Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
17 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ “โอลิมปิกเกมส์” ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มหาศาลจริงหรือ?
4
ในอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อจากนี้ งานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเปิดอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ถูกเลื่อนมาเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
มองย้อนประวัติศาสตร์ “โอลิมปิกเกมส์” ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มหาศาลจริงหรือ?
แม้ตอนนี้ การระบาดจะเริ่มควบคุมได้บ้างแล้ว ภายหลังญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการควบคุมต่างๆ ที่เข้มงวด เช่น การล็อคดาวน์ การห้ามการเดินทาง
1
จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ในระดับที่พอวางใจได้บ้าง แต่หลายคนก็ยังกังวลใจเกี่ยวกับการจัดงานโอลิมปิก เพราะกลัวว่าจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งอีกครั้ง รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นก็ยังค่อนข้างตามหลังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย
ถ้าเป็นเช่นนี้ ทำไมญี่ปุ่นถึงยังตัดสินใจที่จะจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้อยู่ ท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ มากมาย วันนี้ Bnomics จะชวนทุกคนมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกเกมส์ เพื่อหาคำตอบในประเด็นดังกล่าวครับ
📌 จุดเริ่มต้นของการจัดงานโอลิมปิก
ประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกเกมส์สามารถย้อนกลับไปไกลได้ถึงราว 776 BC โดยมีหลักฐานเป็นจารึกของรายชื่อผู้ชนะในการแข่งขันวิ่ง (Footrace) ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ณ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของซุส (Sanctuary of Zeus) เมืองโอลิมเปีย กรีซโบราณ (ชื่อของงานโอลิมปิกก็มีที่มาจากชื่อเมืองโอลิมเปียนี่แหละ) โดยผู้ชนะการแข่งขันโอลิมปิกคนแรกเป็นกุ๊กทื่ชื่อว่า โคโรเอบุส
1
กีฬาโอลิมปิกในสมัยกรีกโบราณ
แต่บางตำนานก็บอกว่าเฮอร์คิวลิส ซึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งเทพตามตำนานของกรีก เป็นคนคิดค้นโอลิมปิกเกมขึ้นมา ทั้งนี้ โอลิมปิกเกมยังถูกจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนา นั่นก็คือการบูชาเทพเจ้าซุสอีกด้วย
1
ในช่วงแรก การแข่งขันกีฬาดังกล่าวจำกัดอยู่เพียงแค่การแข่งขันวิ่งเท่านั้น แต่ภายหลัง ก็เริ่มมีการนำกีฬาชนิดอื่นๆ เข้ามาด้วย เริ่มตั้งแต่การแข่งขันวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้น เช่น การวิ่งระยะ 5,000 เมตร ไปจนถึงการพุ่งแหลน และมวยปล้ำ
จุดเปลี่ยนที่ทำให้โอลิมปิกเกมส์เริ่มจางหายไป คือเมื่อจักรวรรดิโรมันเข้ายึดครองกรีซในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำให้มาตรฐานของโอลิมปิกเกมส์ตกลงอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปี 67 AD จักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมันได้ประกาศว่าตัวเองเป็นผู้ชนะการแข่งขันรถม้า ทั้งที่ตัวเองตกจากรถม้าแท้ๆ
ต่อมาในปี 393 AD จักรพรรดิธีโอดิซุส ซึ่งเป็นชาวคริสต์ ได้ประกาศห้ามงานเทศกาลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อเทพเจ้า ซึ่งรวมถึงงานกีฬาโอลิมปิกที่สืบสานกันมายาวนานด้วย
หลังจากนั้น โอลิมปิกเกมส์ก็ถูกชุบชีวิตให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympics Committee) ซึ่งตั้งขึ้นมาที่กรุงปารีส ในปี 1894 นำโดยเศรษฐีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin)โดยมีความมุ่งหวังว่างานโอลิมปิกจะสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างนานาอารยประเทศได้ดีขึ้น
2
ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) บิดาแห่งกีฬาโอลิมปิก
อีกสองปีต่อมา ในปี 1896 งานโอลิมปิกครั้งแรกก็ถูกจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งแน่นอนที่เลือกสถานที่เป็นกรุงเอเธนส์ก็เพื่อล้อไปกับบริบทประวัติศาสตร์ ที่งานโอลิมปิกถูกจัดขึ้นที่อาณาจักรกรีซโบราณ
ทั้งนี้ ในงานโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1896 นั้นก็นับได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร มีคนเข้าชมพิธีเปิดกว่า 100,000 คน และมีนักกีฬาเดินทางมาเข้าร่วมแข่งขันกว่า 280 คนจาก 13 ประเทศ ส่งผลให้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา งานโอลิมปิกก็ถูกจัดขึ้นทุก 4 ปี โดยเวียนไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก
📌 ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดงานได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มหาศาลจริงหรือ?
ภายหลังจากที่ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง ได้ชุบชีวิตให้กับโอลิมปิกเกมส์ไป เมื่อปี 1896 หลายประเทศต่างก็พยายามแย่งกันเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก ด้วยความคาดหวังว่าจะได้แสดงศักยภาพของประเทศตัวเอง และการจัดงานดังกล่าวจะนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลมาให้
1
โอลิมปิกครั้งแรกของโลกจัดที่เมืองกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ปี 1896
แต่ความเป็นจริง เรื่องกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะดูเหมือนว่าในหลายครั้ง ผลประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่ได้มากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนมหาศาลที่เมืองหรือประเทศเจ้าภาพต้องจ่ายในการจัดเตรียมงาน
2
ในช่วงแรกนั้น ประเด็นเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคเท่าไหร่ เนื่องจากเจ้าภาพจัดงานส่วนใหญ่นั้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทำมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดีเป็นทุนเดิม และมีงบประมาณที่มากกว่า ประกอบกับขนาดของงานโอลิมปิกที่ยังไม่ได้ใหญ่มากนัก จึงทำให้สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ กล่าวคือหากขาดทุนก็ไม่มีปัญหานัก
1
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่องานโอลิมปิกเติบโตขึ้นอย่างมาก มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่ง และกิจกรรมต่างๆ ในงานก็เพิ่มขึ้นพอสมควร
ขนาดของงานที่ใหญ่ขยายตัวขึ้นเช่นนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
โดยค่าใช้จ่ายที่ว่า มีตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการประเมินเมืองก่อนที่จะยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานแล้ว เมืองหรือประเทศนั้นๆ ก็จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาที่จะเดินทางมาได้ ตั้งแต่ระบบถนน รถไฟ สนามบิน ไปจนถึง การสร้างสนามกีฬาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโอลิมปิก และโรงแรมที่มีเพียงพอตามที่คณะกรรมการโอลิมปิกกำหนดไว้
3
ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงต้นทุนในการดำเนินงานด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ในหลายๆ ครั้ง ค่าใช้จ่ายที่มีการประเมินเอาไว้กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นในงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมือง Sochi ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2014 ที่มีการประเมินไว้ว่าค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ราวหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ผลสุดท้าย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าที่คาดถึงประมาณห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
3
ขณะที่ต้นทุนของการจัดงานนั้นสูงลิบลิ่วกว่าที่ประเมินไว้อย่างมาก ผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นกลับช่างน้อยนิด ยกตัวอย่างเช่น ในงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้เพียงแค่ 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานกว่าสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
4
ค่าใช้จ่ายในการจัดงานกีฬาโอลิมปิกของแต่ละปี
เมื่อพิจารณาไปเพิ่มเติมถึงผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน ก็พบว่าไม่ได้สูงหรือแทบไม่เกิดผลกระทบสำคัญเลยเช่นกัน โดยจากงานวิจัยของ Baumann et al. ซึ่งทำการศึกษาผลกระทบของงานโอลิมปิกปี 2002 ที่เมือง Salk Lake ก็พบว่างานโอลิมปิกส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น 7,000 คนในระยะสั้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 1/10 ของที่ภาครัฐเคยประเมินไว้เท่านั้น และยังไม่พบว่าส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะยาวอีกด้วย
3
ส่วนในประเด็นด้านผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ก็ไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนเท่าไหร่ โดยในบางประเทศที่มีการจัดงานโอลิมปิกก็ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น เช่น เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่ได้เลื่อนอันดับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสิบอันดับแรกของยุโรป ภายหลังจากที่จัดงานโอลิมปิกไปเมื่อปี 1992
2
แต่ในอีกหลายเคส ก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวลดลงในปีที่จัดงานโอลิมปิกด้วยซ้ำ เช่น กรุงลอนดอน และกรุงปักกิ่ง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากว่างานโอลิมปิกนั้นกลับทำให้คนไม่อยากมา เพราะปัญหาด้านมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น คนมีความกังวลเกี่ยวกับภัยก่อการร้าย หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น
📌 คำถามคือแล้วทำไมเมืองต่างๆ ยังมีการเสนอชื่อตัวเองเป็นเจ้าภาพจัดงานอยู่?
มีการพยายามให้เหตุผลว่าทำไมเมืองต่างๆ เหล่านี้ถึงยังเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่ากลุ่มผู้บริหารหรือนักการเมืองในพื้นที่นั้นเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการจัดงานดังกล่าว เพราะ จริงอยู่ที่ท้ายที่สุดแล้ว ผลประโยชน์โดยรวมที่ได้รับจะน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์กว่าคนกลุ่มอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจก่อสร้าง หรือธุรกิจในกลุ่มภาคบริการ การท่องเที่ยวเป็นต้น
3
ในอีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้ ก็คือ ในแง่ของการประเมินมูลค่าหรือผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับสูงเกินจริง จึงทำให้เมืองดังกล่าวชนะการประมูลการเป็นเจ้าภาพจัดงานไป ซึ่งเรียกกันว่าเป็น Winner’s Curse
1
แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้ ก็คือ การแสดงแสนยานุภาพของประเทศหรือสัญลักษณ์บางอย่างออกมา เพราะท้ายที่สุดแล้ว งานโอลิมปิกก็ไม่ได้เป็นเพียงงานที่มุ่งเน้นเพียงการแข่งขันกีฬาแต่เพียงอย่างเดียวมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เมื่อย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณ งานโอลิมปิกในสมัยนั้น ก็เป็นงานที่จัดขึ้นมาเพื่อบูชาเทพเจ้าซุส เทพที่คนในกรีซต่างนับถือ
นอกจากนี้ ในปี 1896 ที่ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง ได้ผลักดันจนทำให้เกิดการจัดงานโอลิมปิกครั้งแรก ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้คนมาแข่งขันกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ประเทศฝรั่งเศสเพิ่งพ่ายแพ้สงครามให้กับรัสเซียไปเมื่อปี 1871 จึงทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะทำให้จิตใจของคนในชาติอ่อนแอ
1
1
เพราะฉะนั้น เขาจึงผลักดันการจัดงานโอลิมปิกขึ้นมาด้วยความคาดหวังว่าการแข่งขันกีฬาจะช่วยปลุกความเป็นชาติของชาวฝรั่งเศสกลับมาแข็งแกร่งได้เช่นเดิม อีกทั้ง เขาก็ยังเชื่อด้วยว่าการทำให้คนมาร่วมแข่งขันกีฬาด้วยกันเช่นนี้ จะช่วยสร้างสันติภาพให้กับโลก ในยามที่มีสงครามอยู่ทั่วทุกที่ไปหมดได้
หากจะยกตัวอย่างบริบทที่ร่วมสมัยขึ้นมาเล็กน้อย ก็คือกรณีของงานโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว เมื่อปี 1964 โดยก่อนถึงงานดังกล่าวไม่กี่วัน ชินคันเซน รถไฟความเร็วสูงหัวกระสุน และรถไฟรางเดี่ยวของญี่ปุ่นได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ภาพที่ญี่ปุ่นได้ฉายไปให้โลกเห็นคือภาพของความทันสมัยที่ญี่ปุ่นได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา
1
โอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงโตเกียวปี 1964
ภายหลังจากที่พ่ายแพ้สงครามโลก นอกจากนี้ การจัดงานดังกล่าวยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่กดขี่ ข่มเหงชาติอื่น เหมือนเช่นในสมัยสงครามโลกแล้ว แต่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่เปิดรับประชาคมโลก และออกมายืนเคียงข้างประเทศอื่นๆ ได้อย่างภาคภูมิ
2
เมื่อหันกลับมามองโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในอาทิตย์หน้าก็ดูจะชี้ให้เห็นถึงสัญลักษณ์อะไรบางอย่างเช่นเดียวกัน ความพยายามในการทำให้งานโอลิมปิกดังกล่าวเดินต่อได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนหลายฝ่ายในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็มาจากต้นทุนของการเลื่อนจัดงานที่สูงยิ่งนัก ทั้งจากการที่ญี่ปุ่นก็ได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้เรียบร้อยหมดแล้ว
3
Tokyo Olympics 2020 เผชิญกับสภาวะวิกฤตของการระบาดของโควิด-19
แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ สัญลักษณ์ที่โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้สื่อออกมา เพราะในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โลกที่เคยอยู่ใกล้กัน กลับกลายมาอยู่ห่างกันมากขึ้น
1
การจัดงานโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการฟื้นฟูวิถึชีวิตก่อนโควิด รวมทั้งสร้างความหวังให้กับทุกคนว่าวิกฤติครั้งนี้กำลังใกล้จะจบลง และเราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างเช่นเคย
3
Bnomics ขอเป็นกำลังใจให้กับคนญี่ปุ่นและประเทศญี่ปุ่นครับ
2
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
1
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
1.
https://www.history.com/topics/sports/olympic-games#section_2
2.
https://www.insidethegames.biz/articles/1099400/tokyo-1964-anniversary-story
3.
https://www.project-syndicate.org/bigpicture/tokyo-s-covid-games
4.
https://www.cfr.org/backgrounder/economics-hosting-olympic-games
5.
https://pubs.aeaweb.org/doi/pdfplus/10.1257/jep.30.2.201
49 บันทึก
31
6
45
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
49
31
6
45
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย