26 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ "เส้นทางสายไหม" ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของจีนโบราณ
กว่าที่จะเป็น Belt Road Initiatives ในวันนี้
2
มองย้อนประวัติศาสตร์ เส้นทางสายไหม
ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ Bnomics จะชวนทุกคนวิเคราะห์ถึงโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt Road Initiatives) ของประเทศจีน และโครงการ Build Back Better World (B3W) ที่กลุ่มประเทศ G7 ได้ประกาศออกมาในการประชุมครั้งล่าสุดเพื่อแข่งขันกับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น วันนี้ Bnomics จึงอยากชวนทุกคนมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของเส้นทางสายไหมครับ
1
เส้นทางสายไหม (The Silk Road)
📌 จุดเริ่มต้น...กว่าจะกำเนิดเป็นเส้นทางสายไหม (Silk Road)
ความจริงแล้ว เส้นทางสายไหมหรือ Silk Road เป็นคำที่เพิ่งถูกนิยามขึ้นมา เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเฟอร์ดินานด์ ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน นักเดินทางชาวเยอรมัน โดยเส้นทางสายไหม หมายถึงเครือข่ายเส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมระหว่างสองซีกโลก จากประเทศจีน ไปสู่ทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ในส่วนของเหตุผลที่เรียกกันว่าเส้นทางสายไหมนั้น ก็เพราะว่าผ้าไหมนั้นเป็นสินค้าเอกลักษณ์จากประเทศจีนที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวยุโรป แต่ความจริงแล้ว มีสินค้ามากมายหลายชนิดที่มีการแลกเปลี่ยนกันบนเส้นทางนี้
ทั้งนี้ การค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าในเส้นทางสายไหมนั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล โดยก่อนหน้านั้น มีเพียงเส้นทางการค้าประปรายตามบริเวณกรีก และเปอร์เซีย แต่ก็ไม่ได้มีการขยับขยายเส้นทางการค้าไปยังซีกโลกตะวันออก และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นทางยาวและเป็นระบบ
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 138 BC เมื่อจักรพรรดิฮั่นอู่ แห่งราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ได้ส่งจางเชียน (Zhang Qian) ทูตและทหารชาวจีนไปทางตะวันตก เพื่อติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับชาวเยว่จือ (Yuezhi) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงแถบเอเชียกลาง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อชักชวนชาวเยว่จือร่วมทำสงครามกับศัตรูตัวฉกาจของจีนในขณะนั้น ซึ่งก็คือชาวซยงหนู (Xiongnu) ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนที่ได้รวมตัวกันอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศจีน (ความจริงแล้ว กำแพงเมืองจีนที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยราชวงศ์จิ๋น ก็เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาวซยงหนูนี่แหละ)
4
ภารกิจของจาง เชียน (Zhang Qian)
แต่ทว่า ภารกิจของจางเชียนก็ไม่ได้สวยหรูนัก เพราะการที่เขาจะเดินทางไปหาพวกเยว้จือได้ เขาจำเป็นต้องฝ่าอันตราย เดินทางผ่านดินแดนของซยงหนูก่อน ซึ่งสุดท้าย ก็ทำให้เขาโดนชาวซยงหนูจับตัวไว้ได้ และกลายเป็นนักโทษของชาวซยงหนูกว่า 13 ปี จนได้แต่งงานกับหญิงชาวซยงหนู มีลูกด้วยกัน และทำให้ชาวซยงหนูไว้วางใจ จึงได้ฉวยโอกาส หนีออกมาพร้อมลูกและภรรยาได้ในที่สุด
6
หลังจากนั้น จางเชียนก็ยังคงยึดมั่นในภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากจักรพรรดิอย่างเหนียวแน่น และได้เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก จนพบกับชาวเยว่จือในที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จอย่างที่หวังไว้ เพราะแม้จะพยายามชักชวนเท่าไหร่ ชาวเยว่จือก็ไม่ได้มีความสนใจที่จะทำสงครามกับชาวซยงหนูร่วมกับจีนอยู่ดี
1
แต่จางเชียนก็ได้เลือกพักอาศัยอยู่กับชาวเยว่จือต่อเป็นแรมปี เพื่อเรียนรู้ ศึกษาเศรษฐกิจ วัฒนธรรมของเยว่จือ และพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้เดินทางกลับประเทศจีน เพื่อนำความทูลแก่จักรพรรดิ ซึ่งตรงนี้แหละที่ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การริเริ่มการค้าขายในเส้นทางสายไหมขึ้นมา เพราะถึงแม้ว่าจางเชียนจะไม่สามารถทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วงไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้รายงานถึงอารยธรรมต่างๆ มากมายในทางตะวันตก ที่เปิดโอกาสให้ประเทศจีนทำการค้าขายด้วยอย่างยิ่ง จนส่งผลให้เกิดการสร้าง "เส้นทางสายไหม" ขึ้นมาในที่สุด
4
📌 เส้นทางสายไหม...เส้นทางการค้าเชื่อมสองซีกโลก
เส้นทางสายไหมได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่เชื่อมสองซีกโลกเข้าไว้ด้วยกัน และได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนมากมายระหว่างทั้งสองทวีป ทั้งสินค้าต่าง ๆ ตลอดไปจนถึง วัฒนธรรม การเมือง และเทคโนโลยีอีกด้วย แม้แต่หนึ่งในสี่สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ของจีน (4 Great Inventions of China) อย่างกระดาษ และดินปืน ก็ได้แพร่ไปยังทวีปยุโรปผ่านเส้นทางสายไหม ด้วยเหตุนี้ หากจะเรียกเส้นทางสายไหมว่าเป็นหนึ่งในแสงแรกของกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เราพูดถึงอยู่บ่อย ครั้งทุกวันนี้ ก็คงไม่ผิดนัก
3
การแลกเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆ ในเส้นทางสายไหมนี้เองที่ได้นำความเจริญรุ่งโรจน์ไปสู่ประเทศจีน โดยสินค้าส่งออกหลักของจีนคือผ้าไหม ซึ่งได้รับความนิยมจากทวีปยุโรปอย่างมาก โดยเฉพาะ จักรวรรดิโรมัน ที่ยอมขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องกับจีน เพื่อให้ได้ผ้าไหมจากจีนมา ในขณะเดียวกัน จีนก็ได้รับทั้งเงินเหรียญและทองคำ (Silver and Gold) ไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตอย่างยิ่ง และเป็นส่วนสำคัญที่นำพาจีนไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอดีต
3
ทั้งนี้ ยุคที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเส้นทางสายไหมก็ คือ ช่วงรัชสมัยของราชวงศ์หยวน (Yuan Dynasty) ซึ่งในขณะนั้น เจง กิสข่าน กษัตริย์ชาวมองโกลสามารถยึดครองพื้นที่ต่างๆ มาก แผ่ขยายอิทธิพล รวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่น และสร้างจักรวรรดิมองโกลที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา จึงทำให้พื้นที่จำนวนมากของเส้นทางสายไหมอยู่ใต้อิทธิพลของจีน และได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาล จึงทำให้การค้าเฟื่องฟูอย่างมาก
4
"เจง กิสข่าน" จักรพรรดินับรบชาวมองโกล
แม้แต่ในบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวเวนิสชื่อดัง ผู้ได้นำเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของประเทศจีนและเส้นทางสายไหมมาเผยแพร่ให้โลกได้รับรู้ ยังเขียนไว้ว่า ในยุคของรัฐบาลหยวนนั้น มีนโยบายต่างๆ ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อพ่อค้าที่นำสินค้ามาขายอย่างยิ่ง เช่น มีการออกหนังสือเดินทางให้กับพ่อค้า เพื่อปกป้องสิทธิในการค้าขายและเสรีภาพในการเดินทางอีกด้วย
"มาร์โค โปโล" นักสำรวจชาวเวนิสชื่อดัง
แต่สุดท้าย การค้าขายบนเส้นทางสายไหมก็เริ่มลดบทบาทลงนับตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา โดยมีสาเหตุสำคัญหลายประการ ทั้งจากการปิดกั้นทางการค้าจากตะวันตก ทั้งจากกระแสของการค้าขายขนส่งสินค้าทางเรือแทน และทั้งจากการเปลี่ยนนโยบายการค้าของจีนเองด้วย
1
📌 แล้วทำไม "เส้นทางสายไหม" จึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง?
แผนที่ยุทธศาสตร์ "Belt Road Initiatives"
"เส้นทางสายไหม" เริ่มถูกพูดถึงและเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากอีกครั้ง ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศในการเดินทางไปเยือนคาซัคสถานและอินโดนีเซียเมื่อปี 2013 ว่าประเทศจีนจะริเริ่มโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกกันว่า Belt Road Initiatives ขึ้นมา โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเล ระหว่างทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย
1
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการดังกล่าว คือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค สร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศใน BRI รวมถึงการเปิดประเทศจีนเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก โดยในขณะนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ BRI แล้วกว่า 71 ประเทศ คิดเป็นกว่า 1/3 ของ GDP โลก และมีประชากรรวมกันกว่า 2/3 ของโลก
1
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ถึงมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการ BRI พอสมควร ทั้งมีการตั้งโครงการต่าง ๆ ลักษณะเดียวกันขึ้นมาแข่งขันกับจีน อย่างเช่น โครงการ Blue Dot Network ที่เปิดตัวในปี 2019 และล่าสุด ในการประชุม G7 ที่ผ่านมา ที่เมืองคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร ก็มีการประกาศความร่วมมือในการริเริ่มโครงการ Build Back Better World (B3W) ขึ้นมา เพื่อแข่งกับจีน
การประชุม G7 ณ เมืองคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร
ทั้งหมดนี้ก็เพราะความกังวลว่าโครงการเส้นทางสายใหม่ศตวรรษที่ 21 จะเป็นเครื่องมือที่ประเทศจีนใช้ในการขยายอิทธิพลของตัวเอง และทำให้ระเบียบโลกที่ประเทศตะวันตกได้จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงต้องสั่นคลอน
ในอดีต เส้นทางสายไหมโบราณเคยเปิดประเทศจีนเข้าสู่ตลาดยุโรป และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนก้าวไปเป็นมหาอำนาจของโลกในยุคนั้นได้ ในครั้งนี้ Belt Road Initiatives จะสามารถนำพาจีนก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกได้หรือไม่ ก็ยังคงติดตามกันต่อไป แต่สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ คือ โครงการ BRI มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2049 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีของการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งยังเป็นการครบรอบ 100 ปีพอดี ที่ประเทศจีนได้ก้าวออกมาจากศตวรรษแห่งความตกต่ำ หลังจากที่ถูกประเทศอื่น ๆ รุกราน ประสบเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด จนกลายเป็นผู้ป่วยของเอเชีย
2
หากโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วง และจีนก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจโลกได้จริง ปี 2049 จะเป็นปีประวัติศาสตร์ที่นิยาม 100 ปีแห่งความยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์ของจีนได้อย่างงดงาม
1
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics #all_about_history #ประวัติศาสตร์จีน #เศรษฐกิจจีน #เส้นทางสายไหม #silkroad #B3W #G7 #ราชวงศ์ฮั่น #จางเชียน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา