Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
12 มิ.ย. 2021 เวลา 12:35 • ประวัติศาสตร์
บทเรียนจากประวัติศาสตร์บอกอะไรเราเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุคหลังวิกฤติโควิด-19
1
นับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรืออิสราเอล เริ่มนำวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนของตัวเอง เราก็ได้เห็นเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้สามารถกลับมาเปิดเป็นปกติได้ ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการพบปะของคน การสังสรรค์ต่าง ๆ ก็กลับมาเปิดให้บริการได้เช่นเดิม แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ได้ทำให้หลายคนเริ่มมองไปข้างหน้าและตั้งคำถามว่า “อนาคตในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร”
1
วันนี้ Bnomics จะชวนมาหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว ผ่านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังการระบาดของไข้หวัดสเปน เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
📌 การระบาดของไข้หวัดสเปน – การระบาดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
เหตุการณ์ไข้หวัดสเปนระบาด
ในช่วงปี 1918 – 1920 เกิดการระบาดของไข้หวัดสเปน โดยมีจุดเริ่มต้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1918 โดยมีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกของโลกอยู่ในค่ายทหารแห่งหนึ่งในเมือง Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มแรก การระบาดยังคงจำกัดตัวอยู่ในค่ายทหารเท่านั้น แต่ภายหลังก็ค่อยๆ เริ่มแพร่กระจายจากชนบทไปสู่หัวเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ และด้วยสภาวะที่ประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ เองก็กำลังรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกันอยู่ จึงทำให้เชื้อระบาดแพร่จากในสหรัฐฯ ไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ผ่านการเคลื่อนย้ายกำลังพลของแต่ละประเทศ
หากใครอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อพบผู้ติดเชื้อรายแรกในสหรัฐอเมริกา แต่เหตุใดถึงมีการเรียกการระบาดในครั้งนั้นว่าไข้หวัดสเปน ความจริงคือ ในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โลกอยู่ระหว่างการทำสงคราม หลายประเทศที่รบในสงครามได้มีการปกปิดข่าวเรื่องการระบาด และไม่ได้มีการรายงานข่าวมากนัก เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อขวัญกำลังใจของทหาร แต่ในขณะนั้น ประเทศสเปน ซึ่งวางตัวเป็นกลาง ได้อนุญาตให้สำนักข่าวต่างๆ สามารถรายงานเรื่องดังกล่าวได้อย่างเสรี ถึงการระบาดของโรคดังกล่าวในสเปน จึงเป็นที่มาของชื่อไข้หวัด ทั้งๆ ที่สเปนไม่ใช่จุดกำเนิด
1
นอกจากนี้ การระบาดของไข้หวัดสเปนที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอีกด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือวันที่มีการเจรจาสงบศึกเพื่อยุติสงครามเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การระบาดของไข้หวัดสเปนนั้นมีความรุนแรงมากที่สุดพอดี ทั้งนี้ การระบาดของไข้หวัดสเปนนับว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยได้คร่าชีวิตประชากรสหรัฐฯ ไปหลายแสนคน และคร่าชีวิตคนไปกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเสียอีก
📌 เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ภายหลังสงคราม
ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงในปลายปี 1918 และการระบาดของไข้หวัดสเปนระลอกสองที่มีความรุนแรงมากในช่วงปลายปีเดียวกันเริ่มลดความรุนแรงลงมาบ้างและค่อยๆ หายไป ในช่วงกลางปีต่อมา สหรัฐฯ เองก็ได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยปัญหาที่เผชิญก็คือความกดดันเรื่องเงินเฟ้อ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้พิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้ในยามสงคราม ประกอบกับความต้องการใช้เงินของคนที่เก็บเงินไว้เป็นจำนวนมากและอัดอั้นมานานหลายปี (Pent-up Demand) ทั้งจากสงครามและจากการระบาด ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 18% ต่อปี (คำนวณจาก ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 1917 ไปจนถึงมิถุนายน 1920)
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ
อัตราดอกเบี้ยของ Fed New York
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะนั้น จึงได้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป โดยในปี 1920 อัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นไปสูงถึง 7% โดยต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง และนำพาเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือที่เรียกกันว่า The Depression of 1920-1921
📌 จุดเริ่มต้นของยุคแห่งความรุ่งโรจน์ (Roaring 20s)
ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป ผลที่ตามมาคืออัตราการว่างงานได้พุ่งขึ้นไปสูงเกือบ 20% มีบริษัทจำนวนมากต้องเลิกกิจการไป อย่างไรก็ตาม ยาแรงที่ธนาคารกลางใช้ ก็สามารถดึงอัตราเงินเฟ้อที่เคยอยู่ในระดับสูงหลังการระบาดลงมาได้ จนท้ายที่สุด นำไปสู่ภาวะเงินฝืดด้วยซ้ำ ซึ่งภายหลัง เมื่อเห็นว่าสามารถคุมอัตราเงินเฟ้อได้แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงได้ค่อยลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ด้วยเหตุนี้ จากภาวะเงินฝืดและต้นทุนกู้ยืมที่ต่ำ รวมถึงปัญหา Hyperinflation ในยุโรป จึงกลายเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในสหรัฐ เกิดเม็ดเงินและทองคำที่ไหลสะพรั่งเข้ามา นอกจากนี้ นโยบายทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นที่ค่อนข้างเปิดเสรี (Laissez-faire) ทำให้เอกชนสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้อย่างอิสระ อีกทั้ง มีการนำระบบเครดิตมาใช้สำหรับภาคครัวเรือน (Consumer Credit) ทั้งหมดนี้จึงทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่ทศวรรษแห่งความกำธร หรือที่รู้จักในชื่อ Roaring ’20s
2
Consumer Credit สินเชื่อเพื่อการบริโภค
ขณะเดียวกัน ในระหว่างเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1920 – 1921 ธุรกิจต่าง ๆ ได้ปรับตัวเพื่อเตรียมรับโลกในยุคหลังวิกฤติ มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่เคยหยุดชะงักลงในช่วงสงครามและการระบาด มาประยุกต์ใช้ มีการเปลี่ยนระบบการผลิตไปเป็นการผลิตแบบ Mass Production ซึ่งลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์และเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก ส่งผลให้เทคโนโลยีหลายอย่างที่เคยมีราคาสูง เข้าถึงยากสำหรับคนทั่วไป เช่น รถยนต์ ทีวี วิทยุ หรือแม้แต่ตู้เย็น สามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ถูกลง และได้รับการนำไปใช้เป็นวงกว้างมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้กับครัวเรือนจำนวนมาก ซึ่งทำให้ประชาชนคนทั่วไปเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ พวกนั้นได้
1
Mass Production สินค้าใหม่ต้นทุนถูก
'วิทยุ' สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก
ทั้งนี้ การเข้าถึงทีวี วิทยุต่าง ๆ เหล่านี้ได้นี่เองที่ได้ก่อให้เกิด Mass Culture ในสหรัฐฯ ขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของสื่อโฆษณา ทำให้คนอเมริกันต่างใช้สินค้าประเภทเดียวกัน ชอบเพลงสไตล์เดียวกัน หรือแม้แต่เต้นท่าเดียวกัน และนำพาสังคมอเมริกันเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมเต็มรูปแบบในที่สุด
Mass Culture วัตนธรรมเปลี่ยนตามกาลเวลา
นอกจากนี้ ความอัดอั้นจากการที่ต้องทนทุกข์ต้องอดออมจากทั้งสงครามและการระบาดมาหลายปี (เนื่องจากไม่รู้ว่าปัญหาจะจบเมื่อไหร่) ทำให้หลายคนกลับมาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ไร้ขีดจำกัด ก่อให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในยุคนั้นเติบโตดีอย่างมาก ส่งผลให้คนหลายคนมีงานทำ มีรายได้ที่ดีขึ้น และได้สร้างเศรษฐีใหม่จำนวนมาก ซึ่งมาพร้อมกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ดังที่ปรากฏในหนังดัง อย่างเช่น The Great Gatsby เป็นต้น
1
The Great Gatsby (2013)
ช่วงนั้น ดัชนี Dow Jones ของสหรัฐฯ ได้เติบโตกว่า 500% นับตั้งแต่ปี 1921 ไปจนถึง 1929 สะสมเป็นความเปราะบาง ในภาคเศรษฐกิจและการเงิน ก่อนที่จะร่วงลงไปในช่วงวิกฤติ The Great Depression ขณะเดียวกัน GDP ของสหรัฐฯ ก็ได้ขยายตัวถึง 42% ในช่วงทศวรรษดังกล่าว สมดังที่เขาว่าทศวรรษ 1920 เป็นทศวรรษแห่งความกำธร (Roaring ’20s) จริงๆ
1
📌 หันกลับมามองปัจจุบัน แล้วโลกหลังวิกฤติโควิด-19 จะเป็นอย่างไร
โลกหลังวิกฤติครั้งนี้ ก็อาจจะไม่ต่างกับในอดีตนัก นับตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีก่อน โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเราอย่างสิ้นเชิง ตลอดระยะเวลาหนึ่งกว่าปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถไปพบปะเพื่อนฝูงได้ ไม่สามารถไปสังสรรค์ ไม่สามารถไปเที่ยว ไม่สามารถไปต่างประเทศ ไม่สามารถทำกิจกรรมใช้ชีวิตต่างๆ ได้เหมือนเช่นเคย ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่ความอัดอั้นที่ทุกคนพร้อมจะปลดปล่อยออกมา ภายหลังจากที่การระบาดสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ความรุ่งโรจน์ที่เกิดขึ้นในช่วง Roaring ’20s นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความอัดอั้นในการใช้จ่ายของคนเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและก่อให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิต
ในยุคปัจจุบันก็เช่นกัน วิกฤติครั้งนี้ก็ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย เทคโนโลยีหลายอย่างที่เคยได้รับการพัฒนาและถูกพูดถึงมานาน ไม่ว่าจะเป็น Big Data, Smart Robotics, Artificial Intelligence ก็ได้ถูกเร่งให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบการผลิตที่ยังขึ้นอยู่กับมนุษย์เป็นหลัก หลายบริษัทได้หันกลับมาคิดและปรับตัวเข้ารับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้พร้อมรับอนาคตหลังโควิด-19 ที่กำลังจะมาถึง การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิตนี้เองก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำพาเศรษฐกิจในยุคหลังวิกฤติให้ไปสู่ความรุ่งโรจน์และเข้าสู่ทศวรรษแห่งความกำธร (Roaring 2020s) เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
1
โดยในรอบนี้ ถ้าไม่มีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ที่ควบคุมไม่ได้ ย้อนกลับมาระบาดในสหรัฐ ยุโรป จีน จนต้องเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง เราจะเริ่มเห็นกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่คึกคัก ก่อตัวเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาที่ฉีดวัคซีนแล้ว และค่อยๆ กระจายต่อไปที่ประเทศต่างๆ ที่ฉีดวัคซีนได้พอเพียงในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือ นำไปสู่สิ่งที่หลายๆ คนกำลังเริ่มพูดถึง เขียนถึงมากขึ้น คือ Post-Pandemic Boom ต่อไป สมกับที่มีคำคมฝรั่งที่พูดไว้ว่า History repeats itself.
1
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ
8 บันทึก
19
1
18
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
8
19
1
18
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย