26 มิ.ย. 2021 เวลา 03:53 • ท่องเที่ยว
เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับ "ประเทศนอร์เวย์" ประเทศแห่งเส้นทางสู่ขั้วโลกเหนือ
มีใครอยากไปเที่ยวแล้วบ้าง ?
มั่นใจว่า พวกเรา 2 คน คงรีบยกมือขึ้นก่อนใครแน่นอน
เพราะตอนนี้โหยหาการท่องเที่ยวมาก
แต่สถานการณ์ตอนนี้ อาจจะยังไม่เอื้ออำนวยสำหรับพวกเราเท่าไร…
ไม่เป็นไร งั้นพวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวกับพวกเราแบบสั้น ๆ ในรูปแบบเกร็ดความรู้ ไม่เกิน 5 นาที กับซี่รี่ส์บทความภาพ “ท่องโลกฉบับมือใหม่” ซึ่งในตอนนี้ พวกเราขอพาไปรู้จัก “ประเทศนอร์เวย์”
(เพื่อน ๆ บางคนบอกว่า อาจจะไม่เกิน 5 นาที😊)
งั้นขอเชิญไปดูภาพ Infographic สบายตา กันเลย !
พิเศษเฉพาะใน Blockdit เพิ่มเติมอรรถรสในการอ่าน ด้วยภาพประกอบบทความ ที่นี่ที่เดียว :)
ถ้านึกถึงประเทศนอร์เวย์ พวกเราคงจะมีภาพของชาวไวกิ้ง ที่ปรากฎขึ้นมาในหัว
ซึ่งสมัยเริ่มแรกสุด ก็จะเป็นในช่วงยุคไวกิ้ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 800
ซึ่งในตอนนั้น นอร์เวย์ยังเป็นอาณาจักรไวกิ้ง ซึ่งมีหลากหลายอาณาจักรที่อยู่ภายใต้การนำของ พระราชาฮาร์รรัลด์ แฟร์แฮร์ (Harald Hårfagre)
Harald Hårfagre
แต่ถ้าจะให้ไล่ประวัติกันมาเลย… สงสัยได้ง่วงนอนเสียก่อน แห่ะ ๆ 😉
งั้นเราจะขอข้ามมาที่ในยุคสมัยที่ใหม่ขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ 14 เลยละกัน
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ประเทศนอร์เวย์ เคยเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดนและเดนมาร์กมาก่อนนะ
โดยในสมัยนั้น เราอาจจะคุ้นในชื่อของ “สหภาพระหว่างเดนมาร์กและนอร์เวย์” และยังมี “สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์”
3 ชาติแห่งสแกนดิเนเวีย
อันนี้คือธงชาติ สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์
Kalmar Union – Union Between Norway, Sweden and Denmark
ก่อนที่เหล่าสหภาพจะล่มสลายในปี ค.ศ. 1814
และประเทศนอร์เวย์ ก็ได้ประกาศเป็นประเทศเอกราชในปี ค.ศ. 1905
หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า
เอ้ะ ! ถ้านอร์เวย์เคยเปนส่วนหนึ่งของสหภาพเดนมาร์กและสวีเดนเนี่ย ภาษาของพวกเขาก็ต้องได้รับอิทธิพลไปด้วยสิ ?
อาจตอบได้ว่า “ใช่”
ภาษาราชการของนอร์เวย์มีรูปแบบการเขียน 2 แบบ
คือ ภาษาบุ๊กมอล (Bokmål) ซึ่งคือ "ภาษาหนังสือ" ซึ่งมีการใช้งานมาตั้งแต่ในยุคที่ยังเป็นสหภาพ
และ ภาษานีน็อชก์ (Nynorsk) หมายถึง "ภาษานอร์เวย์ใหม่"
ซึ่งภาษานีน็อชก์ (Nynorsk) นี้ละ ที่ถูกปรับขึ้นมาใหม่
ให้สอดคล้องกับการที่ประเทศได้ประกาศเอกราชแล้ว นั่นเอง
ซึ่งก็ถูกปรับขึ้นในปี ค.ศ. 1920 โดยคุณ “Ivar Aaasen” ที่ได้ทำการศึกษาด้านภาษาศาสตร์และการใช้สำเนียงของภาษานอร์เวย์ ทั่วราชอาณาจักร
จนได้สร้างอีกหนึ่งภาษาราชการอย่าง ภาษานีน็อชก์ (Nynorsk) ขึ้นมา
ภาษาท้องถิ่นนอร์เวย์ แบ่งตามการพูดในแต่ละภูมิภาค
ทีนี้ เราพาเพื่อน ๆ มาอ่านกันเบา ๆ ในเรื่องราวแบบวิชาการกันบ้าง
ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนอร์เวย์
ในแบบที่พวกเราคุ้นเคยกัน ก็คงเป็นเรื่องของการประมง อย่างการทำฟาร์มปลาแซลมอน และ ปลาเทราท์
ว่าแต่ เอ้ะ.. ! ประเทศนอร์เวย์ ตั้งอยู่แถบเหนือเกือบขั้วโลกเหนือขนาดนั้น น้ำทะเลไม่เป็นน้ำแข็ง หรือ หนาวเย็นจนเกินไปเหรอ ?
ถ้าตามที่พวกเราเคยเรียนกันมา ทะเลแถบนั้น จะได้รับอิทธิพลจาก กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (Gulfstream) ที่จะพัดพาความอบอุ่นมาจากอ่าวเม็กซิโกเรื่อยมาจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก
และไหลวนขึ้นเหนือตลอดแนวชายฝั่งนอร์เวย์ ไปบรรจบกับกระแสน้ำเย็น จากมหาสมุทรอาร์กติก
ซึ่งนี้ละ คือ “สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล”
กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (Gulfstream)
ซึ่งก็ไม่แปลกใจ ด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้ ก็ยังทำให้เกิด “Dogger Bank”
หรือ แหล่งประมงที่สำคัญอยู่ในเขตทะเลเหนือ เป็นเขตน้ำตื้นชายฝั่งทวีป (ซึ่งก็มาจากมีกระแสน้ำอุ่นแอตแลนติกเหนือ ไหลผ่าน จึงทำให้น้ำไม่เป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว นั่นเอง)
น่านน่้ำตรงนี้ Denmark เขาได้ยกให้เป็นของนอร์เวย์น้ะ
เรื่องราวนี้ ได้ทำให้ทะเลของประเทศนอร์เวย์ มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในยุโรปเลยละ !
แต่… เราขอหักมุมสักนิดนึง
เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าอันที่จริงแล้ว การประมงเนี่ย
กลับไม่ใช่อุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้สูงที่สุดให้กับประเทศนอร์เวย์นะ
แต่ว่า คือ อุตสาหกรรมการส่งออกน้ำมันตะหากละ ที่สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศนอร์เวย์ เป็นอันดับที่ 1
เหตุผลสั้น ๆ มาจาก การค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในทะเลเหนือในช่วงทศวรรษ 1960s
ซึ่งถือเป็นโชคดีของนอร์เวย์ จากการที่สหภาพเดนมาร์กและสวีเดน ล่มสลาย และประเทศเดนมาร์กได้ตักแบ่งพื้นที่ในทะเลเหนือส่วนนี้คืนให้กับนอร์เวย์
และกลายเป็นว่า พื้นที่ส่วนนี้ละ ที่เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันสุดล้ำค่า !
หลังจากนั้น จึงทำให้น้ำมันกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศนอร์เวย์ ในทันที
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นจากเรื่องราวตรงนี้ มาดูภาพรวมการส่งออกที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศนอร์เวย์ 3 อันดับในปี 2020 คือ
1. อุตสาหกรรมส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็น 49%
2. อุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเล คิดเป็น 13%
3. อุตสาหกรรมส่งออกเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเครื่องจักรกล 5%
และด้วยความได้เปรียบของการผลิตน้ำมัน และ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำฟาร์มสัตว์น้ำ
จึงทำให้ ตัวเลขที่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2020 ประเทศ มีมูลค่าอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท หรือ อยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก
พื้นที่ขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เขาก็นิยมขุดบนพื้นที่ Dogger Bank กันอีกนี้ละ !
ที่น่าสนใจคือ ในอีก 50 ปีข้างหน้าเนี่ย
รัฐบาลนอร์เวย์ ก็ยังได้ประกาศอีกว่า พวกเขาจะต้องเป็นประเทศผู้นำแห่งการส่งออกอาหารทะเลของยุโรป โดยเฉพาะปลาแซลมอน และ ปลาเทราท์
ซึ่งส่วนตัวเราเคยไปทานแซลมอน จากตลาดปลาเมือง Bergen ที่เราทานก็เป็นแซลมอนฟาร์มนี้ละ ยอมรับว่า ราคาสูงมาก แต่เหมาะสมกับคุณภาพ อร่อยเนื้อนิ่มมาก
เพื่อเพื่อน ๆ เริ่มหิวกัน
ข้างหน้านั้นคือ ฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลแมน แบบธรรมชาติ (แบบ Organic)
โอเค ก็พอหอมปากหอมคอกัน
พวกเราขอพักเรื่องราววิชาการเอาไว้ตรงนี้ก่อนละกันเนอะ (เพราะเพื่อน ๆ บางคนอาจเริ่มเบื่อกันแล้ว)
เพื่อน ๆ รู้ไหมว่า ประเทศนอร์เวย์ มีขนาดพื้นที่เท่าไร ?
ประเทศนอร์เวย์ มีพื้นที่ 385,155 ตารางกิโลเมตร (หรือคิดเป็นประมาณ 60% ของพื้นที่ประเทศไทย)
แต่ว่ามีประชากรเพียงแค่ 5.3 ล้านคน เท่านั้นเอง
ซึ่งความหนาแน่นของประชากร ในประเทศนอร์เวย์ ก็จะแบ่งตามขนาดของเมืองและเศรษฐกิจ
โดย 3 อันดับแรก คือ
- เมืองหลวงอย่าง Oslo มีประชากร 580,000 คน
- อดีตเมืองหลวง Bergen มีประชากร 213,000 คน
- เมือง Trondheim มีประชากร 147,000 คน
เมืองหลวงอย่าง Oslo - เราขอนำภาพนี้มา เพราะไปเที่ยวมาแล้ว รู้สึกว่า มันเป็นเมืองที่เจริญ ตึกสูงมีให้เห็นมากกว่าที่คิด
อดีตเมืองหลวง Bergen - เราเคยไปมา เมืองจริง ๆ สวยกว่าในภาพนะ
เมือง Trondheim
แล้วเพื่อน ๆ รู้ไหมว่า ประเทศนอร์เวย์ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มสแกนดิเนเวีย
ที่มีพรมแดนที่ติดกับประเทศอื่น ๆ มากถึง 3 ประเทศด้วยกัน
อย่างเช่น สวีเดน ฟินแลนด์ และ รัสเซีย
(ถึงแม้จะมีพรมแดนที่ติดกับรัสเซีย แต่ก็จะเป็นส่วนของพื้นที่ ที่เล็กมากกก)
นอกจากนั้น เราได้ไปนั่งดูสารคดีมา ก็เพิ่งทราบว่า ประเทศนอร์เวย์ ก็มีเกาะเล็กเกาะน้อย รวมไปถึงเกาะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ อยู่ภายใต้การปกครองค่อนข้างเยอะเลยเหมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่น เกาะ Svalbard ที่มีจำนวนประชากรแค่ 3,000 คน เท่านั้นเอง
ซึ่งเกาะ Svalbard นี้ ก็ยังเป็นเกาะที่มีพระอาทิตย์เที่ยงคืน (พระอาทิตย์ไม่ตกขอบฟ้า) เป็นระยะเวลามากถึง 4 เดือน เลยทีเดียว
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าตัวประเทศนอร์เวย์ จะตั้งอยู่แถบขั้วโลกเหนือ
แต่ก็ยังเป็นเจ้าของเกาะที่อยู่ในแถบขั้วโลกใต้ อย่าง Bouvet Island ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแหลมกู๊ดโฮปจากทวีปแอฟริกา เพียงแค่ 1,600 กิโลเมตร เท่านั้น
เกาะ Svalbard
ส่วนในเรื่องของภาษา ที่คนนอร์เวย์นิยมพูด ก็คือ ภาษานอร์เวย์ (บูกโมลและนีน็อชก์)
และยังมีสำเนียงที่แตกต่างกันประมาณ 4 รูปแบบ (ตอนเหนือ ตอนกลาง ตะวันตก และ ตะวันออก)
แต่เท่าที่เราไปอ่านใน Quora มา เหมือนคนนอร์เวย์ก็จะมีการประชดประชันว่า
สำเนียงในภาษานอร์เวย์ ไม่ได้ต่างกันมากหรอก แต่อาจต่างกันที่เรื่องของการพูด หรือ คำที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ที่อาจไม่เหมือนกันมากกว่า…
และถ้าคุณจะนับเรื่องสำเนียงนะ ทุก ๆ 10 กิโลเมตร คุณจะได้ยินสำเนียงที่แตกต่างกันไปของคนนอร์เวย์
(ขนาดนั้นเลยเหรอเนี่ย.. เรื่องนี้จริงไม่จริงอย่างไร คงต้องให้เพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ที่นอร์เวย์ มาช่วยแชร์ความรู้พวกเรากันด้วยน้า)
ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่สามารถนำภาพที่เคยไปท่องเที่ยวมาให้ชมกันได้ เพราะในลักษณะของเพจเรา อาจไม่ใช่การรีวิวแนวท่องเที่ยว
งั้นพวกเรา ก็ขอเป็นการนำสาระเรื่องราวเบาสมองมาให้เพื่อน ๆ อ่านกันแบบนี้ เช่นเคย 🙂
วันนี้จะขอจบเรื่องราวของประเทศนอร์เวย์ไว้เพียงเท่านี้ ถึงแม้จะไม่ครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมด อย่างสถานที่ท่องเที่ยว หรือ อาหารจานเด็ดต่าง
แต่หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะพอได้สาระความรู้กันไปหลังอ่านจบ
ในโพสต่อ ๆ ไปของซีรีส์นี้ พวกเราจะหยิบเกร็ดความรู้ของประเทศ หรือ เมืองที่น่าสนใจต่าง ๆ มาให้เพื่อน ๆ รับชมกันต่ออย่างแน่นอน 🙂
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือเรื่อง History of Scandinavia โดยคุณปรีดี หงสต้น
โฆษณา