21 มิ.ย. 2021 เวลา 03:30 • การศึกษา
#10 คำศัพท์ภาษาอังกฤษ 🇺🇸 ที่คนไทยมักใช้ผิด
วันนี้จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เคยเห็นคนไทยใช้ผิดบ่อยๆนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านออกเสียงผิด เขียนผิด และใช้ผิดความหมาย
Image by Free-Photos from Pixabay
ไปเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ …
คำที่ 1: ➡️ Mojito
Mojito เป็นชื่อของเครื่องดื่มค็อกเทลชนิดหนึ่ง จริงๆแล้วคำนี้ไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ มันคือคำในภาษา Spanish ค่ะ
ในภาษา Spanish ตัว “J” จะออกเสียงเหมือนตัว “H” ในภาษาอังกฤษ เช่น Home (โฮม), Horse (ฮอส), Hippo (ฮิปโป) เป็นต้น
ดังนั้นคำว่า “Mojito” ต้องอ่านว่า “โม-ฮิ-โต้” ไม่ใช่ “โม-จิ-โต้” นะคะ
เราสังเกตเห็นเมนูเครื่องดื่มในร้านอาหารหลายๆร้านชอบเขียนกำกับภาษาไทยว่า “โมจิโต้”
แต่ตอนนี้ทุกคนรู้กันแล้วนะคะ ว่าแท้จริงแล้วมันคือ “โมฮิโต้”
คำที่ 2: ➡️ Label
Label แปลว่า ฉลาก / ฉลากสินค้า
เป็นคำที่คนไทยอ่านออกเสียงกันผิดแบบแพร่หลายเลยทีเดียว ขนาดคนที่ทำงานตำแหน่งใหญ่โตก็ยังอ่านออกเสียงคำๆนี้ผิด
โดยมักจะชอบอ่านออกเสียงว่า “ลา-เบล” ซึ่งผิดค่ะ … ที่ถูกต้องคือ “เล-เบิ้ล”
มีเหล้าอยู่ยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นยี่ห้อที่คนไทยรู้จักกันดี และอ่านออกเสียงถูกต้องด้วย เหล้ายี่ห้อนั้นคือ “Johny Walker Black Label” (จอนนี่-วอล์คเกอร์-แบล็ค-เลเบิ้ล)
เห็นมั้ยคะว่าสะกดเหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นถ้าเห็นคำนี้ “Label” แล้วนึกไม่ออกว่าอ่านออกเสียงว่าอะไรกันแน่ ให้คิดถึง Johny Walker Black Label ไว้นะคะ
คำที่ 3: ➡️ Out of Order
Out of Order แปลว่า เครื่องไม่ทำงาน / เครื่องเสีย
คำว่า “Out of Order” จึงใช้กับเครื่องต่างๆที่เสีย ใช้งานไม่ได้ เช่น ตู้ ATM, เครื่องซักผ้า, ตู้เกมส์ เป็นต้น
เราจะไม่ใช้ Out of Order กับสินค้าหมดสต๊อก ถ้าสินค้าหมดสต๊อกหรือขายหมดแล้ว เราจะใช้คำว่า “Sold Out” ค่ะ เรามักเห็นการใช้ผิดอยู่เป็นประจำตามห้างสรรพสินค้า
ส่วนถ้ารายการอาหารบางรายการถูกยกเลิกไปจากเมนู คือไม่มีรายการอาหารนี้ขายแล้ว เราก็จะไม่ใช้คำว่า “Out of order” เช่นเดียวกัน รวมถึงคำว่า “Sold Out” ก็ไม่ใช่นะคะ
สำหรับรายการอาหารที่ไม่มีขายแล้ว ทางร้านอาหารอาจแปะป้ายว่า “No Longer Available”
คำที่ 4: ➡️ Turn On / Turn Off
เวลาจะบอกว่าเปิดหรือปิดสวิตซ์ไฟ คนไทยมักใช้ผิดเป็น Open และ Close เพราะแปลตรงตัวมาจากภาษาไทยนั่นเอง
คำที่ถูกต้องสำหรับการเปิดปิดสวิตซ์ไฟคือ
“Turn On” = เปิดไฟ
ตัวอย่าง: Can You turn on the light? (คุณช่วยเปิดไฟหน่อยได้ไหม?)
“Turn Off” = ปิดไฟ
ตัวอย่าง: Please turn off the light before going to bed. (กรุณาปิดไฟก่อนเข้านอน)
ส่วนคำว่า “Open” กับ “Close” นั้นใช้สำหรับกรณีเปิดปิดประตูค่ะ
คำที่ 5: ➡️ Desert / Dessert
Desert (เดส-เซิท) แปลว่า ทะเลทราย
Dessert (ดี-เซิ้ท) แปลว่า ขนมหวาน
เป็นสองคำที่น่าสับสนมากเลยค่ะ ทั้งการเขียนและการอ่านออกเสียง แม้แต่ตัวเองก็ยังชอบสับสนกับคำสองคำนี้เป็นประจำ
มาย้ำกันอีกทีนะคะ …
ทะเลทราย มี “S” ตัวเดียว อ่านว่า เดส-เซิท
ขนมหวาน มี “S” สองตัว อ่านว่า ดี-เซิ้ท
คำที่ 6: ➡️ Tired / Tried
Tired แปลว่า เหนื่อย อยู่ในรูป Past Tense ของ Tire
Tried แปลว่า พยายาม อยู่ในรูป Past Tense ของ Try
เป็นอีกสองคำที่มักจะเขียนผิดกันค่ะ
ต้องตั้งสติกันนิดนึงก่อนเขียน ว่าจะ Tired (เหนื่อย) หรือ Tried (พยายาม)
ตัวอย่าง: I’m so tired. (ฉันเหนื่อยเหลือเกิน)
ตัวอย่าง: I’ve tried my best. (ฉันได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว)
คำที่ 7: ➡️ Mass / Mask
ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมา คำว่า “Mask” ซึ่งแปลว่า หน้ากาก ก็ถูกใช้กันบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นในทีวี หรือ ตามห้างร้านต่างๆ และก็มีให้เห็นว่าใช้ผิดคำอยู่บ่อยๆ
Mass และ Mask อ่านออกเสียงคล้ายๆกัน ดังนี้:
“Mass” อ่านว่า แมส ส่วน “Mask” อ่านว่า แมสก์
แต่ทั้งสองคำมีความหมายต่างกันสิ้นเชิง
“Mask” คือ หน้ากาก ถูกไหมคะ
แต่ “Mass” แปลว่า หมู่มาก, จำนวนมาก, ส่วนใหญ่ เช่น เสื้อผ้ายี่ห้อนี้เน้นการตลาดแบบ mass กล่าวคือ เสื้อผ้ายี่ห้อนี้ทำการตลาดแบบคนหมู่มากเพื่อขายได้จำนวนมากๆนั่นเอง
คำที่ 8: ➡️ Angel / Angle
Angel (แอง-เจิล) แปลว่า เทวดา นางฟ้า
Angle (แอง-เกิล) แปลว่า มุม
เป็นอีกสองคำที่คนมักสับสนในการสะกดค่ะ ให้สังเกตตรงตัวสะกดด้านหลังให้ดีๆค่ะ
gel อ่านว่า เจิล
ส่วน gle อ่านว่า เกิล นะคะ
ตัวอย่าง: You are my angel. (คุณเป็นนางฟ้าของฉัน)
ตัวอย่าง: You look great from this angle. (คุณดูดีเลยนะจากมุมนี้)
คำที่9: ➡️ Calm / Clam
Calm (คาล์ม) แปลว่า สงบ
Clam (แคลม) แปลว่า หอย ที่มีลักษณะคล้ายๆหอยลาย
คนมักสับสนการสะกดคำระหว่าง Calm และ Clam
เคยได้ยินชื่อเมนูอาหาร “Clam Chowder” (แคลม-ชาวเดอร์) มั้ยคะ … ซึ่งมันก็คือ ซุปหอยลาย นั่นเอง
ให้จำว่า Clam คือ Clam Chowder นะคะ
ตัวอย่าง: I’m always calm when being in nature. (ฉันมักจะรู้สึกสงบเมื่อได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ)
ตัวอย่าง: I had clams for lunch yesterday. (เมื่อวานนี้ฉันได้กินหอยลายเป็นมื้อเที่ยง)
คำที่ 10: ➡️ แม็ค / Stapler
คนไทยจะเรียกที่แม็คกระดาษว่า “แม็ค” ใช่ไหมคะ … ไม่รู้เหมือนกันว่าที่มาของคำว่า “แม็ค” มาจากไหน
แต่คนฝรั่งเขาเรียก “แม็ค” ของเรา ว่า “Stapler” (สเต้ป-เปลอร์) ค่ะ
ถ้าเราพูดกับฝรั่งว่า “Can you pass me the mac?” จะไม่รู้เรื่องกันค่ะ
… ต้องพูดว่า “Can you pass me the stapler?” (คุณช่วยหยิบ “แม็ค” ให้ฉันหน่อยได้ไหม)
วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะคะกับคำศัพท์ที่เราคนไทยมักใช้ผิดๆกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้หายสับสนกันได้บ้างนะคะ
ถ้าคิดอะไรออกอีก จะมาเพิ่มเติมคราวหน้าค่ะ
เดี๋ยวก่อนๆ!! ก่อนจากไปในวันนี้ แถมเรื่องตลกแบบน่ารักๆเกี่ยวกับการใช้คำผิดให้อ่านหนึ่งเรื่องค่ะ … เรื่องมีอยู่ว่า ……
💋 เมื่อไม่นานมานี้ เราไปพัทยา เราจอดแวะซื้อขนมนมเนยที่ 7/11 อยู่ครู่หนึ่ง
เมื่อกำลังเดินกลับขึ้นรถ ก็พลันสังเกตเห็นว่ามีรถเข็นขายอาหารจอดอยู่ใกล้ๆ
ลุงผู้เป็นเจ้าของรถเข็นกำลังง่วนทำอาหารให้ลูกค้าอยู่
ลุงแกแขวนป้ายรายการอาหารต่างๆ ห้อยกันระโยงระยาง
มีทั้งส้มตำ ลาบ น้ำตก และยำต่างๆ นั่นก็รวมไปถึงเมนูที่ลุงแกเขียนว่า “ยำปลากรอบ”
ป้ายรายการอาหารทุกป้ายของลุง จะมีเขียนภาษาอังกฤษกำกับไว้ข้างล่างเผื่อคนต่างชาติอ่านด้วย
และสายตาของเราก็ไปสะดุดที่ป้ายเมนู “ยำปลากรอบ” ของแกนี่แหละ โดยลุงแกเขียนภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “Fish Frame Yum”
ใช่แล้วค่ะ ตรงตัวเป๊ะๆเลย
Fish = ปลา, Frame = กรอบ (รูป) และ Yum = ยำ
“Fish Frame Yum” ของลุง ก็จะได้เป็น “ยำปลากรอบ”
1
ไม่มีอะไรครีเอทไปกว่านี้อีกแล้ว … เป็นการใช้คำผิด ที่ดูน่ารักดีค่ะ
เมื่อกลับขึ้นมาบนรถ ก็ได้ทั้งเสียงขำและรอยยิ้ม
#สมองสองช้อน ขอบคุณผู้อ่านทุกๆคนค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา