Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฝึกใจไปกับธรรมะ
•
ติดตาม
19 ส.ค. 2021 เวลา 12:59 • ปรัชญา
ในสมัยพุทธกาลนั้น มีคู่รักอยู่คู่หนึ่ง คือ นกุลบิดา และ นกุลมารดา ทั้งคู่นี้เป็นคู่รักที่พระพุทธเจ้าให้การยกย่องมาก ถึงกับทรงกล่าวไว้ว่าถ้าจะครองเรือนครองรักให้ประสบความสำเร็จ ขอให้ดูตัวอย่างของนกุลบิดา และนกุลมารดา
วันหนึ่งทั้งสองสามีภริยานี้ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วขอปวารณาให้ทั้งคู่ได้พบกันในทุกภพทุกชาติ ด้วยคำกล่าวที่ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับแต่เวลาที่ตระกูลนำนกุลมารดาคหปตานี ซึ่งยังเป็นสาวมาเพื่อข้าพระองค์ผู้ยังเป็นหนุ่ม ข้าพระองค์มิได้รู้สึกจะประพฤตินอกใจนกุลมารดาคหปตานีเลยแม้ด้วยใจ ที่ไหนจะประพฤตินอกใจด้วยกาย ข้าพระองค์ทั้งสองปรารถนาพบกันทั้งในปัจจุบัน และสัมปรายภพ"
และนกุลมารดาเองก็ได้กราบทูลพระพุทธองค์ด้วยถ้อยความในแบบเดียวกัน
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า
"ดูกรคฤหบดี และคฤหปตานี ถ้าภรรยา และสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพไซร้ ทั้งสองเทียวพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ"
จากพระพุทธวจนะข้างต้นนี้ เป็นอันสรุปได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่าถ้าสามีภรรยาคู่ใดปรารถนาจะครองคู่กันตลอดไปในทุกชาติภพ สิ่งนั้นก็สามารถเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยแต่อย่างใด ขอเพียงนำหลักธรรมของคู่ชีวิต คือ สมสัทธา สมสีลา สมจาคา สมปัญญา (สมชีวิธรรม ๔) และหลักธรรมของการครองเรือน คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ (ฆราวาสธรรม ๔) ไปประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติได้ คู่รักนั้น ๆ ก็มีโอกาสที่จะพบกัน และได้ครองรักกันในทุกภพทุกชาติ
คู่รักตัวอย่างนั้นเคยปรากฏมาแล้ว และที่สามารถปรากฏได้ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะทั้งคู่ล้วนปฏิบัติธรรม ก็ขอให้ถือว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการครองเรือนครองรักหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
ก่ อ น ที่ จ ะ ค ร อ ง รั ก
ก่ อ น ที่ จ ะ ค ร อ ง เ รื อ น
จ ะ ต้ อ ง ค ร อ ง ธ ร ร ม
ใ ห้ ไ ด้ เ สี ย ก่ อ น
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า
"ครองรักครองเรือนด้วยการครองธรรม คู่ไหนทำได้ คู่นั้นก็จะเป็นคู่รักที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนตลอดไป"
ในวัฒนธรรมอินเดียนั้น มีเรื่องเล่าที่ให้แง่คิดมุมมองที่ดีมากอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้คนมักเล่าสืบต่อกันมา ผู้เขียนจึงอยากถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้ เพื่อฝากเป็นแง่คิดไว้กับผู้อ่านว่าเวลาที่เราจะมองหาใครสักคนหนึ่งมาเป็นคู่สมรส ผู้ชายให้มองผู้หญิงจนทะลุถึงความเป็นแม่ที่มีอยู่ในตัวของผู้หญิง และผู้หญิงก็ให้มองผู้ชายจนทะลุถึงความเป็นพ่อที่มีอยู่ในตัวของผู้ชาย หากเรามองไม่ทะลุจากรูปลักษณ์ภายนอกเข้าไปถึงคุณค่าแท้ที่อยู่ภายในของทั้งสองฝ่าย ท้ายที่สุดเมื่อแต่งงานกันไปแล้วก็จะค้นพบในภายหลังว่า เ ร า เ ลื อ ก ค น ผิ ด !
ทุกวันนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่เลือกคนผิด เพราะวินิจฉัยคู่รักของตนจากบุคลิกภายนอก โดยหารู้ไม่ว่า เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความหวานชื่นไปแล้ว ธาตุแท้ของแต่ละคนก็จะแสดงตัวออกมา
ดังนั้น สุภาษิตของอินเดียที่กล่าวว่า เวลามองผู้หญิงให้มองทะลุไปถึงความเป็นแม่ ถ้าเธอมีความเป็นแม่ในตัว นั่นแสดงว่าเธอมีคุณสมบัติความเป็นภรรยาของคุณได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ผู้หญิงถ้ามองผู้ชายก็ต้องมองให้ทะลุไปถึงความเป็นพ่อที่มีในตัวของเขา ถ้าคุณเห็นความเป็นพ่อที่มีอยู่ในตัวเขา นั่นก็หมายความว่า เขาพร้อมแล้วที่จะมาเป็นสามีของคุณได้ในอนาคต
บางครั้งในวัฒนธรรมอินเดียโบราณก็กล่าวว่าผู้ชาย และผู้หญิงที่มาแต่งงานกัน ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ท่านใช้คำว่า อ ร ธ า ง คิ นี (ผู้เป็นครึ่งหนึ่งของสามี, ครึ่งหนึ่งของภรรยาเสมอมา) หมายความว่า ทั้งเธอและฉันต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อคู่สมรสมาแต่งงานกันก็ขอให้คิดอยู่เสมอว่าชีวิตของเรานั้นมีสัดส่วนของเธออยู่ครึ่งหนึ่ง ผู้หญิงก็ขอให้คิดอยู่เสมอว่าชีวิตนี้มีสัดส่วนของสามีอยู่ครึ่งหนึ่ง ด้วยวิธีคิดแบบนี้ เวลาภรรยาหรือสามีจะทำอะไรก็ตามก็จะเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน ก็จะเคารพ นับถือให้เกียรติ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าเรามองว่าทั้งเธอและฉันต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราก็จะระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ไม่ละเมิดจริยธรรมทางเพศต่อคู่สมรส สิ่งนี้นับว่าเป็นคติธรรมทางวัฒนธรรมอินเดียที่งดงาม และน่าหยิบยกมาเป็นแบบอย่างมาก
นอกเหนือจากหลักธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหลักธรรมสำหรับคู่สมรสที่ธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขา มอบไว้แก่บุตรสาวของตนก่อนที่จะเข้าพิธีวิวาห์กับปุณณวัฒนกุมาร แห่งเมืองสาวัตถีไว้ ๑๐ ประการด้วยกัน อันประกอบไปด้วย
๑. ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำเอาความไม่ดีของพ่อแม่สามี และสามี ออกไปเปิดเผยกับคนภายนอก
๒. ไฟนอกอย่านําเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อแม่สามี และสามีอย่างไร อย่านำมาบอกเล่าภายในบ้าน
๓. ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้กับคนที่ยืมของไปแล้วนำมาส่งคืน
๔. ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้วไม่นำมาส่งคืน
๕. ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้ และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ตกทุกข์ได้ยากมาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วเขาจะนำมาคืนให้หรือไม่คืนให้ก็ควรที่จะให้
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อแม่สามี และสามี
๗. พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อแม่สามี และสามี
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อแม่สามี และสามีบริโภคก่อน แล้วจึงบริโภคภายหลัง
๙. พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้ระลึกอยู่เสมอว่าพ่อแม่สามี และสามีเป็นเสมือนกองไฟ และพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล
๑๐. พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้ระลึกอยู่เสมอว่าพ่อแม่สามี และสามีเป็นเสมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม
และโอวาททั้ง ๑๐ ประการที่กล่าวมานี้ นางวิสาขาก็ถือปฏิบัติเป็นอย่างดี จนสามารถรักษาประคับประคองชีวิตคู่ให้ยั่งยืนด้วยความสุขตราบจนสิ้นกาลอายุขัย
• • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "มหัศจรรย์แห่งรัก" | Love Analysis
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Love Analysis มหัศจรรย์แห่งรัก | ว.วชิรเมธี 🌹
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย