Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
3 ก.ค. 2021 เวลา 12:18 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ “เส้นทางการค้าโลก” จากอดีต ถึงปัจจุบัน สู่อนาคต
6
เส้นทางสายไหมใหม่ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ โครงการ Belt and Road Initiative(BRI) เป็นโครงการระดับยักษ์ใหญ่ของจีน ที่ให้การสนับสนุนด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาไว้ด้วยกัน และถูกคาดหวังจากใครหลายคนว่าจะเป็นเครือข่ายเส้นทางการค้าแห่งอนาคต
4
มองย้อนประวัติศาสตร์ เส้นทางการค้าโลก
โครงการดังกล่าวเริ่มถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง ภายหลังจากที่กลุ่มประเทศ G7 ได้เปิดตัวโครงการใหม่แกะกล่องอย่าง Build Back Better World ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน โดยเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสู้กับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
แต่กว่าจะมาเส้นทางสายไหมใหม่ในวันนี้ เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ความเป็นไปเป็นมาของเส้นทางการค้าโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร อะไรคือจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เส้นทางการค้ากลายมาเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ วันนี้ Bnomics จะพาทุกคนย้อนประวัติศาสตร์กลับไปมองเส้นทางการค้าในอดีต เพื่อให้เข้าใจปัจจุบัน และมองไปอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
📌 มองย้อนอดีตสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางการค้าโลก
1
ก่อนอื่น ต้องขอเล่าก่อนว่าเส้นทางการค้าหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ เส้นทางการค้าทางบก (Overland Routes) และ
เส้นทางการค้าทะเล (Maritime Routes)
จุดเริ่มต้นของเส้นทางการค้าทางบก สามารถย้อนกลับไปไกลได้ถึงช่วงยุคทองแดง (Chalcolithic Period) ซึ่งมีการนำม้ามาใช้เป็นพาหนะ จึงเกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน
หลังจากนั้น พอเริ่มมีการตั้งรกรากของชุมชน บ้านเมือง และอารยธรรมต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย เช่น จีน และคาบสมุทรอินโดจีน ตลอดไปจนถึง อินเดีย และทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน จึงนำไปสู่การสร้างเครือข่ายเส้นทางการค้าขึ้น
โดยในช่วงนั้น การแลกเปลี่ยนสินค้าในเส้นทางการค้าทางไกลจะเป็นลักษณะของการเดินทางไปเป็นคาราวาน (Caravan) ซึ่งใช้ต้นทุนสูง ใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะสามารถขนส่งสินค้าไปสู่จุดหมายปลายทาง
1
การเดินทางของเหล่าคาราวาน (Caravan)
ลองนึกภาพหนังที่เกี่ยวกับอาหรับโบราณ หรือภาพวาดเก่า ๆ จะเห็นคาราวานที่มีพ่อค้าร่วมเดินทางนับสิบคน และใช้สัตว์ต่างๆ เช่น อูฐเป็นพาหนะในการแบกหามสินค้า เพราะฉะนั้น ด้วยต้นทุนในการเดินทางที่ค่อนข้างสูงเช่นนี้
จึงทำให้สินค้าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนในยุคนั้น เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นหลัก เช่น การขนส่งผ้าไหมและเครื่องเทศจากตะวันออกไกลสู่ทะเลอาหรับ ในขณะที่สินค้าที่ค่อนข้างถูกจะไม่ค่อยมีการค้าขายกันมากนัก เนื่องจากกำไรน้อยไม่คุ้มต้นทุน
ในขณะที่เส้นทางการค้าทะเล ในช่วงเริ่มแรก พบหลักฐานของเทคโนโลยีการเดินเรือในแถบอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อย่างอียิปต์และซูเมอร์ และเกิดเส้นทางการค้าทางทะเลเพื่อค้าขายเครื่องเทศระหว่างแอฟริกาตะวันออกและอาหรับ
2
แต่กว่าจะเกิดเครือข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลในคาบสมุทรอินเดียจริงๆ ก็ราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล โดยเครือข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลแรกของโลกคือ เครือข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลของชาวออสโตรนีเซียน (Austronesian Maritime Trade Network) ซึ่งมีที่มาจากชาวออสโตรนีเซียน
Austronesian Trade Network
ซึ่งหมายถึงชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเกาะไต้หวัน และตามหมู่เกาะต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกอย่าง ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ได้ประดิษฐ์เรือเดินสมุทร (Ocean-going ships) ลำแรกของโลกขึ้นมา
โดยในช่วงเริ่มแรก เครือข่ายดังกล่าวยังคงจำกัดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง จีน อินโดนีเซีย ศรีลังกา โดยสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันเป็นหลักก็คือเครื่องเทศ ภายหลัง เครือข่ายการค้าดังกล่าวก็เริ่มมีการขยายใหญ่ไปเรื่อย สู่อินเดียใต้ และทะเลอาหรับ และได้พัฒนากลายไปเครือข่ายการค้าทางทะเลที่เชื่อมโยงระหว่างยุโรป เอเชีย และแอฟริกาไว้ด้วยกัน จนภายหลัง ได้รับการขนานนามว่าเป็นเส้นทางสายไหมทะเล (Maritime Silk Road) เพื่อล้อไปกับเส้นทางการค้าทางบกจากจีนสู่ยุโรป หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Spice Route ด้วยความที่สินค้าหลักที่ค้าขายกันคือเครื่องเทศ
ทั้งนี้ เมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาไปเรื่อย ๆ เส้นทางการค้าก็เริ่มขยับขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างของเส้นทางการค้าในอดีตที่มีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ คือ ถนนอำพัน (Amber Road) ซึ่งใช้เรียกเส้นทางการค้าโบราณ ที่ชาวยุโรปในยุคนั้นใช้ในการแลกเปลี่ยนอำพัน จากทะเลเหนือ ทะเลบอลติก ไปยังอิตาลี และกรีซ ซึ่งได้กลายมาเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้เดินทางแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างยุโรปเหนือกับยุโรปใต้
3
อีกเส้นทางหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ก็คือเส้นทางเครื่องหอม (Incense Route) ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างอาหรับ แอฟริกา อินเดีย และเอเชียตะวันออก โดยสินค้าที่มีการแลกเปลี่ยนกันส่วนมากก็คือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องหอม ธูป และเครื่องเทศ เป็นต้น
1
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางการค้าโบราณอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่เส้นทางการค้าที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดในอดีต ก็คือ เส้นทางสายไหม (Silk Road)
📌 เส้นทางสายไหม... เส้นทางการค้าประวัติศาสตร์ เชื่อมสองซีกโลก
เส้นทางสายไหม เป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมระหว่างสองซีกโลก จากประเทศจีน ทวีปเอเชีย สู่ทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนในทวีปยุโรป โดยเส้นทางสายไหมถูกสร้างขึ้นในช่วง 200 BC ในยุคราชวงศ์ฮั่นของจีน และเส้นทางสายไหมไม่ได้มีเพียงแค่เส้นทางเดียว หากแต่เป็นเครือข่ายของเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ โดยเส้นทางสายไหมนั้น ประกอบไปด้วยเส้นทางสายไหมทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเล
เส้นทางสายไหม (Silk Road)
โดยเส้นทางสายไหมทางบกนั้นเริ่มต้นจากเมืองฉางอาน (ปัจจุบันคือซีอาน) ประเทศจีน ไปทางเอเชียกลาง และมุ่งสู่ทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่ เส้นทางสายไหมทางทะเล เชื่อมจากบริเวณกว่างโจว ประเทศจีน ล่องผ่านทะเลจีนใต้ ไปยังคาบสมุทรอินเดีย และทะเลอาหรับ ซึ่ง เส้นทางสายไหมทางทะเลก็เป็นการขยับขยายเส้นทางการค้าจาก Austronesian Trade Network ที่มีอยู่แต่เดิมแล้วนี่แหละ
ทั้งนี้ เส้นทางสายไหมไม่ได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีมากมายระหว่างทั้งสองทวีป แม้แต่เทคโนโลยีของจีนอย่าง ดินปืน หรือกระดาษ ก็ได้แพร่กระจายไปยังยุโรปผ่านเส้นทางนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก
แต่แล้ว ความเจริญรุ่งโรจน์ของเส้นทางสายไหมก็สิ้นสุดลงในช่วงศตวรรษที่ 15 ภายหลังจากที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ล่มสลาย และจักรวรรดิออตโตมันที่เข้ามาแทนที่ ก็ได้ปิดกั้นการค้าในเส้นทางสายไหมไป
ในขณะเดียวกัน ทวีปยุโรปเองก็ได้เข้าสู่ยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery) โดยโปรตุเกสและสเปนได้ส่งเรือออกไปจำนวนมากในภารกิจสำรวจหาดินแดนแห่งใหม่ เช่น กรณีของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่ได้สำรวจพบทวีปอเมริกาในปี 1492 และไม่กี่ปีต่อมา ในปี 1498 คณะสำรวจของวาสโก เดอ กามา ก็ได้ล่องเรืออ้อมทวีปแอฟริกา ผ่านแหลมกู๊ดโฮ๊ป และเดินทางถึงเอเชียได้ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรงกับเอเชีย
ยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery)
ด้วยเหตุนี้ การค้าในเส้นทางสายไหมจึงถูกลดบทบาทไป ทั้งจากการปิดกั้นทางการค้าโดยจักรวรรดิออตโตมัน จากการเข้ามาของเส้นทางการค้าใหม่ที่เร็วกว่า (เดิมการเดินทางขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางสายไหมทางบก จากต้นทางสู่ปลายทางต้องใช้เวลากว่า 2 ปี)
การเดินทางของ Vasco De Gama
การเปิดเส้นทางการค้าใหม่นี้ได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในการค้าโลกอย่างมาก อีกทั้งยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของแนวคิดต่างๆ ที่เข้ามาผูกพันเป็นนโยบายเศรษฐกิจในยุคนั้น อย่างเช่น แนวคิด Mercantilism ซึ่งเชื่อในเรื่องของการสร้างความมั่งคั่งของชาติ ผ่านการสะสมทองคำและเงิน
ยิ่งประเทศตัวเองส่งออกได้มาก ยิ่งได้ทองคำและเงินมา ยิ่งดี และได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศในยุโรปเดินทางไปตั้งอาณานิคมในที่ห่างไกล เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ ในการผลิต และขายสินค้าให้ได้เงินทองไหลเข้าประเทศตัวเองมากที่สุด
📌 กำเนิดคลองสุเอซ จุดเปลี่ยนสำคัญของเส้นทางการค้า
แต่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการก่อสร้างคลองสุเอซ (Suez Canal) ซึ่งเปิดเส้นทางการค้าใหม่ที่ทำให้เรือจากทวีปยุโรปสามารถแล่นเข้ามายังทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ผ่านคลองสุเอซ เพื่อออกไปยังทะเลอาหรับ และพบกับทวีปเอเชียได้เลย โดยที่ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมไปทางแอฟริกาใต้เหมือนเช่นเดิม
2
ในขณะเดียวกัน ในอีกประมาณ 50 ปีต่อมา ก็เกิดการก่อสร้างคลองปานามา (Panama Canal) ขึ้น ทำให้เรือขนส่งสินค้าสามารถเดินทางจากทะเลแอตแลนติกไปยังทะเลแปซิฟิกได้ โดยที่ไม่ต้องอ้อมโลกไปทางอเมริกาใต้ เหมือนเช่นเคยแต่อย่างใด
การก่อสร้างคลองเชื่อมโลกทั้งสองคลอง ประกอบกับความสำเร็จในการคิดค้นเรือจักรไอน้ำ เพื่อเข้ามาแทนที่เรือใบแบบเดิมซึ่งใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนาน เนื่องจากต้องอาศัยกระแสลมสมุทรที่เหมาะสม ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้การค้าโลกเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก
ภาพวาดเรือจักรไอน้ำ (Steam-Powered Vessel)
การค้าโลกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากต้นทุนการค้าที่ลดลง จนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้หลายคนเรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าเป็นคลื่นระลอกแรกของกระแสโลกาภิวัตน์
นอกจากนี้ เส้นทางการค้าดังกล่าวยังได้กลายมาเป็นเส้นทางการค้าหลัก เป็นเส้นเลือดแดงของการค้าโลก ที่ยังใช้กันจนถึงทุกวันนี้ โดยจากข้อมูลของ New Zealand Foreign Affairs & Trade การค้าผ่านเส้นทางคลองสุเอซคิดเป็น 12% ของการค้าโลก
แต่ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เส้นทางการค้าผ่านคลองสุเอซ (Suez Canal) ก็ดูจะเผชิญกับความท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นการให้ทางเลือกใหม่กับเส้นทางการค้าเพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
หากใครจำได้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่เรือขนส่งสินค้า Ever Given เกยติดอยู่บริเวณคลองสุเอซ และได้ขวางเส้นทางการค้าดังกล่าวไปเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ และทำให้ทางการอียิปต์เรียกเก็บค่าปรับกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เหตุการณ์เรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซ
ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่เส้นทางการค้าหลัก ซึ่งเป็นเหมือนกับเส้นเลือดแดงใหญ่ของเส้นทางการค้าโลก เผชิญกับวิกฤติจนทำให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งสินค้า ก็ยิ่งทำให้โครงการของจีนที่มอบทางเลือกใหม่ แทนเส้นทางการค้าในปัจจุบัน ก็ยิ่งมีความสำคัญขึ้นมา
เส้นทางรถไฟจาก จีน-อังกฤษ
ยกตัวอย่างเส้นทางการค้าของเส้นทางสายไหมใหม่ ที่ได้เปิดทำการไปแล้วก็คือ เส้นทางรถไฟจากเมืองอี้อู ประเทศจีน ไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้เวลาขนส่งสินค้าเพียงแค่ 18 วันเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางการค้าทางทะเล ที่เดินทางผ่านคลองสุเอซแล้ว ใช้เวลากว่า 25 วัน ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเส้นทางสายไหมใหม่ได้ให้ทางเลือกใหม่ที่ประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น และต้นทุนการขนส่งที่ถูกลงอีกด้วย
1
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเส้นทางที่น่าสนใจในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ก็คือเส้นทางขั้วโลกเหนือ (Polar Route) โดยในปัจจุบัน การเดินเรือผ่านเส้นทางดังกล่าว จำเป็นต้องมีเรือบดน้ำแข็งเดินทางไปด้วย เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าสามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ในอนาคต คาดว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำแข็งที่อยู่บริเวณดังกล่าวละลายไปพอสมควร และเปิดเส้นทางการเดินเรือใหม่จากเอเชียไปยุโรป ซึ่งจะทำให้สามารถขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรป โดยใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของเส้นทางผ่านคลองสุเอซในปัจจุบัน ซึ่งก็คือเพียงแค่ราว 12 วันเท่านั้น
2
Polar Silk Road เส้นทางสายไหมขั้วโลก
ในขณะเดียวกัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ก็มีเส้นทางในโครงการดังกล่าวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยก็คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เวียงจันทร์-คุนหมิง ซึ่งจะเปิดทำการภายในปลายปีนี้ และเมื่อเส้นทางความเร็วสูงของไทย กรุงเทพ-หนองคาย ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็หมายความว่าจะเกิดเป็นเครือข่ายเส้นทางเชื่อมโยงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยาวไปสู่ยุโรป และทำให้การเดินทางระหว่างสองซีกโลกเป็นไปได้อย่างง่ายดาย
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลย หากเส้นทางสายไหมใหม่ หรือโครงการ Belt and Road Initiative จะกลายมาเป็นหัวใจสำคัญที่กำหนดเส้นทางการค้าของโลกในอนาคตต่อจากนี้
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA :
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://bit.ly/3cPmUpo
Twitter :
https://bit.ly/3s4KIMp
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
1.
https://www.worldatlas.com/articles/trade-routes-that-shaped-world-history.html
2.
https://geography.name/trade-routes/
3.
https://www.oboreurope.com/en/bri-alternatives-suez-canal/
4.
https://www.oboreurope.com/en/polar-route/
5.
https://www.hellenicshippingnews.com/the-suez-canal-accident-shows-the-importance-of-chinas-silk-roads/
6.
https://www.bbc.com/news/world-middle-east-56538653
7.
https://en.unesco.org/silkroad/content/what-are-spice-routes#:~:text=The%20Spice%20Routes%2C%20also%20known,across%20the%20Mediterranean%20to%20Europe
.
8.
https://www.smithsonianmag.com/travel/visit-remnants-ancient-incense-route-180961873/
9.
https://www.worldhistory.org/Silk_Road/#:~:text=Even%20after%20Aurelius%2C%20silk%20remained,Roman%20Empire%20in%20476%20CE.&text=When%20the%20Byzantine%20Empire%20fell,all%20ties%20with%20the%20west
.
10.
https://www.mfat.govt.nz/en/trade/mfat-market-reports/market-reports-middle-east/the-importance-of-the-suez-canal-to-global-trade-18-april-2021/#:~:text=Approximately%2012%25%20of%20global%20trade%20passes%20through%20the%20Suez%20canal,19%2C000%20ships%20utilised%20the%20route
.
11.
https://www.theglobalist.com/a-silk-road-caravan/#:~:text=How%20long%20did%20it%20take,to%20Rome%20took%20two%20years
.
110 บันทึก
35
63
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
110
35
63
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย