Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สมองสองช้อน
•
ติดตาม
29 มิ.ย. 2021 เวลา 03:30 • ความคิดเห็น
#คำถามกับการจัดเรทอายุของผู้ชม สำหรับรายการทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย
เหตุผลของการจัดเรทอายุก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือผู้ชม ที่มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน คำถามคือ ในทางปฏิบัติจริง “เรา” ซึ่งคือผู้ชม รวมถึงผู้ใหญ่และเยาวชน เป็นผู้ได้ผลประโยชน์จริงๆหรือ?
Image by Gerd Altmann from Pixabay
ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ขอแสดงข้อมูลการจำแนกเรทอายุของผู้ชมก่อนนะคะ ซึ่งรายการทางโทรทัศน์หรือทีวี ก็จะมีการจำแนกแตกต่างกันเล็กน้อยกับภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหนัง
การจำแนกเรทอายุผู้ชมสำหรับรายการทางทีวี
การจำแนกเรทอายุผู้ชมสำหรับภาพยนตร์
การจำแนกเรทอายุของผู้ชมในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่ดี เพราะว่ารายการทีวี ละครทีวี และภาพยนตร์ ไม่ได้มีเนื้อหาเหมาะสมกับคนทุกวัยในทุกๆรายการ หรือ ในทุกๆเรื่อง
แต่ในความเป็นจริง ….
➡️ 1. ผู้ปกครองให้ความสนใจในเรทอายุของผู้ชมก่อนให้บุตรหลานดูรายการ ละคร ภาพยนตร์ต่างๆหรือไม่?
อันนี้ไม่แน่ใจ ส่วนตัวเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่เราก็ไม่สามารถไปบังคับใครได้ การที่จะให้ลูกหลานของตัวเองดูอะไร ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีเพียงแค่คำว่าควรหรือไม่ควร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นานาจิตตัง
➡️ 2. เจ้าหน้าที่จริงจังกับเรทอายุของผู้ชมมากน้อยแค่ไหน?
จากประสบการณ์ของตัวเอง เราไม่เคยเห็นการตรวจบัตรประชาชนในขั้นตอนการซื้อตั๋วภาพยนตร์เลยสักครั้ง และภาพยนตร์บางเรื่องที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ ก็เคยเห็นมีเด็กวัยมัธยมต้นเข้ามานั่งดู ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วเขามีตรวจบัตรกันบ้างไหม?
➡️ 3. รายการทีวี ละครทีวี และภาพยนตร์ บางรายการ บางเรื่อง อยู่ในหมวดหมู่ “ท” ซึ่งหมายความว่า เหมาะสมสำหรับผู้ชมทุกวัย … ถามว่า เหมาะสมแล้วจริงๆหรือ?
จากที่เคยเห็นผ่านๆตา เราสังเกตได้ว่าทั้งรายการทีวี ละครทีวี และภาพยนตร์ ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในหมวดหมู่ “ท” ซึ่งบางเรื่องก็มีเนื้อหาที่ไม่น่าจะเหมาะสำหรับ “ผู้ชมทั่วไป” มากนัก
ยกตัวอย่างละครเรื่องหนึ่ง ขอไม่เอ่ยชื่อแล้วกันนะคะ เป็นละครที่อยู่ในหมวดหมู่ของ “ท” เช่นเดียวกัน โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาสาวที่ขายบริการทางเพศเพื่อหวังรวยทางลัด
ถึงแม้ในเรื่องจะไม่มีให้เห็นถึงฉากวาบหวิว และเรื่องราวก็ส่งความหมายถึงผู้ชมว่าเป็นการกระทำที่คิดผิด แต่ในหลายๆฉาก มีการตบตีกันอย่างรุนแรง และเนื้อหาโดยรวมก็ไม่น่าจะเหมาะกับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 เลย หรืออย่างน้อยผู้ชมก็น่าจะต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่เหตุไฉนเรื่องนี้ถึงได้ถูกจัดอยู่ในหมวด “ท”
ที่ละครเกือบทุกเรื่องอยู่ในหมวด “ท” นั้น หรือเป็นเพียงเพราะต้องการฉายอยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ซึ่งก็คือช่วงหลังข่าวภาคค่ำจนถึงเวลา 22.00 น.?
➡️ 4. สิ่งที่สำคัญมีแค่เรื่องเงินเท่านั้นจริงๆหรือ? จึงทำให้มีรายการทีวี ละครทีวี และภาพยนตร์ไทยที่เยาวชนสามารถรับชมได้จริงๆน้อยมากๆ … ผู้ผลิตไม่คำนึงถึงอนาคตของชาติบ้างเลยหรืออย่างไร?
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เราต้องเลือกแต่หนังฝรั่งเมื่อดูกับลูก เพราะหนังฝรั่งรวมถึงหนัง Animation มีให้เลือกหลายเรื่องมากมายที่ให้เด็กดูได้โดยมีเรทอายุกำหนดไว้อย่างเหมาะสม
หนังฝรั่งจะถูกจัดเรทอย่างชัดเจน โดยวัดจาก ภาษาที่ใช้ (มีการใช้คำหยาบหรือไม่) ภาพโป๊ เปลือย มีกิจกรรมทางเพศ หรือ เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางเพศหรือไม่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ภาพน่ากลัว ความรุนแรง และเนื้อหาโดยรวมของเรื่อง เป็นต้น
ขอยกตัวอย่างเพื่อความชัดเจน หนังฝรั่งที่ถูกจัดอยู่ในหมวด "G" ซึ่งคือ General Audiences หรือ ผู้ชมทั่วไป หมายความว่าผู้ชมทุกวัยสามารถรับชมได้ เช่นเดียวกับหมวด "ท" ของเรา หนังที่อยู่ในหมวดนี้จะเป็นหนังที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลยตามที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ ไม่มีคำหยาบ ไม่มีเนื้อหาทางเพศไม่ว่าตอนหนึ่งตอนใด ไม่มีภาพน่ากลัว ไม่มีความรุนแรง เช่น Finding Nemo, Toy Story, The Lion King เป็นต้น
ส่วนหนังไทยนั้นเรียกว่านับจำนวนเรื่องได้เลยที่เด็กสามารถดูได้จริงๆ เพราะมักมีสิ่งเหล่านี้ปะปนอยู่ เช่น คำหยาบ มุกตลกใต้สะดือ และผี ส่วนละครไทยนั้นเราไม่เคยให้ลูกดูเลย เพราะ “ท” ที่ว่านั่น มันไม่ได้เป็นตามนั้นจริงๆ
➡️ 5. หากทุกคนและเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเรทอายุของผู้ชมอย่างจริงจัง จะดีกว่าหรือไม่ถ้าจัดเรทให้ถูกให้ควร ดีกว่าไปเซ็นเซอร์โดยการเบลอภาพในสิ่งที่ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันคืออะไร?
สมมุติว่าละครหรือหนังเรื่องหนึ่งถูกจัดเรทอายุอยู่ในหมวด “ท” แล้วมีฉากที่ตัวละครอยู่ในผับและอยู่ในสภาพเมามาย ตัวละครนั้นถือแก้วเหล้า (ที่ถูกเบลอไป) ... ถามว่า ผู้ชม (รวมถึงเยาวชน) จะไม่สามารถรู้ได้เลยหรือว่ามันคือแก้วเหล้า?
ถ้าคิดว่าการดื่มเหล้าเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เยาวชนเห็นเอาเป็นตัวอย่าง ละครหรือหนังเรื่องนี้ก็ไม่ควรจัดให้อยู่ในหมวดของ “ท” ตั้งแต่แรกแล้ว หรือเปล่า?
การเบลอภาพไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมยังทำให้เสียอรรถรสในการชมอีกด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลก็แค่รู้สึกเป็นห่วงเยาวชนไทย เพราะผู้ใหญ่หรือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้นสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ แยกแยะได้ แต่ไม่ใช่เยาวชนทุกคนที่จะสามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างถูกต้อง และการรับชมสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับวัยนั้นสามารถส่งผลถึงพฤติกรรมในอนาคต
หากจะเลือกดูรายการทีวี ละครทีวี หรือ ภาพยนตร์ของไทย ผู้บริโภคตัวเล็กๆอย่างเราก็คงได้แต่ตัดสินใจเอาเองว่า อันไหนลูกดูได้ อันไหนลูกดูไม่ได้ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือการที่เด็กตัวเล็กๆนั่งดูละครตบตีกันพร้อมไปกับผู้ปกครอง หรือเปิดดูเองเป็นเรื่องปกติ
สุดท้ายนี้เราก็ยังคงมีคำถามในใจว่า เรื่องราวในละครไทย ภาพยนตร์ไทย เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคม หรือ สังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ บางส่วนเป็นผลพวงมาจากเรื่องราวที่นำเสนอแบบย้ำๆ แบบถี่ๆ ทั้งในละครและภาพยนตร์ไทยกันแน่?
#สมองสองช้อน ขอบคุณผู้อ่านทุกคนนะคะ
บันทึก
9
10
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องอยากจะเล่า
9
10
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย