14 มิ.ย. 2021 เวลา 12:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วาฬสีเทาสร้างสถิติใหม่​ ว่ายน้ำไกลครึ่งโลก
วาฬสีเทาเพศผู้ 12 เมตร ว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลที่สุดในบรรดาสัตว์ทะเลมีกระดูกสันหลังที่เคยมีบันทึกมา ด้วยระยะทางมากกว่า 26,000 กิโลเมตร ถือเป็นระยะทางกว่าครึ่งโลก เอาชนะแชมป์เก่าอย่างเต่ามะเฟืองที่มีสถิติว่ายข้ามทะเลแปซิฟิกเป็นระยะทาง 20,000 กิโลเมตรอย่างขาดลอย
worldwildlife.org
วาฬตัวนี้เคยถูกพบเห็นที่ชายหาด Walvis ประเทศนามิเบียเมื่อปี 2013 และอาศัยอยู่บริเวณนั้นประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นวาฬสีเทาตัวแรกที่ถูกพบเห็นในทะเลซีกโลกใต้
Simon Elwen นักสัตววิทยาประจำมหาวิทยาลัย Stellenbosch แอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า “นี่ถือเป็นเรื่องแปลกพอๆกับมีคนบอกว่าเห็นหมีขั้วโลกอยู่ที่ปารีส ถึงแม้ว่าทางทฤษฎีอาจจะเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วแทบไม่น่าเชื่อ”
วาฬสีเทามีประชากร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันตก และ มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันออก กลุ่มที่อยู่ฝั่งตะวันตกถือเป็นกลุ่มหายาก ใกล้สูญพันธุ์ มีประชากรทั่วโลกรวมกันเหลืออยู่ประมาณ 200 ตัว สาเหตุหลักมาจากการทำธุรกิจล่าวาฬ ต่างกับกลุ่มตะวันออกที่ยังมีประชากรเหลืออยู่ 20,500 ตัว
1
สำหรับวาฬตัวนี้ ถึงแม้จะถูกพบตั้งแต่ปี 2013 แต่ต้องใช้เวลานานหลายปีถึงจะพิสูจน์ทางพันธุกรรมโดยเทียบกับฐานข้อมูลยีนของวาฬสีเทาที่เก็บไว้ที่ U.S. National Center for Biotechnology Information จนเพิ่งได้คำตอบว่ามันมีถิ่นกำเนิดที่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันตก และเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Biology Letters เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา
1
เมื่อทราบถิ่นกำเนิด ทางทีมวิจัยจึงคำนวณเส้นทางอพยพที่เป็นไปได้ของวาฬตัวนี้ ว่าใช้เส้นทางใดถึงมาโผล่อยู่ที่ทะเลทางใต้
nationalgeographic.com
จากรูป บริเวณสีส้มคือ ถิ่นที่อยู่อาศัยและเส้นทางอพยพปกติ ส่วนลูกศรสีม่วงคือเส้นทางอพยพที่เป็นไปได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ทาง เส้นทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือผ่านมาทางตะวันตกของแคนาดา (ซ้ายสุด) ส่วนอีกสองเส้นทางที่เหลือเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีรายงานการพบเห็นวาฬสีเทาบริเวณนี้ นอกจากนั้นวาฬสีเทาชอบหากินบริเวณน้ำตื้น การว่ายเลียบชายฝั่งแคนาดาจึงดูเป็นไปได้มากกว่าว่ายออกสู่มหาสมุทรลึกทางทวีปอเมริกาและมหาสมุทรอินเดีย
1
สาเหตุการเดินทางไกลของวาฬตัวนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากถือเป็นเรื่องผิดวิสัยเพราะสิ้นเปลืองพลังงานมากเกินไป นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจเป็นเพราะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งที่ละลายมากขึ้นทางขั้วโลกเหนือกระทบกับเส้นทางอพยพปกติของประชากรสัตว์บริเวณนั้น
และการที่มันว่ายอยู่แถวแอฟริกาใต้นานถึง 2 เดือน แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติบางอย่าง นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าบางทีมันอาจจะขาดสารอาหารหรืออ่อนเพลียจนต้องพักอยู่นานก่อนที่จะเดินทางไกลกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและเก็บข้อมูลต่อไป
References >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา