20 มิ.ย. 2021 เวลา 13:00 • หนังสือ
'คิมจียงเกิดปี 82'
เมื่อไม่นานมานี้มีวรรณกรรมแปลจากเกาหลีเล่มหนึ่งที่เป็นกระแสดังขึ้นมาและเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง รวมทั้งมีการนำไปทำเป็นภาพยนตร์ซึ่งนำแสดงโดย กงยู อปป้าของใครหลายๆคน ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมแปลจากเกาหลีซักเท่าไหร่เพราะรู้สึกว่าจำชื่อตัวละครค่อนข้างยาก แต่กับเล่มนี้ คิมจียองเกิดปี 82 ด้วยกระแสเกี่ยวกับ Feminist (แนวคิดที่พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนทุกเพศเท่าเทียมกัน)และการพูดถึงของใครหลายๆคน ทำให้ต้องหยิบมาอ่านดู
เนื่องจากเนื้อเรื่องไม่ได้แฟนตาซีหรือเข้าถึงยาก เป็นเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ คิมจียอง ตั้งแต่เธอเกิด เติบโต แต่งงาน มีลูก และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่อย่างเห็นได้ชัดในสังคมเกาหลี หนังสือเล่มนี้มีความสามารถที่จะเล่าเรื่องที่ธรรมดาแต่ทำให้เรารู้สึกระทึกใจได้ วันนี้เพจรีวิวทุกอย่างที่อ่านออกจะรีวิวหนังสือนี่โดยแบ่งช่วงชีวิตของคิมจียองออกเป็น 3 ช่วงชีวิต
(1) เด็กหญิงคิมจียอง
คิมจียองเกิดมาเป็นลูกสาวคนกลางในครอบครัวที่มีลูก 3 คน โดยมีพี่สาว 1 คน และน้องชาย 1 คน ตั้งแต่ภาพที่เห็นจนชินตาก็คือแม่จะคอยดูแลบ้าน เลี้ยงดู ส่วนพ่อออกไปทำงาน โดยแม่จะมีผู้ช่วยคือคิมจียองและพี่สาว ส่วนน้องชายมีหน้าที่ตั้งใจเรียน ตอนที่อ่านแอบรู้สึกตกใจว่าเรื่องราวที่คิมจียองเห็นกับเราเห็นมันคล้ายกันมากๆฝ่ายชายจะเป็นทำงานหาเงิน ฝ่ายหญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกเท่านั้น โดยระยะเวลาห่างกันประมาณ 20 ปี ซึ่งตอนเด็กเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่พอตอนอ่านเรารู้สึกเอะกับประเด็นที่นักเขียนถ่ายทอดผ่านคิมจียอง เช่นตอนหนึ่งที่แสดงถึงความสงสัยของคิมจียองว่าทำไมพี่สาวกับตัวเองต้องช่วยแม่ล้างจานในขณะที่น้องชายก็กินข้าวเหมือนกันแต่กลับไม่ต้องทำ หรือแม้แต่ในโรงเรียนเองก็ตามที่มักจะสนับสนุนเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
(2) นางสาวคิมจียอง
หลังจากใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆพร้อมกับที่ผู้เขียนแสดงให้เราเห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิงได้ชัดเจนขึ้นในสถานที่ทำงานหรือออฟฟิศ โดยเหตุการณ์ที่เราอ่านแล้วรู้สึกตกใจคือการโดนลวนลามในที่ทำงานแต่ฝ่ายหญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำกลับถูกมองว่าเป็นฝ่ายยั่วยวนหรือให้ท่าฝ่ายชาย ซึ่งปัจจุบันเองก็ตามถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็อาจจะมีคนที่คิดแบบนี้อยู่ รวมทั้งการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งโดยจะพิจารณาผู้ชายก่อนเนื่องจากในอนาคตผู้หญิงอาจจะต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก
1
(3) นางคิมจียอง
การแต่งงาน มีลูก การที่ต้องใช้ชีวิตตามแบบแผนของผู้หญิงทั้ง ๆที่เราอาจจะอยากทำอย่างอื่นที่แตกต่างจากคนอื่น บางครั้งกลับถูกมองว่าไม่เข้ากับสังคมกลายเป็นแปลกไปซะอย่างนั้น ไม่ว่าจะชายหรือหญิงหรือเพศไหน ๆ หรือสาเหตุของประโยคที่ว่า มีคนเรียกฉันว่าปลิงล่ะ ที่กล่าวถึงผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกโดยปล่อยให้ฝ่ายชายหาเงินฝ่ายเดียว ทั้ง ๆที่ผู้หญิงอาจจะไม่ได้อยากอยู่บ้านเลี้ยงลูกแต่ด้วยบริบทของสังคมในตอนนั้นทำให้หน้าที่นี้ตกเป็นของผู้หญิงโดยปริยาย เรื่องราวของคิมจียองดำเนินมาจุดนี้และเริ่มเกิดอาการแปลกๆขึ้นกับคิมจียองโดยที่ตัวคิมจียองเองไม่รู้ตัว อ่านจบลงด้วยเสียงสะท้อนของคิมจียองที่ดังผ่านออกมาจากหนังสือ
หลังจากอ่านจบได้กลับมาคิดว่าเฮ้ยตลอดระยะเวลาที่อ่านหนังสือเล่มนี้ คนแรกที่อยู่ในความคิดตลอดระยะการอ่านคือแม่ ด้วยแกนหลักของเรื่องนี้คือ ผู้หญิง สิ่งที่เรานึกถึงก็คือมนุษย์ผู้หญิงที่เราได้ใกล้ชิดมาตลอด เราได้นึกถึงแม่ ในมุมที่กว้างขึ้น ไม่ใช่แม่ที่เรามองเห็นอยู่ด้านเดียว แม่ที่เคยเป็นลูก แม่ที่เคยดื้อ ที่เคยยังสาวและสวย แม่ที่เคยเจอแรงกดดันทางสังคม ที่ว่าด้วยความเป็นผู้หญิง ต้องเสียสละบางอย่าง หรือต้องทำบางอย่างที่เป็นหน้าที่ที่ผู้หญิงควรทำ ทั้ง ๆ ที่แม่อาจจะไม่ชอบ คิมจียอง อาจจะสะท้อนสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีเจอในทุกช่วงของชีวิตตลอดเวลาที่ขึ้นชื่อว่าเป็น เพศหญิง แต่เราเชื่อว่า ผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้ มีหน้าที่ ความรับผิดชอบของความเป็น เพศหญิง ที่เหมือนกัน อาจจะแตกต่างด้วยสภาพทางสังคมที่เป็นอยู่
คิมจียองเกิดปี 82 คุณจะเข้าใจความเป็นหญิงอีกด้าน การเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียมของเพศ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ และน่าเศร้าที่เรา แม้แต่เพศหญิงเอง ยังรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติเช่นกัน และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของผู้หญิงที่เกิดในปี 82 ซึ่งเกือบจะ 40 ปีแล้ว แต่ปัญหาหลายๆอย่างในหนังสือยังเป็นเรื่องปกติในยุค 2021 นี้อยู่เลย ทำให้เราตระหนักได้มากขึ้นว่าปัญหาบางอย่างในสังคมมันใช้เวลานานมากจริงๆในการแก้ไขค่ะ 🙂
ชื่อหนังสือ คิมจียองเกิดปี 82
ผู้เขียน โชนัมจู
ผู้แปล ตรองสิริ ทองคำใส
ความยาว 192 หน้า
ราคา 190 บาท
สำนักพิมพ์ @EarnestPublishing
Overall 4/5
โฆษณา