20 มิ.ย. 2021 เวลา 12:59 • ปรัชญา
เมื่อแต่งงานกันแล้ว เราทั้งคู่จะต้องมีธรรมอีก ๔ ประการ นำหน้าในการครองเรือนครองรัก และครองชีวิต สิ่งนั้นก็คือ ฆ ร า ว า ส ธ ร ร ม ๔ (ธรรมสำหรับการครองเรือน ๔ ประการ) อันได้แก่
๑. รักเพียงหนึ่ง (สัจจะ) หมายความว่า บุคคลทั้งสองจะต้องมีความซื่อสัตย์ จริงใจ รักเดียวใจเดียวต่อคู่สมรสของตน เบื้องต้นอย่างไร เบื้องปลายก็อย่างนั้น ไม่มีภริยาน้อย ไม่มีกิ๊ก ไม่มีกั๊ก ไม่มีควิก กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีการละเมิดจริยธรรมทางเพศต่อคู่สมรสของตนนั่นเอง
๒. พึงเรียนรู้ (ทมะ) หมายความว่า พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือ "การรู้จักยืดหยุ่น" นั่นเอง เมื่อเรามาอยู่ร่วมกันนั้น ต่างคนก็ต่างมา ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างมีความต้องการ จะเสมอกันแค่เพียงเรื่องเดียวก็คือ เรื่องของความรักเท่านั้นเองที่ดึงดูดเรามา ฉะนั้น เมื่อเรามีภูมิหลังที่แตกต่างกัน มีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน มีระบบความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่ออยู่ร่วมกันไปสักระยะหนึ่ง ในที่สุดแล้วก็จะต้องเลิกร้างห่างหายกันไป
ชีวิตคู่ถ้าจะให้ยั่งยืน ทั้งสองสามีภริยาต้องบอกตนเองอยู่เสมอว่า เรามาแต่งงานกันก็เหมือนกับเรามาลงทะเบียนเรียนวิชาสร้างครอบครัวด้วยกัน ให้คิดเสมอว่าเราทั้งสองคนเป็นเสมือนนักเรียนน้อย ๆ ของมหาวิทยาลัยชีวิตที่จะต้องลงทะเบียนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ให้อีกฝ่ายหนึ่งมองอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นครูของตนเอง อย่าไปมองว่าอีกฝ่ายเป็นคู่เวรคู่กรรมของตนเอง แต่จะต้องมองว่าเวลาที่สามีร้อนมา ภริยาต้องเรียนรู้ที่จะเย็นกลับไป และถ้าภริยาร้อนมา สามีก็ต้องเรียนรู้ที่จะเย็นกลับไป อย่างนี้เป็นต้น
ต้องเรียนรู้ที่จะมองถึงจุดอ่อนของกันและกัน เราจึงปรับเข้าหากันให้ได้ เหมือนกับอิฐ หิน ดิน ทราย ปูน ที่มาจากคนละทิศละทาง แต่พอมาเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็สามารถหลวมรวมกันกลายเป็นซีเมนต์ที่พร้อมจะสร้างบ้าน สร้างโดม สร้างปราสาท สร้างวิหารใหญ่โตมโหฬารสักเพียงไหนก็ได้
ถ้าอิฐ หิน ดิน ทราย ปูน ไม่เรียนรู้ซึ่งกันและกันก็ไม่สามารถจะหลวมรวมกันเป็นซีเมนต์ ก็ไม่สามารถจะสร้างบ้าน สร้างวิหาร สร้างปราสาทราชวังใด ๆ ได้
ดังนั้น คนที่แต่งงานด้วยกันให้ถือหลักว่าเราจะมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะผิดเราก็เรียนรู้ จะถูกเราก็เรียนรู้ จะตกต่ำย่ำแย่ จะร้อนจะแรง จะเย็นจะชา จะจืดจะชืด เราก็พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อเราตั้งเป้าว่าเราจะเป็นนักเรียนน้อย ๆ ของกันและกันก็จะทำให้เราเคารพซึ่งกันและกัน โดยวิธีนี้จะทำให้เรารู้จักมองข้ามข้อบกพร่องของแต่ละฝ่าย และจะทำให้อีกฝ่ายเป็นส่วนเติมเต็มที่ลงตัวของกันและกันได้ตลอดไป
๓. สู้อดทน (ขันติ) หมายความถึง ความมีน้ำอดน้ำทน เนื่องจากเราแต่ละคนมาจากต่างพ่อต่างแม่ ต่างครอบครัว ต่างภูมิหลังทางสังคม ต่างวัฒนธรรม ในบางครั้งอาจต่างชาติ ต่างภาษา และต่างศาสนาด้วย เมื่อเรามาอยู่ร่วมกันแล้วเราจึงต้องอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายนี้ให้ได้ ถ้าเราอดทนไม่ได้นั่นก็หมายถึง เราไม่สามารถที่จะประคับประคองเรือรักของเราให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างตลอดรอดฝั่ง ความอดทนนี้จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญมาก นอกจากเราต้องอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายนี้แล้ว ผู้ที่ครองเรือนยังจะต้องอดทนต่อความลำบากตรากตรำในการสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะการที่เราแยกมาสร้างครอบครัวใหม่นั้น เราไม่ได้สร้างแค่บ้านเพียง ๑ หลัง แต่เราต้องสร้างหลักฐานให้กับสถาบันครอบครัวของเราให้มั่นคงอีกด้วย
นั่นก็คือ เราจะต้องทำมาหากิน รู้จักอดออม รู้จักอดทนต่อกิเลสต่าง ๆ ที่จะมายั่วยวนยั่วยุให้ชีวิตคู่ของเรานั้นต้องแตกหักอับปางลงไป และที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องอดทนต่อการยุแยงตะแคงรั่วจากมือที่สาม เพราะชีวิตคู่เป็นจำนวนมากที่ล่มสลายลงไปนั้นก็เป็นเพราะว่ามีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง
คู่สมรสจึงต้องอดทนที่จะไม่หวั่นไหวต่อคำยุแยงตะแคงรั่วของมือที่สาม เพราะมือที่สามเป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาให้ชีวิตคู่ของเรานั้นประสบความสำเร็จ และยืนยงตลอดกาล
๔. ฝึกฝนการให้ (จาคะ) หมายความถึง ความมีใจเสียสละความสุขส่วนตน ในข้อนี้หากสังเกตให้ดีจะพบว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญเป็นอันมาก เพราะปรากฏอยู่ในหลักของการเลือกคนรัก (สมชีวิธรรม ๔) และหลักของการครองเรือน (ฆราวาสธรรม ๔) ซึ่งหลักธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ คือ หลักสำคัญในการเลือกคนรัก เพื่อการครองเรือนให้ประสบความสำเร็จอย่างมั่นคง และยั่งยืน
จ า ค ะ คือ ค ว า ม เ สี ย ส ล ะ ในที่นี้ก็คือ ความเสียสละกิเลสของตนนั่นเอง กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเรามาอยู่ร่วมกันมาครองเรือนร่วมกันแล้ว เราจะต้องปล่อยวางกิเลสของตนเอง
"ทิ้งความเป็นเธอ ทิ้งความเป็นฉัน แล้วหลอมรวมกันเป็นเรา"
ถ้าเป็นสามีภริยากันแล้ว ฝ่ายสามีถืออำนาจบาตรใหญ่ยึดความเป็นใหญ่ในบ้าน ยึดความเป็นใหญ่ในชีวิตทรัพย์สิน ยึดความเป็นใหญ่ในการตัดสินใจของภริยาให้มาขึ้นกับตนเองทั้งหมด ภริยาก็จะอยู่ในสถาบันครอบครัวเสมือนเป็นทาสในเรือนเบี้ย ยิ่งอยู่ด้วยกันก็ยิ่งเหมือนถูกกักขังจองจำ เหมือนมีโซ่ตรวนพันธนาการอยู่ตลอดเวลา ถ้าปล่อยให้ภาวะเช่นนี้คงอยู่ต่อไป ในที่สุดแล้วคนทั้งคู่ก็จะต้องเลิกร้างห่างกัน
ฉะนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเสียสละกิเลสของตนเอง อย่าคิดว่าฉันเป็นผู้เผด็จการภายในบ้าน เป็นผู้บัญชาการที่บ้านแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้คิดเสมอว่า เธอก็ดี ฉันก็ดี มีสิทธิ และเสรีภาพพอ ๆ กันในบ้านหลังนี้ ในครอบครัวนี้ เมื่อเราระลึกอย่างนี้เสมอก็จะทำให้มีบรรยากาศของประชาธิปไตยในการครองเรือนเกิดขึ้น และนั่นจะทำให้ชีวิตของคนทั้งคู่ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
การเสียสละกิเลสหรืออัตตาของตนเองทิ้งนี้ หากจะให้มั่นคงก็ต้องลงลึกถึง
"การเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์"
ของแต่ละฝ่ายอีกด้วย เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกันแล้ว การเสียสละที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น การให้เกียรติที่แท้จริงก็จะงอกงาม การยอมรับในตัวตนของกันและกันก็จะไม่เป็นเพียงการ " ร อ ม ช อ ม " ชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะเป็นการ
" ย อ ม รั บ จุ ด ต่ า ง แ ส ว ง จุ ด ร่ ว ม "
ที่มีความมั่นคงตลอดไป. . .
• • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "มหัศจรรย์แห่งรัก" | Love Analysis
โฆษณา