23 มิ.ย. 2021 เวลา 09:53 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถ้า FED ขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำไมหุ้นถึงตก ?
Cr: Matichon Online / U.S. Federal Reserve Chairman Jerome Powell speaks in Washington
ไม่นานนี้มีข่าวว่าเสียงกรรมการส่วนใหญ่ของ FED มองว่าควรจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เร็วกว่าที่คิด) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น และผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจก็จะลดลง
ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกก็ต่างปูเสื่อรอฟัง “เจอโรม พาวเวลล์” ประธาน FED เพื่อแถลงการณ์ยืนยันความชัดเจนอีกครั้ง ในขณะที่ความกังวลของนักลงทุนส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยดิ่งรับข่าวนี้ไปแล้ว
ล่าสุด “เจอโรม พาวเวล” ประธาน FED แถลงว่าจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไป และมองว่าเป็นผลกระทบจากการเปิดเศรษฐกิจ และความต้องการสินค้า/บริการหลังติดขัดด้านอุปทานมานาน
Cr: Pixabay
โดยอีกไม่นานจะชะลอตัวลง หรือหากผลลัพธ์ไม่เป็นตามคาดก็จะพิจารณาใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างเหมาะสม
ซึ่งจากคำแถลงของประธาน FED ก็น่าจะพอช่วยชะลอความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปได้บ้าง และหากถึงแม้มันจะเกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามกลไล และช่วงเวลาที่เหมาะสมตามที่นายเจอโรม พาวเวล แถลงไว้
แต่ตำถามที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ท่านก็คือ “ถ้า FED ขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำไมหุ้นถึงตก?”
Cr: Pixabay
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า “FED” (Federal Reserve) หรือ “ธนาคารกลางสหรัฐ” มีหน้าที่หลักๆ ในการทำอะไร
🔵 กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ โดยการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น หากเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารกลางก็จะปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุน
ในทางกลับกันถ้าเศรษฐกิจโตแรงไป ธนาคารก็จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่โตไวไป เพราะอาจจะเสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่แตกได้ เป็นต้น
🔵 ควบคุมสถาบันการเงินในประเทศ ด้วยกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิยชน์เอาเปรียบประชาชนตาดำๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็จะทำหน้าที่คล้ายๆ กันประมาณนี้ (ไทยก็มี “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (BOT) เรียกกันติดปากว่า "แบงก์ชาติ")
ทีนี้เมื่อสหรัฐฯ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ อย่างเช่นเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คน WFH กักตัวอยู่บ้าน ไม่ค่อยมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นนอกบ้าน
FED จึงทำการลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ หรืออาจจะศูนย์เลยก็แล้วแต่ (ในบางประเทศลดกันติดลบเลยก็มี เช่น ญี่ปุ่น) เพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟูเฟื่อง
Cr: Pixabay
และต่อมาเมื่อสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนกันได้ระดับหนึ่ง ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิต Outdoor กันมากขึ้น และคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะเริ่มกลับมาดี
FED ก็เลยจะทำการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เงินเฟ้อเกินไป และแน่นอนนักลงทุนทั่วโลกมักจะมุ่งมาที่ “ดอกเบี้ย” แต่ว่ามันไม่ใช่ดอกเบี้ยที่พวกเราๆ สนิทกัน เพราะมันคือ “ดอกเบี้ยระยะสั้น” มากๆ ชนิดที่สั้นเพียงละเมอตื่นชั่วข้ามคืน
ซึ่งเหล่าธนาคารพาณิชย์จะเอาไว้ยืมกันเอง หรืออาจจะเป็นการยืมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์กับธนาคารกลาง เพื่อให้มีเงินสำรองตามสัดส่วนที่กำหนด และแน่นอนการกู้ยืมมันมีอัตราดอกเบี้ย ที่เรียกว่า “FED Funds Rate”
พอดูแบบผิวเผินแล้วยังคงเดาไม่ออกว่ามันเกี่ยวอะไรกันตรงไหน? จริงๆ มันเกี่ยวมากด้วย...เพราะการปรับดอกเบี้ยจะไปกระทบต่อ “ต้นทุนทางการเงิน” ของทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงินต่างๆ รวมทั้งการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนระหว่างประเทศ (Fund Flow)
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้า FED ปรับขึ้นดอกเบี้ย นั่นก็หมายถึงต้นทุนทางการเงินของธนาคารก็จะสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ก็จะมีการปรับขึ้นไปตาม
Cr: Pixabay
พอดอกเบี้ยแพงขึ้น ประชาชนตาดำๆ ก็ต้องตระหนี่ขี้เหนียวกันมากขึ้น คิดแล้วคิดอีกกว่าจะจับจ่ายใช้สอยอะไรออกไป ส่วนบริษัทเอกชนต่างๆ ที่มีการกู้เงินมาลงทุนนั่นนี่ ก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายในงบการเงินที่ไม่ดีตามมา พอเลขออกมาไม่ดังหวัง นักลงทุนก็เทสิครับ รออะไร!
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับชาวมะกันเค้า แต่มันมาเกี่ยวกับพี่ไทยตรงที่เมื่อสหรัฐฯ เริ่มแย่ นักลงทุนก็จะมองหาช่องทางการลงทุนจากแหล่งอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าบนแผ่นดินเกิด พวกเขาจึงโยกย้ายส่ายสะโพกขนเงินลงทุนมาที่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งไทยแลนด์แดนสยามเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ซึ่งถ้าหาก FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วละก็...พวกดอกเบี้ยเงินฝากในสหรัฐฯ ก็จะปรับสูงขึ้นตาม พวกพันธบัตรต่างๆ ที่จะออกมาใหม่ก็จะมีดอกเบี้ยพันธบัตร (Yield Curve) สูงขึ้นด้วย
นักลงทุนที่เอาเงินมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ก็มักจะหอบหิ้วเงินกลับบ้าน เพราะส่วนใหญ่ภาพรวมของตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว (รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ด้วย) จะมีเสถียรภาพกว่า ไม่เสี่ยงต่อปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
Cr: Pixabay
และนี่เองก็คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่หุ้นบ้านเรามักจะเกิดความวิตกเมื่อ FED จะขึ้นดอกเบี้ย และราคาหุ้นไทยก็ดิ่งลงจากดอยของดอยด้วยเหตุนี้
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า FED จะเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินอะไร และช่วงเวลาไหนในอนาคต เพื่อที่จะได้ปรับตัว และเตรียมตัวรับมือกันได้อย่างทันท่วงทีครับ
โฆษณา