10 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนบทเรียนภัยพิบัติในอดีต สู่โรงงานกิ่งแก้ว สมุทรปราการ
1
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่โรงงานกิ่งแก้ว สมุทรปราการ ซึ่งส่งผลให้บ้านเรือนเสียหาย ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และทำให้อาสาสมัครกู้ภัยเสียชีวิตไปหนึ่งราย
แม้ท้ายที่สุดแล้ว วิกฤติครั้งนี้จะจบลง ภายหลังที่สามารถควบคุมเพลิงและระงับเหตุการณ์ไว้ได้ แต่สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือจะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤติในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาอีก
มองย้อนประวัติศาสตร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สู่ โรงงานกิ่งแก้ว
“ความผิดพลาดที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดเลย” นี่คือคำพูดอันโด่งดังของเฮนรี ฟอร์ด ชายผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
วันนี้ Bnomics จึงอยากชวนทุกคนมองย้อนไปในประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นอีก โดยเหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าวันนี้ ก็คือ เหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2011
📌 จุดเริ่มต้นของ หนึ่งในวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ในช่วงบ่ายของวันที่ 11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 9.0 แมกนิจูด ที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งห่างเมืองเซนได (Sendai) ออกไปทางทะเลประมาณ 130 กิโลเมตร
จุดเกิดแผ่นดินไหวในปี 2011 ในญี่ปุ่น
แผ่นดินไหวมีความรุนแรงมาก จนก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ขึ้นที่พัดชายฝั่งของเกาะฮอนชู และนำไปสู่ความเสียหายมหาศาล เมืองบางเมืองแทบจะเรียกว่าหายไปจากแผนที่ได้เลย มีผู้เสียชีวิตไปเกือบสองหมื่นรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
สึนามิที่พัดถล่มเมือง Fukushima
หนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเมืองโอคุมะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองเซนได และเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ
ภายหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ระบบป้องกันภัยของโรงไฟฟ้าก็ตรวจจับแผ่นดินไหวไว้ได้ และได้ปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อัตโนมัติ หลังจากนั้น ก็มีการเปิดเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้ากับระบบทำความเย็นเพื่อลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์ แม้ว่าเตาจะถูกปิดลงแล้วก็ตาม
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าระบบป้องกันภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ดีพอสมควร แต่ว่าจุดเปลี่ยนนั้นกลับมาจากคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมา
คลื่นสึนามิที่สูงกว่า 14 เมตร ได้เคลื่อนตัว พัดเข้าชายฝั่งของเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ผ่านกำแพงกันน้ำทะเล (Defensive Seawall) มาอย่างง่ายดาย จนน้ำเข้าท่วมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และทำให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินทำงานล้มเหลว ส่งผลให้ระบบทำความเย็นของเตาปฏิกรณ์ต้องหยุดทำงานไป
แม้ว่าจะมีความพยายามในการส่งคนงานเข้ามาเพื่อกู้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ทันการณ์ ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีความร้อนมากเกินไป (Overheat) จนสุดท้าย นำไปสู่การหลอมละลายนิวเคลียร์ (Nuclear Meltdown) และเกิดการระเบิดของไฮโดรเจน (Hydrogen Explosion) ขึ้น
โรงงานนิวเคลียร์ระเบิดจากภัยพิบัติในเมือง Fukushima
📌 ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ได้นำมาซึ่งความสูญเสียอันมหาศาล
ในเหตุการณ์การระเบิดนั้น ไม่มีผู้เสียชีวิตทันที แต่ก็มีคนงานหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากต้องเข้าไป เพื่อพยายามลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์ และแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีในระดับสูง และต่อมาในปี 2018 มีคนงานเสียชีวิตไปหนึ่งราย ซึ่งการวินิจฉัยเผยว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี
พื้นที่ที่ต้องอพยพจากภัยพิบัตินิวเคลียร์
ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ที่ต้องอพยพเป็นระยะรัศมีกว่า 20 กิโลเมตร ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นกว่า 150,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ไปอยู่ที่อื่น โดยที่ไม่มีความหวังด้วยซ้ำว่าจะกลับมาได้เมื่อไหร่
เมือง Fukushima ถูกทิ้งจนรกร้าง
แม้ต่อมาจะมีบางพื้นที่ที่ทางการญี่ปุ่นได้เปิดให้กลับเข้าไปอยู่อาศัยได้แล้ว แต่ก็ไม่มีใครอยากกลับไปอยู่ดี เพราะกลัวเรื่องสารกัมมันตรังสีที่ยังตกค้างอยู่
ทั้งนี้ จากการประเมินของทางการญี่ปุ่น จะต้องใช้เวลาอีก 30 – 40 ปี ในการกำจัดกากนิวเคลียร์ และน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเป็นจำนวนมาก กว่าที่พื้นที่ทั้งหมดจะสามารถเปิดให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ได้จริงๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล
1
นอกจากนี้ ความเสียหายอื่นๆ ยังรวมไปถึงความเสียหายด้านระบบนิเวศ โดยมีการรายงานว่ามีการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเป็นจำนวนมาก ลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้
📌 วิกฤติดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หากมีการกำกับดูแลที่ดีพอ
แม้ว่าวิกฤติดังกล่าวจะมีมูลเหตุสำคัญมาจากแผ่นดินไหวและสึนามิที่รุนแรงอย่างมาก แต่ความจริงแล้ว วิกฤติดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของมนุษย์ (Man-made disaster)
ภายหลังที่เกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งในระดับภายในประเทศ และนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2012 คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐสภาของญี่ปุ่น (The National Diet of Japan Fukushima Nuclear Accident Independent Investigation Commission)
 
ได้สรุปผลการสืบสวนว่าวิกฤติดังกล่าวเป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น และบริษัท Tokyo Electric Power (TEPCO) ก็ได้ปล่อยปละละเลยในการจัดทำการประเมินความเสี่ยงและแผนการอพยพ ให้เหมาะสม
นอกจากนี้ ในการประชุมของ International Atomic Energy Agency ที่กรุงเวียนนา ก็ได้สรุปอีกว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากการกำกับดูแลที่หละหลวมของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade, and Industry) เนื่องจากกระทรวงดังกล่าวมีหน้าที่ทั้งกำกับดูแล และให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ จึงก่อให้เกิดเป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ขึ้น
หลังเหตุการณ์เกิดองค์กรใหม่ เพื่อแก้ปัญหา Conflict of Interest
📌 หัวใจสำคัญ คือ จะทำอย่างไรไม่ให้วิกฤติเช่นนี้เกิดขึ้นอีก...
หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ รัฐบาลได้สั่งการให้มีการทยอยปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศลง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ส่งผลให้ตัวเลขไฟฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นจากพลังงานนิวเคลียร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือศูนย์ในเดือนกันยายน 2013
นอกจากนี้ หลังเกิดวิกฤติ รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ยุบ Nuclear and Industrial Safety Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม แล้วตั้งหน่วยงานใหม่ชื่อ Nuclear Regulation Authority ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Conflict of Interest ขึ้นอีก
ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงแผนในการปฏิรูปตลาดซื้อขายไฟฟ้าให้มีความเสรี และมีความมั่นคงด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งริเริ่มโดยรัฐบาลพรรค Democrat โดยมีการตั้งหน่วยงาน และคณะกรรมการต่างๆ
เพื่อศึกษาการจัดทำการปฏิรูปดังกล่าว เช่น สภาพลังงานและสิ่งแวดล้อม (The Energy and Environment Council) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดย National Policy Unit หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีการเผยแพร่รายงาน the Innovative Strategy for Energy and the Environment ซึ่งได้วางกรอบและทิศทางของนโยบายพลังงานของญี่ปุ่นในอนาคต
แม้ภายหลังจะมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลไปเป็นพรรค Liberal Democrat (LDP) ของนายชินโสะ อาเบะ และมีการยุบ National Policy Unit ที่พรรค Democrat ตั้งขึ้นมาในปี 2009 แต่นโยบายการปฏิรูปพลังงานก็ได้รับการขานรับและสานต่อรับลูกกันมาเป็นอย่างดี โดยแผนปฏิรูปตลาดซื้อขายไฟฟ้าได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคของรัฐบาลชินโสะ อาเบะอีกด้วย
📌 บทเรียนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ สู่โรงงานกิ่งแก้ว สมุทรปราการ
เหตุการณ์เพลิงไหม้ของโรงงานหมิงตี้เคมิคอล ซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ทำให้ประชาชนบาดเจ็บ และบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงต้องเสียหายไปเป็นจำนวนมาก มีการสั่งอพยพประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ถูกปล่อยออกมา
รัศมีเหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานกิ่งแก้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการตั้งโรงงานในพื้นที่ชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น
แม้ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏออกมาว่า โรงงานหมิงตี้เคมิคอลนั้นถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งในสมัยนั้น พื้นที่บริเวณโดยรอบยังเป็นพื้นที่ห่างไกล มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีคนอาศัยเบาบาง ไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก แต่ภายหลัง เมื่อมีการก่อสร้างโรงงาน และสนามบินขึ้น ความเจริญก็ค่อยๆ ขยับขยายกระจายตัวไปนอกเมืองมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นหมู่บ้านจัดสรร และชุมชน ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผังเมืองฉบับแรกของจังหวัดสมุทรปราการก็ออกมาบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2537 ภายหลังจากที่โรงงานหมิงตี้เคมิคอลสร้างแล้ว 5 ปี โดยในผังเมืองฉบับดังกล่าวมีการกำหนดให้พื้นที่ที่ครอบคลุมบริเวณโรงงานหมิงตี้เคมิคอล เป็นพื้นที่สีส้มคือเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
แต่ภายหลังในปี 2544 มีการเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประเภท พ.4 พื้นที่สีแดง คือเขตพาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย และโกดังเก็บสินค้า เนื่องจากมีโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิขึ้น หลังจากนั้น ผังเมืองก็ยังคงกำหนดให้พื้นที่ที่โรงงานหมิงตี้ตั้งอยู่เป็นพื้นที่สีแดงมาจนถึงวันนี้
หากพิจารณาในแง่กฎหมายแล้ว โรงงานหมิงตี้เคมิคอลไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เนื่องจากโรงงานได้ตั้งมาก่อนที่จะมีการบังคับใช้ผังเมืองฉบับแรกขึ้นเสียอีก แต่หากพิจารณาในแง่ของความเหมาะสมแล้ว จะเห็นได้ว่าโรงงานอย่างหมิงตี้เคมิคอล ไม่สมควรที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชุมชนแน่นหนาดังกล่าวเลย เพราะมีสารเคมีเป็นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น
หากแต่เป็นเพราะมีการปล่อยปละละเลยให้มีการตั้งอยู่ต่อไปได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้แล้วว่าหากภาครัฐเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากที่ดินเช่นนั้นต่อไป เป็นการขัดต่อนโยบายของผังเมืองรวมในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม และประโยชน์สาธารณะ ก็สามารถกำหนดให้ผู้ใช้ที่ดินแก้ไขปรับปรุง หรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าว ก็ให้มีการจ่ายค่าชดเชยได้
ท้ายที่สุดแล้ว ที่ผ่านมารัฐก็ไม่ได้ผลักดันในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง แม้ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โรงงานหมิงตี้เคมิคอลจะได้รับคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่จบซะทีเดียว เพราะยังมีโรงงานอีกหลายแห่งมาก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม อยู่ในพื้นที่ชุมชนเช่นเดียวกับโรงงานหมิงตี้เลย
ด้วยเหตุนี้ การที่จะเรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้ และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อีกอย่างแท้จริง คือการเข้าตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของโรงงานในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ว่ามีฐานที่ตั้งที่เหมาะสมหรือไม่ หากอยู่ในพื้นที่ชุมชน ก็ต้องมีมาตรการปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือย้ายโรงงานดังกล่าวไปในพื้นที่ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น ในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถกำหนดค่าตอบแทน หรือเงินชดเชยขึ้นมาอย่างเหมาะสม เช่น การให้เงินสนับสนุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการนำกลไกตลาดมาประยุกต์ใช้ ผ่านการบังคับจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า หากมีการตั้งโรงงานในพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม
การเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาเช่นนี้ (ดังเช่นกรณีของญี่ปุ่น) จะเป็นหัวใจสำคัญที่ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และทำให้บทเรียนราคาแพงครั้งนี้ไม่เป็นบทเรียนที่สูญเปล่าไป
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา