25 มิ.ย. 2021 เวลา 12:20 • สุขภาพ
“ไม่ยอมจากลา...จนกว่าจะโดนบอกเลิก”
ไม่ยอมจากลา จนกว่าจะโดนบอกเลิก (เป็นเพราะอะไร ?)
บทความนี้เกิดขึ้นจาก
“การค้นพบโดยบังเอิญ”
โดยการค้นพบเหล่านี้ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ตั้งแต่ผมเริ่มงานในบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาครับ
มันทำให้ผมได้เห็นรูปแบบบางอย่างในความสัมพันธ์
นั่นคือ “การทนอยู่กันไป”
โดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือทั้งสองฝ่าย)
รู้สึกอย่างชัดเจนแล้วว่า “ความสัมพันธ์มันไปไม่รอด”
แต่ก็ยังไม่ยอมปล่อยมือ หรือ ยังไม่ยอมตัดใจ
“จนกว่าอีกฝ่ายจะเป็นคนบอกเลิก”
มันเหมือนเป็นเงื่อนไขว่า
ฉันจะไปจากคุณ แต่คุณต้องเป็นฝ่ายบอกเลิกฉันก่อน
“ต้องทนอยู่เพื่อรอวันที่ตนเองโดนบอกเลิก”
(ถึงแม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ก็เกิดขึ้นจริง ๆ ครับ 555)
ส่วนเหตุใดถึงทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้น
เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
การรู้ว่า “ความสัมพันธ์ไปไม่รอด”
แต่กลับเลือกที่จะทนเก็บไว้แบบนี้
มันมักจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลครับ
-เริ่มตั้งแต่ทำให้เราไม่ค่อยมีความสุข
-ต้องคอยเก็บกดความรู้สึก/ความต้องการ
-ต้องเฝ้ารอวันที่จะโดนบอกเลิกตามที่ต้องการ
(เหมือนเป็นการขังตัวเองไว้ในความสัมพันธ์)
สิ่งที่น่าเรียนรู้จึงอยู่ตรงนี้เลยครับ
“ทั้ง ๆ ที่อยากบอก แต่กลับเลือกที่จะไม่พูด ?”
เจ้าสิ่งที่ผลักดันให้เราไม่พูดนี่ล่ะครับ
มันมักจะเป็น “เงื่อนไขบางอย่าง”
ที่คอยอุดปากเราเอาไว้
ทำให้เราไม่ยอมพูดเมื่อถึงเวลาพูด
และทำให้เราไม่ยอดตัดสินใจเมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจ
บทความในวันนี้ผมจึงขอนำเสนอเงื่อนไขใหญ่ ๆ 2 อย่างครับ
ที่ทำให้ใครสักคน
“แขวนการยุติความสัมพันธ์ไว้กับการโดนบอกเลิกแต่เพียงอย่างเดียว”
เงื่อนไขที่ 1
“การโดนเสียงของ “คนดี” เล่นงาน”
(การบีบบังคับให้ตัวเองต้องเป็นคนดีตามมาตรฐานอยู่เสมอ)
เงื่อนไขอันนี้มันจะคอยเป่าหูและย้ำเตือนเราทำนองว่า
-ฉันไม่ควรพูด
-ฉันไม่ควรทำร้ายใคร
-ฉันไม่ควรเป็นฝ่ายทอดทิ้งใคร
-ฉันไม่ควรผิดสัญญา (ที่จะอยู่ด้วยกัน)
(การต้องฝืนเป็นคนดี...คือหลุมพรางของกลไกป้องกันตัวอย่างหนึ่ง)
เงื่อนไขที่ 2
“การกลัวสูญเสียความรัก”
(การบีบบังคับให้ตัวเองต้องรักษาความรักเอาไว้ให้ได้)
เงื่อนไขอันนี้มันคล้ายกับการบอกว่า
-การมีรักแย่ ๆ มันก็ยังดีกว่า “การไม่มีใครรัก”
-ฉันต้องมีชีวิตคู่ เพราะมันคือ “เครื่องพิสูจน์การมีตัวตนของฉัน”
ซึ่งมันส่งผลให้เกิดความกลัวที่จะตัดสินใจเลือกผิด
หรือ การกลัวสูญเสียความรักที่มีไป
โดยจากเงื่อนไขใหญ่ ๆ ทั้ง 2 ข้อนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปกป้องภาพของคนดี
หรือ จะเป็นการปกป้องไม่ให้ตนเองสูญเสียความรักไป
มันก็ล้วนเกี่ยวข้องกับ
“การปกป้องความสมบูรณ์บางอย่างของตนเองไว้”
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์มักใช้ปกป้องตัวเอง
ก็คือ “ข้ออ้าง”
เพื่อให้ตนเองรู้สึกสมบูรณ์/ไร้ตำหนิ/มีคุณค่าความสำคัญ
(นี่คือการรักและยอมรับตัวเองอย่างมีเงื่อนไขรูปแบบหนึ่ง)
โดยในทางจิตวิทยาเราเรียกมันว่า “กลไกป้องกันตัวเอง”
การใช้ข้ออ้างนั้น
มันจะทำให้เรารู้สึกสมบูรณ์แบบ/เป็นฝ่ายถูก/เป็นคนดี
แล้วเมื่อมันถูกนำมาใช้ในชีวิตคู่/ความสัมพันธ์
เราก็จะพยายามให้ตัวเองเป็นอะไรมากมาย เช่น
-เป็นคนดี (เมตตาสงสารคนอื่นมากกว่าตัวเอง)
-เป็นผู้ที่เสียสละ (ยอมอดทนกล้ำกลืน)
-เป็นเหยื่อ (เห็นมั๊ยว่าฉันยอมขนาดนี้!!!)
-เป็นคนที่ฝืนทนอยู่กับรักแย่ ๆ (มีความรัก = ฉันยังสมบูรณ์/ฉันยังมีค่า)
ดังนั้น
เพื่อให้เกมความสัมพันธ์นี้สมบูรณ์
ฝ่ายที่ใช้ข้ออ้าง
ก็จะยินดีรับบทเป็นฝ่ายที่โดนทำร้าย/โดนบอกเลิก
เพื่อให้มีคำตอบให้กับตัวเองว่า
-นี่ไงเค้าเป็นคนทิ้งฉัน
-ฉันดีขนาดนี้แต่เค้าก็ทิ้งฉันไป
-ฉันรักษาความสัมพันธ์ไว้แล้ว แต่เค้าก็พังมัน
“เค้าเป็นคนรับผิดชอบความสัมพันธ์นี้...ไม่ใช่ฉัน”
การทำให้ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ, การพยายามอดทนเป็นคนดี
และการทนกับความรักที่ทำร้าย
เป็นกลไกที่ทำให้เราไม่ยอมรับรู้ความจริง
(ไม่ยอมรับรู้ประสบการณ์บางอย่าง...ซึ่งมันอาจรุนแรงเกินที่จะรับไหว)
พอมามองในประเด็นของ
“การต้องโดนบอกเลิกเพื่อจบความสัมพันธ์”
ผมก็เข้าใจแบบนี้ครับ
การที่เราตัดสินใจบอกกับใครสักคนว่า
-ฉันไม่อยากอยู่กับคุณแล้ว
-เราไปกันไม่รอดแล้วล่ะ...จบกันแค่นี้เถอะ
มันสามารถสร้างความสะเทือนใจได้มากเลยครับ
ซึ่งมันก็สามารถเกี่ยวข้องกับประสบการณ์บางอย่างในใจของเราได้
(แผลใจ/เงื่อนไขในใจ/โจทย์ในใจ/หลุมบ่อในใจ)
เช่น
-การโดนทิ้ง
-การไม่มีใครรัก
-การหมดคุณค่าไร้ความสำคัญ
-การไม่มีตัวตน
-การรักษาสัญญา
-การทำร้ายผู้อื่น
-การตกเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้าย
-ความสูญเสีย
ฯลฯ
แล้วถ้าตัวเรามีร่องรอยของโจทย์ในใจแบบนี้
มันก็มักจะทำให้เราไม่กล้าเข้าไปรับรู้
หรือ ไม่กล้าที่จะทำอะไรแบบนี้กับคนอื่น
“เพราะมันจะทำให้เราไปนึกถึงโจทย์นั้นของตัวเอง”
สรุปแล้ว
การไม่ยอมบอกเลิกคนอื่น
“แต่กลับเลือกเป็นคนที่โดนบอกเลิก”
มันก็มาจากการไม่อยากเผชิญกับความทุกข์ในใจตัวเอง
(เรียกว่า “หนี” นั่นเองครับ)
การใช้ชีวิตด้วยการหลบหนีเช่นนี้
มักจะทำให้เราไปเจอกับความสัมพันธ์รูปแบบเดิม ๆ
ที่บีบให้เราต้องตัดสินใจและรับผิดชอบชีวิตตัวเองในรูปแบบใหม่
นี่คือ
“ด่านสำคัญของชีวิต ที่เราจำเป็นต้องเติบโตเพื่อก้าวผ่าน”
แต่ถ้าเราไม่ยอมเติบโต แล้วมัวแต่เตะขัดขาตัวเองโดย...
-การโยนความรับผิดชอบให้คนอื่น
-การไม่กล้าเข้าไปเยียวยาโจทย์ในใจตัวเอง
-การปกป้องตัวเองไว้ในคำว่า คนดี/ผู้เสียสละ
-การยอมสละชีวิตไปกับความรักที่ทำร้ายตนเอง
“นี่จะยิ่งทำให้เราเสียโอกาสในการใช้ชีวิตไป”
ดังนั้น
เราจึงสามารถใช้โอกาสที่ชีวิตมอบมาให้อย่างคุ้มค่า
ในการกลับมาดูแลชีวิตจิตใจตัวเอง
เหมือนที่เราเลือกอาหาร เลือกเสื้อผ้ารองเท้า
เลือกดูซีรีส์ เลือกฟังเพลง เลือกพักผ่อน ฯลฯ
โดยครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของการเลือกความสัมพันธ์ที่เหมาะกับตัวเอง
แล้วถ้ายิ่งเป็นความสัมพันธ์ที่กำลังกัดกินชีวิตจิตใจตนเองด้วยแล้ว
“มันก็เหมือนกับการพาตัวเองออกมาจากบ้านที่กำลังไฟไหม้”
(ไม่ต้องเฝ้ารอให้ใครมาเรียก จังหวะนี้เราต้องวิ่งออกมาแล้วครับ 555)
นี่จึงถือเป็นการรักและดูแลตนเองอย่างหนึ่งครับ
เพราะเรากำลังดูแลรักษาชีวิต
และจิตใจตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยและมีความสุข
ทั้งหมดนี้แปลว่า
เราล้วนคู่ควรกับสิ่งที่เกื้อกูลชีวิตของเราครับ ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา