา” ก่อนการลงทุนคุณต้องมั่นใจว่าคุณได้ประเมินความน่าจะเป็นบนพื้นฐานของความเป็นจริง และประเมินการตอบสนองต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นของตัวคุณเองเรียบร้อยแล้ว
คุณต้องไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ที่ถูกต้อง แต่ยังต้องรักษาตัวให้รอดพ้นจากการขาดทุนในกรณีที่การวิเคราะห์ของคุณผิดพลาดอีกด้วย กระจายความเสี่ยงตลอดเวลาและปฏิเสธที่จะนำเงินไปทุ่มกับหุ้นร้อนแรงในตลาด สิ่งนี้จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าผลลัพธ์จากความผิดพลาดของคุณจะไม่ถึงขั้นหายนะ คุณจะสามารถพูดได้อย่างมั่นใจทุกครั้งว่า “แล้วมันจะผ่านไป”
• หุ้นราคาถูก ดูอย่างไร?
พิจารณาจากราคาซื้อขายที่ต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ (Net Current Assets) ลบด้วยหนี้สินระยะยาว ค่าที่ได้จะเรียกว่า “มูลค่า Net Nets” นั่นคือเราจะไม่นับสินทรัพย์ถาวร เช่น โรงงาน ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์และอื่นๆ และจะหักหนี้สินเงินกู้ธนาคาร หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ์ ทุกอย่างที่มีสิทธิ์เหนือหุ้นสามัญออกทั้งหมด ซึ่งหากราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่า Net Nets มันชัดเจนมากๆว่าหุ้นเหล่านี้กำลังซื้อขายกันในราคาที่ต่ำกว่า “มูลค่าของกิจการนอกตลาด” หุ้นที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่าเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ (Net nets) ซึ่งหักลบภาระผูกพันต่างๆออกไปหมดแล้วนั้นหมายความว่าคุณไม่ได้จ่ายเงินซื้อสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนของบริษัทเลย หากคุณซื้อหุ้นเช่นที่ว่านี้หลายๆตัวไว้ในพอร์ต ผลตอบแทนที่ได้รับก็ควรอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ (Net Working Capital) = สินทรัพย์หมุนเวียน ลบด้วย หนี้สินรวมทั้งหมด
การที่ราคาหุ้นอยู่ในระดับพอๆกับเงินสดและสินค้าคงเหลือของบริษัท หมายความว่ากิจการที่กำลังดำเนินอยู่ของบริษัทไม่ได้ถูกรวมไว้ในราคาหุ้นเลย คุณควรหาหุ้นลักษณะเช่นนี้ให้พบ เข้าซื้อและถือไว้หลายๆตัวอย่างอดทน แน่นอนว่ามันหาไม่ได้ง่ายๆในตลาดปัจจุบัน แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณค้นพบมัน คุณจะกำไรอย่างแน่นอน
หุ้นบริษัทเล็กๆกลางๆ เราแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอยู่ในระดับต่ำไม่เกินสองในสามของมูลค่าที่ประเมินได้ ระดับราคาที่ต่ำมากพอจะทำให้หุ้นคุณภาพกลางๆกลายเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีได้ สำหรับตลาดหุ้น ยิ่งคณิตศาสตร์มีความซับซ้อนและเข้าใจยากมากขึ้นเท่าไร ข้อสรุปที่ได้ก็จะมีความไม่แน่นอนและเป็นการคาดเดามากขึ้นเท่านั้น เราไม่เคยพบความน่าเชื่อถือของการคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญซึ่งใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์เกินกว่าการคำนวณธรรมดาๆ
• กำไรของเจ้าของ (Owner Earnings)
(กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) – รายจ่ายลงทุน, มันเป็นการดูว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัททั้ง 100% พอถึงตอนสิ้นปีคุณจะมีเงินสดเท่าไร? ถ้ากำไรของเจ้าของเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อย 6% ต่อปีอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะถือได้ว่าบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมีเสถียรภาพ
1
• คุณจะรู้ตัวได้อย่างไรว่าคุณควรหยุดเป็นนักลงทุนเชิงรุกหรือต้องการความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาทางการเงิน
พบการขาดทุนอย่างหนัก หรือทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าแผนการที่วางไว้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหรือต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง
ล้มเหลวด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล คุณต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้จ่ายอย่างยากลำบาก ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหน ไม่สามารถเก็บออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง และมักชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดตลอดเวลา
พอร์ตการลงทุนผันผวนอย่างมาก หรือพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต หากหุ้นทุกตัวในพอร์ตของคุณมักขึ้นลงพร้อมๆกันแสดงว่าคุณขาดการกระจายความเสี่ยงอย่างถูกต้อง ไปจนถึงขาดการวางแผนทางการเงินสำหรับเรื่องใหญ่ๆในชีวิต
ระบบของที่ปรึกษาทางการเงินจะทำให้คุณสามารถควบคุมเรื่องที่ซับซ้อนได้
1. แผนการเงินอย่างละเอียด คุณควรมีรายได้เท่าไร ออมเงินเท่าไร ใช้จ่ายเท่าไร กู้ยืมเท่าไร และลงทุนมากน้อยแค่ไหน
2. นโยบายการลงทุน แนวทางการลงทุนที่ชัดเจน แจกแจงรายละเอียดได้
3. แผนการจัดสรรเงินลงทุน คุณควรลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆเป็นสัดส่วนเท่าไร
ระบบเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ดี คุณไม่ควรลงทุนหรือทำการตัดสินใจด้านการเงินใดๆจนกว่าระบบซึ่งมีความสอดคล้องกับความต้องการของคุณจะได้รับการพัฒนาขึ้น
• ทัศนคติที่ดีต่อการลงทุนในหุ้น
ราคาหุ้นจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับ “ผลการดำเนินงานของธุรกิจ” ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
อย่านำเงินที่ใช้เพื่อการเก็งกำไรมาผสมปนเปกับเงินที่ใช้เพื่อการลงทุน อย่าปล่อยให้แนวคิดการเก็งกำไรนั้นส่งผลต่อการลงทุนหลักของคุณ และไม่ควรนำเงินมากเกินกว่า 10% ของเงินทั้งหมดที่คุณมีมาเก็งกำไร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
คุณควรซื้อหุ้นก็ต่อเมื่อมันเป็นหนทางสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจชั้นเยี่ยมในราคาถูกเท่านั้น แม้ว่าคนอื่นๆจะแห่กันไปในทิศทางใดก็ตาม
มันสมเหตุสมผลที่นักลงทุนจะตัดสินใจบนพื้นฐานอัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี
บริษัทที่ดีจะไม่ใช่การลงทุนที่ดี หากคุณจ่ายเงินซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป
นักลงทุนตัวจริงจะไม่หลงคิดไปเองว่าความผันผวนของตลาดหุ้นรายวันหรือรายเดือนนั้นจะส่งผลให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นหรือยากจนลง คุณต้องใช้จิตใจอันเข้มแข็งเพื่อเหนี่ยวรั้งตัวเองเอาไว้ไม่ให้ลงมือทำอะไรตามฝูงชน
นักลงทุนตัวจริงแทบจะไม่เคยถูกบังคับให้ขายหุ้นเลย พวกเขาสามารถที่จะละเลยราคาหุ้นในปัจจุบันได้ คุณจำเป็นต้องสนใจราคาตลาดและลงมือทำอะไรสักอย่างก็ต่อเมื่อราคาหุ้นนั้นอยู่ในระดับสูงมากจนมันสมเหตุสมผลที่คุณควรจะขายหุ้นออกไป
โดยพื้นฐานแล้ว ความผันผวนของราคามีความสำคัญต่อนักลงทุนในแง่มุมเดียวเท่านั้น นั่นคือโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาลดลงอย่างหนัก และขายหุ้นออกไปเมื่อตลาดได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปมาก ส่วนในช่วงเวลาอื่นๆ การละเลยตลาดหุ้นและหันไปสนใจผลประกอบการกับเงินปันผลของบริษัทจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า สาเหตุหลักของความล้มเหลวสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ก็คือ “การใส่ใจต่อภาวะตลาดมากเกินไป”
คุณจะรู้สึกมีอำนาจควบคุมมากขึ้น หากคุณตระหนักว่ามีอะไรอีกมากมายหลายอย่างที่คุณควบคุมไม่ได้ คุณควรมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายทางการเงินในระยะยาวของคุณและหยุดสนใจอารมณ์ขึ้นๆลงๆของตลาด
การลงทุนควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการป้องกันการซื้อหุ้นมาในราคาแพงเกินไป และป้องกันไม่ให้คุณมั่นใจในมุมมองของตัวเองมากเกินไป นี่คือแนวทางที่ดีที่สุด
นักลงทุนผู้ชาญฉลาดจะไม่ซื้อขายหุ้นโดยอ้างอิงจากคำแนะนำของผู้ให้บริการทางการเงินเพียงอย่างเดียว
ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าผู้แพ้ของวันวานมักกลายเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้อยู่บ่อยครั้ง
บทบาทสำคัญของส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยก็คือทำให้การคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น
ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยจะเป็นส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นและมูลค่าที่เหมาะสม
การให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัยและระมัดระวัง สำคัญกว่าการมุ่งเน้นไปยังการทำกำไรให้ได้มากๆ
ภูมิปัญญาของนักลงทุนคือ การเสาะหาความแตกต่างระหว่างมูลค่าและราคาหุ้น
หากคำนิยามของหุ้นโตเร็วคือบริษัทที่จะเฟื่องฟูในอนาคต มันจะไม่ใช่คำนิยาม แต่เป็นความหวังลมๆแล้งๆต่างหาก
แด่นักลงทุนไทยผู้ชาญฉลาดทุกท่าน ขอให้มีความสุขกับการลงทุนนะครับ :)
เอกสารอ้างอิง
คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า : The Intelligent Investor (ปรับปรุงใหม่)
ผู้เขียน : Benjamin Graham (เบนจามิน เกรแฮม)
ผู้แปล : พรชัย รัตนนนทชัยสุข
สำนักพิมพ์ : วิสดอมเวิร์ค
สำนักพิมพ์ต้นฉบับ : Harper Business
cr. ลงทุนศาสตร์
โฆษณา