10 มิ.ย. 2021 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สแกนหาหุ้นมูลค่าเหมาะสมในภาวะวิกฤตตามแนวทางของ ดร.นิเวศน์
Cr: Pixabay
ข้อมูลด้านล่างนี้ จริงๆ แล้วเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่นักลงทุนส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดีเหมือนเพื่อนที่นั่งเรียนอยู่ห้องเดียวกัน แต่ไม่เคยได้คุยทำความรู้จักกัน เพราะถ้าได้รู้จักพูดคุยกันแล้ว...เพื่อนอาจจะบอกแนวข้อสอบ หรือสูตรลัดเราก็เป็นได้
ลองไปดูครับว่าแนวทางสแกนหาหุ้นพื้นฐานดีๆ มีเครื่องมืออะไรบ้าง
1. กำไร
บริษัทที่ผลการดำเนินงานเทียบ YoY (เช่น Q1'2021 vs Q1'2020) และ QoQ (เช่น Q1'2021 vs Q4'2020) มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกำไรเป็นสิ่งที่ทำให้หุ้นขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในไม่ช้าก็เร็วหุ้นต้องมีการปรับตัวขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูถึงฐานของกำไรจากช่วงเวลาที่เทียบด้วยว่าต่ำกว่าปกติหรือไม่ จึงทำให้กำไรกระโดดขึ้นมาในไตรมาสนี้
Cr: Pixabay
รวมถึงกำไรนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ มีเหตุผลผิดปกติอะไรไหมที่ทำให้กำไรเพิ่ม/ลดในไตรมาสนั้นๆ เพราะบางธุรกิจมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวกำไร เช่น มักจะทำกำไรได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง เราก็ควรศึกษาธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆ เพิ่มเติมด้วย
2. ยอดขาย
บริษัทที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงภาวะเศรษฐกิจแย่ๆ อย่างเช่น ตอนที่เกิดโรคระบาด COVID-19 นี้นั้น บางแห่งแม้จะไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นชัดเจน อาจจะเพราะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือมีต้นทุนในการดำเนินงาน/วัตถุดิบบางอย่างเพิ่มขึ้น
Cr: Pixabay
แต่การที่มียอดขายเพิ่มก็อาจจะเป็นเครื่องหมายว่ามีแนวโน้มอนาคตที่ดี หากปัจจัยที่มากระทบกำไรกลับมาดีขึ้น เช่น อัตราแลกเปลี่ยนกลับมาดี หรือควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น เป็นต้น
3. กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Earning Per Share: EPS)
การดูอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่าง “กำไรสุทธิ” และ จำนวนหุ้นบริษัทที่ชำระแล้ว” หรือ EPS นั้น จะบ่งชี้ได้ว่าธุรกิจนั้นๆ มีความสามารถในการทำกำไรได้มากน้อยเพียงใด
Cr: Pixabay
อย่างไรก็ตามบางไตรมาสก็ต้องพิจารณาดูว่ากำไรนั้นมาจากรายการพิเศษด้วยหรือไม่ หรือบางครั้งอาจจะเป็นกรณีที่ธุรกิจประสบปัญหาจนผู้ถือหุ้นลดลงเหลือน้อยมากจน EPS สูงมากผิดปกติ โดยอาจจะตีความอย่างง่ายๆ ไปก่อนได้ว่า หาก EPS ยิ่งเยอะยิ่งดี (เพราะทำกำไรเยอะ)
4. มูลค่าหุ้นทั้งบริษัท (Market Capitalization)
เป็นการนำราคาหุ้นทั้งหมดของบริษัท x กับจำนวนหุ้นทั้งหมดก็จะได้ Market Cap. โดยเทคนิคที่น่าสนใจคือ “หุ้นที่มีมูลค่าค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ธุรกิจของบริษัทค่อนข้างใหญ่ ฐานะการเงินดี เป็นผู้นำในธุรกิจ และทำกำไรสม่ำเสมอ” ถ้าเจอหุ้นแบบนี้ก็ให้รีบติดดาวไว้ได้เลย
Cr: Pixabay
5. อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earning Ratio: P/E Ratio)
เป็นเครื่องมือวัดความถูกแพงของหุ้นนั้นๆ โดยการนำเอาราคาหุ้น / EPS หรืออาจจะอนุมานได้ว่ามันคือความคาดหวังของนักลงทุนต่อระยะเวลาที่คาดว่าจะคืนทุนนั่นเอง
ยิ่ง P/E ต่ำ ยิ่งดี เพราะราคาถูก แต่ในบางกรณีที่หุ้นมี P/E ต่ำๆ ก็อาจจะต้องพึงระวังว่าอาจจะไม่มีการจ่ายปันผล เพราะมีเงินสดไม่พอ กำไรทางบัญชีอาจจะมีลูกหนี้ที่ยังเก็บเงินไม่ได้
Cr: Pixabay
ตัวเลขที่แสดงออกมานั้นอาจจะไม่ใช่ตัวเลขจริง รวมถึงการเปรียบเทียบควรเทียบเคียงกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีปัจจัย/สภาพแวดล้อมทางธุรกิจใกล้เคียงกัน ก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่าเอาธุรกิจคนละประเภทมาเทียบกัน
6. ราคาหุ้นตามมูลค่าบัญชีพื้นฐาน (Price to Book Value Ratio: P/BV Ratio)
P/BV ช่วยบอกราคาหุ้นในขณะนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินทุนที่บริษัทใส่ลงไปในกิจการมีค่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากราคาหุ้นต่ำกว่าเงินที่ใส่ลงไป เราก็จะรู้ได้ว่าเราซื้อหุ้นตอนนี้ได้ถูกกว่าตอนที่บริษัทลงทุนซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ก่อนหน้า
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วราคาหุ้นมักจะสูงกว่า P/BV เพราะนอกจากทรัพย์สินที่ลงทุนไปแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ค่าความนิยม” (Goodwill) จากการที่ดำเนินธุรกิจมานาน ผลประกอบการดี มีภาพลักษณ์ที่ดีเป็น Premium ของมูลค่ากิจการ
Cr: Pixabay
ยิ่งมีชื่อเสียงมาก P/BV ก็มีโอกาสมากกว่า 1 เท่า หรือ 4-5 เท่าก็ไม่ผิดปกติอะไร โดยในช่วงวิกฤตหลายบริษัทมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้หุ้นที่ราคาถูก
โดยการสแกนหุ้นด้วยเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้พบกับ “ของดีราคาถูก” ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจผันผวน หรือเกิดวิกฤตบางอย่างแบบนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักลงทุนบางคนบอกว่ากว่าจะดูข้อมูล กว่าจะคำนวณกันเสร็จด้วยเครื่องมือเหล่านี้ก็ทำให้ตกรถ ราคาหุ้นบินไปไกลถึงดาวอังคารซะแล้ว
Cr: Pixabay
ซึ่งก็อาจจะมีส่วนที่จริงอยู่ แต่ไม่เสมอไป เพราะหุ้นบางตัวกำไรดีมากแต่ราคานิ่ง แต่บางตัวกำไรเพิ่มเยอะมากแต่ราคาขึ้นไม่สัมพันธ์กัน บางท่านไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลหุ้นแต่ละตัวอย่างลึกซึ้ง ไม่ได้เข้าไปดูข้อมูลของธุรกิจนั้นๆ อย่างดีพอ
พอเห็นราคาดีก็เทขายทำกำไร ทำให้หุ้นขึ้นมาแค่เพียงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น แต่ถ้านักลงทุนที่รู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้นๆ แล้วละก็ พวกเขามักจะไม่กลัวว่าหุ้นจะไปอยู่ที่ราคาใด “เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าหุ้นนั้นๆ ควรจะมีมูลค่าเท่าใดต่างหาก”
Source: หนังสือ "ตีแตก กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต" โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โฆษณา