Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไทยบันเทิง 🎥 📺 🌟
•
ติดตาม
16 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 3
ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของคนไทย
กำเนิดภาพยนตร์เสียง
หลังจากที่ กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท สร้างภาพยนตร์เรื่อง ใครเปนบ้า เสร็จในปี พ.ศ. 2471 จู่ๆ ก็ยุติการสร้างภาพยนตร์ไปเฉยๆ สร้างความแปลกใจแก่วงการภาพยนตร์ช่วงนั้นเป็นอย่างมาก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นรายแรก...
จะมีสักกี่คนที่ล่วงรู้ว่าการเงียบหายไปของกรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท คือการแผ้วถางทางไปสู่การบุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์แนวใหม่ของเมืองไทย
ย้อนกลับมาในปี พ.ศ. 2470 ขณะที่คนไทยกำลังตื่นเต้นอยู่กับภาพยนตร์ฝีมือคนไทยที่กำลังทยอยออกฉายอยู่นั้น
ข้ามทวีปไปยังประเทศอเมริกา ประชาชนที่นั่นก็กำลังตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่อง The Jazz Singer (1927) ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรก ที่คิดค้นและพัฒนาโดยนายลี เดอ ฟอร์เรสต์ (Lee De Forrest) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน
imdb.com
The Jazz Singer (1927) - IMDb
The Jazz Singer is a movie starring Al Jolson, May McAvoy, and Warner Oland. The son of a Jewish Cantor must defy the traditions of his religious father in order to pursue his dream of becoming a jazz singer.
ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงสร้างรายได้มหาศาลให้แก่บริษัทวอร์เนอร์ เจ้าของเท่านั้น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เสียงอีกด้วย
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 คนไทยก็มีโอกาสรู้จักกับภาพยนตร์เสียงจากสิงคโปร์ที่ชื่อบริษัท 'โฟโนฟิล์ม (สิงคโปร์) จำกัด' เดินทางเข้ามาในสยามเพื่อติดต่อขอเช่าโรงภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากร สำหรับจัดฉายภาพยนตร์เสียง
ประชาชนที่ได้ทราบข่าวต่างเดินทางมายังโรงภาพยนตร์พัฒนากรเป็นจำนวนมาก จนทำให้คณะฉายหนังจากสิงคโปร์ตัดสินใจเช่าโรงภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรเพิ่มอีกหนึ่งโรง แล้วฉายติดต่อกันไปเป็นเวลาเกือบ 2 อาทิตย์ ก่อนที่จะกลับประเทศไป
ทิ้งให้ผู้ชมต้องกลับมาชมภาพยนตร์เงียบกันอีกครั้ง
สำหรับผู้ชมทั่วไป การกลับไปของคณะฉายภาพยนตร์จากสิงคโปร์ อาจทำให้พวกเขาค่อยๆ ลืมเลือนภาพยนตร์เสียงไปในที่สุด
แต่สำหรับ พี่น้องวสุวัต แห่งกรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัทนั้น การได้ชมและฟังภาพยนตร์เสียงถือเป็นการเปิดหูเปิดตาต่อประดิษฐกรรมใหม่ในโลกภาพยนตร์
พี่น้องวสุวัต : มานิต วสุวัต, เภา วสุวัต (หลวงกลการเจนจิต)
ทำให้ทั้งสองเบนไปทุ่มเทความสนใจทั้งหมดแก่การศึกษาภาพยนตร์เสียง อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม พี่น้องวสุวัต มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เสียงจากในตำราเท่านั้น แต่ไม่มีโอกาสที่จะทดลองปฏิบัติจริงๆ
▶ เกร็ด :: หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต คือช่างถ่ายภาพยนตร์มืออาชีพที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิก ผู้ที่เป็นทั้งตากล้องถ่ายหนังไทยเรื่องแรก และเป็นผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติไว้จำนวนมาก
เภา วสุวัต (หลวงกลการเจนจิต)
เขามีชื่อเสียงเลื่องลือตั้งแต่วัยหนุ่ม จากการเป็นนักประดิษฐ์นักดัดแปลง ผู้มีพรสวรรค์วิเศษทางช่างเครื่องยนต์กลไก จนได้รับราชการตั้งแต่วัย 20 ปี และมีราชทินนามว่า “หลวงกลการเจนจิต”
ในขณะเดียวกัน เขาและพี่น้องร่วมตระกูลวสุวัต ยังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างหนังเงียบไทยเรื่องแรก ชื่อ โชคสองชั้น ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2470 โดย เภา วสุวัต รับหน้าที่เป็นตากล้อง
ความเป็นเลิศด้านเทคนิคและอุปกรณ์ทางภาพยนตร์ของเขายังได้รับการยอมรับจากคนทำหนังต่างประเทศที่มาเยือนเมืองไทยในตอนนั้น เช่น คณะถ่ายทำหนังสารคดีจากฮอลลีวูด ในปี 2468 คณะถ่ายหนังข่าวจากบริษัท ฟอกซ์ มูวีโทน นิวส์ ในปี 2472
อ่านเพิ่มเติม
fapot.or.th
5 ผลงานสำคัญของ “หลวงกลการเจนจิต” ตากล้องหนังไทยเรื่องแรก
แนะนำ 5 ผลงานสำคัญและทำความรู้จัก “หลวงกลการเจนจิต” หรือ “เภา วสุวัต” ตากล้องหนังไทยเรื่องแรก และเป็นผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติ--------...
จนกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2472 เมื่อได้มีคณะถ่ายภาพยนตร์เสียงประเภทข่าวจากประเทศอเมริกา ชื่อ บริษัทฟอกซ์มูวีโทนนิวส์ (Fox Movietone News) เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ข่าวเบ็ดเตล็ดในสยาม
โดยในการนี้ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ได้เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แก่คณะถ่ายทำกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด จึงได้ถือโอกาสดึงพี่น้องคนอื่นๆ เข้าไปเรียนรู้การถ่ายทำภาพยนตร์เสียงด้วย
▶ เกร็ด :: การเข้ามาถ่ายหนังเสียงของฟอกซ์ในครั้งนั้นนับเป็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายหนังเสียงในสยาม
youtube.com
Fox Movietone News story 6-532 (r1of 2): “Royal Siamese musicians--outtakes”
Thai musicians perform on a Bangkok street. Filmed on 21 March 1930 by an American newsreel crew consisting of James Seebach and Joseph Darling using the Mov...
youtube.com
Fox Movietone News story 6-532 (r2of 2): “Royal Siamese musicians--outtakes”
Thai musicians perform on a Bangkok street. Filmed on 21 March 1930 by an American newsreel crew consisting of James Seebach and Joseph Darling using the Mov...
ภาพยนตร์ชุดนี้คือหนังเสียงชุดแรกที่มีขึ้นในประเทศ โดยทั้งภาพและเสียงยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเสียงสนทนาที่ปรากฏมีสำเนียงและน้ำเสียงของผู้คนที่แตกต่างจากผู้คนในปัจจุบันอย่างชัดเจน
หลังจากร่วมงานกันเป็นเวลาพอสมควร ทำให้ พี่น้องวสุวัต กับคณะถ่ายทำของบริษัทฟอกซ์มีความสนิทชิดเชื้อกันมาก
ดังนั้นก่อนจะเดินทางกลับ คณะถ่ายทำของบริษัทฟอกซ์จึงได้ให้พี่น้องวสุวัตยืมอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงของตนไปทดลองถ่ายดู
พี่น้องวสุวัตได้นำไปทดลองถ่ายภาพยนตร์ขนาดสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์บันทึกการแสดงจำอวดของ คณะนายทิ้ง มาฬมงคล และนายอบ บุญติด และการแสดงเดี่ยวซอสามสาย และจะเข้โดยพระยาภูมี เสวิน และนางสนิทบรรเลงการ
อย่างไรก็ตามเมื่อถ่ายทำเสร็จ พี่น้องวสุวัตก็ไม่สามารถที่จะทดลองฉายดูผลในเมืองไทยได้ เนื่องจากขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีเครื่องฉายภาพยนตร์เสียง จึงต้องนำไปทดลองฉายที่สิงคโปร์แทน
เมื่อกลับมาเมืองไทย พวกเขาจึงลงมือดัดแปลงเครื่องฉายภาพยนตร์เงียบให้เป็นเครื่องฉายภาพยนตร์เสียง
และดัดแปลงสร้างกล้องถ่ายภาพยนตร์เงียบให้กลายเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์เสียง โดยใช้อุปกรณ์บางอย่างที่คณะถ่ายทำของบริษัทฟอกซ์ให้ไว้ก่อนกลับประเทศ
ในที่สุดพี่น้องวสุวัต ได้ประเดิมใช้เครื่องฉายใหม่นี้ด้วยการฉายภาพยนตร์เสียง 2 เรื่องที่เคยถ่ายไว้ในปีที่แล้ว ถวายให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทอดพระเนตร ณ พระตำหนักเปี่ยมสุขหัวหิน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2473
หลังจากนั้นอีก 3 วัน พี่น้องวสุวัตจึงได้นำหนังเสียงนี้ออกฉายแก่สาธารณชนตามโรงหนังด้วยความตื่นเต้นและภาคภูมิใจว่า “ชาวสยามก็ทำได้”
หลังจากนั้นพี่น้องวสุวัต ก็ได้ดัดแปลงเครื่องฉายภาพยนตร์เงียบเป็นเครื่องฉายภาพยนตร์เสียงให้แก่โรงภาพยนตร์ทั่วไปในกรุงเทพฯ จนทำให้มีรายได้พอจะนำมาขยายกิจการสร้างภาพยนตร์ของตนอย่างจริงจังต่อไป
พี่น้องวสุวัต
อย่างไรก็ตาม พี่น้องวสุวัตยังคงมีพันธะที่จะต้องสานต่อ นั่นก็คือการเดินหน้าประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์เสียงให้สำเร็จ ซึ่งกว่าจะบรรลุผลได้ก็เป็นเวลาอีกหนึ่งปีต่อมา
ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกที่พี่น้องวสุวัตประเดิมถ่ายทำได้แก่ภาพยนตร์ข่าว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จนิวัตพระนคร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474
ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายสู่สาธารณะที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
ผลพวงจากความสำเร็จครั้งนี้ทำให้พี่น้องวสุวัตซึ่งขณะนั้นเรียกชื่อกิจการสร้างภาพยนตร์ของพวกตนเป็นทางการว่า 'บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง' ได้ตัดสินใจหวนกลับมาสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปกว่า 4 ปี
▶ เกร็ด :: หลวงกลการเจนจิต ได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์แห่งแรกของไทย
โดยเขาได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 7 อย่างต่อเนื่อง จนชาวสยามในเวลานั้น ต่างเรียกขานหนังของกรมรถไฟจนติดปากว่า “หนังหลวงกล”
youtube.com
พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครอันประดิษฐานมาครบ 150 ปี (2475) Bangkok’s 150th anniversary, April 1932
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 บันทึกพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี อันเป็นงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาเป็นราชธา...
▶ โปรดติดตาม EP. 4 ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (
http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9
)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ ::
http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
🔎 ค้นหาชื่อเรื่อง ::
http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/พิเศษ:ดัชนีตามคำขึ้นต้น
1 บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
🎥 ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมหนังไทยยุคบุกเบิก (2470 - 2489) 🎥
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย