12 มิ.ย. 2021 เวลา 08:52 • ประวัติศาสตร์
⏺ ที่มาของกะเทยจากตำนานกรีก
ตำนานกรีกอธิบายกำเนิดหรือที่มาของสรรพสิ่งต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่งลักษณะสองเพศ หรือกะเทย ตำนานกรีกก็ยังมีคำอธิบายให้ โดยมีที่มาจากเรื่องราวของเทพเฮอร์มาโฟรไดทัส (Hermaphroditus)
รูปล่างเป็นรูปปั้นของเฮอร์มาโฟรไดทัส ซึ่งจะเห็นว่ามีใบหน้ากระเดียดไปทางผู้หญิง และมีหน้าอก แต่อวัยวะสืบพันธุ์เป็นของเพศชาย ซึ่งรูปปั้นใด ๆ ของเฮอร์มาโฟรไดทัสจะมีลักษณะเช่นนี้
เรื่องเล่าในตำนานกรีกที่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะเช่นนี้ของเฮอร์มาโฟรไดทัส ณ ที่นี้ขอใช้คำว่า กะเทย เพราะโดยทั่วไปคำ ๆ นี้ใช้กันปกติในทางวิชาการ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะเหยียดเพศแต่อย่างใด
รูปปั้นเฮอร์มาโฟรไดทัส สันนิษฐานว่าปั้นเมื่อราว ค.ศ. 70-100 เป็นศิลปะตามแบบวัฒนธรรมจักรวรรดิโรมัน รูปปั้นนี้พบที่กรุงโรม ปัจจุบันจัดแสดงที่ National Museums Liverpool (Photo: National Museums Liverpool, World Museum)
⏺ในตำนานกรีก
เทพเฮอร์มาโฟรไดทัสเป็นลูกของเทพเจ้าเฮอร์เมส (Hermes) กับเทพีอะโพรไดที (Aphrodite) เมื่อเกิดมาเฮอร์มาโฟรไดทัสเป็นเทพเจ้าเด็กน้อยที่หล่อเหลามาก และถูกเลี้ยงดูโดยเหล่านางไม้บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่าภูเขาไอดา
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมีอายุได้ 15 ปี เฮอร์มาโฟรไดทัสก็ออกไปท่องโลก ณ ที่หนึ่งเขาเข้าไปสำรวจในป่าและพบบ่อน้ำพุโดยบังเอิญ มีนางไม้ตนหนึ่งชื่อว่าซาลมาซิส (Salmacis) อาศัยอยู่ในบ่อน้ำพุนั้น เมื่อเห็นเฮอร์มาโฟรไดทัสนางไม้ตนนั้นก็หลงเสน่ห์ความหล่อเหลาอันอ่อนเยาว์ของเฮอร์มาโฟรไดทัสทันที และเกิดความต้องการในตัวเฮอร์มาโฟรไดทัส และพยายามจะล่อลวงเขา แต่เฮอร์มาโฟรไดทัสปฏิเสธการรุกเร้าจากสาวเจ้านางไม้ตนนี้
1
เมื่อคิดว่าซาลมาซิสไปแล้ว เฮอร์มาโฟรไดทัสก็เปลื้องอาภรณ์ลงอาบน้ำในบ่อน้ำพุนั้น แต่แท้จริงแล้วนางซ่อนตัวอยู่หลังต้นไม้ พอเฮอร์มาโฟรไดทัสลงอาบน้ำนางก็กระโดดออกมาทันทีแล้วลงบ่อน้ำตามไป
ซาลมาซิสหลงใหลในตัวเฮอร์มาโฟรไดทัสมากจนกระทั่งเข้าไปปล้ำกอดจูบ แต่เฮอร์มาโฟรไดทัสพยายามสะบัดเพื่อหนีจากการกอดรัดของซาลมาซิสแต่ก็ดิ้นไม่หลุด ในตอนที่กอดนางอธิษฐานขอทวยเทพให้อำนวยพรให้ทั้งสองกลายร่างเป็นหนึ่งเดียวกันและขอให้ทั้งคู่ไม่พรากจากกันไปตลอดกาล ทวยเทพก็พาซื่ออำนวยพรตามคำขอของนางโดยรวมร่างทั้งสองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
1
ด้วยเหตุนี้ เฮอร์มาโฟรไดทัสจึงกลายเป็นเทพที่มีลักษณะผู้ชายผสมผู้หญิง คือมีหน้าอก ขา และหน้าตาเป็นผู้หญิง แต่มีอวัยวะสืบพันธุ์เป็นผู้ชาย เฮอร์มาโฟรไดทัสเศร้าโศกเสียใจมากที่กลายเป็นเช่นนี้
1
ในขณะเดียวกัน น้ำพุที่ซาลมาซิสอาศัยอยู่ก็ได้รับผลตามไปด้วย คือชายใดก็ตามที่อาบน้ำในบ่อน้ำพุนี้จะกลายเป็นครึ่งหญิงครึ่งชายด้วยเช่นกัน แต่บางที่ก็เล่าว่าเฮอร์มาโฟรไดทัสรู้สึกโกรธแค้นใจมากที่ตนมีสภาพเช่นนี้ จึงขอให้เทพเจ้าเฮอร์เมสและเทพีอโพรไดทีผู้เป็นพ่อแม่สาปแช่งให้ผู้ใดก็ตามที่ลงอาบน้ำในบ่อน้ำพุนั้นกลายเป็นคนที่มีทั้งสองเพศในร่างเดียวเหมือนกับเขา
เฮอร์มาโฟรไดทัสกลายเป็นเทพแห่งกะเทยหรือครึ่งหญิงครึ่งชายมาตั้งแต่บัดนั้น
ตำนานของเฮอร์มาโฟรไดทัสสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินวาดภาพออกมามากมาย ภาพวาดนี้มีชื่อว่า Hermaphroditus and Salmacis โดย Louis Finson ศิลปินชาวอัมสเตอร์ดัม วาดราวปี 1600 (Photo: Wikipedia)
⏺ในศิลปะ
ในศิลปะโบราณของกรีกและโรมันจะพบรูปปั้นของเฮอร์มาโฟรไดทัสได้ทั่วไป ซึ่งจะเป็นรูปปั้นเปลือยเปล่า หรือไม่ก็สวมใส่อาภรณ์แต่ยกส่วนล่างขึ้นเพื่อให้เห็นอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย
รูปปั้นอีกแบบคือรูปปั้นของแซทเทอร์เฒ่ากับเฮอร์มาโฟรไดทัสผู้เยาว์วัยกำลังปลุกปล้ำกันอยู่ รูปปั้นลักษณะเช่นนี้จะถูกจัดแสดงไว้ที่โรงละครหรือคฤหาสถ์ของชาวโรมัน ซึ่งจะพบว่าแฝงเรื่องกามอารมณ์ไว้ด้วย และอาจจะใช้เพื่อสอนใจเรื่องราคะตัณหาของชายแก่ด้วย แซทเทอร์เฒ่านั้นขึ้นชื่อในเรื่องความหมกมุ่นในตัณหาราคะและพยายามจะไปข่มขืนเฮอร์มาโฟรไดทัส
รูปปั้นนี้เป็นผลผลิตของยุคโรมัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะของชาวโรมันที่มีต่อเรื่องเพศว่าลักษณะของผู้ที่เป็นกะเทยหรือมีสองเพศแบบเฮอร์มาโฟรไดทัสนั้นสามารถดึงดูดได้ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งเทพ หรือทั้งครึ่งคนครึ่งสัตว์อย่างแซทเทอร์
1
รูปปั้นแซทเทอร์กับเฮอร์มาโฟรไดทัสที่ปลุกปล้ำกัน (Photo: Worldhistory.org)
⏺ในทางภาษา
จากตำนานนี้ ชื่อของเฮอร์มาโฟรไดทัสในอดีตจึงถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษเป็นคำว่า hermaphrodite เพื่ออธิบายลักษณะของคนที่มีเพศสภาพคลุมเครือหรือมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไม่ชัดเจน
ปัจจุบันคำว่า hermaphrodite นี้ค่อนข้างจะมีปัญหาเมื่อนำมาใช้อธิบายลักษณะของคน ดังนั้น เมื่อใช้อธิบายคนที่มีสภาพร่างกายทางเพศไม่เป็นหญิงหรือไม่เป็นชายชัดเจน หรือคนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง หรือมีลักษณะทางเพศปนทั้งชายและหญิง จะใช้คำว่า intersex แทน
แต่บางคนที่มีลักษณะแบบ intersex นี้หันมาใช้คำว่า hermaphrodite เพื่ออธิบายลักษณะของตนอีกก็มี เพื่อเป็นการบอกอัตลักษณ์ของตนว่ามีลักษณะร่างกายที่มีอวัยวะทั้งเพศชายและหญิงปนกันอยู่ เพื่อชี้ให้เห็นความหลากหลายทางธรรมชาติของมนุษย์
ในทางชีววิทยาจะใช้คำว่า hermaphrodite นี้กันอย่างแพร่หลายมากกว่าในการเรียกพืชและสัตว์ เช่น นำมาเรียกไส้เดือนที่มีลักษณะสองเพศในตัวเดียวกัน เป็นต้น
รูปปั้นเฮอร์มาโฟรไดทัสที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Photo: Rmn.fr)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา