22 มิ.ย. 2021 เวลา 04:36 • ท่องเที่ยว
เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับ "ประเทศไอซ์แลนด์" ภายใน 5 นาที
ต้องบอกว่าไอซ์แลนด์ "ดินแดนแห่งไฟและน้ำแข็ง (Land of Fire and Ice)"
เป็นหนึ่งประเทศที่พวกเราเคยเดินทางไปเที่ยวแล้วประทับใจมาก ๆ
ไม่ว่าจะเป็นวิวทิวทัศน์ อาหารและผู้คน ที่อาจต้องแลกมาด้วยเส้นทางการขับขี่ที่โหดร้ายสักเล็กน้อย (ลมแรงมาก และ บางพื้นที่อาจมีวิสัยทัศน์การมองเห็นต่ำ หมอกเยอะ) หรือ ค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง
ที่ขาดไม่ได้สำหรับทริปนี้คือ คุณนายแสงเหนือ (Northern Light) ที่เปรียบเสมือนนางเอกขี้อาย ของการท่องเที่ยวประเทศนี้เลย
ขอบอกว่า จากการเที่ยวระยะเวลา 10 วัน ได้มีโอกาสมาเห็นคุณนายแสงเหนือ ได้เพียงแค่วันเดียว ซึ่งก็ถือว่าดีมาก ๆ แล้ว 🙂
งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวกับพวกเราแบบสั้น ๆ ในรูปแบบเกร็ดความรู้ ไม่เกิน 5 นาทีกับซี่รี่ย์บทความภาพ “ท่องโลกฉบับมือใหม่” ซึ่งในตอนที่สองนี้ พวกเราขอพาไปรู้จักประเทศไอซ์แลนด์
ถ้าพร้อมแล้ว งั้นขอเชิญไปดูภาพ Infographic กันเลย !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากรู้จักประเทศไอซ์แลนด์ในมุมสาระความรู้ แบบคร่าว ๆ กัน เพิ่มเติม เชิญอ่านเบา ๆ ทางนี้ได้เลย
ประเทศไอซ์แลนด์ ที่ฟังชื่อแล้วอาจดูเหมือนกับเป็นดินแดนแห่งน้ำแข็ง
ในขณะที่หากเราจะพูดถึงดินแดนที่เป็นเกาะแห่งน้ำแข็ง อาจจะต้องพูดถึงเกาะกรีนแลนด์ ที่เป็นดินแดนแห่งน้ำแข็งของจริงเสียมากกว่า
ถึงแม้จะมีขนาดของเกาะกรีนแลนด์จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเกาะไอซ์แลนด์ แต่มีจำนวนประชากรที่น้อยกว่ามากถึง 6 เท่า เลยทีเดียว ก็เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นทุ่งน้ำแข็ง
ซึ่งจะแตกต่างกับไอซ์แลนด์ที่มีความอบอุ่นและบรรยากาศเอื้ออำนวยในการใช้ชีวิตที่มากกว่า
ประเทศไอซ์แลนด์ มีชื่อเรียกอย่างทางการคือ “สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ (Republic of Iceland)”
ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นดินทั้งหมด 3 แผ่นใหญ่ ๆ ซึ่งจะถูกเรียกแบ่งเป็นภาครวม ง่าย ๆ คือ ภาคใต้ กับ ภาคเหนือ (ซึ่งภาคเหนือ ก็จะแบ่งเป็น ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
แต่ในปัจจุบัน ประเทศไอซ์แลนด์ แบ่งการปกครองออกเป็น 8 เขตหลัก ๆ ด้วยกันนะจ้า ไม่ได้เป็นแค่ 3 ภาค 3 แผ่นแบบในอดีตแล้ว
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ประเทศไอซ์แลนด์ มีขนาดเท่าไร ?
ประเทศไอซ์แลนด์ มีพื้นที่ 102,775 ตารางกิโลเมตร (หรือเล็กกว่าพื้นที่ประเทศไทย เกือบ 5 เท่า)
แต่ด้วยพื้นที่ขนาดนี้ หากเราพูดถึงขนาดของเกาะ ก็ถือว่าใหญ่นะ
เพราะ หากเทียบกับขนาดของเกาะแล้ว เกาะไอซ์แลนด์ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในทวีปยุโรป และ อันดับที่ 18 ของโลก
ถ้าพูดถึงความหนาแน่นของประชากรในไอซ์แลนด์ ก็มีเพียงแค่ 3.6 แสนคน เท่านั้นเอง
ซึ่งประชากรทั้งหมดในประเทศเขา เปรียบเทียบได้เท่ากับ 3% ของประชากรทั้งหมดที่จดทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร…
(แต่เอาตรง ๆ คงจะเปรียบเทียบกันได้ยาก เพราะสภาพอากาศและสถานที่อยู่อาศัยของเกาะ ที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ทุกพื้นที่แบบกรุงเทพเนอะ แค่เปรียบให้เห็นภาพเฉยๆนะจ้า...)
ซึ่งความหนาแน่นของประชากร ในประเทศไอซ์แลนด์ ก็จะไปกระจุกตัวกันอยู่ที่เมืองหลวงอย่าง กรุงเรคยาวิก (Reykjavik) มากเกือบ 55% ของประชากรทั้งหมดเลย !
โดยหากเราอ้างอิงจาก ความหนาแน่นของประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง 3 อันดับแรก คือ
- เมืองหลวงอย่าง Reykjavik มีประชากรประมาณ 195,000 คน
- เมืองที่อยู่ทางตอนใต้ เมืองที่เป็นที่ตั้งสนามบินแห่งชาติอย่าง Reykjanesbær (Keflavík) มีประชากร 19,000 คน
- เมืองที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ตอนเหนืออย่าง Akureyri ทางตอนใต้ มีประชากร 18,000 คน
กรุงเรคยาวิก (Reykjavik)
ว่าแต่ว่า เกาะแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ได้อย่างไร ?
ใครคือชนกลุ่มแรก ที่ค้นพบเกาะสวรรค์แห่งนี้กันละ ?
โอเค เรื่องราวสั้น ๆ เป็นอย่างนี้ (เพื่อน ๆ หลายคนคงเริ่มแบบ สั้นอีกแล้ว เอาให้สั้นจริง ๆ นะ…)
ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในเกาะไอซ์แลนด์ เชื่อกันว่าเป็นนักบวชชาวไอริช ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎว่า เข้ามาได้อย่างไร...
สิ่งที่ปรากฎอยู่ในบันทึกทางโบราณคดีก็คือ บันทึกของชาวไวกิ้ง
ใช่แล้วละ ! จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ การบุกรุกเข้ามาโดยบังเอิญของชาวไวกิ้ง ในช่วงปี ค.ศ. 872
ซึ่งชาวไวกิ้งกลุ่มแรก ก็ได้ตกตะลึงในความสวยงามและสภาพภูมิประเทศของเกาะแห่งนี้มาก เพราะว่า เป็นเกาะที่มีสีขาวโพลนของหิมะ พบเห็นแสงเหนือได้ง่าย แถมยังมีภูเขาไฟที่ยังคงปะทุและมีลาวาครุกกรุ่น
ชาวไวกิ้งกลุ่มแรกจึงได้เริ่มให้คำนิยามเกาะแห่งนี้ว่า เกาะแห่งหิมะ หรือ “Snowland”
ซึ่งจุดนี้ ว่ากันว่าทำให้กลุ่มนักบวชชาวไอริช ได้ค่อย ๆ ทยอยย้ายออกไปจากเกาะไอซ์แลนด์ไป
หลังจากนั้นไม่นาน ชาวไวกิ้งกลุ่มแรก ก็ได้ออกจากเกาะไอซ์แลนด์ไปเช่นกัน
เพราะเกาะแห่งนี้ไม่มีอะไรเลย ขอกลับบ้านดีกว่า…
ชาวไวกิ้งกลุ่มต่อมา จึงได้เดินทางมาถึงในปี ค.ศ. 930
ซึ่งเชื่อกันว่าชาวไวกิ้งกลุ่มนี้ ที่นำโดย “Ingólfur Arnarson” เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรก ที่อาศัย พร้อมกับตามมาด้วยชาวไวกิ้งอีกจำนวนหนึ่งและทาสชาวเคลต์
ชาวไวกิ้งกลุ่มนี้ สงสัยว่าทำไมเกาะแห่งนี้ จึงเต็มไปด้วยธารน้ำแข็งก้อนใหญ่ อยู่เต็มไปหมด
แต่ก็เป็นเกาะที่สามารถพำนักอาศัยได้ งั้นก็ทิ้งความสงสัยเอาไว้
แล้วตั้งชื่อเกาะว่า “Iceland” ตรงตัว ไปเลยก็แล้วกัน !
Ingólfur Arnarson
ต่อมาเนี่ย กลุ่มไวกิ้งเริ่มแรกของ Ingólfur Arnarson ก็ได้ถูกรุกรานด้วยการเข้ามาพบเกาะโดยบังเอิญของกลุ่มชาวไวกิ้งจากนอร์เวย์ ที่นำโดยกษัตริย์ “Olaf Tryggvason” ช่วงประมาณศตวรรษที่ 10
ซึ่งการเข้ามาของกษัตริย์นอร์เวย์ Tryggvason ผู้นี้ ส่งผลทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไอซ์แลนด์อยู่หลายต่อหลายครั้ง
ผลสุดท้ายคือ ประเทศไอซ์แลนด์ ถูกผนวกไปอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์นอร์เวย์ ในปี ค.ศ.1262
เอ…. แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อกับกลุ่มไวกิ้ง “Ingólfur Arnarson” ซึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรกบนเกาะไอซ์แลนด์ละ ?
มีเรื่องราวจากบันทึกตามหน้าประวัติศาสตร์ ที่คาดว่ากลุ่มไวกิ้งของ Arnarson ได้อพยพชนเผ่าของเขา ล่องเรือขึ้นไปทางเหนือ จนไปเจอกับเกาะกรีนแลนด์ (Greenland)
และพวกเขาก็ย้ายไปตั้งรกรากถิ่นใหม่ ที่เกาะแห่งนี้ นั่นเองจ้าาา !
และลูกหลานของชาวไวกิ้งกลุ่มเดียวกันนี้ ยังได้ออกเดินทางไปค้นพบตอนเหนือทวีปอเมริกาด้วยอีกนะ ซึ่งบางส่วนก็ได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ส่วนนั้น คือ ประเทศแคนาดา นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เรื่องราวเหล่านี้ เป็นความเชื่อนะเนอะ ก็คงต้องฟังหูไว้หูกันเหมือนเช่นเคย....
(ขออภัยที่หากสุดท้ายแล้ว เรื่องราวไม่ได้สั้นอย่างที่เราได้เกริ่นไป แห่ะ ๆ)
พักจากประวัติศาสตร์ของต้นกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ของไอซ์แลนด์ กันก่อน
ทีนี้ เราจะขอพาเพื่อน ๆ กลับมายังโลกปัจจุบัน
ซึ่งเรื่องราวในปัจจุบันที่เราอยากหยิบมาเปลี่ยนรสชาติการอ่านเรื่องราว
ก็จะขอพามาส่องกันเบา ๆ ในเรื่องราวแบบวิชาการเกี่ยวกับประเทศไอซ์แลนด์กันสักเล็กน้อย
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ชาวไอซ์แลนด์มีรายได้มาจากอุตสาหกรรม อะไรเอ่ย ?
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นจากเรื่องราวตรงนี้ มาดูภาพรวมการส่งออกที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไอซ์แลนด์ 3 อันดับในปี 2020 คือ
1. อุตสาหกรรมส่งออกปลาและอาหารทะเล
2. อุตสาหกรรมส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม
3. อุตสาหกรรมส่งออกอาหารแช่แข็ง
แต่ถ้าพูดถึงตัวอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับชาวไอซ์แลนด์ ที่ไม่นับการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ก็คงจะเป็นอุตสาหกรรมการประมงและการแปรรูปอาหารทะเล กับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นั่นเองจ้า
และด้วยจุดเด่นของสถานที่ตั้งที่ได้เปรียบทางการทำการประมง รวมถึงมีจุดท่องเที่ยวธรรมชาติที่ชวนให้ค้นหา
จึงทำให้ ตัวเลขที่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2020 ประเทศ มีมูลค่าอยู่ที่ 7.3 แสนล้านบาท หรือ อยู่ในอันดับที่ 143 ของโลก
ซึ่งตัว GDP ของไอซ์แลนด์เนี่ย ได้ตกลงมาพอสมควร จากปี 2019 จากอันดับที่ 108
เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่ง อาจเพราะเรื่องของการท่องเที่ยวกับวิกฤติโควิดระบาดระลอกแรก ในช่วงปี 2020
โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็ป Statista ก็ได้บอกว่า ไอซ์แลนด์ได้รับผลกระทบอย่างเต็ม ๆ ส่งผลให้มีจำนวนการท่องเที่ยว รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ ที่ตกลงไปมากถึง 76% จากปีก่อนหน้า เลยทีเดียว…
อะ พอพูดถึงเรื่องการประมงที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของไอซ์แลนด์แล้วเนี่ย
ก็ทำให้อดนึกถึงชื่ออาหารท้องถิ่นสุดแปลก แต่ยอดนิยม อย่าง “Hákarl” หรือ เนื้อฉลามเน่า ไม่ได้เลย...
Hákarl
ซึ่งเมนูนี้ในสมัยก่อนเนี่ย ชาวไอซ์แลนด์จะนิยมนำเนื้อฉลามกรีนแลนด์ (Greenland Shark) มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก (เราไม่เคยทานนะ แม้กระทั่งตัวเนื้อฉลามปกติ ก็ไม่เคยทานจ้า อาจรีวิวรสชาติไม่ได้)
ซึ่งเจ้าฉลามกรีนแลนด์ มีถิ่นที่อยู่อาศัยในน้ำทะเลลึก ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณ เกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และเกาะไอซ์แลนด์ (Iceland)
แต่พวกเราเข้าใจว่าในปัจจุบันนี้ คงแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว
เพราะฉลามกรีนแลนด์คือ หนึ่งในสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่หายาก เฉลี่ยก็มีอายุก็มากกว่า 100 ปี (ที่ดูในสารคดี ยังมีบางตัวที่อายุ 512 ปี ก็ยังอยู่)
ซึ่งต่อให้หาเจอแล้ว คงจะไม่มีใครอยากเอาเนื้อคุณฉลามทวดมารับประทานแล้วละ…
Greenland Shark
โอเค พอหอมปากหอมคอกันไป
ก่อนที่พวกเราจะปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวเบา ๆ
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า หากเราจะต้องวางแผนการท่องเที่ยวขับรถรอบเกาะไอซ์แลนด์ เราจะต้องมีเวลาเฉลี่ยต่อ 1 ทริป ประมาณกี่วันเอ่ย ?
หากอ้างอิงจากระยะเวลาเฉลี่ยในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจำนวน 2 ล้านคน ที่มาท่องเที่ยวไอซ์แลนด์ในปี 2019 พบว่า พวกเขาเฉลี่ยใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณ 6.6 วัน ต่อ 1 ทริป
โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวอเมริกัน แคนาดา อังกฤษ และ จีน
ถ้าพูดถึงตอนที่พวกเราไปเที่ยวเอง ก็ใช้ระยะเวลาขับรถเที่ยวรอบเกาะไอซ์แลนด์ประมาณ 10 วัน
10 วันที่ว่านี้ คือ จะบอกว่า ตารางค่อนข้างอัดแน่น และยังเก็บบางพื้นที่รอบ ๆ เกาะไม่ครบเลย เฉลี่ยท่องเที่ยวถ่ายรูป ชมบรรยากาศ ต่อ 1 สถานที่ ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง
หากเพื่อน ๆ ท่านไหนต้องการใช้เวลาแบบไม่เร่งรีบมาก ซึมซับบรรยากาศได้อย่างเต็มที่ เก็บเกือบครบทุกสถานที่สำคัญ เราคงจะขอแนะนำที่ขั้นต่ำ 8-9 วัน
จะต้องขับเตามเส้นทางของ Ring Road แบบทวนเข็ม หรือ ตามเข็มก็ได้นะ
ถ้าอย่างนั้น วันนี้พวกเราจึงจะขอจบสาระเรื่องราวสบายสมองของประเทศไอซ์แลนด์ไว้เพียงเท่านี้
ในตอนต่อไปของซีรี่ส์ท่องโลกฉบับมือใหม่ พวกเราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับประเทศเดนมาร์ก (ตามคำขอของแฟนเพจท่านหนึ่งจากโพสแรกของซีรี่ส์นี้)
และถ้าเพื่อน ๆ อยากจะทราบเกร็ดความรู้ของประเทศ หรือ เมืองที่น่าสนใจต่าง ๆ พร้อมภาพ Infographic สบายตา ก็สามารถคอนเมนต์มาให้พวกเราทราบได้ ด้านล่างเลย เดี๋ยวจะไปค้นคว้าหามาทำอย่างแน่นอน 🙂
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- Youtube ช่อง Geography Now ! ในตอนที่เกี่ยวกับประเทศไอซ์แลนด์
โฆษณา