12 มิ.ย. 2021 เวลา 12:30 • สุขภาพ
ประสิทธิภาพ (% effectiveness) จากการฉีดจริงของ AstraZeneca และ Pfizer ในประเทศอังกฤษ
2
ที่ผ่านมา การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลจาก clinical trail ในเฟส 3 ซึ่งจะเป็นกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มขึ้นไปเปรียบเทียบกัน เช่น กลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มเดียว, กลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนสองเข็ม, กลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนหลอก เป็นต้น หลังจากนั้นอาจมีการเก็บเลือดเพื่อวัดระดับแอนติบอดี้ที่ถูกกระตุ้นหลังฉีด, ติดตามอาการข้างเคียง, ติดตามอาการทางคลีนิค ว่ามีใครติดเชื้อ/ป่วยหนัก/อยู่โรงพยาบาล หรือ เสียชีวิตบ้าง แล้วรายงานออกมาเป็นเปอร์เซนต์ประสิทธิภาพของวัคซีน คำศัพท์ที่เข้าใจตรงกัน คือ % efficacy
4
มีงานวิจัยจาก Nature เรื่องโมเดลวัคซีนและภูมิคุ้มกัน [เคยเขียนไว้อย่างละเอียด ในบทความพรีเมี่ยม >> https://www.blockdit.com/posts/60a74323f3fbfe135c05d930] บอกว่าจากการคำนวณทางโมเดล พบว่า % efficacy ของวัคซีน และ ระดับแอนติบอดี้ที่ถูกกระตุ้นหลังฉีด จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าวัคซีนมี % efficacy สูง ก็จะกระตุ้นระดับแอนติบอดี้หลังฉีดได้สูง ทำให้วัคซีนนั้นมีโอกาสที่จะป้องกันการติดเชื้อได้
3
ซึ่งในสถานการณ์โรคระบาด วัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหยุดการระบาดจากภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ถึงยังมีเชื้ออยู่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่ทำให้ไม่ติดเชื้อ ก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ เพราะเมื่อไม่ติดเชื้อ ก็จะไม่มีอาการป่วยและไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
ไม่ใช่ว่าวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันป้องกันการติดเชื้อไม่ได้​ แต่การจะศึกษาว่าวัคซีนนั้นๆป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและสิ้นเปลือง เพราะการเก็บข้อมูลในเฟส 3 จะเก็บข้อมูลจากคนที่มีอาการป่วย/ป่วยหนัก/อยู่โรงพยาบาล/เสียชีวิต จากการติดเชื้อ​ เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนกับวัคซีนหลอก ซึ่งจะสรุปผลออกมาได้ว่าวัคซีนนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการป่วย/ป่วยหนัก/อยู่โรงพยาบาล/เสียชีวิตได้มากแค่ไหน ทำให้การเก็บข้อมูลจากคนที่มีอาการ ง่ายกว่าต้องตรวจกลุ่มตัวอย่างทุกคนไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่
1
ดังนั้นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือเปล่า จึงมักเป็นการติดตามผลในเฟส 4 จากการฉีดจริงให้กับประชากรจำนวนมาก แล้วดูผลว่าช่วยให้การระบาดลดลงหรือไม่ ประชากรติดเชื้อมีจำนวนลดลงหรือไม่ ซึ่งระยะนี้จะเป็นการเก็บผลระยะยาวจนกว่าจะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี กล่าวคือ สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีและอาการข้างเคียงน้อย
มีงานวิจัยจากอังกฤษ ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2021 รายงานประสิทธิภาพของวัคซีน (Effectiveness) ของ AstraZeneca และ Pfizer จากการฉีดจริงให้กับประชากรในประเทศ เก็บข้อมูลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2020 ถึง 8 พฤษภาคม 2021
1
เริ่มต้นจากการสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่าง 383,812 คน จากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศเพื่อติดตามอาการ ว่าหลังจากฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อได้หรือไม่ ด้วยวิธีแหย่จมูกและคอ ส่งตรวจ RT-PCR เป็นระยะไปเรื่อยๆจนกว่าจะจบโครงการ ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ ถ้าให้ผลเป็นบวกก็จะนับว่าติดเชื้อ
จากผล RT-PCR จำนวน 1,945,071 ครั้ง พบว่า **ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปมากกว่า 21 วัน** สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
- AstraZeneca: 61%
- Pfizer: 65%
และ **หลังจากฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดส** พบว่าการติดเชื้อแบบมีอาการลดลงอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็น % effectiveness ของวัคซีนได้
- AstraZeneca: 79%
- Pfizer: 80%
ซึ่งถือว่าประสิทธิภาพจากการฉีดจริงของวัคซีนทั้งสองยี่ห้อไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 80% หากฉีดครบโดส บวกกับช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แอลฟ่า ผลการศึกษาจึงออกมาสอดคล้องกับการศึกษาอื่น ว่าการฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดส จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น
ถึงแม้ก่อนหน้านี้ จากการทดลองเฟส 3 ผลจะออกมาว่า หลังจากฉีดวัคซีนทั้งสองยี่ห้อครบสองโดสแล้วสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบมีอาการได้ต่างกัน คือ AstraZeneca 70% และ Pfizer 95% ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเก็บข้อมูลการศึกษาแยกกัน คนละพื้นที่ คนละช่วงเวลา ลักษณะกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน ประมวลข้อมูลด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้ % efficacy และ % effectiveness มีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง
นอกจากงานวิจัยนี้ ยังมีการศึกษา % effectiveness จากการฉีดจริงให้กับประชากรในอีกหลายประเทศ เช่น
🌎 อิสราเอล: พบว่าหลังฉีด Pfizer ครบทั้งสองโดสมากกว่า 7 วัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 92% (นิยามการติดเชื้อคือทดสอบได้ผลบวกจาก RT-PCR ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่)
🌎 อังกฤษ: กลุ่มตัวอย่างเป็นในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ พบว่าหลังฉีด Pfizer เข็มแรก 21 วัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 70% และ หลังฉีดครบทั้งสองโดสช่วยป้องกันการติดเชื้อ 85% (นิยามการติดเชื้อคือทดสอบได้ผลบวกจาก RT-PCR ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่)
🌎 อเมริกา: กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ พบว่าหลังฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเข็มแรกหรือเข็มสองไปมากกว่า 14 วัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อ (นิยามการติดเชื้อคือทดสอบได้ผลบวกจาก RT-PCR ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่)
- Pfizer: 80%
- Moderna: 90%
ซึ่งขณะนี้วัคซีนยี่ห้อต่างๆ กำลังถูกศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ยังต้องติดตามข้อมูลอัพเดทต่อไป
References >>
Pritchard, E., Matthews, P.C., Stoesser, N. et al. Impact of vaccination on new SARS-CoV-2 infections in the United Kingdom. Nat Med (2021).

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา