Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
19 ก.ค. 2021 เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น
อี้จิงจริง ๆ
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ในบรรดานักดนตรีสี่คนของวง The Beatles ผมชอบ จอร์จ แฮริสัน มากที่สุด และในบรรดาเพลงทั้งหมดที่เขาแต่ง ผมชอบเพลงนี้ที่สุด
While My Guitar Gently Weeps (1968)
“I look at you all see the love
There that’s sleeping
While my guitar gently weeps
I look at the floor
And I see it needs sweeping
Still my guitar gently weeps...”
มันเป็นเพลงแนวทดลอง จอร์จ แฮริสัน เล่าว่าวันหนึ่งเขาเปิดหนังสืออี้จิ้งเล่มหนึ่ง “...อย่างไม่ตั้งใจ และเห็นคำว่า ‘gently weeps’ ผมวางหนังสือลง แล้วเริ่มแต่งเพลง”
เขาบอกว่าตามคัมภีร์อี้จิง ไม่มีสิ่งใดในโลกเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ บางทีอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขาพบเห็นคำคำนั้น?
1
อาจมิใช่เรื่องบังเอิญที่ทำให้โลกมีเพลงไพเราะ ความหมายดีอีกเพลงหนึ่ง?
โลกเราไม่มีเรื่องบังเอิญจริงหรือ? ทำไมอี้จิงบอกว่าโลกไม่มีความบังเอิญ?
อะไรคืออี้จิง?
1
อี้จิง (易經) คือคัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง คำว่า อี้ (易) แปลว่าการเปลี่ยนแปลง ส่วนคำว่า จิง (經) แปลว่า คัมภีร์
2
จิงในภาษาสันสกฤตตรงกับคำว่า สุตรา (พระสูตร) แปลว่า เชือกหรือเส้นด้ายที่มัดของเข้าด้วยกัน คำนี้จึงมีความหมายว่ากฎหรือสูตร
1
สูตรมาจากรากศัพท์ siv ภาษาละตินคือ suere ภาษาอังกฤษคือ sew ทั้งหมดแปลว่าการเย็บ ก็มีความหมายถึงหนังสือ ในทางพุทธหมายถึงพระสูตรที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า
1
อี้จิงเป็นภูมิปัญญาของจีนโบราณ เป็นผลงานการศึกษาของปราชญ์สมัยต่าง ๆ มากว่าห้าพันปี ลึกซึ้ง เข้าใจยาก
ในสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ทรงสั่งฆ่านักปราชญ์จำนวนมาก และเผาหนังสือจำนวนมหาศาล อี้จิงก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ถูกสั่งเผาทิ้ง ข้อหา “เป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมายาศาสตร์” แต่โชคดีที่อี้จิงรอดจากการถูกเผามาได้ และผ่านกาลเวลามาหลายพันปีโดยที่โลกตะวันตกไม่เคยรู้ความดำรงอยู่ของมันมาก่อน จนกระทั่งมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ชาวเยอรมัน ริชาร์ด วิลเฮล์ม แปลอี้จิงเป็นภาษาเยอรมันในปี ค.ศ. 1924
4
จะเข้าใจอี้จิง ก็ต้องรู้ประวัติที่มาก่อน เริ่มที่ตำนานสร้างมนุษย์ของจีนของกษัตริย์ฝูซี (伏羲) กับพระขนิษฐา หนี่วา (女媧)
3
ตำนานเล่าว่าเบื้องนั้นบนสวรรค์ เทพเพลิงกับเทพน้ำทำสงครามกัน เทพน้ำพ่ายแพ้ หนีไปและชนภูเขาใหญ่ที่ค้ำฟ้าจนพังลง เป็นผลให้ท้องฟ้าเกิดรอยรั่ว บังเกิดลมพายุ ไฟไหม้ป่า และน้ำท่วมโลก หนี่วาตัดสินพระทัยซ่อมท้องนภา โดยหลอมก้อนหินห้าสีห้าชนิด แล้วนำหินนั้นไปอุดฟ้า ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาวะปกติ
1
ด้วยคำบัญชาจากสวรรค์ กษัตริย์ฝูซีทรงเสกสร้างชาวจีนจากดินเหนียวขึ้นมา ให้กำเนิดหลักการและศาสตร์ต่าง ๆ เช่น การจับปลา การล่าสัตว์ การแต่งงาน
2
ตำนานเล่าว่าโลกในยุคแรกยังไม่มีศีลธรรมหรือระเบียบสังคม มนุษย์รู้จักแต่แม่ของพวกเขา ไม่รู้จักพ่อ เมื่อหิวก็แสวงหาอาหาร เมื่อท้องอิ่มก็ทิ้งเศษอาหารที่เหลือ พวกเขาเสพอาหารอย่างตะกรุมตะกราม ทั้งหนังและขน ดื่มเลือดสัตว์ นุ่งห่มหนังสัตว์ ฝูซีทรงรวบรวมมนุษย์เป็นกลุ่มก้อน วางกฎแห่งมนุษยชาติ ทรงประดิษฐ์อักษรจีนจากภาพนิมิตที่เห็นจากลายบนหลังเต่าตัวหนึ่งที่ผุดขึ้นจากแม่น้ำ
1
ลายบนหลังเต่าตัวนี้เองก็เป็นต้นกำเนิดของสัญลักษณ์อี้จิง ได้แก่ ไตรลักษณ์และฉักกลักษณ์
1
ไตรลักษณ์ (trigrams) มีหน้าตาเป็นเส้นขนานสามเส้นซ้อนกัน ส่วนฉักกลักษณ์ (hexagrams) คือไตรลักษณ์หนึ่งคู่ซ้อนกันเป็นเส้นขนานหกเส้น
1
เส้นทึบแทนหยาง เส้นขาดแทนหยิน แต่ละไตรลักษณ์แทนคุณสมบัติต่าง ๆ ของสรรพสิ่งในจักรวาล ประกอบด้วย สวรรค์ ทะเลสาบ ไฟ ฟ้าร้อง ลม น้ำ ภูเขา และโลก
2
สวรรค์ (乾) คือท้องฟ้า กลางวัน พลังงาน การสร้างสรรค์ เพราะสวรรค์เป็นจุดสร้างสรรค์ของจักรวาล (เรียกว่า The Creative)
ทะเลสาบ (兌) คือความร่าเริง ความเต็ม แหล่งน้ำเป็นศูนย์ชีวิต
ไฟ (離) คือความร้อนและแสงสว่าง หมายถึงปัญญา
ฟ้าร้อง (震) คือพลังที่ทำให้สรรพสิ่งเติบโต
ลม (巽) คือพลังที่พัดแทรกทั้งโลก หมายถึงความอ่อนโยน
1
น้ำ (坎) คือความลึกล้ำ อันตราย
ภูเขา (艮) คือความสงบนิ่ง
โลก (坤) คือการยอมรับ ความอ่อนแอ เพราะมันเป็นพลังรับของจักรวาล (เรียกว่า The Receptive)
3
นี่ก็คือ ‘ภาษา’ ของอี้จิง ที่เมื่อนำมารวมกันเป็นวงกลม ก็คือสัญลักษณ์ที่เรียกว่า ป้ากั้ว (八卦) ซึ่งคนไทยคุ้นเคย เพราะคนจีนอพยพนำเข้ามา
2
ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ผู้เขียนและปรับปรุงศาสตร์อี้จิงที่สำคัญมีสี่คน คนแรกคือกษัตริย์ฝูซี คนที่สองคือโจวเหวินหวัง คนที่สามคือโจวกงตัน โอรสของโจวเหวินหวัง คนที่สี่คือขงจื๊อ
ยุคโจวเหวินหวังอยู่ห่างจากยุคกษัตริย์ฝูซีราวสองพันปี
เวลานั้นรัฐโจวใต้การปกครองของจิหลี่แข็งแกร่งจนทรราชแห่งราชวงศ์ซัง พระนามกษัตริย์โจ้ว ทรงระแวงและกลัวการลุกฮือ ส่งคนไปลอบสังหารจิหลี่ โอรสของจิหลี่นาม โจวเหวินหวัง ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อมา
โจวเหวินหวังทรงฉลาดปราดเปรื่อง ปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ทรงทำไร่ทำนาเช่นเดียวกับสามัญชน ยกเลิกระบบทาส ทำให้ทรราชแห่งราชวงศ์ซังทรงกลัวว่าจะแย่งชิงอำนาจ และบงการให้โจวเหวินหวังไปทำงานในวังของกษัตริย์โจ้ว และต่อมาก็จับโจวเหวินหวังขังคุกนานเจ็ดปี
ในช่วงที่ถูกจองจำนี่เอง โจวเหวินหวังทรงศึกษาตำราอี้จิงและขยายความคิดกว้างจากเดิม ทรงคิดค้นหลักการเรียงแผนภูมิแบบใหม่ โดยรวมเอาเรื่องดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สรีรศาสตร์ เวลา ฤดูกาล การค้า การเมือง ความสัมพันธ์ในสังคมเข้าไปด้วย ต่อมาก็ทรงถูกปล่อยพระองค์
โจวเหวินหวังมีพระโอรสหลายองค์ ที่โดดเด่นคือโจวกงตันกับโจวกงอู่
หลังโจวกงอู่ขึ้นครองราชย์ ทรงยกทัพบุกเมืองหลวงของซังสำเร็จ โจวกงอู่เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์โจวซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนยาวนานที่สุด และเป็นยุครุ่งเรืองแห่งปรัชญาจีน ยุคนี้เองกำเนิดเล่าจื๊อผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋า กับขงจื๊อผู้ก่อตั้งลัทธิขงจื๊อ (Confucianism)
1
โจวกงอู่ครองราชย์ได้สามปีก็สวรรคต โจวกงตันขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ เลี้ยงพระโอรสของโจวกงอู่จนเจริญพระชนมายุเพื่อให้เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป ระหว่างนั้นก็ศึกษาและพัฒนาฉักกลักษณ์ที่พระบิดาทรงทำค้างไว้
ขงจื๊อเองก็ใช้เวลาหลายปีศึกษาชำระปรับปรุงตำราอี้จิง และเป็นคนเขียนงานอี้จิงบางส่วนด้วย อาจกล่าวได้ว่าอี้จิงที่เราใช้กันในปัจจุบันคือฉบับของขงจื๊อนั่นเอง ขงจื๊อบอกว่าเสียดายที่มิอาจมีชีวิตยืนยาวอีกสักห้าสิบปี จะได้ศึกษาอี้จิงมากกว่านี้ ศิษย์ต่าง ๆ ของขงจื๊อช่วยกันศึกษาเพิ่มเติมและเผยแพร่งานอี้จิงไปทั่ว
1
อะไรคือหัวใจของอี้จิง?
2
หากชำแหละคำว่า อี้ (易) จะเห็นว่ามันประกอบด้วยสองอักษรย่อยคืออาทิตย์ (日) และจันทร์ (月)
อาทิตย์กับจันทร์ในคำว่า อี้ กินความกว้างกว่าเรื่องดาราศาสตร์ อาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของหยาง จันทร์เป็นสัญลักษณ์ของหยิน พลังหยางกับหยินเป็นจักรกลที่ขับเคลื่อนจักรวาล หยางกับหยินกำหนดฤดูกาล อาทิตย์ก่อให้เกิดชีวิต จันทร์หมุนรอบโลกก่อให้เกิดกระแสน้ำขึ้นน้ำลง
2
หยางกับหยินปรับตัวหากันอย่างกลมกลืนเสมอ เมื่อหยางเพิ่ม หยินก็ลด การหมุนวนของหยินกับหยางเป็นที่มาของสัญลักษณ์ไท่จี๋ถู (太極圖) ซึ่งน่าจะเป็นโลโก้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
1
ไท่จี๋ แปลว่า ความเป็นที่สุด ถู แปลว่า ภาพหรือแผนภูมิ ไท่จี๋ถูจึงแปลว่าแผนภูมิแห่งความเป็นที่สุด
จีนโบราณเชื่อว่าต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักรวาลคือ ไท่จี๋ หรือความเป็นหนึ่ง ไท่จี๋นี้ประกอบด้วยพลังสองสายเชื่อมต่อกัน สายหนึ่งคือหยาง สายหนึ่งคือหยิน สร้างสรรค์สรรพสิ่งในจักรวาล
แนวคิดนี้มองว่าหยางกับหยินเป็นเพียงรูปของการเปลี่ยนแปลง การหมุนเวียนของสองพลังนี้ดำเนินเรื่อยไปนิรันดร์ เป็น ‘กงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลง’
บนพื้นที่ขาวดำบนรูปไท่จี๋ถูมีจุดกลมดำขาวเล็ก ๆ จุดกลมทั้งคู่หมายถึงเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลง เมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นหยินและหยางเปลี่ยนกลับกันไปมาได้
อี้จิงเห็นว่าชีวิตมนุษย์ต้องสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของหยางกับหยิน เส้นทางแห่งธรรมชาติก็คือเส้นทางของจักรวาล เรียกว่าเป็น ‘ทางที่เป็นไปอย่างนั้น’ ทางในภาษาจีนเรียกว่า เต๋า (道) อี้จิงก็คือกระจกสะท้อนให้เห็นวิถีทางแห่งการเปลี่ยนแปลงแห่งจักรวาลนี้
3
อี้จิงมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง จักรวาลที่ดูนิ่ง ๆ นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือหากใช้คำของอี้จิงก็คือ สวรรค์มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา มันเป็นการแปรผันไปมาระหว่างสองขั้ว คือหยินกับหยาง ตัวตนกับความว่างเปล่า บวกกับลบ แข็งกับอ่อน สวรรค์กับโลก ฯลฯ รูปต่าง ๆ ที่สลับเปลี่ยนกลับไปมา จากรูปแบบหนึ่งไปอีกรูปแบบหนึ่ง เปลี่ยนสภาวะกันไปมา ความซับซ้อนกับความเรียบง่าย ความยุ่งเหยิงกับระเบียบ เป็นวัฏฏะ
ขณะที่ปรัชญาตะวันตกมองทุกอย่างแยกส่วน อี้จิงกลับมองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงเปลี่ยนรูปเปลี่ยนสภาวะ แม้แต่สภาพร่างกายเรา ก็เปลี่ยนไปมาระหว่างหยางกับหยิน ถ้ารักษาสมดุลหยาง-หยินได้ ก็คือสุขภาพดี นี่ก็คือหลักของแม็กโครไบโอติกส์ (macrobiotics) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าอาหารทุกชนิดมีธาตุหยินและหยางไม่เท่ากัน เช่น ข้าวเจ้า มันสำปะหลังเป็นหยาง ข้าวโพดเป็นหยิน มะละกอเป็นหยิน แอปเปิลเป็นหยาง เป็นต้น
1
แม็กโครไบโอติกส์เชื่อว่าโรคร้ายทั้งหลายในโลกเกิดจากการฝ่าฝืนระเบียบของธรรมชาติ ขอเพียงแค่หยุดละเมิด ใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ โรคร้ายก็หายไป แนวคิดนี้จึงให้เรากินอาหารที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม เช่น คนที่อยู่ในเขตหนาวอาจกินหยางได้มากกว่าคนที่ทำงานในเขตร้อน เมื่อร้อนในก็ต้องกินเย็น เมื่อร่างกายเย็นไปก็ต้องกินร้อน เป็นต้น หากสามารถปรับธาตุร้อนกับเย็นให้สมดุล ก็จะไม่มีวันป่วย
1
ดังนี้จะเห็นว่าเราอยู่กับอี้จิงตลอดเวลา
4
นอกจากเรื่องการกินแล้ว อี้จิงส่งอิทธิพลต่อปรัชญาสายสำคัญสองสายของจีนคือลัทธิเต๋ากับลัทธิขงจื๊อ
1
คำว่า เต๋า (道) ในลัทธิเต๋าแปลตรงตัวว่า ทางเดิน หมายถึงวิถีแห่งธรรมชาติหรือสายทางแห่งจักรวาล เต๋าเป็นสายทางแห่งความจริง เป็นสายทางแห่งสวรรค์ เป็นเส้นทางสู่นิรันดร์ เต๋าเลื่อนไหลไปทุกทิศ
3
ลัทธิเต๋า (道教 Taoism) สอนว่ามนุษย์เราสมควรเดินไปตามทางยิ่งใหญ่ของธรรมชาติโดยไม่ควรไปแก้หรือฝืนมัน
ส่วนลัทธิขงจื๊อ (儒家 Confucianism) ซึ่งกลายเป็นรากของวัฒนธรรมจีน เกี่ยวพันกับเรื่องจริยธรรม สังคมการเมือง ปรัชญา อภิปรัชญา และจักรวาลวิทยา
2
นอกจากนี้อี้จิงยังถูกใช้ในศาสตร์ฮวงจุ้ย (風水 Feng shui) ซึ่งมักถูกดึงให้เป็นเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติไป เช่น เชื่อว่าพื้นที่ใดที่มีความสมดุลของธาตุและสภาวะ จะมี ‘พลังพิเศษ’ ที่เป็นสิริมงคล กลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไป
แม้คนไม่น้อยคิดว่าอี้จิงเป็นเรื่องการเสี่ยงทายหรือการทำนาย แต่ความจริงแล้ว อี้จิงไม่ใช่ตำราพยากรณ์ชะตาชีวิตและฮวงจุ้ย ศาสตร์อี้จิงลึกซึ้งกว่านั้นมาก มันเกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปรัชญาการใช้ชีวิต โภชนาการ หลักการแพทย์ ตำราพิชัยสงคราม สถาปัตยกรรม การวางผังเมือง ไปจนถึงจักรวาลวิทยา
3
ในการอธิบายความเป็นไปของสรรพสิ่ง อี้จิงใช้ฉักกลักษณ์ 64 รูปแบบ หมายถึง 64 ทางเลือก แต่ละทางเลือกมีความเป็นหยางและหยินไม่เท่ากัน ทั้ง 64 ทางเลือกนี้ครอบคลุมทุกเรื่อง
ฉักกลักษณ์ 64 รูปแบบ
คนเราเกิดมาในตัวตนที่เรา(ยัง)เลือกไม่ได้ ยีนกำหนดหน้าตาของเรา หรืออาจรวมไปถึงนิสัยพฤติกรรมของเราด้วย นี่เป็นข้อแม้ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เลือกไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นเราก็เกิดมาพร้อมกับเจตจำนงอิสระที่จะเลือก และลงมือกระทำให้ศักยภาพนั้นกลายเป็นความจริง หรือจะไม่เลือกก็แล้วแต่
5
1
อี้จิงมองว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘เคราะห์ร้าย’ เป็นผลจากความไม่กลมกลืนกับกฎแห่งธรรมชาติและกับธรรมชาติที่แท้จริงของเราเอง ยกตัวอย่าง เช่น นกมีปีก จึงมีศักยภาพจะบิน แต่ถ้านกใช้ปีกนั้นพายน้ำ นี่ก็คือเคราะห์ร้าย
ในทางกลับกัน อี้จิงมองว่า ‘โชคดี’ คือการกระทำที่กลมกลืนกับวิถีธรรมชาติ ดังนั้นโชคดีหรือเคราะห์ร้ายจึงเป็นการกระทำของเราเอง
ในมุมมองของอี้จิง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ก็คือ cause-effect และ Butterfly Effect (ผีเสื้อตัวหนึ่งขยับปีกในซีกโลกหนึ่งก่อเกิดเหตุการณ์ในอีกซีกโลกหนึ่ง) แต่อี้จิงเห็นว่าบางเหตุการณ์เราอาจไม่สามารถสัมผัสรับรู้
1
จักรวาลแบ่งเป็นสองโลกคือโลกแห่งจักรวาลภายในซึ่งมองไม่เห็น หรือหยาง กับโลกภายนอกของวัตถุ หรือหยิน เราจึงมีความเป็นหยางและหยินทั้งคู่
การเชื่อมกับโลกแห่งจักรวาลภายในกระทำโดยผ่านการสัมผัสรู้จากภายใน ส่วนการเข้าสู่โลกภายนอกต้องผ่านสติปัญญานี่อธิบายว่าสามเส้นบนของสัญลักษณ์ฉักกลักษณ์สัมพันธ์กับสวรรค์หรือจักรวาล สามเส้นล่างสัมพันธ์กับโลกแห่งวัตถุ
1
นี่เองที่ทำให้มีคนเชื่อว่ามีแต่นักบวช หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นจึงสามารถมองเห็นเหตุการณ์เหนือโลก ผ่านความรับรู้สัมผัสเหนือมนุษย์ที่เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น นี่ทำให้มันดูกลายเป็นเรื่องเหนือโลกและเป็นการทำนาย แต่จริง ๆ อี้จิงไม่ใช่ ‘การทำนาย’ มันคือ ‘การเลือก’ อย่างหนึ่ง จะว่าไปแล้ว อี้จิงเป็นเรื่องของศักยภาพ ก็เหมือนการหว่านเมล็ดข้าวลงในผืนนา ถ้าตกลงไปยังจุดที่ไม่ดี ศักยภาพนั้นก็ไม่กลายเป็นจริง เช่นกัน ถ้าเมล็ดข้าวที่ไม่มีศักยภาพตกลงไปในดินดี ก็ไม่แตกหน่อ ต้องพอดีทั้งสององค์ประกอบ จึงจะแตกหน่อ
1
ศักยภาพของสรรพสิ่งมีหลายทางเลือก ทุกทางเลือกมีหนทางเฉพาะของมัน การเลือกเป็นการหาคำตอบอย่างหนึ่งจากสวรรค์หรือจักรวาล การโยนเหรียญทำนายจึงไม่ใช่การเดาสุ่ม แต่เป็นการเผยของจักรวาล
2
การเข้าใจหลักอี้จิงจึงทำให้เข้าใจวิถีทางของมนุษย์ในจักรวาล
ในมุมของอี้จิง มนุษย์มิใช่ตัวตนเอกเทศ มนุษย์เกิดจากจักรวาล เป็น ‘อวัยวะ’ หนึ่งของจักรวาล เมื่อมองแบบนี้เราจะแสวงหาความกลมกลืนมากกว่าความแตกแยก
2
ทวิลักษณ์แห่งหยินกับหยางปรากฏอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ทั้งสิ่งที่เราเห็นด้วยตาไปจนถึงสิ่งที่เราไม่เห็น เช่น โปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอนของอะตอม
1
ตำราอี้จิงย่อมไม่ได้พูดถึงโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน โดยตรง แต่อธิบายคุณลักษณ์และพฤติกรรมของอะตอมทางอ้อม นั่นคืออะตอมประกอบด้วยขั้วหยางของโปรตอนกับขั้วหยินของอิเล็กตรอน เช่นเดียวกัน ไฟฟ้าก็ต้องมีทั้งขั้วหยางและหยิน แม่เหล็กก็ต้องใช้ทั้งสองขั้วเพื่อให้เกิดแรง เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าดูเหมือนว่าโครงสร้างพื้นฐานของจักรวาลก็คือสองขั้วแห่งหยางกับหยิน
2
แนวคิดของอี้จิงที่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงเปลี่ยนรูปและสภาวะ ก็เข้ากับเรื่องสสารกับพลังงานที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่เปลี่ยนรูปไปมา
2
นี่ฟังดูเหมือนการโยงหรือจับยัด แต่มีอีกหลายเรื่องในจักรวาลที่มองด้วยอี้จิงแล้วกลมกลืนลงตัวอย่างประหลาด ยกตัวอย่าง เช่น ในทฤษฎี บิ๊ก แบง จักรวาลเกิดมาจากความไม่มี กลายเป็นความมี (ภาษาละตินว่า creatio ex nihilo แปลว่า เกิดจากความไม่มี)
อี้จิงบอกว่าต้นกำเนิดของสรรพสิ่งคือ ไท่จี๋ (太極) คือที่สุดสูงสุด ซึ่งหมายถึงแรกสุดและท้ายสุด โดยเชื่อว่าก่อนการกำเนิดแห่งจักรวาล ไม่มีสิ่งใดเลย ฟ้าดินไม่มีรูปร่าง มันก็คือสภาวะดั้งเดิมของเต๋า
1
เล่าจื๊อเขียนไว้ในคัมภีร์ เต้าเต๋อจิง บทที่ 40 ว่า
“สรรพสิ่งมากมายในโลกถือกำเนิดมาจาก ‘ความมี’
แล ‘ความมี’ ถือกำเนิดมาจาก ‘ความไม่มี’...
1
หากคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่มันโยงเข้ากับจักรวาลวิทยา ก็ลองอ่านอีกตัวอย่าง บทที่ 42 ของคัมภีร์ เต้าเต๋อจิง เขียนว่า
“เต๋าให้กำเนิดหนึ่ง
หนึ่งให้กำเนิดสอง
สองให้กำเนิดสาม
สามให้กำเนิดสรรพสิ่งมากมายนับไม่ถ้วน
สรรพสิ่งนับไม่ถ้วนเหล่านี้แบกหยินบนหลัง
โอบกอดหยางในวงแขน และผสมผสานพลังทั้งสอง”
2
ในมุมมองของฟิสิกส์จักรวาลวิทยา เรารู้ว่าธาตุต่าง ๆ ในจักรวาลเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเริ่มที่โปรตอนหนึ่งตัว ไม่กี่นาทีหลังจากเกิด บิ๊ก แบง เกิดนิวเคลียสของธาตุไฮโดรเจนซึ่งมีโปรตอนหนึ่งตัว ตามมาด้วยนิวเคลียสของธาตุฮีเลียมซึ่งมีโปรตอนสองตัว และนิวเคลียสของธาตุลิเทียมซึ่งมีโปรตอนสามตัว
ก็คือ “หนึ่งให้กำเนิดสอง สองให้กำเนิดสาม”
1
หลังจากนั้นจักรวาลใหม่ก็สร้างอะตอมของธาตุที่หนักขึ้นตามมาอีกร้อยกว่าธาตุ โดยการผสมผสานธาตุเบาต่าง ๆ เข้าด้วยกันภายในใจกลางดวงดาว ธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล มันตรงกับ “สามให้กำเนิดสรรพสิ่งมากมายนับไม่ถ้วน”
1
บังเอิญ? หรือไม่บังเอิญ? หรือมันเป็นเช่นนั้นเอง?
“I look at the world
And I notice it’s turning
While my guitar gently weeps...”
ขงจื๊อเขียนไว้ในตำรา สิบปีก (十翼) ว่า “ผู้ใดรู้เต๋าแห่งการเปลี่ยนแปลงและการแปลงลักษณ์ ก็จะเข้าใจการกระทำของเบื้องบน”
2
และเราจะรู้เต๋าแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร หากเราไม่มอง?
“With every mistake
We must surely be learning
Still my guitar gently weeps”
76 บันทึก
130
8
86
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals by Winlyovarin
76
130
8
86
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย