23 มิ.ย. 2021 เวลา 11:46 • สุขภาพ
“ความคาดหวัง”
ความคาดหวัง เป็นเรื่องธรรมดา (จริงเหรอ ?)
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา
ผมต้องขอชี้แจงไว้ก่อนเลยครับว่า
เนื้อหาที่เกี่ยวกับ “ความคาดหวัง” ที่ผมหยิบมานำเสนอนี้
เป็นเพียงความเข้าใจของผมครับ
ที่ผมได้มาจากการเรียนรู้, การทำความเข้าใจชีวิต,
การขัดเกลาตนเอง และการทำงาน
ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถนำสิ่งที่ผมเขียน
มาใช้สำหรับการเข้าใจตนเอง-ผู้อื่น
หรือนำมาทำความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิตก็ได้เช่นกันครับ
(หรือจะอ่านผ่าน ๆ ก็ได้ครับ 555)
โดยอาจมีเนื้อหา/ข้อความบางส่วนที่กระทบใจท่านผู้อ่าน
(เพราะมันถือเป็นโจทย์ใหญ่ในใจของมนุษย์เลย)
ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่พอใจ/ไม่เห็นด้วยขึ้นมา
หากจะมีการวิจารณ์ หรือ ตำหนิ
ผมยินดีรับไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ ^^
คำถามที่ว่า
“ความคาดหวัง เป็นเรื่องธรรมดาจริงเหรอ ?”
ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากความค้างคาใจส่วนตัวครับ
ซึ่งมันทำให้ผมมีข้อสงสัยอันหนึ่งขึ้นมาครับว่า
“มนุษย์เรา...จะมีโอกาสเป็นอิสระจากความคาดหวังได้อย่างสิ้นเชิงไหมนะ ?”
มันเหมือนเป็นการตามหาคำตอบให้กับตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
และหาคำตอบให้กับตนเองในบทบาทของนักวิชาชีพเลยครับ
อันที่จริงผมขอบคุณความค้างคาใจนี้มากเลยครับ
ซึ่งมันทำให้ผมได้มารู้จักกับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ
(เป็นการนำหลักธรรมจากพุทธศาสนา
ในเรื่องธรรมชาติของชีวิต มาใช้ในกระบวนการปรึกษา)
ที่มีแนวทางในการสลายต้นตอของความคาดหวังนั้น
เรียกได้ว่า ทำได้แค่ไหน ก็สลายได้แค่นั้น
(ถ้าทำได้อย่างหมดจด ก็สลายได้อย่างหมดจด)
แล้วยังช่วยให้ได้รู้ว่า “ความคาดหวังนั้น...เราสร้างมันขึ้นมาเอง”
นี่จึงหมายถึง
เป็นตัวเรานี่แหละครับ ที่จัดฉากวางยาพิษใส่ตนเอง
แล้วก็ดันมาหลอกลวงตนเองว่า
“การคาดหวังมันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ / ธรรมชาติของมนุษย์มันต้องคาดหวัง”
ซึ่งแท้จริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ
ด้วยเหตุนี้
เวลาผมได้ยินใครก็ตาม
ที่พูดเรื่องราวเกี่ยวกับความคาดหวัง
โดยไม่ได้สร้างความเข้าใจแก่ผู้ฟังว่า
“แล้วมันมาได้ยังไง/จะสลายมันยังไง”
และรีบลงท้ายด้วยการบอกว่า
“มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ / มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ /
ธรรมชาติมนุษย์มันก็ต้องคาดหวังแบบนี้แหละ”
ผมก็มักจะแซวผู้ที่พูดนั้นอยู่ในใจว่า
“ใช่ มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจตามธรรมดา...
แต่เอ็งพูดความจริงไม่หมดโว้ยย 555”
บางครั้งเวลาที่เราพูดคุยเกี่ยวกับความคาดหวัง
มันมักจะมีคำว่า “เลี่ยงไม่ได้/เรื่องปกติ/ธรรมดา/ธรรมชาติมนุษย์”
สำหรับตัวผมแล้ว
นี่คือ ภาพลวงตาครั้งใหญ่ของมนุษย์เราเลยครับ
(แท้จริงแล้วเราอยู่เหนือความคาดหวังได้...แต่เรากลับไม่ยอมเรียนรู้ซะอย่างงั้น)
แล้วยิ่งไปกว่านั้น
บางทีก็จะมีคำพูดที่ทำให้ความคาดหวัง “กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นขึ้นมา”
เช่น
-ถ้าไม่คาดหวัง ก็จะไม่สมหวัง
-ถ้าไม่คาดหวัง ชีวิตก็จะไร้จุดหมาย/เฉื่อยชา
-ความคาดหวังเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
แล้วก็มักจะตามมาด้วยคำพูดทำนองชุบชูหัวใจมากมาย
ทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ เช่น
-ใจฟู
-มีกำลังใจ
-ได้รับการปลอบประโลมใจ
ฯลฯ
แล้วก็กลับไปฝ่าฟันกับอุปสรรคในชีวิตต่อไป
และถ้าวันไหนเผลอคาดหวังจนทนไม่ไหว
ก็ค่อยกลับมาเติมพลังใจกันใหม่
(ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรครับตรงนี้ เนื่องจากเป็นการดูแลตัวเองอย่างหนึ่ง)
หมัดเด็ดมันอยู่หลังจากนี้เลยครับ
เพราะผลที่ตามมาจากการวนอยู่กับวงจรเหล่านี้
กลับมีราคาที่มนุษย์เราต้องจ่ายครับ
นั่นคือ “มันทำให้เราละเลย/ไม่ยอมเรียนรู้”
ถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของเจ้าความคาดหวังที่เสียบแทงใจมนุษย์
รวมทั้ง
พลาดโอกาสเรียนรู้วิธีอีกมากมายที่จะเป็นอิสระจากความคาดหวัง
หากเราสังเกตชีวิตตนเอง เราจะพบว่า
“เราไม่ได้คาดหวังอยู่ตลอดเวลา”
ใช่ครับ มันจะมีช่วงที่เรารู้สึกโล่งโปร่งสบาย
สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยใจที่เรียบง่ายและเป็นสุข
(ต่างกับความคาดหวัง ที่มักทำให้เรารู้สึกอึดอัดและเป็นทุกข์)
โดยเจ้าความคาดหวังตัวนี้
มันจะโผล่ขึ้นมากวนใจมนุษย์เราได้ทันที
“เมื่อมีปัจจัยบางอย่างไปเรียกให้มันออกมา”
(ซึ่งเป็นตัวเรานี่แหละครับ ที่เป็นคนไปเรียกให้มันออกมา 555)
แล้วมันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “คาดหวัง ๆๆๆ”
ทั้งต่อตนเอง คนอื่น สิ่งรอบข้าง เหตุการณ์ ฯลฯ
ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกกดดัน ตึงเครียด ปั่นป่วน
อยากเอาชนะ อยากได้ การกลัวผิดหวัง
รวมทั้งยังทำให้เราเผลอกดดันตัวเอง
และเข้าไปบีบคั้นผู้อื่น
“ทำให้ใจของเราและผู้อื่นหม่นหมอง”
ดังนั้น หากเราเข้าใจต้นตอต่าง ๆ ของความคาดหวัง
เราก็จะมีหนทางในการสลายความคาดหวังลงได้ครับ ^^
(โดยเนื้อหาต่อจากนี้ผมจะเรียงไว้เป็นข้อ ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจครับ)
[1]
“วิธีเรียกความคาดหวังให้ออกมา คือ การเชื่อว่าควบคุมได้ทุกอย่าง”
มันทำให้เกิดท่าทีในการมองสิ่งต่าง ๆ ว่า
“เราคือผู้บงการความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่ง”
วินาทีใดก็ตามที่เราจัดวางจิตใจเช่นนี้
ความคาดหวังก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นทันทีครับ
(มันแอบทำงานอย่างเงียบเชียบซะด้วย 555)
โดยมันจะหลอกให้เราเชื่อว่า
ทุกความคิด/ทุกภาพฝัน/ทุกสิ่งที่เราต้องการ
“มันกำลังจะเกิดขึ้นจริง”
ปัญหาชีวิตเราจึงเริ่มตรงนี้เลยครับ
เพราะเราเชื่ออย่างสุดใจว่า
-ถ้าคิดแล้ว มันก็ต้องได้ตามที่คิดไว้
-ฉันคุมได้ทุกอย่าง ทุกสิ่งมันต้องเป็นไปตามแผน
ซึ่งลึก ๆ เราก็รู้อยู่แก่ใจครับว่า
เบื้องหลังของทุกความเปลี่ยนแปลงนั้น
มันยังมีปัจจัยอีกมากมายนอกจากตัวเราที่กำหนด
(มันคืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกกดดันอยู่ลึก ๆ)
คล้ายกับการเริ่มจับโกหกตัวเองได้นั่นแหละครับ
แต่แค่ยังไม่ยอมรับว่า “เราหลอกตัวเองอยู่”
[2]
“วิธีเรียกความคาดหวังให้ออกมา คือ การเชื่อว่าทุกสิ่งนั้นมั่นคง”
สิ่งเดียวที่ดูเหมือนจะมั่นคงได้จริง ๆ ก็คือ ความคิด/คำนิยาม
เพราะมันเป็นตัวแทนของภาพจำในอดีต
รวมทั้งยังเป็นตัวแทนของคำอธิบายต่าง ๆ ที่เราเคยรู้มา
“ความคิด จึงเป็นของเก่าที่ไม่ยอมอัพเดท”
แต่ความจริงรอบตัวของเรานี่สิครับ
แตกต่างไปจากของเก่าเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงเลย
“ความจริง จึงเป็นสิ่งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด”
ทีนี้ พอเราดันเผลอปักใจเชื่อว่า
-เมื่อวานชนะ วันนี้ก็ต้องชนะ
-เมื่อกี๊ยังทำได้ ต่อจากนี้ก็ต้องทำได้
-วันก่อนยังไหว วันนี้ก็ต้องไหว
-เมื่อวานรถไม่ติด วันนี้ถนนก็ต้องโล่งเหมือนเดิม
“แบบนี้เราก็เผลอหลอกตัวเองซะแล้ว”
ผลที่ตามมาก็คือ
เรามักจะผูกติดอยู่กับคำนิยามที่ได้ให้ไว้กับตนเอง/ผู้อื่น/เหตุการณ์
ซึ่งคำนิยามเก่า ๆ เหล่านั้นมักทิ่มแทงใจ/เผาผลาญใจ
โดยมันจะลอบทำร้ายจิตใจของเราอยู่เงียบ ๆ ครับ
(มันคืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกร้อนใจ/เจ็บใจ/ใจไม่สงบ)
[3]
“วิธีเรียกความคาดหวังให้ออกมา คือ การเชื่อว่าทุกสิ่งนั้นเป็นของเรา”
นี่คือท่าทีของจิตใจ
ที่จะทำให้รู้สึกว่า เรามีตัวตนอันยิ่งใหญ่
และเรามีพลังอำนาจในการครอบครองทุกสิ่ง
(พร้อมกดดันตัวเอง/กดขี่ผู้อื่น)
จะว่าไปแล้ว
นี่คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดสองข้อก่อนหน้านี้เลยครับ 555
เนื่องจากมันทำให้เราวางตัวอยู่เหนือกฎของธรรมชาติครับ
“เผลอเชื่อว่า ตนเองยิ่งใหญ่กว่าความเปลี่ยนแปลง”
ทั้งที่ความจริงแล้ว
ทุกสิ่งล้วนผันแปรเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเยี่ยมเยือน
(แม้แต่ตัวเราเองก็หนีไม่พ้นครับ)
เมื่อเราวางจิตใจแบบนี้
มันก็จะทำให้เกิดการปกป้องตัวเอง
และปกป้องในสิ่งที่ตัวเราครอบครอง
“ปกป้องเพื่อให้มันอยู่ในสภาพดั้งเดิม”
ซึ่งลักษณะของจิตใจแบบนี้นี่แหละครับ
คือ ต้นตอของความคาดหวังทุกชนิด
(ทุกสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน...แต่เราดันอยากให้มันเปลี่ยนแปลงไปตามใจของเรา)
วิธีกวักมือเรียกความคาดหวังทั้งสามข้อนี้
เป็นหนึ่งในความเข้าใจที่ผมเข้าถึง
และนำมาแบ่งปันให้กับทุกท่านได้อ่านกันครับ
ดังนั้น
คำถามที่ว่า “ความคาดหวัง เป็นเรื่องธรรมดาจริงเหรอ ?”
สำหรับผมแล้วคำตอบคือ
“ความคาดหวังนั้น
เป็นสภาวะจิตใจ ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของกลไกทางใจ
...ซึ่งมันมาจาก ใจที่ไม่อยู่กับธรรมชาติของชีวิต”
ผมเข้าใจว่า
หากใจเรายังไม่สามารถสลายต้นตอเหล่านี้
เราก็ยังมีแนวโน้มที่จะคาดหวังได้ครับ
ซึ่งมันก็จะทำให้เราเผลอ...
-เข้าไปตั้งเงื่อนไขตายตัวให้กับทุกคน
-ตั้งกฎเกณฑ์ของตัวเองให้กับทุกสิ่ง
เช่น “มันต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น-ห้ามเป็นแบบนี้นะโว้ยย”
แล้วมันก็จะทำให้เราเกิดความทุกข์ใจตามมา
ซึ่งตรงนี้ก็เป็นภารกิจของเราในการเท่าทันและดูแลตัวเอง
หรือ จะถึงขั้นสังเกตเห็นต้นตอเหล่านั้นและสลายมันไปเลยก็ได้
หากเป็นนิยายกำลังภายใน
มันก็อาจเป็นเหล่าจอมยุทธ
ผู้อยู่ในสำนักที่ชื่อว่า “ความคาดหวัง”
ซึ่งบางทีมันก็ชอบหลบ ๆ ซ่อน ๆ แล้วออกมาลอบทำร้ายเราบ่อย ๆ
หรือ บางทีมันก็ยกพวกมารุมกระทืบเราแบบไม่ให้ตั้งตัว
แต่ไม่ว่าเราจะโดนมันทิ่มแทงมากี่แผล
“เจ้าความคาดหวัง มันก็อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติเช่นเดียวกับเรา”
เราจึงสามารถฝึกปรือความรู้ตัว ขัดเกลาตนเอง
วางเงื่อนไขในชีวิตที่เคยมี
และเรียนรู้ท่วงท่าเพลงกระบี่ของมัน
“จนดักทางมันได้ และเอาชนะมันได้ในที่สุด”
เราจึงสามารถไล่สยบมันได้
เริ่มตั้งแต่คนเฝ้าประตูสำนัก
ตามด้วยบรรดาลูกศิษย์น้อยใหญ่ รวมถึงรองหัวหน้า
(บุกไปจนสามารถปราบหัวหน้าสำนักของมันก็ยังได้ครับ 555)
“ใจเราก็จะยอมรับความจริงได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น”
ซึ่งทำให้เราพึ่งพาความคาดหวังน้อยลงครับ
(พึ่งพาน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามเงื่อนไขที่เราสลายมันได้)
ทีนี้เราก็จะมีอิสระมากขึ้นในการดำเนินชีวิต
ด้วยใจที่มีความรู้ตัว สงบมั่นคง
เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
และทำให้เราตัดสินใจ/ปรับตัวได้อย่างลงตัว
แล้วมีความสุขกับชีวิตได้อย่างเรียบง่าย ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา