9 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 2
โชคสองชั้น : ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีผู้ชมมากที่สุด
แม้ว่า กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท จะประกาศตัวต่อสาธารณะช้ากว่า "บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย" ของ หลวงสุนทรอัศวราช ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2469 ก็ตาม
แต่กรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัท กลับเป็นบริษัทที่มีผลงานออกมาก่อนด้วยการสร้างภาพยนตร์เงียบที่มีชื่อว่า "โชคสองชั้น"
โชคสองชั้น (2470)
ทีมงานหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ประกอบด้วย
นายมานิต วสุวัต เป็นผู้อำนวยการสร้าง
หลวงบุณยมานพพานิช เป็นผู้เขียนเรื่อง
หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) เป็นผู้ถ่ายทำ
นายกระเศียร วสุวัต เป็นผู้ตัดต่อ
และ หลวงอนุรักษ์รัถการ เป็นผู้กำกับการแสดง
นอกจากนี้ยังได้จ้างทีมงานบางส่วน และอุปกรณ์การถ่ายทำจากกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ที่มีศักยภาพที่สุดในขณะนั้นมาช่วยถ่ายทำด้วย
ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น ออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม พ.ศ. 2470 ได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีมหาชนไปดูกันมากที่สุด
ย้อนกลับมาที่บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย เมื่อรู้ตัวว่ามีคู่แข่งเกิดขึ้น ก็รีบลงมือถ่ายทำภาพยนตร์ของตนทันที
แต่ก็ไม่สามารถจะจ้างกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวถ่ายทำให้ได้เสียแล้ว เพราะขณะนั้นกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวกำลังถ่ายทำเรื่อง โชคสองชั้น ของกรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัทอยู่
ที่สุดคณะนี้ต้องไปว่าจ้าง ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต อดีตหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ กรมรถไฟหลวง มาถ่ายทำให้
กว่าที่บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกของตนซึ่งตั้งชื่อว่า ไม่คิดเลย เสร็จก็เป็นเวลา 2 เดือนหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น ออกฉายไปแล้ว
ภาพยนตร์เงียบเรื่อง ไม่คิดเลย ออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2470
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จในด้านรายได้พอสมควร
แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเหมือนเมื่อครั้งที่ โชคสองชั้น เข้าฉายเท่าใดนัก เพราะแม้แต่หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ก็ไม่ได้ติดตามความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้มากนัก
อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องต่างก็ได้แผ้วถางทางให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งรายเล็กรายใหญ่เกิดขึ้นตามมามากมาย
จากการที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจนี่เอง ทำให้หลายคนเริ่มวาดฝันถึงความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตามแบบฮอลลีวูด มีบทความหลายชิ้นที่เสนอความคิดเห็นสอดรับกับความคิดดังกล่าว บ้างก็ถึงขนาดสนับสนุนให้มีการสร้างศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ในเมืองไทยเลยทีเดียว
ความฝันที่จะมี 'ฮอลลีวูด' ในเมืองสยามเริ่มใกล้ความจริง
ในปี พ.ศ. 2474 ในปีนั้น ขณะที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของบริษัท ที่ทุ่งบางกะปิ (บริเวณอโศกในปัจจุบัน) หนึ่งในทีมงานก็เกิดความคิดที่จะสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงขึ้นที่นี่
จนกระทั่งเวลาผ่านไป 3 ปี ความคิดของเขาก็เป็นจริง เมื่อโรงถ่ายขนาดใหญ่ชื่อ 'โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง' ถูกสร้างขึ้นในเวลาต่อมา
โรงถ่ายแห่งนี้ไม่เพียงจะได้รับสมญาว่าเป็นฮอลลีวูดเมืองสยามเท่านั้น หากยังได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์เสียงที่มีคุณภาพมากที่สุด ใหญ่และได้มาตรฐานที่สุดของสยาม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
▶ โปรดติดตาม EP. 3 ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ :: http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
▶ #blockdit โซเชียลเน็ตเวิร์กแนวใหม่ มีแต่สาระเน้น ๆ ปราศจากดราม่าปวดสมอง
▶ ดาวน์โหลดตามพวกเราได้เลยตอนนี้ที่: https://www.blockdit.com/download/thaibunterng
โฆษณา