7 ก.ค. 2021 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
สงครามกลางเมืองของจีน ทำไมจีนจึงกลายเป็นคอมมิวนิสต์
คนที่รู้ประวัติศาสตร์จีนอาจจะพอทราบว่า หลังจากเกิดปฏิวัติซินไฮ่ในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชวงศ์ ซึ่งก็คือราชวงศ์ชิงมาเป็นสาธารณรัฐนะครับ และมาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) แต่ระหว่างปี ค.ศ. 1911 ถึง 1949 คือระหว่างการเปลี่ยนจากสาธารณรัฐ มาเป็น คอมมิวนิสต์อยู่เกือบ 40 ปีนั้น มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องยาวมากครับเรียกว่าเป็นมหากาพย์ราวกับนิยายสามก๊กเลยทีเดียว
หลังการปฏิวัติซินไฮ่ในปี ค.ศ. 1911 อันเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง การปฎิวัติครั้งนี้ เกิดจากการลุกฮือของคนหลาย ๆ ฝ่าย ทหารที่เคยอยู่ฝ่ายราชวงศ์ก็แตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มจนไม่มีเอกภาพ ในช่วงปลายของการปฎิวัติก็ไม่มีวี่แววว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครรวบรวมอำนาจจัดตั้งรัฐบาลได้ กลุ่มปฎิวัติก็เลยยกให้กลุ่ม ‘พันธมิตรแห่งการปฏิวัติ’ หรือ ‘กลุ่มถงหมิงฮุ่ย’ นำโดย ‘ซุน ยัตเซน’ เข้าไปเจรจากับขุนศึกที่มีอำนาจมากที่สุดในปักกิ่ง ซึ่งเป็นจอมทัพของฮ่องเต้ นั่นก็คือ ‘หยวน ซื่อข่าย’ โดยแผนก็คือ ให้นายพลหยวน จัดการกับฮ่องเต้ซะ แล้วทางฝ่ายปฎิวัติจะยกตำแหน่งประธานาธิบดีให้หลังจากตั้งสาธารณรัฐได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม ‘ซุน ยัตเซน’ อุตส่าห์เป็นผู้นำการปฎิวัติแล้ว ทำไมถึงจะยอมยกตำแหน่งประธานาธิบดี ไปให้กับคนอื่นง่าย ๆ ล่ะ
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
คำตอบก็คือ ถึงแม้ว่าซุน ยัตเซนจะเป็นผู้นำการปฎิวัติมาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่สามารถรวบรวมกำลังและทรัพยากรได้มากพอจะเป็นผู้นำสาธารณรัฐได้ด้วยตัวเอง โดยช่วงที่เกิดการ ‘ปฏิวัติซินไฮ่’ ซุน ยัตเซนก็เดินสายล็อบบี้ให้กลุ่มถงเหมิงฮุ่ยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและมีการระดมทุนจากคนจีนโพ้นทะเลมาช่วยในการปฎิวัติ ไม่ว่าจะเป็นในสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่ในประเทศไทย ซุน ยัตเซนก็เคยมากล่าวปราศรัยระดมทุนที่พาหุรัดกับคนจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยด้วย แต่ประเด็นสำคัญจริง ๆ ก็คือ ซุน ยัตเซน และพวกไม่มีกำลังทหารและกำลังทรัพย์มากพอที่จะยึดเมืองหลวงได้ด้วยตัวเอง สุดท้ายก็จำต้องพึ่งอำนาจของแม่ทัพใหญ่เพื่อให้ฮ่องเต้ยอมสละราชบัลลังก์ สุดท้าย ข้อตกลงก็ลงตัวที่ ซุน ยัตเซน จะได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของจีน แต่เป็นแค่ชั่วคราวเพียงแค่ 3 เดือน เมื่อจอมพล หยวน ซื่อข่ายเข้าไปเจรจากับราชวงศ์ชิงให้ฮ่องเต้ผู่อี๋สละราชบัลลังก์ได้สำเร็จ
2
จอมพลหยวนก็จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีตามที่ตกลงกันไว้ สาธาณรัฐจีนก็ได้เกิดขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ส่วนกลุ่มพันธมิตรแห่งการปฎิวัติ หรือ กลุ่มถงเหมิงฮุ่ย ที่ ซุน ยัตเซน ตั้งขึ้นมาเพื่อการปฎิวัติก็ยุบไปและตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแทนโดยใช้ชื่อพรรคว่า ‘ก๊ก มิน ตั๋ง’ หรือ ‘พรรคคณะชาติ’ นั่นเอง แต่แล้ว หยวน ซื่อข่าย ก็ล้มโต๊ะ โดยยึดอำนาจไว้ทั้งหมดไม่แบ่งให้ใคร เริ่มปกครองจีนแบบเผด็จการทหาร มีการแบนพรรคการเมือง กำจัดศัตรูทางการเมือง นักการเมืองถูกลอบสังหาร ‘ซุน ยัตเซน’ ต้องลี้ภัยออกจากประเทศจีนไปอยู่ที่ญี่ปุ่น หยวน ซื่อข่าย ได้พยายามจะรื้อฟื้นราชวงศ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยจะแต่งตั้งตัวเองให้ตัวเองเป็นจักรพรรดิ แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะเกิดป่วยและเสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459)
เมื่อจอมทัพที่มีอำนาจมากที่สุดเสียชีวิตไป คนที่สืบทอดอำนาจต่อจาก หยวน ซื่อข่าย ต่างไม่มีอำนาจมากพอ ทำให้จีน ณ ตอนนั้นถึงแม้จะมีรัฐบาลทหารที่ปักกิ่งแต่ตามมณฑลต่าง ๆ ก็เกิดการแข็งเมือง แม่ทัพแต่ละคนเริ่มสะสมกำลังเอง เก็บภาษีเอง ปกครองตัวเอง โดยไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐบาล ช่วงหลังปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) จีนก็แตกออกเป็นหลาย ๆ กลุ่มซึ่งเรียกยุคนี้ว่า ‘จีนยุครัฐขุนศึก’ คือยิ่งกว่ายุค 3 ก๊กเสียอีกเพราะมีเป็นสิบ ๆ ก๊กเลย
เวลาผ่านมาถึงปี ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) สิบปีหลังการปฎิวัติซินไห่ ท่ามกลางประเทศจีนที่แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ พรรคก๊ก มิน ตั๋ง ก็กลับมาที่จีนอีกครั้ง และตั้งรัฐบาลที่กวางตุ้ง แข่งกับรัฐบาลทหารที่ปักกิ่ง ถือเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 2 แต่การปฎิวัติรอบนี้ ซุน ยัตเซน ไม่อยากพลาดซ้ำรอยเดิม คิดว่าต้องมีกำลังทหารเป็นของตัวเองซะก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะโดนคนถืออาวุธมายึดอำนาจไปอีก ดังนั้นก๊ก มิน ตั๋ง ก็เลยต้องสร้างกองทัพ มีการตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้นมา แล้วก็หาผู้สนับสนุนรายใหญ่ด้วย แต่ปัญหาก็คือผู้สนับสนุนนั้นหายากซะแล้ว เพราะผลจากการปฏิวัติซินไฮ่ก็ออกมาดูไม่จืดอย่างที่เห็น เพราะทำให้ประเทศแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ประเทศเดียวที่ยอมให้การสนับสนุนก็คือ สหภาพโซเวียตที่เพิ่งขึ้นมามีอำนาจแบบสด ๆ ร้อน ๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยข้อแม้ในการเป็นผู้สนับสนุนของโซเวียต ก็คือ พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง ต้องร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ข้อตกลงของสามฝ่ายก็เลยลงตัว โซเวียตได้โอกาสเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซุน ยัตเซน ได้กองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้โอกาสตั้งไข่ ซึ่งหลายคนอาจจะงงว่า ทำไม ซุน ยัตเซน ถึงยอมรับการช่วยเหลือจากคอมมิวนิสต์ซะเอง แล้วทำไมคอมมิวนิสต์ถึงไปร่วมมือกับ ซุน ยัต เซน ที่เป็นตัวแทนการปฎิวัติฝ่ายเสรีนิยม ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในขณะนั้นโลกยังไม่ได้เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ เท่าช่วงหลังสงครามโลก อุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันยังไปไม่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย ทุกคนยังเชื่อว่าตกลงกันได้ ซุน ยัตเซน ต้องการกำลังสนับสนุน ส่วนโซเวียตก็อยากให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีนจุดติดก่อน แต่การจะจุดติดก็ต้องรอให้จีนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม และมีชนชั้นแรงงานเยอะ ๆ และเอาเข้าจริง ๆ ไอเดียการเมืองของ ซุน ยัตเซน ที่เรียกว่า ‘ลัทธิไตรราษฎร์’ ก็ค่อนข้างก่ำกึ่ง ถึงดูเผิน ๆ จะเป็นประชาธิปไตย แต่ก็มีการปฎิรูปที่ดิน เอาใจชาวนาที่เข้าทางคอมมิวนิสต์มาก ๆ ข้อตกลงก็เลยพอไปได้ ณ จุดจุดนี้ ในเวลานั้นเท่านั้น
2
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ความร่วมมือก็ดำเนินไป ทางด้านโซเวียตก็ส่งที่ปรึกษามาทำงานเคียงข้างกับ ซุน ยัตเซน ชื่อว่า ‘มิคาเอล โบโรดิน’ ส่วนจีนก็ได้ส่งคนไปเรียนที่โซเวียต เช่น ‘โจ เอิน ไหล’ ที่เป็นคนสำคัญอันดับต้น ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ และส่ง ‘เจียง ไคเชก’ ไปด้วย ซึ่งเป็นนายทหารที่ ซุน ยัต เซน ไว้วางใจ จุดเปลี่ยนแปลงมาถึงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) ซุน ยัต เซน เสียชีวิตลงด้วยโรคร้าย เกิดการแย่งชิงอำนาจกันในพรรค ไม่รู้จะให้ใครมาสืบทอดอำนาจของ ซุน ยัต เซน ต่อดี คนที่มีอิทธิพลก็มีถึงสามคนด้วยกัน ฝ่ายแรกก็คือฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือฝ่ายขวาที่ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ นำโดย ‘หู ฮั่นหมิน’ และ ฝ่ายซ้ายที่มองว่า ก๊ก มิน ตั๋ง ยังทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้ ชื่อว่า ‘วัง จิงเว่ย’ ตามด้วยฝ่ายอำนาจนิยมเผด็จการทหารไม่เอาทั้งคอมมิวนิสต์ไม่เอาทั้งเสรีนิยมนั่นก็คือ ‘เจียง ไคเชก’
ปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) ในขณะที่พรรคก๊ก มิน ตั๋ง กำลังลำบากในการหาผู้นำ เจียง ไคเชก ก็ดูโดดเด่นที่สุด เพราะตอนนั้นสังคมค่อนข้างจะมีฉันทานุมัติ ว่าควรรวบรวมแผ่นดินจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันอีกที และพรรค ก๊ก มิน ตั๋ง ทางปีกทหาร นำโดย เจียง ไคเชก ก็ได้เดินทัพขึ้นเหนือ เรียกว่า Northern Expedition ที่เดินทางจากกวางตุ้งขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ เพื่อเจรจากับรัฐขุนศึกต่าง ๆ ให้กลับเข้ามาอยู่ภายใต้ธงผืนเดียวกัน ถ้าเจรจาได้ก็ดี เจรจาไม่ได้ก็รบกัน ทำให้นายพลเจียง ไคเชก ดูโดดเด่นมาก ๆ ในเวลานั้น
การเดินทัพขึ้นเหนือนี้ พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง สามารถปราบรัฐบาลที่ปักกิ่งได้ และในปี ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) ก็ไปถึงแมนจูเรียสำเร็จ สาธารณรัฐจีนก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยรวมเมืองสำคัญ ๆ ในลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงได้สำเร็จ หลังรวมประเทศได้ในระดับหนึ่ง เจียง ไคเชก ที่มีกำลังทหารมากที่สุด ก็เริ่มดำเนินการชำระพรรค ก๊ก มิน ตั๋ง โดยฝ่ายขวาก็ได้ร่วมมือกัน ปราบฝ่ายคอมมิวนิสต์แบบโหดเหี้ยม โดยในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) เกิดการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ หรือที่น่าจะรู้จักกันในชื่อ Shanghai massacre ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเพียงเมืองเดียวของจีนและมีชนชั้นแรงงานมาก จึงถือเป็นศูนย์กลางของฝ่ายคอมมิวนิสต์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยมีการร่วมมือกับอั้งยี่ ที่นำโดยเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ตัวจริงที่มีชื่อว่า ‘ตู้ เยว่เซิง’ เพราะว่าอั้งยี่ ก็ไม่ชอบคอมมิวนิสต์เหมือนกัน เนื่องจากถือว่ามาทับที่แย่งอิทธิพล แย่งฐานเสียงชนชั้นกรรมกร โดยอั้งยี่ก็จะคอยชี้เป้าว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ ให้กับทหารของ เจียง ไคเชก เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตมีหลายพันคน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของสงครามกลางเมืองระหว่าง พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง และ คอมมิวนิสต์
ในปีเดียวกันนี้เอง หลังจากขับไล่คอมมิวนิสต์ออกจากพรรคได้หมดแล้ว เจียง ไคเชก ก็แซงหน้าขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคก๊ก มิน ตั๋ง และตั้งรัฐบาลใหม่ที่เมืองหนานจิง ส่วนพวกคอมมิวนิสต์ ก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปตามหัวเมืองต่าง ๆ หรือไม่ก็ลี้ภัยไปต่างประเทศ ในห้วงเวลานั้นเองที่ ‘เหมา เจ๋อ ตง’ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ระดับหางแถว พื้นเพเป็นลูกชาวนา ไม่ได้จบเมืองนอก หรือเป็นปัญญาชนเหมือนคนอื่น ก็เริ่มเสนอไอเดียว่า คอมมิวนิสต์จีนจะทำตามแบบโซเวียตทั้งหมดไม่ได้ จีนที่เป็นประเทศเกษตรกรรมก็ควรจะให้ชาวนามาขับเคลื่อนการปฎิวัติ ถ้าเอาแต่รอให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมก็เสียเวลาและก็มีแต่จะถูก เจียง ไคเชก ปราบจนหมดสิ้น
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
หลังปี ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) เหมา ก็เลยเริ่มออกไปรวบรวมชาวนาตามชนบทรอบ ๆ เมืองใหญ่ ตั้งเป็นคอมมูนขึ้นมาแบบคอมมิวนิสต์ในขณะที่ถูก เจียง ไคเชก ตามมาปราบปรามอยู่เรื่อย ๆ สงครามกลางเมืองครั้งนี้ดูเหมือนฝ่าย เจียง ไคเชก ได้เปรียบและเอาชนะคอมมิวนิสต์ที่ยังตั้งตัวไม่ได้ แล้วแน่ ๆ แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง ในตอนนี้เอง ตัวละครใหม่ก็เข้ามาเปลี่ยนเกม นั่นก็คือ ‘ญี่ปุ่น’ ที่กำลังขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชีย ยึดเกาหลี ยึดไต้หวัน และก็เริ่มเข้ามาลงทุนสร้างทางรถไฟในแมนจูเรีย โดยญี่ปุ่นมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสองข้างทางอีกด้วย โดยในช่วงที่จีนเป็นรัฐขุนศึก ญี่ปุ่นก็ทำข้อตกลงกับขุนศึกในแมนจูเรีย โดยเฉพาะกับขุนศึกที่มีชื่อว่า ‘จาง จั้วหลิน’ ต่อมาในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ขุนศึกแมนจูเรียคนนี้ ก็เริ่มต้านอิทธิพลของ เจียง ไคเชก ไม่ไหวและเข้าสวามิภักดิ์กับ ก๊ก มิน ตั๋ง ในที่สุด และในเดือนมิถุนายนปีเดียวนี่เอง จาง จั้วหลิน ก็ถูกลอบสังหาร มีการระเบิดทางรถไฟที่เขากำลังเดินทางผ่าน ซึ่งเหตุการณ์นี้ หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก และถูกจับขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นความตั้งใจของญี่ปุ่นจริง ๆ เพื่อต้องการรักษาอิทธิพลในแมนจูเรียต่อไป หลังจากขุนศึกใหญ่เสียชีวิตลง ลูกชายก็ขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อจากพ่อ ขุนศึกคนนี้ชื่อว่า ‘จาง เสว่เหลียง’ มีฉายาว่าจอมพลน้อย เพราะอายุแค่ 27 ปี แถมด้วยคาแรคเตอร์ที่ดูรักสบาย ไม่เข้มแข็งผู้เป็นพ่อ ทำให้ญี่ปุ่นเห็นว่าจะสามารถบงการใช้เป็นหุ่นเชิดได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ญี่ปุ่นก็คิดผิด! เพราะจอมพลน้อย จาง เสว่เหลียง ก็ไม่ได้ยอมเป็นหุ่นเชิดให้ญี่ปุ่นตามแผนที่วางเอาไว้ กลับทำตัวใกล้ชิดกับรัฐบาล ก๊ก มิน ตั๋ง มากกว่าพ่อตัวเองเสียอีก
เวลาผ่านไป 3 ปี เมื่ออะไร ๆ ไม่เป็นไปดั่งใจญี่ปุ่น รางรถไฟก็เลยระเบิดอีกรอบในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'เหตุการณ์ที่มุกเดน' พอมีการระเบิดทางรถไฟที่เป็นทรัพย์สมบัติของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย ทางญี่ปุ่นก็เลยกล่าวโทษจอมพลน้อย จาง เสว่เหลียง ว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการร้าย และยกกองทัพมาบุกแมนจูเรีย บอกว่าจะมาเพื่อช่วยปลดปล่อยชาวแมนจูจากจอมพลที่กดขี่ประชาชน และช่วยสนับสนุนกลุ่มปฎิวัติตั้งรัฐขึ้นมาใหม่ในชื่อประเทศ ‘แมนจูกัว’ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่น ส่วนทางด้าน เจียง ไคเชก ก็ยอมปล่อยแมนจูเรียให้กับญี่ปุ่นไป เพราะรู้ตัวว่าไม่สามารถต่อกรกับญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน นายพลน้อย จาง เสว่เหลียงต้องผิดหวังกับเจียง ไคเชก และยอมลี้ภัยตามที่เจียง ไคเชก แนะนำ โดยหนีไปที่เมืองซีอานทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไกลมากในเวลานั้น
กลับมาที่ด้านพรรคคอมมิวนิสต์กันบ้าง ในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ทางด้าน เหมา เจ๋อ ตง ที่กำลังรวบรวมและทดลองระบบปฎิวัติโดยชาวนาและก็รบกับ เจียง ไคเชก ไปด้วย ก็เริ่มคิดว่าจะต้องหนี เจียง ไคเชก ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ตั้งหลักและลืมตาอ้าปากให้ได้เสียที ดังนั้นก็เลยคิดแคมเปญที่ดังมาก ๆ ขึ้นมาเรียกว่า ‘การเดินทัพทางไกล’ หรือ The long march โดยเดินเท้าไปทางเขตอิทธิพลของขุนศึกคนอื่น ที่ยังไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาล ก๊ก มิน ตั๋ง การเดินทัพทางไกลของ เหมา ก็ไกลมากจริง ๆ เพราะเดินรอบประเทศจีนจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงลงไปทางใต้ ก่อนจะขึ้นไปทางเหนือจนเกือบถึงมองโกเลีย ว่ากันว่าระยะทางทั้งหมดราว ๆ 2 หมื่นลี้ หรือราว 9 พันกิโลเลยทีเดียว ใช้เวลาเดินทั้งหมด 2 ปี จึงไปตั้งฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์อยู่ที่มณฑลส่านซี เมืองเอี๋ยนอัน จากตอนแรกมีทหารชาย หญิง ร่วมเดินจำนวน 1 แสนคน แต่ก็มีคนเดินถึงจุดหมายเพียง 7 - 8 พันคนเท่านั้น ระหว่างทางเจอทั้งความกันดาร ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ มีขุนศึกที่ต้องสู้รบ มีกองทัพของ เจียง ไคเชก ที่ตามไล่ล่า ซึ่งการเดินครั้งนี้ก็ทำให้ เหมา เจ๋อ ตง ในฐานะพ่องาน ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีความสำคัญมากที่สุด ในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญขึ้น เพราะในมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็เป็นที่มั่นของกองกำลังของจอมพลน้อย จาง เสว่เหลียง ที่ลี้ภัยมาจากแมนจูเรียเช่นกัน
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อ เจียง ไคเชก เดินทางมาทำธุระที่เมืองซีอาน จอมพลน้อย จางเสว่เหลียง ตัดสินใจหักหลัง เจียง ไคเชก โดยนำกำลังทหารมาจับคุมเจียง ไคเชก เป็นตัวประกัน เหตุการนี้เรียกว่า Xi'an incident (ซีอานอินซิเด้นท์) การจับเจียง ไคเชก เป็นตัวประกันนี้จอมพลน้อย มีข้อเรียกร้องให้พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง เลิกทำสงครามกับคอมมิวนิสต์หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ ให้คนจีนเลิกรบกันเอง แล้วร่วมมือกันสู้กับกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ผลการเจรจาระหว่าง ก๊ก มิน ตั๋ง กับ จาง เสว่เหลียง และ โจว เอิ่น ไหล ตัวแทนพรรค คอมมิวนิสต์ ทำให้ เจียง ไคเชก ไม่มีทางเลือกต้องลงนามให้นำพรรค ก๊ก มิน ตั๋ง ร่วมมือกับคอมมิวนิสต์เป็นครั้งที่สอง เพื่อกู้ชาติจากญี่ปุ่น สงครามกลางเมืองจึงหยุดลงชั่วคราว และเริ่มสงครามใหม่กับญี่ปุ่นแทน นักประวัติศาสตร์จะมองว่าเหตุการณ์ที่ซีอาน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์จีน เพราะถึงตอนนั้นประชาชนจะเรียกร้องให้ เจียง ไคเชก ทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่เจียง ไคเชก ก็ไม่ยอม เพราะมีแผนอยู่ในใจแล้วว่า ถ้าญี่ปุ่นจะบุกจีนจริง ๆ ก็ปล่อยญี่ปุ่นทำไปจะดีกว่า จะสู้แล้วแพ้เพื่ออะไร เขาวางแผนจะใช้แผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ให้เป็นประโยชน์ คือปล่อยให้ญี่ปุ่นบุกไปเรื่อย ๆ เท่าที่ต้องการ ส่วน เจียง ไคเชก ก็จะย้ายเมืองหลวงหนีลึกเข้าไปเรื่อย ๆ รอให้ญี่ปุ่นทรัพยากรหมด และหันไปบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรวบรวมทรัพยากรขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็จะทำให้ญี่ปุ่นขัดแย้งกับชาติตะวันตกต่าง ๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ แน่นอน จะไปสู้เองทำไมให้สูญเสีย ยกแมนจูเรียให้ญี่ปุ่นไป แล้วเอากำลังมาปราบคอมมิวนิสต์ดีกว่า แต่การที่ถูกกดดันให้ทำสงครามด้วยการร่วมมือกับคอมมิวนิสต์ ก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดแผนมาก ๆ สำหรับเจียง ไคเชก และเป็นสาเหตุให้คอมมิวนิสต์ได้แจ้งเกิดขึ้นมาซะอีกต่างหาก
เกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่างจากเหตุการณ์ที่เมืองซีอานนี้ก็คือ จอมพลน้อย จาง เสว่ เหลียง ซึ่งเป็นคนจับเอา เจียง ไคเชก มาเป็นตัวประกัน ก็ได้มอบตัวกับ เจียง ไคเชก ในฐานะกบฏ เพื่อมารับโทษที่หนานจิง ซึ่งเอาเข้าจริงเขาไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่เพื่อเป็นการยืนยันหลักการของความเป็นสาธารณรัฐ สิ่งที่เขาทำเป็นความผิดโทษฐานกบฏ ก็เลยยอมมอบตัวเพื่อรับโทษด้วยตนเอง จาง เสว่ เหลียง ถือเป็นนักโทษการเมือง ที่ถูกขังไว้ยาวนานที่สุดก็ว่าได้ เพราะภายหลังแม้พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง หนีข้ามทะเลไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไต้หวัน ก็ยังหิ้วเอา จางซูเหลียงไปขังต่อที่ไต้หวันด้วย กว่าที่ จาง เสว่ เหลียง จะได้รับอิสรภาพ ก็ผ่านมาถึงช่วงที่ไต้หวันเริ่มเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย นั่นคือในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยเขาได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ฮาวายได้ในที่สุดในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) เขาโดนจับขังตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่เริ่ม กว่าจะได้รับอิสรภาพจริง ๆ ก็ในยุค 90 เข้าไปแล้ว สรุปว่าถูกขังไว้เกือบ 60 ปี
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
หลังจาก เจียง ไคเชก ลงนามหยุดรบกับคอมมิวนิสต์ ญี่ปุ่นรู้ตัวก็เลยเริ่มใช้แผนเปิดก่อนได้เปรียบ ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับจีนอย่างเป็นทางการ และก็บุกจีนไล่ลงมาจากทางเหนืออย่างรวดเร็ว ยึด ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ หนานจิง กองทัพของก๊ก มิน ตั๋ง สูญเสียทหารไปเป็นหลักแสน ในการปกป้องเซี่ยงไฮ้จากญี่ปุ่น ทำให้ เจียง ไคเชก เลือกใช้วิธีถอยไปเรื่อย ๆ ลึกเข้าไปเข้าในแผ่นดินใหญ่โดยไม่ปะทะ เหตุการณ์นองเลือดที่หนานจิง ที่คุณอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง เป็นผลจากการที่ทหารของจีนถอนทัพออกจากเมืองไปโดยทันที ทิ้งให้ประชาชนในหนานจิงต้องเผชิญกับทหารญี่ปุ่นแบบเต็ม ๆ ไม่มีใครปกป้อง ญี่ปุ่นมองว่าต้องบุกหนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงให้ราบคาบ ให้สงครามจบโดยเร็วและข่มขวัญคนจีนให้ได้มากที่สุด ผลลัพธ์เลยกลายเป็นการสังหารหมู่ที่ป่าเถื่อนสุด ๆ ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษชาติเลย ประชาชนผู้หญิงและเด็กถูกข่มขืน แบบไร้ความเป็นมนุษย์จำนวนมาก มีการประมาณการว่ามีเหยื่อแห่งความป่าเถื่อนในครั้งนี้ มากถึง 3 แสนคนเลยทีเดียว
หลังจากที่หนานจิงแตก ญี่ปุ่นก็ตั้งรัฐบาลจีนหุ่นเชิดขึ้นมาที่หนานจิง และไปตาม วัง จิงเว่ย อดีตลูกน้องของ ซุน ยัตเซน ที่เป็นก๊ก มิน ตั๋ง หัวเอียงซ้าย ที่ไม่ถูกกับ เจียง ไคเชก มาเป็นประธานาธิบดีแทน ส่วนเจียง ไคเชก ย้ายเมืองหลวงลึกเข้าไปทางตะวันตก ที่เมืองฉงชิ่ง ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ สงครามจีนกับญี่ปุ่นก็ดำเนินต่อไปจนถึงช่วงประมาณปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ถึง ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ญี่ปุ่นไม่สามารถยึดพื้นที่เพิ่มได้ และไม่สามารถตีเมืองฉงชิ่งให้แตกได้ ทรัพยากรของกองทัพญี่ปุ่นเริ่มหมด แบบที่เจียง ไคเชก คิดเอาไว้จริง ๆ ญี่ปุ่นต้องหันมาบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเริ่มประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในสมรภูมิแปซิฟิก เดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แบบเต็มตัว ซึ่งก็ทำให้ญี่ปุ่นก็เริ่มเสียเปรียบในที่สุด ในขณะที่ญี่ปุ่นเสียเปรียบเพราะรบกับอเมริกา
1
กองทัพก๊ก มิน ตั๋ง เอง ก็เสียหายมาก เพราะต้องรบกับญี่ปุ่นเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ กองทัพคอมมิวนิสต์ของ เหมา เจ๋อ ตง ที่ช่วยกันรบ เพราะในการรบกับญี่ปุ่นก็จะเกิดความสูญเสียมากเป็นพิเศษ เมื่อเป็นการรบเพื่อปกป้องเมืองสำคัญ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ ก๊ก มิน ตั๋ง เป็นส่วนใหญ่ ผิดกับทางด้านคอมมิวนิสต์ที่จะรบอยู่ตามเขตทุรกันดาร ซึ่งญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก และอีกสิ่งที่ทำให้ เจียง ไคเชก เสียเปรียบคอมมิวนิสต์มากขึ้นก็เพราะ เจียง ไคเชก เริ่มเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว เพราะความป่าเถื่อนที่ยอมสละชนบทเพื่อปกป้องเมืองหลวง เช่นในปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) เจียง ไคเชก ไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นยึดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟสำคัญไปได้ จึงตัดสินใจระเบิดเขื่อนแม่น้ำเหลืองปล่อยให้น้ำท่วม หยุดญี่ปุ่นไม่ให้มาที่อู่ฮั่น ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในชนบทไปสามถึงสี่มณฑล ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถเก็บสถิติตัวเลขได้เลย แต่มีการประมาณการตัวเลขขั้นต่ำเอาไว้ว่าประมาณ 5 แสนคน บางตำราประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ถึง 1 ล้านคน มีคนเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหาร และเจ็บป่วยจากโรคติดต่ออีกราว ๆ 3 ล้านคน จำนวนผู้เสียชีวิตเยอะกว่าที่ญี่ปุ่นทำกับคนจีนที่หนานจิงเสียอีก เหตุการณ์ปล่อยน้ำจากเขื่อนในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนโกรธแค้น เจียง ไคเชก มากขึ้น และไปเข้ากับคอมมิวนิสต์ กลายเป็นว่าช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 คือช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์ฟื้นตัวกลับมาได้ในที่สุด จากที่เดินทัพทางไกลเหลือกำลังไม่ถึงหมื่นกลับเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านและในที่สุด
ปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามกลางเมืองระหว่างคอมมิวนิสต์ กับ ก๊ก มิน ตั๋ง ก็เริ่มต่อทันที เจียง ไคเชก กลับมาตั้งเมืองหลวงที่หนานจิงเหมือนเดิม แต่อีกตัวละครที่เข้ามาสร้างความแตกต่างให้การรบครั้งที่สองก็คือ สหภาพโซเวียต เพราะในกลุ่มผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มาร่วมกันก่อตั้งสหประชาชาติ ก็แบ่งหน้าที่ให้โซเวียตเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในดินแดน แมนจูเรีย มองโกลเลีย และเกาหลี สหภาพโซเวียตจึงยกแมนจูเรียให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของ เหมา เจ๋อตง สร้างความได้เปรียบให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าไปอีก สงครามกลางเมืองครั้งที่สอง ดำเนินไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) โดยที่คอมมิวนิสต์ใช้ยุทธวิธีป่าล้อมเมือง จัดตั้งชาวนามาเป็นทหาร ใช้วิธีรบแบบกองโจร ซึ่งได้ผลดีมาก ๆ มีความพร้อมสุด ๆ เพราะเตรียมตัวมาดี ค่อย ๆ ล้อมฝ่าย ก๊ก มิ่น ตั๋ง มาจากทางเหนือก็คือแมนจูเรีย และจากภาคตะวันตก ค่อย ๆ บีบเข้ามาที่ลุ่มแม่น้ำแยงซี ในขณะที่ ก๊ก มิน ตั๋ง ไม่มีความพร้อมเหลืออยู่ เพราะบอบช้ำจากสงครามกับญี่ปุ่น และ เจียง ไคเชก ถูกโดดเดี่ยวให้รบกับญี่ปุ่นมานานโดยไม่มีการสนับสนุนจากชาติสัมพันธมิตรอื่น ๆ มากนัก ในที่สุดระหว่างปี ค.ศ. 1947 -1948 (พ.ศ. 2490 - 2491) พรรค ก๊ก มิน ตั๋ง เริ่มเสียเปรียบมากขึ้นจนรู้ตัวว่าจะแพ้สงคราม ต้องเริ่มอพยพไปที่เกาะฟอร์โมซา หรือ ไต้หวันในปัจจุบันนั่นเอง สุดท้ายก็ประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นั่นมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) เหมา เจ๋อ ตง ก็ประกาศตั้งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งก็คือการประกาศชัยชนะเหนือ ก๊ก มิน ตั๋ง และเปลี่ยนจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไปในที่สุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา