Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
18 มิ.ย. 2021 เวลา 10:00 • สุขภาพ
ความทรงจำที่มีความหมายในวาระสุดท้ายของผู้ป่วยโควิด: พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร
เรานัดหมายกันในกลางดึกของคืนวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564
นั่นคือช่วงเวลาเดียวที่ หมอแนต-แพทย์หญิงนิษฐา เอื้ออารีมิตร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ประจำโรงพยาบาลเอกชัย กับอีกบทบาทคือแอดมินเพจ ‘หมอสายดาร์ก’ ว่างเว้นจากหน้างานอันโกลาหลได้ชั่วครู่
เพราะหากนับแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงวันนี้ เธอทำงานต่อเนื่องมาแล้ว 75 วันเต็ม และมากกว่า 75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความอ่อนล้าปรากฏชัดผ่านสุ้มเสียงที่แหบพร่า การสนทนาจึงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
1
โรงพยาบาลเอกชัย คือโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยจำนวนแพทย์อายุรกรรมที่มีอยู่จำกัด หมอแนตจึงเป็นแพทย์ผู้รับผิดชอบคนไข้โควิด เป็นหลัก และในวันที่เราคุยกัน คือวันที่เธอมีคนไข้ในความดูแลถึง 70-80 คน
‘ความตาย’ คือเหตุการณ์ปกติที่บุคลากรทางการแพทย์ต่างพบเจอ ทว่าในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ความตายรายวันที่เกิดจากโรคระบาดได้สร้างผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าจะด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ที่ประสบโรค และครอบครัวของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยคือผู้ที่สูญเสียคนรักในเวลาต่อมา
สำหรับหมอแนต ความตายไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการมีชีวิตอยู่ หน้าที่ของเธอในฐานะแพทย์ จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงการช่วยชีวิต แต่กินความถึงการรักษาความทรงจำของคนไข้และครอบครัวในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความหมายที่สุด
การเดินทางไปพร้อมๆ กับคนไข้เพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ จึงเป็นหน้าที่สำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นผลกระทบทางใจของครอบครัวผู้สูญเสียจากสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงฝังใจไปอีกยาวนาน มันคือความทุกข์ที่ระบาดเรื้อรัง ความตายอย่างโดดเดี่ยวของคนไข้นั้น อาจหมายถึงความโดดเดี่ยวทางใจของครอบครัวและญาติมิตรที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปเช่นกัน
1
เรื่องราวถัดจากนี้ คือประสบการณ์ วิธีการ และกระบวนการดูแลผู้ป่วยโควิดของ หมอแนต-นิษฐา เอื้ออารีมิตร การดูแลที่ไม่ใช่เพียงทางกาย แต่รวมถึงการดูแลทางใจ ในวันที่ไม่ควรมีใครต้องดำรงอยู่หรือจากไปอย่างโดดเดี่ยวลำพัง
หมอแนต-แพทย์หญิงนิษฐา เอื้ออารีมิตร
● เคสที่ 1
คุณแม่ท่านหนึ่งเดินทางมาแอดมิทที่โรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 ก่อนที่ลูกของเธอจะมาแอดมิทใน 4-5 วันถัดมา
ในช่วงแรก คนไข้ผู้เป็นลูกเลือกที่จะไม่บอกแม่ว่าตนเองติดเชื้อ เพราะกลัวว่าแม่ต้องเผชิญกับความเป็นห่วงกังวล แต่เมื่ออาการของคุณแม่แย่ลง หมอแนตจึงเลือกสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาถึงสภาวะที่คนไข้กำลังเผชิญ
“เราคุยกับคนลูกอยู่ตลอดว่า ‘คุณแม่อาการแย่ลงนะ อาจจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โอกาสที่มีเท่านี้ๆ นะ’ คนไข้ทั้งสองคนก็ได้โทรคุยกันก่อนที่จะเลือกใส่ท่อ ในวันนั้น คุณแม่ก็ได้ฝากฝังคนลูกว่า กุญแจประตูอยู่ที่ไหน ถุงใบนี้อยู่ตรงนี้นะ ส่วนลูกก็พยายามจะพูดว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องพูดแล้ว เดี๋ยวก็ดีขึ้น’ แต่คุณแม่ก็ยืนยันขอพูดต่อให้จบ
1
“เมื่อบทสนทนาสิ้นสุด แม่ได้จัดการธุรกรรมจนเสร็จสิ้น พอเคสนี้ได้ใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว อาการก็ไม่ดีขึ้น จนถึงช่วงวันที่เขาใกล้เสียชีวิต คนไข้ยังหลับอยู่ เพราะถ้าปล่อยให้คนไข้ตื่น เขาจะรู้สึกเหนื่อยมาก เราก็เลยให้เขาหลับ แล้วเราก็ให้ลูกที่แอดมิทอยู่อีกชั้นหนึ่งลงมาหาแม่ ให้มาอยู่กับคุณแม่ตอนคุณแม่ใกล้เสียชีวิต เพราะฉะนั้นเคสนี้จึงถือว่าคนไข้จากไปอย่างไม่โดดเดี่ยว”
● เคสที่ 2
คนไข้ชายมาโรงพยาบาลด้วยอาการโควิดที่ค่อนข้างหนัก เขามีครอบครัวคือพี่ชาย ที่รับหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับทีมแพทย์อยู่เป็นระยะ
1
“สติสัมปชัญญะทุกอย่างของคนไข้ยังดีหมด หมอได้สื่อสารกับพี่ชายของคนไข้มาเรื่อยๆ ว่าคนไข้อาการเป็นยังไง วันที่เราต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้คนไข้ เราก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า อาการของเขาเป็นแบบนี้นะ สัญญาว่าหมอจะทำทุกอย่างเต็มที่ที่สุด ถ้าถึงจุดหนึ่งที่เรารักษาเขาไม่ไหวแล้ว เราก็จะดูแลให้คนไข้สบายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราก็ได้อธิบายให้คนไข้ฟัง คนไข้ก็ขอบคุณ แล้วบอกกับเราว่า ‘ผมไว้ใจหมอ’ เราก็จะบอกคนไข้ว่า ‘เราก็ต้องสู้ไปด้วยกันนะ’”
3
แม้อาการจะเริ่มคงที่และดีขึ้นตามลำดับ แต่เมื่อวันหนึ่งที่หมอและพยาบาลพลิกตัวคนไข้เพื่อดูแผลกดทับ จึงพบว่าเกิดภาวะ ‘ลิ่มเลือดอุดตันขั้วปอด’ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ความดันลดลงกะทันหัน หัวใจของคนไข้เต้นช้าลง สัญญาณนี้ทำให้หมอแนตรู้ได้ทันทีว่า คนไข้อาจจะไปต่อไม่ได้แล้ว
2
“ในเคสนี้ เราจึงต้องออกมาคุยกับพี่ชายคนไข้ ทั้งๆ ที่เมื่อตอนเช้า เราเพิ่งคุยกันไปว่า เคสนี้คนไข้อาการดีขึ้นนะ แต่พอตกเย็น เราต้องมาบอกเขาว่า น้องชายเขากำลังจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นาน
“พี่ชายก็ตกใจมาก เราต้องใช้วิธีเอาโทรศัพท์ไปวางไว้ที่หูคนไข้ ให้พี่ชายเขาได้คุยกับคนไข้ ตอนที่คุยกันใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึง 5 นาที สัญญาณชีพก็ค่อยๆ แผ่วลงแล้วจากไป เคสนี้เราก็ให้พยาบาลที่อยู่ด้วยคอยจับมือคนไข้ไว้อยู่ตลอด”
1
● เคสที่ 3
คนไข้คืออาม่าและลูกๆ ทั้งสามคน แรกเริ่มนั้น อาม่าแอดมิทอยู่ในอีกโรงพยาบาลหนึ่ง แต่จากการรบเร้าของคนไข้ผู้เป็นลูก อาม่าจึงถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลเดียวกันในเวลาต่อมา
“ลูกแต่ละคนก็อายุมากแล้วนะคะ 40-60 แล้ว อาการค่อนข้างรุนแรง เชื้อลงปอดทุกคน จนมีอยู่วันหนึ่ง เราได้เข้าไปเยี่ยมคนไข้แล้วเห็นคนไข้ร้องไห้อยู่ เราก็ถามว่าเป็นอะไร คนไข้ก็บอกว่า ‘หมออีกโรงพยาบาลหนึ่งดูแลอาม่าอยู่ อาม่าอาการแย่ลง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ควรจะใส่ไหมหมอ’
1
“เราตอบไม่ได้ เพราะข้อมูลที่มีน้อยมาก สุดท้ายคือ คนไข้ขอให้พาอาม่ามารักษาที่โรงพยาบาลเดียวกัน หลังจากที่คุยกันเรื่องใส่ท่อหรือไม่ใส่ท่อมาสักพัก ตอนนั้นเราก็คิดว่าอาม่าอาการดีขึ้นแล้วตอนที่จะรับมา แต่พอเจอกันจริงๆ อาม่าหอบมาก เหนื่อยมาก เราก็ตกใจ ทำไมอาการถึงเป็นขนาดนี้ ตอนนั้นอาม่ายังไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจนะ”
2
ในเวลานั้น อาม่ายังคงมีสติรับรู้ แม้อาการในทัศนะของแพทย์จะถือว่าน่าเป็นห่วง กระทั่งถึงจุดที่หมอแนตมองว่า คนไข้อาจจะสู้กับโรคภัยต่อไปไม่ไหว เพราะนอกจากโควิดแล้ว ยังมีโรคเดิมคือ ‘มะเร็งตับ’ ที่กำลังรุมเร้าคนไข้ในเวลาเดียวกัน
“เราพาลูกๆ มาหาอาม่า ซึ่งปกติแล้วคนไข้โควิดจะต้องห้ามออกจากห้องนะ ถ้าจะเดินออกมาต้องมีพยาบาลพามาเท่านั้น แต่เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนของเราสามารถควบคุมความเสี่ยงนี้ได้ เราจึงพาลูกๆ ให้มาเจออาม่า
2
“อาม่าดีใจมากและรู้เรื่องดีอยู่ แต่จากสภาวะคนไข้ เราหนักใจแล้วแหละ เราต้องคุยกับลูกๆ ของอาม่าวันนั้นเลยว่า แนวทางการรักษาอาม่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง มีหนทางอะไรที่พอจะช่วยอาม่าได้บ้าง พอเราอธิบายแล้ว ลูกๆ ก็โอเค รับทราบ แล้วก็บอกว่า ‘มีอะไรก็เต็มที่เลยนะหมอ บ้านเราไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องเงินเลย เรารักอาม่ามาก รักษาเต็มที่เลย’”
ในกรณีนี้ อาม่าต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งนั่นหมายถึงอาการของคนไข้ที่หนักมากแล้ว ในทัศนะของหมอแนตนั้น หากคนไข้จะต้องรับการรักษาอย่างเต็มที่ในทุกขั้นตอนที่สามารถทำได้ นั่นอาจเป็นแค่การ ‘ยื้อความตาย’ อีกทั้งคนไข้ยังต้องทนทรมานกับกระบวนการรักษาต่อจากนี้ไม่น้อยเลย
1
“เราได้คุยกับหลานของอาม่าที่ติดโควิดเหมือนกัน เขาก็บอกว่า อาม่าเป็นคนที่ไม่ชอบการเจ็บปวด ไม่อยากต้องเจ็บต้องทรมาน จากข้อมูลตรงนี้เราจึงได้มีการคุยกับญาติอาม่าเป็นระยะ ซึ่งสุดท้ายแล้ว จากโรคมะเร็งตับของอาม่าที่เป็นอยู่ บวกกับการรับยาหลายตัว ตับอาม่าก็แย่ลง เคสนี้ปอดอาม่าไม่แย่มาก เป็นการเสียชีวิตเพราะตับวาย การใส่ท่อช่วยหายใจต่างๆ จึงช่วยอะไรอาม่าได้ไม่มาก
1
“เราอธิบายกับทางครอบครัวของอาม่าไปว่า การรักษามาถึงจุดนี้แล้ว ถ้าให้รักษาไปเรื่อยๆ ก็จะต้องทำแบบนี้ๆ นะ แต่จากข้อมูลทุกอย่างที่หมอได้รับรู้ ถ้าอาม่าเป็นคนในครอบครัวของหมอ หมอคิดว่าการทำทุกอย่างอาจจะไม่ใช่การรักษาที่เหมาะสมกับอาม่า อาจจะขอทำแค่บางอย่าง แล้วดูแลให้อาม่าสบายที่สุด”
1
เมื่อครอบครัวของคนไข้เข้าใจ และไว้ใจการตัดสินใจของหมอแนต เธอจึงย้ายอาม่าและลูกๆ ทั้งสามคนมารักษาตัวที่ห้องสวีทของโรงพยาบาล เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลาด้วยกันให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน หมอแนตเลือกที่จะอนุญาตให้ครอบครัวของอาม่าที่ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์เดียวกัน และรักษาตัวหายแล้ว ได้มาอยู่กับคนไข้ในวาระสุดท้าย ภายใต้การดูแลอย่างรัดกุมของทีมแพทย์และพยาบาล
2
● เพราะ ‘ความตาย’ สำคัญไม่น้อยกว่า ‘การอยู่’
ในความโกลาหลของสถานการณ์โรคระบาด สิ่งที่หมอแนตและทีมได้เลือกที่จะทำ คือการพยายามรักษาช่วงเวลาสุดท้ายของคนไข้และครอบครัวให้มีความหมายที่สุดในวิกฤติเช่นนี้
“เราพยายามจะรักษาโมเมนต์สุดท้ายของคนไข้ให้ดีที่สุด เพราะนั่นคือสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำให้คนไข้ได้ในช่วงนี้ โอเค บางเคสเรารักษาเขาไม่ได้ แต่เราสามารถรักษาความทรงจำที่ดีให้กับครอบครัวและญาติๆ ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้”
1
ด้วยเงื่อนไขของการระบาดที่ต่างไปจากภาวะปกติ คนไข้ต้องเผชิญกับโรคภัยเพียงลำพัง ญาติพี่น้องและครอบครัวทำได้เพียงดูแลใจกันผ่านปลายสายโทรศัพท์ ไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด
“เราคิดว่าญาติๆ และครอบครัว ก็คือผู้สูญเสียเช่นกัน ความทรงจำเหล่านี้จะติดตัวเขาไปตลอดว่า พ่อ แม่ ลูก หรือคนรักของเขาตายเพราะโควิด ตายคนเดียว ตายอย่างโดดเดี่ยว แล้วความรู้สึกนี้จะคงอยู่ไม่ว่าจะอีกนานเท่าไหร่”
2
การสร้างความสงบสุข (peaceful) ในวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย หมอแนตกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ใช่ว่าบุคลากรทุกคนจะเห็นความสำคัญต่อวาระสุดท้ายของชีวิต แพทย์จำนวนไม่น้อยมักให้ความสำคัญกับการ ‘มีชีวิต’ มากกว่า ‘ความตาย’ การตระหนักถึงวาระสุดท้ายของชีวิตและสร้างช่วงเวลาดังกล่าวให้มีความหมาย จึงอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกกรณี
เราถามกลับอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?”
“ทำไมน่ะเหรอคะ…อืม (นิ่งคิด)
“เพราะเราถูกสอนมาว่า death คือ failure (ความล้มเหลว) มั้งคะ เราถูกสอนมาว่า ถ้าเรารักษาคนไข้จนรอด นั่นคือความสำเร็จ ตั้งแต่เราเรียนหนังสือมา เราก็จะถูกสอนว่า ทำอย่างนี้สิ ทำๆๆ ไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่รู้ว่า ถ้าทำแล้วคนไข้ไม่รอดล่ะ จะทำยังไงต่อ …สมองเราว่างเปล่าไปเลย
“เรารู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้เรียน Palliative Care (การดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคที่ไม่สามารถรักษาให้ขาดหายหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต) โชคดีมากๆ”
● ประคับประคองความทรงจำ
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คืออะไร? WHO หรือองค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นการดูแลผู้ป่วยโดยมุ่งไปยังคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคที่คุกคามต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม โดยเน้นการดูแลรักษาอาการที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ทั้งอาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาทางจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณแบบองค์รวม
แพทย์ควรให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต รวมถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยหลังจากการสูญเสีย ให้สามารถยอมรับและอยู่กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้
“เราพยายามหาสิ่งที่ดีในความสิ้นหวังของคนไข้และครอบครัว จริงอยู่ว่าโรคหรือสภาวะอาการของเขาอาจจะรักษาไม่ได้แล้ว แต่เราพยายามจะหาอะไรที่ดีในโมเมนต์นั้น เพื่อที่เราจะ keep ให้เขารู้สึก alive ได้ในโมเมนต์นั้น เราพยายามจะทำมันให้ได้ แม้ว่าตอนนั้นคนไข้อาจจะไม่รับรู้แล้ว แต่ครอบครัวของเขาต้องรับรู้ทั้งหมด เพราะนั่นคือความทรงจำของครอบครัว”
เราอาจคิดว่า Palliative Care เป็นการดูแลเมื่อหมดหนทางในการรักษา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการดูแลแบบประคับประคองมุ่งเน้นไปที่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไข้และครอบครัว ดังนั้นจึงสามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาโรค (Curative Care) ได้เช่นกัน
เช่นในสถานการณ์โควิด-19 แม้เดิมทีผู้ป่วยจะเป็นคนแข็งแรงดีมาตลอด แต่เมื่อติดเชื้อแล้วมีอาการปอดอักเสบ ร่างกายจึงสูญเสียการทำงานลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เรียกว่าคุณภาพชีวิตไม่ดี นี่คือจุดที่ผู้ป่วยควรเริ่มได้รับการดูแลแบบ Palliative Care คู่ขนานไปกับการรักษาปกติ
เป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคองมีหลายประการด้วยกัน ได้แก่
• การมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้ายของชีวิต
• ลดความทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิต การรักษาบางอย่างในห้อง ICU อาจสร้างความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวด โดยที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับคนไข้
• ครอบครัวสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีในวาระสุดท้าย
• ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าการดูแลรักษาแบบประคับประคอง
ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่บุคลากรทางการแพทย์และสหวิชาชีพ ผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง
คำถามถูกส่งไปยังหมอแนตอีกครั้ง – ไม่ใช่หมอทุกคนที่ให้การรักษาแบบประคับประคองได้ หรือให้ความสำคัญกับวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย?
“มั่นใจว่าไม่… ใช้คำว่ามั่นใจว่าไม่เลยนะ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างวุ่นวายด้วย หรืออย่างที่เราเคยคุยกับหมอรุ่นน้องคนอื่นๆ เขาก็เล่าว่า ตายก็ตายคนเดียวใน ICU ตายไปกับอุปกรณ์ทุกอย่างที่มีอยู่ในห้องนั้น ถึงแม้ว่าญาติของเขาจะอยู่ถัดไปอีกชั้นในโรงพยาบาลเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มาอยู่ด้วยในวาระสุดท้าย
“เคสแบบนี้เราคิดว่าบุคลากรอาจยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ตรงนี้ ทุกคนจะโฟกัสที่ภาระงานของตัวเองเป็นหลัก อาจยังไม่ได้มีไอเดียในมิติความสูญเสียมากนัก เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าผิด แต่คือความไม่รู้ว่าเราทำได้ เราสามารถรักษาความสัมพันธ์หรือรักษาความทรงจำสุดท้ายของคนไข้และครอบครัวได้ เขาอาจจะยังไม่รู้ว่า ทำแล้วมันดีมากกว่า”
● การสื่อสาร คือการรักษาอย่างหนึ่ง
สำหรับหมอแนต ความยากที่สุดในสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้ คือการสื่อสารกับคนไข้และครอบครัวถึงรายละเอียดการรักษาที่พวกเขาต้องเผชิญต่อจากนี้
เพราะนั่นคือ ข่าวร้ายที่ไม่พึงปรารถนา ขณะเดียวกัน การรับรู้ความจริง คือโอกาสในการเคลียร์บางอย่างที่คนไข้ยังคงค้างคาในชีวิต
“การคุยกับคนไข้ตอนที่เขาจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เรารู้สึกว่ามันยากนะที่เราจะต้องบอกความจริงว่าเขาจะต้องเจอกับอะไร เราบอกคนไข้ทุกเคสนะ แล้วเราก็เชื่อว่า เราเป็นหมอส่วนน้อยที่พูดแบบนี้ เพราะมันคือข่าวร้ายสำหรับคนไข้
“ถ้าเราคุยกับญาติ อาจจะไม่ยากนัก เราก็แค่บอกญาติว่าฉีดยาให้คนไข้หลับ แล้วก็ใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปเลย แต่เราจะไม่รู้เลยว่า คนไข้เขามีอะไรที่อยากจะเคลียร์อีก อย่างคุณป้าเคสแรก เขาจะไม่มีโอกาสได้โทรบอกลูกอีกเลยว่า กุญแจดอกนั้นอยู่ไหน หรือโฉนดที่ดินอยู่ตรงไหน”
การเลือกที่จะ ‘บอก’ หรือ ‘ไม่บอก’ ในรายละเอียดทั้งหมดกับคนไข้ ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ ซึ่งสำหรับหมอแนต คนไข้ทุกคนล้วนมีความหลังหรือสิ่งที่ยังค้างคาในชีวิต การบอกกล่าวโดยส่วนมากแม้จะสร้างความตกใจให้กับคนไข้ไม่น้อย แต่อีกนัยหนึ่งหากคนไข้ได้จัดการสิ่งที่ยังค้างคา บอกกล่าวสั่งเสียแด่คนรัก นั่นคือโอกาสสำคัญในช่วงสุดท้ายของชีวิต
“โรคนี้มันแปลกอย่างนะ จุดที่คนไข้แย่มากแล้ว เขาจะไม่รู้สึกว่าเขาไม่ไหว แต่เขาจะรู้สึกว่ายังไหวอยู่ ถ้าเป็นโรคอื่น ปอดติดเชื้อขนาดนี้คนไข้จะต้องไม่ไหวแล้ว แต่สำหรับโควิด แม้สภาพปอดจะแย่มาก แต่ความรู้สึกของคนไข้ เขาจะไม่รู้สึกเหนื่อยมากนัก
“เราอาจเคยได้ยินคำว่า Happy Hypoxemia หมายความว่าปอดคนไข้โควิดแย่มาก ออกซิเจนต่ำมาก แต่คนไข้กลับไม่รู้สึกแย่มากนัก นี่คือโควิดค่ะ คนไข้จะรู้สึกว่าพอไหวอยู่ แต่ด้วยองค์ความรู้ที่เรามี เรารู้แล้วล่ะว่า ณ จุดนี้ ถ้าปล่อยไปอีกก็จะเลย Golden Period ที่เราจะช่วยชีวิตเขาได้แล้ว”
1
ในบางกรณี ครอบครัวของคนไข้ต้องการนำร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของจีน แต่ด้วยเงื่อนไขโรคระบาดทำให้พิธีกรรมดังกล่าวถูกลดทอนลง ร่างต้องถูกเผาในเวลาอันรวดเร็วเพื่อตัดตอนความเสี่ยง ในแง่นี้หมอแนตเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การประกอบพิธีกรรมคือคุณค่าทางใจของผู้ที่ต้องดำรงอยู่ และเป็นกระบวนการสำคัญของหลายครอบครัวในการส่งคนรักไปสู่สุคติ
“เราก็บอกไปตามตรงว่า เราคงทำให้ไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง แต่ถึงอย่างนั้นญาติๆ ก็ยังสามารถทำอย่างอื่นได้อยู่นะ เราจึงพาลูกๆ ของอาม่าขึ้นรถแอมบูแลนซ์เพื่อไปเผาร่างอาม่าด้วยกัน ‘เราไปส่งอาม่าด้วยกันนะ’ แล้วหลังจากนั้น ครอบครัวยังสามารถทำบุญอาม่ากันอีกทีหนึ่งก็ได้ ก็คือการส่งอาม่าไปสู่สุคติ รักษาแก่นของพิธีกรรมนั้นไว้ เพราะพิธีกรรมเหล่านี้จริงๆ แล้วคือการเยียวยาให้ลูกหลานสามารถอยู่ได้”
การสนทนาเดินทางมาเกินครึ่ง เราในฐานะปุถุชนที่เฝ้ามองสถานการณ์ครั้งนี้อย่างจดจ่อ ย่อมไม่สงสัยถึงความอ่อนล้าและภาระงานอันหนักหน่วงของบุคลากรทางการแพทย์แต่อย่างใด
ทว่าในทางกลับกัน ความอ่อนแรงของบุคลากรที่สวนทางกับสถานการณ์โควิด อาจเป็นจุดเปราะบางที่สุดในการรับมือวิกฤติในตอนนี้
“สถานการณ์ตอนนี้อยู่ในจุดที่ทุกคนล้ามาก บอกตามตรงเลยนะว่า แนตทำงานต่อเนื่องมา 75 วันแล้ว ตั้งแต่ 1 เมษายน ทำงานเกิน 75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นี่ก็กะว่าจะนั่งเขียนบทความว่าด้วยการทำงานติดต่อกัน 75 วัน และ 75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ว่ามันรู้สึกยังไงบ้าง (ถอนหายใจ)
“ยิ่งพยาบาลและบุคลากรต่างๆ ที่ต้องอยู่หน้างาน เขาต้องเผชิญกับอะไรที่หนักมาก อย่างเราเองยังพอที่จะโอเค ทำงานเสร็จ กลับบ้าน สแตนด์บายตัวเองไว้ แต่คนที่อยู่หน้างาน เขามีงานเอกสารต่างๆ เยอะมาก แล้วยิ่งงานเอกสารเกี่ยวกับโควิด ทำให้ต้องจัดการเยอะมาก เป็นงานที่เหนื่อยและล้า”
1
สิ่งที่พอจะทำได้ในช่วงเวลานี้ คือการดูแลใจซึ่งกันและกันของทีมแพทย์ พวกเขารู้ดีว่า งานที่กำลังเผชิญหน้านั้นคือ ‘คุณค่า’ อย่างมหาศาล แต่ถึงอย่างนั้น แพทย์และพยาบาลก็คือมนุษย์ ร่างกายย่อมมีขีดจำกัด สิ่งที่หมอแนตฝากฝังก่อนสิ้นสุดการสนทนา จึงส่งตรงไปยังหน่วยงานและผู้มีอำนาจในการจัดการสถานการณ์โดยตรง
“ในตอนนี้ เราอยากให้หาทีมจัดการวัคซีนให้ดี อย่างน้อยเราต้องรู้ว่า เราจะมีวัคซีนกี่โดสบ้าง แล้วอย่าให้เป็นเหมือนเดิมอีก อย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่คนถูกยกเลิกนัด โดนเลื่อนนัด โรงพยาบาลจะต้องฉีดพรุ่งนี้อยู่แล้ว แต่วัคซีนยังไม่มาเลย เราคิดว่าเรื่องเหล่านี้สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่ามีวัคซีนอยู่เท่าไหร่ ยอดจองมีเท่าไหร่ เขารู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น อย่าให้เละเทะแบบนี้อีก เราขอละกัน”
1
(หมายเหตุ – บทสนทนาชิ้นนี้ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเอ่ยถึงแล้ว)
อ้างอิง
การดูแลแบบประคับประคองคืออะไร – เบาใจ 101
https://www.youtube.com/watch?v=khwVdPueVQw&ab_channel=PeacefulDeath
เขียน: อรสา ศรีดาวเรือง
https://waymagazine.org/palliative-care-in-epidemic-era/
6 บันทึก
27
2
29
6
27
2
29
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย